ตร.ร้อยเอ็ด อายัดตัวเพนกวินตามหมายจับ 112 เพื่อส่งตัวให้อัยการ คดีการชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ก่อนให้ประกันด้วยเงินสด 2 แสนบาท

11 พฤษภาคม 2564 ขณะเพนกวิน หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำกลุ่ม “ราษฎร” ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากศาลอาญาไต่สวนคำร้องการขอประกันตัวในคดีมาตรา 112 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และคดี MobFest ก่อนมีคำสั่งให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์คดีละ 200,000 บาท พร้อมเงื่อนไข ห้ามกระทำการตามที่ถูกฟ้องหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด  

>> ให้ประกัน “เพนกวิน-แอมมี่” แล้ว หลังยื่นประกันถึง 10 ครั้ง ระบุห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ ขณะเลื่อนไต่สวนไมค์ เหตุเสี่ยงโควิด

เวลาประมาณ 20.00 น. ตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ด นำโดย พ.ต.อ.เนติวัฒน์ จันทรา ผู้กำกับ สภ.เมืองร้อยเอ็ด  ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดร้อยเอ็ดลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 เพื่อจับกุมพริษฐ์  ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยระบุว่า เป็นหมายจับเพื่อจะนำตัวผู้ต้องหาส่งให้พนักงานอัยการ 

หมายจับดังกล่าว เป็นคดีจากการปราศรัยในชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองร้อยเอ็ด เคยเข้าแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ขณะพริษฐ์ถูกขังอยู่ที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี และต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สน.ชนะสงคราม และได้ออกหมายเรียกพริษฐ์เพื่อส่งตัวให้อัยการในวันที่ 25 มกราคม 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทนายความได้ยื่นหนังสือเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวน ก่อนที่พริษฐ์จะถูกขังในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่ได้รับการประกันตัวตลอดมาจนถึงวันนี้ 

หลังแสดงหมายจับ ชุดจับกุมได้ทำบันทึกการจับกุมใจความสำคัญว่า “คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้สรุปสํานวนการสอบสวนมีความเห็น ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากนั้นจะต้องส่งสํานวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป โดยได้ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาพบเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสํานวนการสืบสวนสอบสวน ผู้ต้องหาได้รับหมายเรียกโดยชอบ แล้วแต่อ้างเหตุจําเป็นที่ไม่สามารถเดินทางมาพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้ แต่เหตุดังกล่าวศาลเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นเหตุให้ออกหมายจับ

 คณะพนักงานสืบสวนจึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลให้ออกหมายจับเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามเอาตัวผู้ต้องหาส่งไปให้พนักงานอัยการ ซึ่งพนักงานอัยการได้รับสํานวนไว้พิจารณาแล้ว ศาลอนุมัติตามหมายจับที่ 67/2564 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2564 และทราบว่าผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่เรือนจําพิเศษกรุงเทพฯ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงนําหมายจับเดินทางไปจับกุมตัวผู้ต้องหา 

ในการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับในครั้งนี้ เป็นการดําเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อที่จะได้ดําเนินการตามคําสั่งของพนักงานอัยการ ซึ่งได้รับสํานวนการสืบสวนสอบสวนไว้เพื่อพิจารณาแล้ว”

หลังจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวพริษฐ์ในชั้นตำรวจ เพื่อให้ได้พริษฐ์ได้เข้ารับการรักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพร่างกายจากการอดอาหารมาเกือบ 2 เดือน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนที่เวลา 21.15 น. พนักงานสอบสวนจะอนุญาตให้ประกันตัว พริษฐ์จึงได้รับการปล่อยตัวออกมาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และขึ้นรถพยาบาลเพื่อไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลวิภาวดี หลังจากถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้ว 92 วัน 

สำหรับการชุมนุมเมื่อช่วงเย็นวันที่  3 กันยายน  2563 ที่บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ดโดยกลุ่ม “สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก” จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ  #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน มีกิจกรรมเช่น เล่นสงกรานต์ (ชดเชย) นำโดย แอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์, ปาสีใส่รูปประยุทธ์, ละครสะท้อนปัญหาการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพในโรงเรียน, ดนตรีวงสามัญชน และการปราศรัยจากเยาวชน นักกิจกรรม ซึ่งมีพริษฐ์ร่วมปราศรัยในหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

ดูฐานข้อมูล >> พริษฐ์ชุมนุม 3 กันยา ร้อยเอ็ด ถูกแจ้งข้อหา112

 

X