ไต่สวนย้ายที่คุมขัง “โตโต้-ไผ่-ไมค์” ราชทัณฑ์อ้างเรื่องความปลอดภัย แต่คดีการเมืองอื่นยังขังเรือนจำพิเศษกทม.

11 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดไต่สวนคำร้องของทนายความ ซึ่งยื่นคำร้องให้ศาลออกคำสั่งนำตัว โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ, “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก จากเรือนจำพิเศษธนบุรี มาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ให้ตรงกับหมายขังระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดี  เนื่องจากหมายขังจะต้องจัดการให้เป็นไปตามเขตของศาล อีกทั้งการนำตัวทั้งหมดไปขังในเรือนจำที่ห่างไกลนั้นกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาและสิทธิอื่นๆ เนื่องจากทนายความและญาติเข้าเยี่ยมไม่สะดวก 

หลังจากยื่นคำร้องดังกล่าวไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 มี.ค. 64 ในช่วงบ่ายศาลได้เรียกทนายความและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาไต่สวน รวมทั้งเบิกตัว ปิยรัฐ, จตุภัทร์ และภาณุพงศ์ เข้าร่วมกระบวนการผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้อ้างส่งเอกสารซึ่งผู้ต้องขังทั้งสามไม่สามารถดูได้ รวมทั้งจตุภัทร์ได้แถลงขอให้ศาลเบิกตัวมาเข้าร่วมการไต่สวนในห้องพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม ศาลจึงได้มีคำสั่งให้เบิกตัวทั้งสามมาที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น

ก่อนการพิจารณามีประชาชนและเพื่อนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจนักกิจกรรมทั้งสาม แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังการพิจารณา โดยอ้างข้อปฏิบัติเรื่องการป้องกันโควิดของศาลอาญา ข้อ 10  “การติดต่อราชการศาล การพิจารณาคดี อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีเท่านั้น เว้นแต่บุลคลที่มีความจำเป็นเกี่ยวข้องกับคู่ความ เช่น อัยการ ทนายความ พยาน และบุคคลที่โจทก์หรือจำเลยร้องขอ โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอื่น (social distancing)” โดยเอกสารดังกล่าวลงวันที่ 10 มี.ค. 64 

นอกจากนี้บริเวณทางเดินเข้าห้องพิจารณา 907-910 ถูกปิดกั้นด้วยรั้วสีเหลือง ทำให้ผู้ที่ต้องการจะเข้ามาให้กำลังใจไม่สามารถเดินเข้าไปตรงทางเดินหน้าห้องพิจารณาได้ ตลอดช่วงเวลาของการพิจารณายังมีเจ้าหน้าที่ศาล, ตำรวจศาล และ รปภ. ยืนเฝ้าบริเวณหน้าห้องพิจารณา และในช่วงเวลาประมาณ 12.20 น. รองอธิบดีผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ได้เดินมาตรวจดูความเรียบร้อยเช่นเดียวกัน

เวลา 10.00 น. โตโต้, ไผ่ และไมค์ ถูกนำตัวมาที่ห้องพิจารณา ทั้งสามคนใส่เสื้อแขนสั้น-กางเกงขาสั้นสีน้ำตาล และรองเท้าแตะสีดำ โดยมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 5-8 คน ทำหน้าที่ควบคุมตัวมา มีเพียงมารดาของไมค์ และแฟนของไผ่ รวมถึง ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะอาจารย์ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณา ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลขอความร่วมมือผู้เข้าฟังการพิจารณาปิดเครื่องมือสื่อสาร และไม่บันทึกหรือถ่ายภาพในห้องพิจารณา 

 

ราชทัณฑ์เพิ่งอ้างส่งคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์สั่งย้อนหลังให้ย้าย “โตโต้-ไผ่-ไมค์”

10.15 น. เริ่มพิจารณากรณีของ โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งศาลอนุญาตฝากขังและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากเหตุจับกุมกลุ่มการ์ด We Volunteer (Wevo) และประชาชน บริเวณห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนการชุมนุมในวันที่ 6 มี.ค. 64 นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ นายนราวิชญ์  ซึ่งรับราชการมาแล้ว 10 ปี ขึ้นเบิกความตอบทนายผู้ต้องหา โดยรับว่าในคดีนี้มีการย้ายผู้ต้องขังไปเรือนจำพิเศษธนบุรีโดยไม่ได้พาตัวโตโต้ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาก่อน และไม่มีการแจ้งญาติให้ทราบ 

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รับว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะต้องนำผู้ต้องขังไปขังตามหมาย และหมายขังสั่งให้ขังผู้ต้องหาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทนายผู้ต้องหาได้นำกฎกระทรวง เรื่องการกำหนดระบบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง การควบคุมและการแยกคุมขัง และการย้ายผู้ต้องขัง ให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดู โดยกล่าวว่า กฏกระทรวงข้อ 17 การสั่งย้ายผู้ต้องขังต้องขออนุญาตศาลและอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายนราวิชญ์รับว่าโดยปกติต้องเป็นเช่นนั้น แต่หากมีกรณีจำเป็นก็สามารถย้ายผู้ต้องขังก่อนแล้วจึงแจ้งศาล 

ทั้งนี้ ในการไต่สวนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 64 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ได้อ้างส่งเอกสารคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ย้ายผู้ต้องขังเข้ามาในสำนวน มีเพียงหนังสือผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่งถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อขอย้ายผู้ต้องขัง ทนายความได้ถามนายนราวิชญ์ว่า เอกสารนี้จัดทำขึ้นในเวลา 14.50 น. ของวันที่ 10 มี.ค. 64 ภายหลังจากทนายยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลออกคำสั่งนำตัว โตโต้, ไผ่ และไมค์ ย้ายจากเรือนจำพิเศษธนบุรี กลับมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 10 มี.ค. 64 ใช่หรือไม่

อย่างไรก็ดี ในวันนี้นายนราวิชญ์ได้นำคำสั่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ย้ายผู้ต้องขังไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรีมาอ้างส่งศาล ศาลรับไว้โดยกล่าวว่า คดีอาญาต้องให้ความยุติธรรมและวางตัวเป็นกลาง จะไม่ทำให้มีความเคลือบแคลงสงสัย ทนายผู้ต้องหาได้ซักถามนายนราวิชญ์ว่า เมื่อวาน (10 มี.ค. 64) ทนายได้ถามแล้วว่า มีเอกสารอะไรจะยื่นอีกหรือไม่ พยานไม่ได้ยื่น แต่วันนี้กลับส่งหนังสือฉบับนี้ ซึ่งลงวันที่ 10 มี.ค. 64 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 เป็นการสั่งย้อนหลัง อีกทั้งเป็นเพียงเอกสารสำเนา ไม่มีวันเวลาที่เซ็นรับเอกสาร ไม่ได้แนบเหตุผลในการขอย้ายเพื่อรายงานให้ศาลทราบ รวมทั้งไม่มีคำสั่งอนุญาตจากศาล ใช่หรือไม่ นายนราวิชญ์รับว่าใช่ 

    

อ้างเหตุย้ายที่คุมขังเรื่องความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กล่าวว่าเหตุผลหลักที่ต้องย้ายตัวผู้ต้องขังเป็นเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัย เนื่องจากวันดังกล่าวมีการออกมาเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังที่ถูกขังไปก่อนหน้าที่บริเวณหน้าศาลอาญาและยังมีมวลชนมารวมตัวกันหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มากกว่าทุกครั้ง  นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเมื่อวันที่  6 มี.ค. 64 มีการชิงตัวกลุ่ม Wevo บริเวณเมเจอร์รัชโยธินอีกด้วย 

ทนายความได้ซักถามพยานโดยตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือขอย้ายไม่ได้ระบุเหตุผลเรื่องมวลชน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีการคุมขังอานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ในคดีการชุมนุมวันที่ 19-20 ก.ย. 63 มาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 และมีการทำกิจกรรมเรียกร้องหน้าเรือนจำหลายครั้ง แต่ไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยมาก่อน และทั้งสี่คนก็ไม่ได้ถูกย้ายออกไปคุมขังที่เรือนจำอื่นแต่อย่างใด นราวิชญ์รับว่าใช่  

นอกจากนี้ ทนายผู้ต้องหา/จำเลยทั้งสามได้แย้งคำเบิกความของนายนราวิชญ์ว่า ไม่สอดคล้องกับการแถลงข่าวของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่อ้างว่า การนำตัวทั้ง 3 คน ไปขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เนื่องจากต้องการลดความแออัด 

ทนายความยังได้ถามเจ้าหน้าที่ถึงเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า ในเขตกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีระบบรักษาความปลอดภัยดีที่สุดรองจากเรือนจำบางขวางใช่หรือไม่ ที่ผ่านมาผู้ต้องขังคดีการเมืองซึ่งมีมวลชนมาให้กำลังใจจำนวนมากก็ขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เคยมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตอบว่าตนรู้เรื่องระบบความปลอดภัยเพียงบางส่วน และตลอดช่วงเวลาที่ตนทำงานราว 10 ปี มีผู้ต้องขังหนี 1-2 คน

ทั้งนี้ ไมค์และไผ่เบิกความว่า ในวันที่ 8 มี.ค. 64 “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ก็ถูกนำตัวออกจากศาลพร้อมกัน แต่อยู่ในรถคนละคัน ขบวนรถผู้ต้องขังได้ผ่านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีเพียงรถคันที่ควบคุมตัวรุ้งที่เลี้ยวเข้าประตูทางเข้าเรือนจำ แต่รถที่ควบคุมตัวไมค์และไผ่วิ่งผ่านไป ไม่ได้เลี้ยวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งที่หมายขังให้ขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่กลับพาตัวไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรีแทน 

ไผ่ยังเบิกความว่า ขณะผ่านหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตนมองเห็นแต่ลวดหนามหีบเพลง ไม่เห็นมวลชนที่หน้าเรือนจำแต่อย่างใด ทำให้ทนายตั้งคำถามนราวิชญ์ว่า ประตูทางเข้าของทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ใช้ประตูเดียวกัน ที่พยานเบิกความว่ามีมวลชนอยู่ที่ประตูทางเข้าเรือนจำจำนวนมาก มวลชนจะขัดขวางได้แค่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่ขัดขวางทางเข้าทัณฑสถานหญิงกลางใช่หรือไม่ นายนราวิชญ์ไม่ตอบ

ทนายความของทั้งสามยังถามถึงสาเหตุที่ไม่มีการรายงานศาลเรื่องการเปลี่ยนที่คุมขังภายในวันที่ 9 มี.ค. 64 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตอบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินงานธุรการ ซึ่งเสร็จก่อนวันที่ 10 มี.ค. 64 แต่ติดเรื่องการออกเลขเอกสารอยู่ นราวิชญ์ยังตอบทนายว่า สามารถแจ้งศาลย้อนหลังได้และเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบไม่ให้การขออนุญาต โดยในปีที่ผ่านมามีการย้ายผู้ต้องขังเช่นนี้ประมาณ 5 คนและไม่ได้ขออนุญาต 


ผู้ต้องขังทั้ง 3 ไม่ได้ร้องขอหรือยินยอมให้คุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี

ทนายความถามถึงความสมัครใจของผู้ต้องขังทั้งสามเกี่ยวกับการถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี โดยทั้งสามไม่ได้เซ็นยินยอมให้ย้ายเรือนจำ โดยเห็นว่าเรือนจำพิเศษธนบุรีอยู่ไกล ก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการเข้าเยี่ยมของญาติและทนายความ กระทบกับการต่อสู้คดี อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้กล่าวว่าการย้ายเรือนจำเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องขัง 

โตโต้กล่าวว่าตนถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 64 โดยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ก่อนถูกนำตัวไปเรือนจำพิเศษธนบุรี ในวันที่ 8 มี.ค. 64 โดยขณะที่ถูกจับกุมบริเวณลานจอดรถชั้น 3 ของโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธิน ตนไม่มีพฤติการณ์ขัดขืน  แต่ไม่ทราบว่าคนที่มาจับเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ เนื่องจากไม่ได้แต่งเครื่องแบบ และนำตนขึ้นรถส่วนตัวไปคนเดียว จนตนคิดว่าถูกชิงทรัพย์ ที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เบิกความเรื่องการชิงตัว Wevo นั้น จึงไม่เกี่ยวกับตน รวมทั้งคำร้องขอฝากขัง พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้ระบุว่า ตนต่อสู้ขัดขวาง

ส่วนไมค์และไผ่ เห็นว่าพวกตน กับผู้ต้องขังอีก 4 คน คือ อานนท์, พริษฐ์, สมยศ และปติวัฒน์ ซึ่งถูกขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นผู้ต้องขังในคดีเดียวกันซึ่งอัยการยื่นคำร้องของรวมคดีแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือในเรื่องการต่อสู้คดี นอกจากนี้ยังใช้ทนายชุดเดียวกัน พยานหลักฐานเดียวกัน สมควรที่จะได้อยู่ในเรือนจำเดียวกันเพื่อความสะดวกในการเข้าเยี่ยมและเพื่อความยุติธรรมในการต่อสู้คดี  

ไผ่ยังเบิกความว่าวันที่พวกตนถูกนำตัวมามีการใช้รถบัสชุดควบคุมฝูงชนจำนวนมากกว่า 4 คัน มีรถหน่วย SWAT และรถเจ้าหน้าที่ รวมๆ แล้วอาจจะถึง 15 คัน รถที่ควบคุมตนไม่ได้เลี้ยวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่พามายังเรือนจำพิเศษธนบุรี  พวกตนถูกทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายภาพ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาทำ ครั้งที่สองเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ทำตามคำสั่งศาลและไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเหตุใดจึงพาพวกตนมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ทำให้ตนรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและต่อกระบวนการยุติธรรม 

หลังจบการไต่สวน ศาลนัดฟังคำสั่งต่อคำร้องขอให้ย้ายผู้ต้องขังทั้งสามมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามหมายขังของศาล ในวันจันทร์ที่ 15 มี.ค. 64 เวลา 9.00 น.

ทั้งนี้ ก่อนจบการไต่สวน ทนายความได้แถลงต่อศาลและแจ้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ว่า พริษฐ์ยังเป็นเพียงนักศึกษาไม่ควรขังเขาไว้ในแดน 5 ซึ่งเป็นแดนนักโทษเด็ดขาด โดยศาลให้ทนายความประสานกรมราชทัณฑ์ก่อน 

 

X