สมาคมนักเขียนสากล “PEN” เรียกร้องให้ไทยยกเลิกและยุติการดำเนินคดี มาตรา 112

เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 64 สมาคมนักเขียนสากล “PEN International”  ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการบังคับใช้ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของทางการไทยเพื่อดำเนินคดีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสันติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยุติการดำเนินคดี ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบจากข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ และออกมาตรการป้องกันการฟ้องเพื่อ “ปิดปาก”

Salil Tripathi ประธานคณะกรรมการนักเขียนที่ถูกคุมขัง ของสมาคมนักเขียนสากล ระบุว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีการตีความและนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ยังถูกนำมาใช้อย่างพลการเพื่อดำเนินคดีต่อคนที่แสดงออกทางความคิดเห็น เป็นการสร้างความหวาดกลัว และการคุกคามต่อนักเขียน นักข่าว และนักวิชาการ ซึ่งการที่รัฐบาลไทยดำเนินคดีต่อคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแสดงให้เห็นว่า ทางการไทยไม่ใส่ใจเรื่อง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และประมวลกฎหมายมาตรานี้  ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ปฏิบัติกับผู้คนในสังคมให้กลายเสมือนว่าเป็นเด็ก (infantilize) ซึ่งเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อสังคมไทย 

ทางสมาคมนักเขียนสากล จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่แสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสันติ และตรากฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงข้อหานี้เพื่อป้องกันการใช้ฟ้องปิดปาก หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation(SLAPP)

สมาคมนักเขียนสากล ยังย้ำถึงข้อเรียกร้องของ นายเดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (UN Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) ซึ่งเคยส่งต่อรัฐบาลไทยเมื่อปี 2560 เรื่องการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ ซึ่งชี้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ขัดแย้งกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และข้อหานี้ถูกบังคับใช้โดยไม่ได้สัดส่วน ซึ่งขัดแย้งกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตรา 9 และ 19 ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2539

 

นักเขียน กวี และศิลปินถูกฟ้องด้วยข้อหามาตรา 112 พร้อมถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้ข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองแล้ว 88 ราย ใน 81 คดี ซึ่ง ณ วันที่ 26 เมษายน 2564 มี 9 ราย ที่ยังถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา ในคดีตามมาตรา 112 ได้แก่

กลุ่มนักเขียนและกวี 3 คน ได้แก่ อานนท์ นำภา ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวอยู่ 11 คดี และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 64 เพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวคนที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาแล้ว 78 วัน 

ส่วน สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้เคยยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือมาที่ PEN เพิ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวหลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาทั้งหมด 74 วัน

กลุ่มศิลปินนักร้อง 2 ราย ได้แก่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องจากวง The Bottom Blues และปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ “พอร์ท” จากวงดนตรี “ไฟเย็น” ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีมาแล้ว 55 วัน และ 52 วัน ตามลำดับ 

รวมทั้ง ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำ ได้รับการปล่อยชั่วคราวหลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาทั้งหมด 60 วัน

นักวิชาการถูกคุกคาม และฟ้อง “ปิดปาก” ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญาและแพ่ง

นอกเหนือจากการดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 แล้ว อีกหนึ่งความกังวลของสมาคมนักเขียนสากล คือความเสื่อมถอยของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ด้วยการฟ้อง “ปิดปาก” (SLAPP) ด้วยข้อหาทั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อปรามปรามการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเห็นได้จากกรณีที่นักวิชาการถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายแพ่ง และงานวิชาการถูกเซนเซอร์ ในกรณีของณัฐพล ใจจริง และถูกมหาวิทยาลัยยกเลิกสัญญาจ้าง ในกรณีของเดวิด สเตร็คฟัสส์  

ในกรณีแรกคือ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของณัฐพล ใจจริง ที่ถูกร้องเรียนโดยนักวิชาการอีกคนหนึ่ง ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผลสรุปคือข้อผิดพลาดนั้นไม่ได้มีเจตนา และไม่ส่งผลกระทบต่อประเด็นใหญ่ของวิทยานิพนธ์แต่อย่างใด แต่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงสั่งห้ามการเข้าถึงวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 64 ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากณัฐพลและสํานักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน อ้างว่าจงใจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตระกูลของตน

อีกหนึ่งกรณีคือ เดวิด สเตร็คฟัสส์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และผู้เขียนหนังสือ “Truth on Trial in Thailand” ถูกมหาวิทยาลัยขอนแก่นยกเลิกสัญญาจ้าง เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64 หลังจากมีตำรวจบางหน่วยงานแจ้งกับฝ่ายธุรการว่า เขาไปมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมือง

 

X