รูปภาพนี้ถ่ายในวันรับทราบข้อหาเมื่อ 27 ต.ค. 63

อัยการตีกลับสำนวนให้ตร.แจ้งเพิ่ม! “ร่วมกันฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง” เหตุชุมนุมสามย่านมิตรทาวน์ #ม็อบ17ตุลา

*หมายเหตุ: รูปปกถ่ายในวันรับทราบข้อหาเมื่อ 27 ต.ค. 63

วันนี้ (23 มิ.ย. 64) ที่สน.ปทุมวัน “เฟลอร์” สิรินทร์ มุ่งเจริญ และอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ ไปรับทราบข้อหาเพิ่มเติม จากการเข้าร่วมกิจกรรมแฟลชม็อบหน้าห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ หรือ #ม็อบ17ตุลา เนื่องจากพนักงานอัยการตีกลับสำนวนการสอบสวนให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา “ร่วมกันฝ่าฝืนพ.รก.ฉุกเฉินร้ายแรง ในเขตพื้นที่กทม.” ​เพิ่มเติม 

มูลเหตุของคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 กลุ่ม “Spring Movement” ได้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบหน้าห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา-นักกิจกรรมที่ถูกจับกุมระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ 16 ต.ค. 63 ที่แยกปทุมวัน ทั้งยังผลักดันประเด็นปัญหาเรื่องทรัพย์สินจุฬาฯ ที่เปลี่ยนพื้นที่ชุมชนสามย่านกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 

คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดี 3 ราย ได้แก่ แอมป์-ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, เฟลอร์-สิรินทร์ มุ่งเจริญ และอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ แต่ในวันนี้มีเพียงสิรินทร์และอ้อมทิพย์มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากณวรรษติดภารกิจ และจะประสานงานกับพนักงานสอบสวนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป

ภาพหลังรับทราบข้อหาเมื่อ 27 ต.ค. 63

เดิมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 ทั้งสามถูกแจ้งข้อหา “ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 และ 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (19 มิ.ย. 64) พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้นัดหมายให้ทั้งสามเข้าพบ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม หลังพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้กับพนักงานอัยการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63

สำหรับวันนี้ ร.ต.ท.พงศกร ข้องสาย รองสารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แก่สิรินทร์และอ้อมทิพย์ โดยได้บรรยายพฤติการณ์เช่นเดียวกันกับในการแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรก แต่ในครั้งนี้ได้ระบุเพิ่มเติม ดังนี้

พนักงานอัยการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความ จึงให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ได้แก่ “ร่วมกันกระทำการ ฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.​2554 ข้อ 1. ซึ่งห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ​ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 ผู้ต้องหาทั้งสามได้เคยยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไม่ให้สั่งฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน อีกทั้ง การชุมนุมในวันดังกล่าวถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อันได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ และหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงปัจจุบัน (23 มิ.ย. 64) มีการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการประกาศระหว่างวันที่ 15 ต.ค. 63 เวลา 04.00 น. ถึง 22 ต.ค. 63 เวลา 12.00 น. กับประชาชนอย่างน้อย 72 ราย ใน 23 คดี

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

3น.ศ.-นักกิจกรรมรับทราบข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เหตุชุมนุมหน้าสามย่านมิตรทาวน์

3 ปชช.-น.ศ. ขอความเป็นธรรมให้อัยการไม่ฟ้องคดีชุมนุมสามย่านมิตรทาวน์ ชี้ใช้กม.ปิดปาก

X