ตร.แจ้งข้อหา ม.112 ต่อ 5 นศ.-ปชช.ลำปาง เหตุแขวนป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19”

25 ม.ค. 64 เวลา 10.30 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง นักศึกษาและประชาชนในจังหวัดลำปางรวม 5 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 63 ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยตำรวจยังมีขอเก็บและตรวจ DNA ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าด้วย

สำหรับผู้ถูกออกหมายเรียก 5 ราย ได้แก่ 1. พินิจ ทองคำ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน, 2. วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาชิกกลุ่ม NU-Movement, 3. ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษาคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 4. ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง และ 5. “หวาน” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองลำปางได้นำกำลังเข้าตรวจค้นสำนักงานคณะก้าวหน้าจังหวัดลำปาง และบ้านพักของนักศึกษาสองราย โดยมีการแสดงหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดลำปาง ก่อนมีการส่งหมายเรียกผู้ต้องหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้กับกลุ่มนักศึกษา รวมทั้งมีการตรวจยึดแผ่นป้ายไวนิล, ถังสีแดงและเหลือง, ขวดน้ำพลาสติกตัดครึ่งที่ใช้ผสมสี, แปรงทาสี และเชือกฟาง จำนวน 7 รายการ 

ต่อมาจึงทราบว่ามีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 5 ราย โดยมี ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร รองสารวัตรสืบสวนสภ.เมืองลำปาง เป็นผู้กล่าวหา และนัดหมายให้ทั้ง 5 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ 

>> ตร.เข้าค้นบ้านนศ.ลำปาง-สำนักงานคณะก้าวหน้า ก่อนส่งหมายเรียกคดี ม.112 เผยมีผตห.ทั้งหมด 5 ราย

 

การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งแผงรั้วเหล็กรอบบริเวณอาคารสถานีตำรวจ และตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิสำหรับคนที่ผ่านเข้าออก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 50 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกราว 20 นายกระจายตัวอยู่โดยรอบ 

ขณะเดียวกันมีกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนเดินทางมาให้กำลังใจผู้ถูกออกหมายเรียกราว 20 คนด้วย โดยมี พ.ต.อ.ศราวุธ วะเท ผู้กำกับสภ.เมืองลำปาง ได้เข้ามาชี้แจงกระบวนการในวันนี้ให้กับผู้เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในวันนี้

ก่อนเข้าไปยังห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการจัดสอบประวัติส่วนตัว ที่อยู่ และถ่ายภาพผู้ที่เข้ามาในอาคาร และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามประกบถ่ายภาพกลุ่มผู้ถูกออกหมายเรียก ทั้งในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหายังมีการตั้งกล้องบันทึกวีดีโอไว้ระหว่างการสอบสวนโดยตลอด

นอกจากนั้นทางตำรวจยังเตรียมจัดหาทนายความจากสภาทนายความเอาไว้ แต่ทางผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดยืนยันว่าตนมีทนายความอยู่แล้ว 

คณะพนักงานสอบสวนซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งของตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง นำโดย พ.ต.ท.สืบสกุล ขุนเพิ่ม รองผู้กำกับสอบสวนสภ.เมืองลำปาง ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้ง 5 คน โดยได้มีการแยกห้องในการแจ้งข้อหาและสอบปากคำเป็นรายบุคคล 

ข้อกล่าวหาระบุว่า ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เวรสืบสวน ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 63 เวลา 9.00 น. ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63 เวลา 9.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และข้อมูลร้องเรียนทั่วไปผ่านเว็บไซต์และเพจต่างๆ พบว่าเพจของกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ได้โพสต์ภาพและข้อความกรณีมีการแขวนป้ายผ้าไว้ที่ราวสะพาน บริเวณกลางสะพานรัษฎาภิเศก พร้อมระบุข้อความว่า “เวลานี้ แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ขึ้นป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID 19’ บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง”

ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสภ.เมืองลำปาง, เจ้าหน้าที่สายตรวจเวร จึงไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จึงพบว่ามีการติดป้ายที่เขียนข้อความดังกล่าว ไว้บริเวณสะพานรัษฎาภิเษก จึงได้ร่วมกันตรวจยึดป้ายดังกล่าว นำส่งพนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำปาง และมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดครั้งนี้ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 10 เรื่องการโฆษณาด้วยการปิดแผ่นประกาศในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต 

 

ภาพจากเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน”

 

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหาดังกล่าวต่อทั้งห้าคน โดยอ้างการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุของช่วงวันเกิดเหตุ ทำให้เชื่อว่าทั้งห้าคนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป 

พนักงานสอบสวนยังระบุว่าคดีนี้จำเป็นต้องมีการเก็บพยานหลักฐาน DNA อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่มารอไว้แล้ว จึงขอเก็บหลักฐานดังกล่าวจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคน โดยทางตำรวจระบุว่าหากไม่ยินยอม อาจเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาเอง อีกทั้งยังกล่าวเสริมว่าหากเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล เมื่อได้ปรึกษากันแล้ว ทางกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาจึงยินยอมให้มีการตรวจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.5) โดยการเก็บตัวอย่าง DNA จากกระพุ้งแก้ม

นอกจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ให้ทั้งหมดพิมพ์ลายนิ้วมือสำหรับตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้ โดยนัดหมายมารายงานตัวกับทางตำรวจต่อไปในวันที่ 18 ก.พ. 64 

กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 14.30 น. เนื่องจากมีการแยกห้องสอบสวน ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราวเร็วช้าไม่เท่ากัน 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าในการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการระบุว่าข้อความในป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19’ เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร   

จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ นับจากปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งเริ่มมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้กล่าวหาผู้แสดงออกทางการเมือง มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองแล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 55 ราย ใน 41 คดี 

ดูตารางสถิติคดีมาตรา 112 >> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

 

X