ศาลทหารอ่านความเห็นวินิจฉัยเขตอำนาจศาลคดี ‘ฐนกร’ แชร์ข้อความหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยงและโพสต์ผังทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ศาลทหารและศาลยุติธรรมเห็นตรงกันว่าข้อหาความผิดตาม ม.112 ทั้ง 2 ข้อหาอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร แต่ความผิดตามม.116 ข้อหายุยงปลุกปั่น ศาลทหารเห็นว่าอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม แต่ศาลยุติธรรมเห็นว่าอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร คดีจึงส่งต่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ พิจารณาต่อไป
29 พ.ย.2559 ศาลทหารมีนัดฟังความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในคดีของนายฐนกร (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีที่เขาถูกฟ้องว่า กดไลก์แฟนเพจและโพสต์ข้อความประชดสุนัขทรงเลี้ยง ทั้ง 2 ข้อหาเข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และโพสต์ภาพแผนผังการทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์เข้าข่ายมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหายุยุงปลุกปั่น ทั้งนี้ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องส่งต่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลพิจารณาต่อไป
ศาลทหารได้อ่านความเห็นโดยสรุปได้ว่าความผิดตามฟ้องที่อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลทหารมี 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อแรก จำเลยกดถูกใจแฟนเพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” ที่โพสต์ข้อความและรูปภาพเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จอันเป็นความผิดเกี่ยวความมั่นคงในราชอาณาจักรและข้อหาที่สองจำเลยได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของจำเลย เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยง ข้อความดังกล่าวเป็นไปในลักษณะประชดประชัน อันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวความมั่นคงในราชอาณาจักร ในส่วนความผิดตามฟ้องข้อหาที่สามจำเลยได้โพสต์ภาพบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และมีข้อความระบุว่าบุคคลในภาพเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการก่อสร้าง ให้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลยุติธรรม
ทั้งนี้ในความเห็นของศาลทหารไม่ได้ระบุถึงเหตุผลว่าทำไมข้อหาที่หนึ่งและสองอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร แต่ในข้อหาที่สามจึงอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม
ความเห็นของศาลจังหวัดสมุทรปราการ(ศาลยุติธรรม) ระบุว่าคดีนี้ไม่ได้อยู่ในการบังคับของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559 ที่ให้ความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ที่ให้อำนาจศาลทหารพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงและฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. กลับสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม และเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา116 ซึ่งเป็นความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 ความผิดตามฟ้องทั้ง 3 ข้อจึงอยู่ในเขตอำนาจพิพากษาของศาลทหาร
ดังนั้นความเห็นของทั้งสองศาลจึงขัดแย้งกันในส่วนของข้อหาที่สาม หลังจากนี้ศาลจะต้องส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการวิจัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลใด
คดีนี้นายฐนกรถูกควบคุมตัวในวันที่ 8 ธ.ค. 2558 โดยในระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค. 2558 ญาติและทนายความได้ตามหาตัวเขาทั้งที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีและกองกำกับการ 2 กองปราบฯ แต่ไม่พบตัวนายฐนกรและไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด กระทั่งถูกนำตัวมาฝากขังครั้งแรกที่ศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 14 ธ.ค. 2558 และได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 8 มี.ค.2559
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เปิดคำฟ้องอัยการศาลทหารคดีหมิ่นสุนัขทรงเลี้ยง แค่กดไลค์แฟนเพจก็ผิด ม.112
อัยการทหารยื่นฟ้องผู้ต้องหาคดีโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง 3 กรรม
ศาลยกคำร้องคัดค้านฝากขังครั้งที่ 6 คดีฐนกรโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง