22 พ.ย. 2559 ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทำคดีของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เดินทางไปให้ปากคำเพิ่มเติมที่ สน.สำราญราษฎร์ จากการถูกกล่าวหาว่าร่วมชุมนุมต่อต้าน คสช. กับ NDM เมื่อ 25 มิ.ย. 2558 โดยมีเจ้าหน้าที่สถานทูตสวีเดนมาสังเกตการณ์และติดตามคดี
ศิริกาญจน์ ยืนยันให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา โดยข้อกล่าวหาตามที่ พ.ท.พงศฤทธิ์ ภวังค์คะนันท์ ผู้กล่าวหาแจ้งล้วนไม่มีมูลและเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งและคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
คดีนี้ เมื่อ 26 มิ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีการจับกุมตัวนักกิจกรรม NDM รวม 14 คน ศิริกาญจน์และเพื่อนทนายคนอื่น ๆ ได้ไปติดตามให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหาตั้งแต่ในชั้นจับกุมและควบคุมตัวที่ สน.พระราชวัง กระทั่งส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปยังศาลทหารกรุงเทพ ศิริกาญจน์จึงติดตามไปยังศาลทหารเพื่อทำหน้าที่ทนายความในการคัดค้านการขอฝากขังและขอประกันตัวผู้ต้องหาดังกล่าว
ศิริกาญจน์ ขับรถส่วนตัวเข้าไปจอดยังบริเวณศาลทหาร ซึ่งขณะนั้นได้ตั้งแผงกั้นและมีเจ้าหน้าที่ทหารเฝ้าไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในบริเวณศาลได้ ก่อนศาลจะเริ่มไต่สวนคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่า หากศาลมีหมายขังจะต้องส่งผู้ต้องหาทั้งหมดไปขังที่เรือนจำ ซึ่งจะนำสิ่งของติดตัวไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แนะนำให้ผู้ต้องหาฝากสิ่งของไว้กับทนายความ ผู้ต้องหาจึงรวบรวมของส่วนตัวฝากให้ทนายความเก็บรักษา ทีมทนายความจึงนำสิ่งของไปเก็บที่รถของศิริกาญจน์ เพื่อส่งมอบให้ญาติผู้ต้องหาต่อไป เนื่องจากขณะนั้นบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปในบริเวณศาลได้
ศิริกาญจน์ไม่ใช่ผู้ที่นำสิ่งของไปเก็บไว้ในรถ จึงไม่ทราบรายละเอียดของทรัพย์สินที่ถูกนำไปเก็บ จากนั้น เวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. 2558 หลังศาลไต่สวนคำร้องขอฝากขังเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ล้อมรถของศิริกาญจน์
พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาลภาค 6 (ขณะนั้น) ได้แสดงตัวและขอตรวจค้นรถ อ้างว่าน่าจะมีโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาอยู่ในรถของศิริกาญจน์ ศิริกาญจน์และเพื่อนทนายความจึงขอให้เจ้าหน้าที่แสดงหมายค้นตามกฎหมาย เนื่องจาก พล.ต.ต.ชยพลและพวกไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอย่างไร เหตุใดเจ้าพนักงานจึงสงสัยและขอตรวจค้น ศิริกาญจน์จึงปฏิเสธไม่ให้ตรวจค้น เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 92 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในกรณี (4) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
ต่อมา วันที่ 27 มิ.ย. 2558 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นมาแสดง ศิริกาญจน์ก็ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจค้นโดยดี เมื่อตรวจค้นแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ฝากกับทนายความไว้ ซึ่งหน้าที่ได้ติดต่อให้ศิริกาญจน์ไปรับโทรศัพท์ในภายหลัง โดยไม่ได้ยึดไว้เป็นของกลาง
ศิริกาญจน์ให้การอีกว่า ที่ พ.ท.พงศฤทธิ์ กล่าวหาว่า ศิริกาญจน์เก็บทรัพย์สินของลูกความไว้ในรถด้วยอาการรีบร้อน ถือเป็นการร่วมกระทำความผิดกับผู้ต้องหา NDM ทั้ง 14 คน เป็นการกล่าวหาโดยไม่มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมาสนับสนุน เนื่องจากการเก็บรักษาความลับของลูกความและไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นโดยปราศจากหมายค้นและปราศจากเหตุผลอันสมควร นั้นเป็นเรื่องปกติที่ทนายความต้องทำหน้าที่ตามวิชาชีพและเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า การกระทำตามที่ผู้กล่าวหากล่าวอ้างนั้นเป็นการกระทำร่วมกันกับผู้ต้องหา
นอกจากนนี้ ข้อหาที่ พ.ท.พงศฤทธิ์ กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2558 เหตุการณ์วันที่ 26 มิ.ย. 2558 ที่ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับข้อหาดังกล่าว
อีกทั้งการกระทำที่ถูกกล่าวหายังคลุมเครือ และไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ศิรกาญจน์เข้าใจได้ว่า การกระทำใดของเธอที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างความเชื่อมโยงอย่างเลื่อนลอย ส่งผลให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ศิริกาญจน์ให้การอีกว่า หัวใจของกฎหมายอาญานั้นมุ่งคุ้มครอง “หลักการผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” ทนายความจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นจับกุมไปจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
นอกจากนี้ หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย (Basic Principles on the Role of Lawyers) ข้อ 16 ระบุว่า “รัฐบาลพึงดําเนินการให้เป็นที่มั่นใจได้ว่า (ก)ทนายความสามารถทําหน้าที่ตามวิชาชีพได้ทั้งหมด โดยปราศจากการข่มขู่, การขัดขวาง, การคุกคาม หรือการแทรกแซงที่ไม่ชอบ และ (ค) ทนายความจะต้องไม่ถูกให้ร้าย หรือคุกคามโดยการฟ้องร้องคดีอาญา หรือมาตรการทางบริหาร เศรษฐกิจ หรืออื่นๆ อันสืบเนื่องมาจากการที่นักกฎหมายผู้นั้นได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามมาตรฐานและจริยธรรมแห่งวิชาชีพนักกฎหมายนั้น”
ข้อ 18 ของหลักการดังกล่าว ระบุว่า “นักกฎหมายจะต้องไม่ถูกเหมารวมว่าเป็นอย่างเดียวกับลูกความของตน หรือร่วมด้วยกับการกระทำความผิดของลูกความของตน อันเนื่องมาจากการที่ได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นนักกฎหมายให้กับลูกความของตนนั้น” ซึ่งหลักการพื้นฐานดังกล่าวนั้นเป็นหลักการสากลที่ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนสิทธิที่จะได้เข้าถึงการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Right to a fair trial) ตาม ข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว
ศิริกาญจน์ย้ำว่า ตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ทนายความจึงต้องสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากความหวาดกลัวในการทำหน้าที่ แม้ทนายความจะทำหน้าที่แก้ต่างให้กับตัวความในคดี แต่การทำหน้าที่ทนายความอันเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนไม่ใช่การกระทำในฐานะ “ตัวการร่วม” กับตัวความในการกระทำความผิด
“การดำเนินคดีกับทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพในลักษณะที่เป็นตัวการร่วมกับตัวความในการกระทำความผิดนั้น นอกจากจะมีผลกระทบต่อคดี และต่อทนายความคนดังกล่าวแล้ว ยังสร้างความหวาดกลัวในการประกอบวิชาชีพทนายความโดยรวม เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ขัดต่อหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของนักกฎหมาย และส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทนายความ NDM ยืนยันว่า ปฏิบัติหน้าที่ทนายความตามวิชาชีพ เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และสถาบันตุลาการในกระบวนการยุติธรรม หากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ ย่อมส่งผลต่อความยุติธรรมที่จะบังเกิดขึ้นได้
คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ของศิริกาญจน์ โดยคดีแรก พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหากระทำความผิดฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและทราบคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตามมาตรา 142 และมาตรา 368 ในประมวลกฎหมายอาญา จากการที่ศิริกาญจน์ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นรถของตนโดยไม่มีหมายค้น คดีอยู่ในชั้นพิจารณาว่าอัยการจะฟ้องคดีหรือไม่
ภายหลังถูกยึดรถไว้ข้ามคืน ศิริกาญจน์ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ว่า พล.ต.ต.ชยพลและพวกเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา จากการยึดรถไว้ตลอดคืนโดยไม่มีอำนาจ ตำรวจจึงแจ้งความกลับว่าศิริกาญจน์แจ้งความเท็จตามมาตรา 172 และมาตรา 174 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นคดีที่ 2 คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน
ส่วนคดีที่ 3 นี้เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นฐานความผิดที่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารตามประกาศฉบับที่ 37/2557 เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ก่อนมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ทำให้คดีนี้หากมีการส่งฟ้องแล้วจะอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหาร