สถิติคดี 1 ปี หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก: ยุติการใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง

วันที่ 18 กรกฎาคม ของปี 2563 อาจนับได้ว่าหลักไมล์สำคัญหนึ่งในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทย เมื่อเป็นวันจัดการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับการเริ่มต้นประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และแก้รัฐธรรมนูญใหม่

หากเทียบจำนวนของผู้เข้าร่วม การชุมนุมครั้งนี้อาจไม่ใช่การชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุด แต่ทว่ามีความสำคัญในฐานะที่เป็นชนวนจุดประกายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ติดตามมาอย่างต่อเนื่องนับร้อยครั้งทั่วประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 รวมทั้งยังนำไปสู่การเคลื่อนไหวยกระดับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และการเคลื่อนไหวของ “คณะราษฎร 2563” ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้ง ท่ามกลางกระแสการชุมนุมที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว ยังดูเหมือนจะนำไปสู่กระแสความเปลี่ยนแปลงในเชิงนามธรรม ทั้งในแง่วัฒนธรรมและจิตสำนึกของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งยังต้องรอการประเมินความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวและการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2563 ดังกล่าว ยังนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ซีรีส์” หรือชุดคดีความ ที่ติดตามมาจำนวนมหาศาล และทยอยเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ เดือน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามระงับยับยั้งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ได้หันไปใช้ “กฎหมาย” ในข้อหาต่างๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามทางการเมือง

แกนนำการเคลื่อนไหวหลายคนต้องไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และศาล เป็นว่าเล่นในช่วงรอบปีที่ผ่านมา กระทั่งต้องถูกคุมขังในเรือนจำ  ขณะประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมการชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์ ก็ถูกดำเนินคดีกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่ในยุค คสช. ผู้ถูกดำเนินคดีความทางการเมือง ก็ไม่ได้มีจำนวนมากเท่าช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี หลายคน ยังกลายเป็นผู้ต้องหาและจำเลยทางการเมือง อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

.

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 712 คน ในจำนวน 392 คดี  ในจำนวนนี้ ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 44 ราย

แต่หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 1,349 ครั้งแล้ว

คดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคกลาง คือจำนวนอย่างน้อย 323 คดี ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือมีจำนวนคดีเป็นลำดับรองลงมา ได้แก่ จำนวยอย่างน้อย 34 คดี ตามด้วยในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคใต้ มีจำนวนอย่างน้อย 30 คดี และ 5 คดี ตามลำดับ

หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 110 คน ในจำนวน 107 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 104 คน ในจำนวน 31 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 501 คน ในจำนวน 158 คดี 

หากย้อนนับคดีตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทางการเมืองอีกจำนวนหนึ่ง ยอดผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีรวมกันอย่างน้อย 511 คน ในจำนวน 165 คดี

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 100 คน ในจำนวน 67 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 68 คน ในจำนวน 79 คดี

นอกจากนั้น ยังมีข้อหาที่มีโทษปรับต่างๆ เช่น ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เป็นต้น ถูกนำมาใช้กล่าวหานักศึกษาและประชาชน ในคดีจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นภาระในทั้งด้านค่าใช้จ่าย หรือการต่อสู้คดีอีกจำนวนหนึ่ง  

.

.

ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการชุมนุมเยาวชนปลดแอก โดยที่สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชนยังคงไม่มีทีท่าจะยุติลง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการใช้ “กฎหมาย” ดำเนินคดีต่อผู้แสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐ นอกจากจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาในทาง “การเมือง” แล้ว ยังทำให้ความไม่พอใจ ข้อเรียกร้องต้องการทางการเมืองต่างๆ ของผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยขณะนี้ ถูกเก็บกดปิดกั้นเอาไว้ โดยไม่ได้รับการตอบสนอง หรือพูดคุยทำความเข้าใจภายใต้การปกป้องและเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิเสรีภาพ

คดีจำนวนมากที่เกิดขึ้น หลายคดีมีลักษณะการตั้งข้อกล่าวหาเกินจริง คดีที่มุ่งดำเนินคดีต่อบุคคลโดยเฉพาะเจาะจงที่มีบทบาททางการเมือง เพื่อสร้างภาระในด้านต่างๆ ระหว่างการต่อสู้คดีอย่างยาวนาน นอกจากนั้นยังล้วนเป็นคดีที่พยายามกดปราบการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

สำหรับคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น กล่าวได้ว่า การดำเนินคดีเป็นเพียงปลายเหตุของสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น เมื่อคนรุ่นใหม่และประชาชนหลายกลุ่ม เรียกร้องต้องการให้สถาบันกษัตริย์มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ต้องการให้สถาบันหลักของชาตินี้ เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การใช้ข้อหาที่ “ร้ายแรง” เพื่อมุ่งปราบปรามยับยั้งการแสดงออกและข้อเรียกร้องต่างๆ จึงไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของสังคมไทยโดยรวม และส่งผลเสียต่อสถาบันกษัตริย์เองอีกด้วย

ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองอย่างพร่ำเพรื่อ เกินเลยตัวบท และตีความไปในทางปิดกั้นการแสดงออกความคิดเห็นของประชาชน ตัวอย่างในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งการแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. หรือการชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง ภายหลังการต่อสู้คดีนานหลายปี พบว่าแนวโน้มส่วนใหญ่ ศาลล้วนแต่ยกฟ้องคดี แต่ก็สร้างภาระทางคดีให้กับนักกิจกรรม หรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามไว้เป็นชนักติดหลัง การใช้ข้อกล่าวหานี้ในลักษณะนี้ที่สืบเนื่องมาจากยุค คสช. จึงควรต้องยุติลงทั้งหมด

ขณะเดียวกัน คดีจากการชุมนุมจำนวนมาก ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังชี้ให้เห็นถึงกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถูกประกาศใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง โดยยังไม่มีรายงานการระบาดของโรคเกิดขึ้นเป็นคลัสเตอร์จากการชุมนุมแต่อย่างใด 

ในคดีลักษณะนี้ พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการสามารถสั่งไม่ฟ้อง หรือถอนฟ้องคดีทั้งหมดได้ ตามแนวทางที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงลำปาง ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีจากการชุมนุมที่จังหวัดลำปางไว้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมจัดขึ้นในพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ไม่พบการติดเชื้อไวรัสในท้องที่จังหวัด และยังเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ

เช่นเดียวกับคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ตัวบทกฎหมายถูกออกแบบและแก้ไขมาภายใต้ช่วงรัฐเผด็จการของคณะรัฐประหารในทศวรรษที่ผ่านมา และถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ปิดกั้นและขัดขวางทั้งการชุมนุมสาธารณะ และการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ รวมทั้งยังทำให้การชุมนุมสาธารณะของประชาชนเต็มไปด้วยข้อจำกัด สร้างภาระต่อผู้จัดชุมนุม อันเป็นการลดทอนช่องทางแสดงความคิดเห็นของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยลง

ภายใต้สถานการณ์ที่กฎหมาย และกระบวนยุติธรรมไทย กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางการเมืองอย่างเข้มข้น ดังเช่นรอบปีที่ผ่านมาหลังเยาวชนเริ่มปลดแอกนี้ การยุติการดำเนินคดีทั้งหมด และคิดถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วยกระบวนการทางการเมือง รวมทั้งการคำนึงถึงการปฏิรูประบบกฎหมายทั้งหมดภายใต้กรอบคิดที่ตอบสนองต่อระบอบนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย จึงน่าจะเป็นหนทางที่นำสังคมไทยออกไปจากวังวนของความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองที่ดำรงต่อเนื่องมานับทศวรรษ

.

X