หมอลำแบงค์: ทำนองร้องลำสุดโศก ในประเทศความหวังแสนเศร้า

ห่างออกไปจากตัวเมืองขอนแก่นราว 40 กิโลเมตร ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอมัญจาคีรี ภาพนักแสดงหมอลำชายหญิงกำลังเกี้ยวพาราสีลำต่อกลอนท้องเรื่อง “ลูกเนรคุณ” บนพื้นลานบ้านในงานแจกข้าวทำบุญต่อผู้ล่วงลับตรงหน้า ท่ามกลางผู้ชมหลายสิบคนที่นั่งเฝ้าดูว่าเรื่องราวนั้นจะดำเนินต่อไปอย่างไร ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ เว้นแต่ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ “หมอลำแบงค์” ไม่ได้อยู่ร่วมแสดงด้วยเหมือนทุกครั้ง 

 

 

“หากวันนี้แบงค์อยู่ก็คงได้มาช่วยกันร้องลำ” หมอแคนบัวตอง กฤตภพ สมมิตร เพื่อนร่วมวงหมอลำของเขาเอ่ยปากบอกเราในวันแรกที่พบกัน

หมอแคนบัวตองเล่าว่าพบแบงค์ครั้งแรกเมื่อราว 10 กว่าปีก่อน เนื่องจากเขาเป็นรุ่นพี่ของแบงค์ ในสาขาดนตรีพื้นเมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เขาเป็นคนแนะนำให้แบงค์เข้าเรียนในเอกการขับร้องหมอลำ เพราะเห็นความสามารถของเขา

“แบงค์บอกว่ามาจากสกลนคร เคยเรียนรำมวยโบราณมาก่อน ดีดพิณได้ ทำได้หมด ผมเลยแนะนำให้เรียนเอกขับร้องหมอลำ เพราะเขาน่าจะไปได้ไกลกว่าเป็นคนเบื้องหลัง” ท่วงทำนองหมอลำก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแบงค์ โดยมีบัวตองเป็นหมอแคนประจำตัว 

 

หมอลำกับการต่อสู้ทางการเมือง

นอกจากหมอลำจะเป็นอาชีพในการหาเลี้ยงชีพของแบงค์แล้ว เขายังใช้หมอลำเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมือง บอกเล่าถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมอีกด้วย นอกจากบรรดาแม่ครูพ่อครูหมอลำทั้งหลาย หมอลำแบงค์ก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ละเลยและไม่ตัดขาดความเป็นการเมืองในชีวิตประจำวันออกจากบทกลอนร้องหมอลำ อันเป็นเหตุให้เขาต้องมาเกี่ยวข้องพัวพันกับคดีทางการเมืองด้วยการเป็นนักโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ถึงสองครั้งแล้ว 

ครั้งแรกจากการที่เขาเข้าร่วมแสดงในละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2559 

 

 

ครั้งที่สอง เป็นเพราะเขาเดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุม “19 กันยาฯ ทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อปีที่ผ่านมา (2563) จากการขึ้นปราศรัยเพียงว่า “ผมไม่มีอะไรอีกแล้ว  ผมไม่ได้ล้มเจ้า แต่เจ้าน่ะล้มผม” ครั้งนี้ เขาถูกแจ้งข้อหาทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 รวมถึงข้อกล่าวหาอื่นๆ รวมกัน 4 ข้อหา 

แม้จะได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน หลังถูกจองจำไปกว่าสิบวัน เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563 แต่เขาก็ถูกคุมขังอีกครั้งพร้อมกับ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แม้มีความพยายามในการยื่นขอประกันตัวทั้งสี่คนหลายครั้ง แต่กลับไม่เป็นผล อีกทั้งนักกิจกรรมคนอื่นๆ ยังทยอยสูญเสียสิทธิในการประกันตัวเช่นเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย 

ท่ามกลางการตื่นรู้ทางการเมืองของผู้คนภายใต้การโต้กลับของอำนาจรัฐ เรื่องราวการต่อสู้ของหมอลำแบงค์ หากเปรียบเป็นทำนองคงเป็นบทเพลงแสนโศกในช่วงเวลาอันแสนเศร้า ซึ่งเชื่อว่าใครอีกหลายๆ คน รวมถึงหมอลำแบงค์จะไม่ทิ้งความหวัง จนกว่าวันนั้นจะมาถึง 

 

คนอีสานเชื่อหมอลำ

บัวตองเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่เริ่มตั้งวงหมอลำกับแบงค์ว่า แต่เดิมใช้ชื่อว่า “เพชรน้องใหม่ขวัญใจ มข.”  ตุ้มเติ่นสะเวินใจ” มาสู่ “บักหนวดเงินล้าน ปฏิภาณ ลือชา” 

“พอขึ้นเวที แบงค์วาดลวดลายได้หมด ใส่ชุดเป็นตลก เป็นผู้หญิง ตัวโกง ทุกตัวละครในฉาก” ทั้งคู่มีต้นแบบในการร้องเล่นหมอลำจากหมอลำใหญ่ จำนงค์ ลือชา และหมอลำทองพูล หนวดเหล็ก ที่อยู่จังหวัดอุดรธานี รวมถึงเพชรพิณทองที่เป็นวงดนตรีคลาสสิกของอีสาน

การลำทำนองขอนแก่น ประชันกลอน และใส่เนื้อหาการเมือง เป็นบทเพลงที่ทั้งคู่ใช้ร้องเล่นอยู่เสมอ เนื่องจากพวกเขามองว่า “คนอีสานเชื่อหมอลำ” ถ้านำเอาเหตุการณ์ทางการเมืองมาเล่าเป็นกาพย์เป็นกลอน ผู้คนที่มาดูการแสดงก็จะเชื่อ ไม่ต่างจากกบฏผีบุญสมัยหมอลำโสภา พลตรี ในสมัยรัชกาลที่ 8 

ดังนั้น สิ่งที่แบงค์และเพื่อนร่วมวงพยายามทำอยู่เสมอ ก็คือการนำความคิดทางการเมืองสอดแทรกลงในบทกลอนหมอลำ เพราะเขาเชื่อว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่าความไม่ยุติธรรมบดบังปิดตาพวกเราอยู่ ดังเช่นบทกลอนท่อนหนึ่งที่ว่า “เจ้าถืกปิดตาอยู่เด้อ เจ้าถืกบังตาอยู่ เจ้าบ่ฮู้แม่นบ่นี่” 

ช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากการเดินสายรับงานหมอลำตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคอีสาน หากมีช่วงที่ว่างเว้นจากการออกงานแล้วตรงกับวันนัดหมายชุมนุมทางการเมือง ทั้งแบงค์และบัวตองก็จะพากันไปเล่นหมอลำในที่ที่คนเดินทางมาร่วมการชุมนุม นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการเผยแพร่การแสดงท้องถิ่นให้คนรุ่นใหม่ได้รับชม และอีกทางหนึ่งก็เพื่อเป็นการร่วมแสดงจุดยืนทางการเมือง 

“บางเวทีเขาให้ 500 บางเวทีให้พันหนึ่ง ทั้งค่ารถ ค่าตัว บางทีถ้าเขาไม่มีเงิน เราก็ไม่เอา ไม่ได้เงินไม่ได้อะไรก็มี แต่เราก็อยากไปแสดงเจตนารมณ์ไปตามที่ต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ทั้งร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น”

 

ฉากหน้าคือหมอลำ แล้วฉากหลังแบงค์เป็นใคร

พวกเราต่างคุ้นชินถึงฉากชีวิตเบื้องหน้าของเขาในเวทีหมอลำ แต่วันนี้เราอาจจะชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ “หมอลำแบงค์ – ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม” ในอีกฉากชีวิตหนึ่ง พ่อแม่ของเขาหย่าร้างกัน เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่กับแม่ แต่ก็ไม่ได้สนิทสนมกันเท่าใดนัก 

อีกทั้งแม่ยังย้ายไปอยู่ต่างประเทศกับสามีใหม่ ทำให้ทั้งคู่ไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดคุยกัน ญาติพี่น้องก็ไม่มี เขาจึงต้องพึ่งพาตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ส่วนพ่อ เขาไม่เคยเห็นหน้ามาตลอดชีวิต กระทั่งเขาถูกตัดสินจำคุกในปี 2558 พ่อของเขาได้ข่าวจากโทรทัศน์ จึงเดินทางมาเยี่ยม ทั้งสองได้พบกันครั้งแรกที่คุกในขณะที่แบงค์กลายเป็นนักโทษทางการเมือง แต่พอได้ออกจากเรือนจำ ทั้งคู่ก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก 

หมอลำแบงค์เติบโตมาในหมู่บ้านคอมมิวนิสต์เก่าอย่างพื้นที่ในตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร อันเป็นพื้นที่สีแดงสมัยคอมมิวนิสต์ต่อสู้กับรัฐส่วนกลาง และเป็นพื้นที่ที่ฟูมฟักบางส่วนของเนื้อหาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ที่เขาพอจะจำความได้ ซึ่งก็ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อบ้านเมืองของเขาไม่น้อย 

เขาเป็นคนพยายาม หากต้องการจะลงมือทำอะไรแล้วก็มุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเส้นทางชีวิตของเขาไม่เคยราบเรียบตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน 

“ต่อสู้ตั้งแต่ยังเด็ก พ่อไม่มี แม่ไปได้สามีใหม่ที่อังกฤษแล้วมาตายเมื่อปลายปี 63 ติดต่อไปหาพ่อฝรั่ง พอบอกว่าจะขอเอกสารมาทำเรื่องขอค่าชดเชยต่างๆ ทางนั้นเขาปิดโทรศัพท์หนีเลย ไม่ได้อะไรเลย ค่าชดเชยอะไรก็ไม่ได้  เถ้ากระดูกของแม่ก็ยังไม่เห็น” บัวตองเล่าไว้อีกตอน

 

บ่ทันแล้วในใจมันบ้อ เลยออกมาเคลื่อนไหวตลอด

หมอลำอุดมศิลป์ หรือวันดี พลทองสถิตย์ ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงปี 2559 ผู้เป็นทั้งแม่ครูสอนหมอลำ และแม่ผู้สอนการใช้ชีวิตให้กับแบงค์ 

แม่อุดมศิลป์ค่อนข้างสนิทสนมกับเขาพอสมควร หากแบงค์มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็จะมาเล่าให้ฟัง จนอาจถือได้ว่าแม่อุดมศิลป์เป็นคนที่แบงค์ให้ความเคารพและรับรู้ความเป็นไปของเขามาที่สุดคนหนึ่ง “บางทีก็โทรปลุกให้มาเรียน กลัวเขาไม่ได้วิชา เรียนไปทำงานไป เขาจัดการชีวิตเองตั้งแต่ตอนเรียน ใครจะไปแสดงที่ไหน เอาใครไปบ้าง เราก็ให้จัดวงเองเลย แล้วเขาเริ่มเป็นศิลปินตั้งแต่ตอนนั้นเลย”

 

ภาพจากประชาไท

 

ทำนองเทิดทูนสถาบัน บ่าวมหาลัย สาวมหาลัย เป็นวิชาแรกที่แม่อุดมศิลป์ถ่ายทอดให้กับแบงค์ จากนั้นก็เพิ่มเติมทำนองขอนแก่น ทำนองสินไซ และทำนองลำเพลินให้ เพราะเห็นว่าแบงค์ตั้งใจและมีความสามารถ ซึ่งหากเป็นนักเรียนคนอื่น ก็อาจจะสอนทำนองอื่น เขาสอบผ่านทุกทำนอง อีกทั้ง เขายังขอเรียนเพิ่มบางทำนอง เช่น ลำกลอน เพื่อนำไปใช้ในการแสดงหารายได้ ทำให้เขามีรายได้ระหว่างเรียนประมาณ 1-5 พันบาทต่อครั้งการแสดง

“ลำหมู่กะได้ ลำกลอนกะได้ เป่าแคนกะได้ อิหยังเขากะได้ บุคคลคนนี้เป็นคนหัวดี เขาเรียนทุกวิชาบ่เคยออก แต่ว่าวิชาได๋บ่มักอาจารย์ สิมาปรึกษาแม่ แม่ก็บอกว่า อยู่แค่สี่ปี อย่าไปซังครู ลูกต้องเข้า เราเรียนเราได้ ไม่ใช่เขาได้ จะสอนเขาแบบนี้ ประคองเขาไปเรื่อยๆ เหมือนดูแลลูกนี่แหละ”

สำหรับเรื่องการแสดงออกทางการเมือง แม่อุดมศิลป์เล่าว่า รู้สึกแบงก์เหมือนคนเดือนตุลาฯ กลับชาติมาเกิด “มันเลยบ่ทันแล้วในใจมันบ้อ เลยออกมาเคลื่อนไหวตลอด” แต่แม่อุดมศิลป์ก็ติดตามข่าวสารเสมอโดยเฉพาะข่าวคราวที่ไม่ดีเกี่ยวกับนักโทษการเมือง พร้อมทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยว่า “ถ่ามันเป็นจั่งได๋ ก็บอกเรานะ เราจะทำอะไรสักอย่างให้ลูก”


ฉันต่อสู้ของฉัน บ่มีไผมาเบิ่งฉันดอก

ตราบาปจากการเคยเป็นนักโทษ เคยเข้าไปอยู่ในคุก เป็นเรื่องที่แบงค์กังวลใจมากที่สุด เพราะเขาเกรงว่าจะกลายเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับ 

ครั้งหนึ่งเขาเคยไปขอทำงานกับ ส.ส. ในท้องถิ่นคนหนึ่ง เพราะต้องการลบล้างตราบาปที่ว่าคนที่เคยติดคุกสามารถทำงานได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป แต่เขากลับโดนปรามาสว่าเคยติดคุกมาก่อน ไม่สามารถทำงานร่วมทีมทำงานกับคนอื่นได้ ทำให้แบงค์เสียใจอย่างมากจนก่อให้เกิดเรื่องราวทะเลาะเบาะแว้งกันในเวลาต่อมา

 

เหตุนี้จึงเป็นที่มาของสถานีหมอลำซี้น2ต่อน ที่เขาออกมาหารายได้ด้วยการแสดงหมอลำไปพร้อมกับการขายเนื้อแห้งผ่านสตูดิโอไลฟ์สดที่ไปกู้เงินมาลงทุน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของเขาที่อยากจะหารายได้ ด้วยการทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น เพื่อหวังนำเงินที่ได้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่งานแสดงหดหาย 

แบงค์เคยยื่นเรื่องไปยังสำนักงานวัฒนธรรมประจำจังหวัด เพื่อขอสวัสดิการและการเยียวยาหมอลำช่วงโควิด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ความที่ต้องเดินหน้าสู้ชีวิตลำพัง ทำให้บ่อยครั้งรู้สึกโดดเดี่ยว หมอลำแบงค์มักพูดเสมอว่า “ฉันต่อสู้ของฉัน บ่มีไผมาเบิ่งฉันดอก” 

 

กระบวนการยุติธรรม ทำอะไรกับหมอลำแบงค์?

ปัจจุบัน แบงค์ถูกคุมขังระหว่างการรอพิจารณาคดีอย่างไม่มีกำหนดที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คนรอบตัวของเขาทุกคนแสดงความกังวลว่า เขาจะมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกับ 2 ครั้งแรกที่ได้รับการปล่อยตัว

หมอแคนบัวตองเล่าว่า ครั้งที่เขาได้รับการปล่อยตัวจากการจำคุกในปี 2559 เขามีอาการหวาดผวาอยู่ร่วมเดือน “มันผวา มันบอกว่ามีคนมาตาม มาจับตามองว่ามันทำอะไรที่ไหน จะเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเปล่า มันร้องไห้แบบนี้อยู่เป็นเดือน สองเดือน”

 

 

แม่อุดมศิลป์แนะนำให้เขาไปบวชเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัว เขาก็ทำตาม แต่บวชได้เพียง 7 วัน เขาก็เรียกแท็กซี่ให้ไปส่งที่หอพักแถวมหาวิทยาลัยทันทีโดยที่ยังไม่ได้ลาสิกขาบท แล้วจึงกลับมาสึกในภายหลัง เขาบอกว่าการต้องไปอยู่ในวัดที่มีบริเวณไม่กว้างนักนั้น ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกกักขังอีกครั้งเช่นเดียวกับอยู่ในคุก “มันกลายเป็นคนกลัวความแคบ กลัวที่แคบๆ ไปเลย”

ส่วนครั้งที่สองที่ได้รับการปล่อยตัว คือในช่วงตุลาคม 2563 เขามีอาการตอบสนองเรื่องราวต่างๆ รอบตัวด้วยอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนในฐานะหมอลำคนหนึ่งปราศจากความยุติธรรม ประกอบกับสถานการณ์ทางการเงิน เขาไม่ค่อยมีงานแสดง เพราะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งผสมรวมให้เกิดความเครียดและกดดันในการใช้ชีวิตยิ่งขึ้น

 

หมอลำแบงค์ไปแล้วเด้อ..

“ตอนจะไปรายงานตัวหรือไปคดีอะไรก็ตาม เขาจะฝากของไว้ที่ร้าน และบอกว่า เจ๊ ผมไปแล้วเด้อ เราก็ใจหาย ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้กลับมา” 

หวาน เจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในขอนแก่น ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับหมอลำแบงค์ เล่าว่า หลังจากแบงค์กลายเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง เขามีปัญหาในการเข้าสังคม เกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากมีช่วงหนึ่งที่เขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เขาไม่กล้าไปไหนและมักอยู่ที่ร้านนี้เป็นประจำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หวานและคนอื่นๆ ในร้านเข้าใจในตัวเขาและสถานการณ์บ้านเมืองที่เขาต้องเผชิญ ที่แห่งนี้จึงเป็นที่ที่ปลอดภัยทั้งกายและใจสำหรับเขา

 

 

“นายแบงค์พยายามช่วยเหลือตัวเอง ทำงานนั้นทำงานนี่ เพราะถ้าใครไปให้เงินเขาเฉยๆ เขาไม่เอานะ แต่โดยนิสัยแล้ว ที่เขาไม่ชอบคือการดูถูก เขาต้องการทำงานเพื่อแลกเงิน และล้างมลทินจากการโดนคดี 112 เพราะไปซื้อรถก็ยาก สมัครขับรถส่งอาหารเขาก็ไม่เอา เขาอยากปลดล็อกกับชีวิตตรงนี้” 

“ผมไปแล้วเด้อ” เป็นคำพูดบอกลาสั้นๆ ที่หมอลำแบงค์มักเอ่ยทิ้งไว้กับหวานเสมอ ก่อนที่เขาจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือเดินทางไปรายงานตัวตามนัดต่างๆ 

นับจากคำบอกลาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แบงค์ยังคงไม่ได้เดินทางกลับมาจนถึงวันนี้ และยังไม่มีใึครได้ยินเสียงร้องหมอลำของเขาอีกในลมแล้งนี้

 

X