ปรับรวม 8,500 จำคุก 1 เดือน รอลงอาญา นศ.ม.ศิลปากร “ปาสี” รูปร.10 มหาลัย-ธนารักษ์ไม่ถอนฟ้อง

วันนี้ (25 ธ.ค. 63) เวลา 09.00 น. ศาลแขวงนครปฐมนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปาสีเปรอะรูปรัชกาลที่ 10 บริเวณป้ายหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร และบริเวณกำแพงรั้วของกรมธนารักษ์ 

นักศึกษาคนดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยมิชอบและไม่มีหมายจับ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 พ.ย. 63 เป็นเวลา 1 วัน 1 คืน ที่กองกำกับการสืบสวน 1 บก.สส.ภ.7 อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก่อนรับสารภาพในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ และทำให้ทรัพย์เปรอะเปื้อน

คดีนี้ นางสาวณิชาภัทร อนุรักษ์โอฬาร พนักงานอัยการศาลแขวงนครปฐม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในทั้งสองข้อหา โดยกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 63 เวลากลางคืน นักศึกษารายนี้ได้ใช้สีขาวใส่ถุงพลาสติก ปาไปที่รูปรัชกาลที่ 10 ที่อยู่บนป้ายชื่อมหาวิทยาลัยศิลปากร และป้ายไวนิลบริเวณกำแพงซึ่งอยู่ในซอย ทำให้เกิดเป็นรอยเลอะเป็นหย่อมๆ  

จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐมก่อนแล้ว พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 23 พ.ย. ศาลสั่งสืบเสาะเพิ่มเติมเพื่อประกอบการจัดทำคำพิพากษา และนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันนี้

>> อ่านรายละเอียดการควบคุมตัวดังกล่าวได้ที่ นศ.ศิลปากรเผย ถูกจับ-ควบคุมตัวไม่ชอบ เหตุปาสีเปรอะรูป ร.10 โดนข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” 

ศาลแขวงนครปฐมพิพากษา ว่าจำเลยมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี ไม่ต้องรายงานตัว และชำระค่าเสียหายแก่กรมธนารักษ์ประมาณ 6,000 บาท โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรรวบรวมเงินมาดำเนินเรื่องเสียค่าปรับให้นักศึกษาคนดังกล่าวแล้ว

เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 ศาลแขวงนครปฐม จำเลย ทนายความจำเลยมาศาล นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ที่ปรึกษา และเพื่อนนักศึกษามาให้กำลังใจ แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่อนุญาตให้เข้าฟัง โดยแจ้งว่าเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จึงอนุญาตให้เฉพาะคู่ความ ได้แก่จำเลย ทนายความ และผู้เสียหายจากกรมธนารักษ์ เข้าฟังเท่านั้น นอกจากนั้นให้รออยู่ด้านนอก 

เวลาประมาณ 9.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง โดยสรุปว่า

 จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” และมาตรา 389 “กระทำด้วยประการใดๆ ให้ของโสโครก เปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนตัวบุคคลหรือทรัพย์ หรือแกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ” โดยจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม จึงให้ลงโทษเรียงทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป

และความผิดแต่ละกรรมยังผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามกฎหมายในบทที่มีโทษหนักที่สุด คือลงโทษตามมาตรา 358 ฐานทำให้เสียทรัพย์ รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 เดือน ปรับ 2,500 บาท รวมโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท 

จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม มาตรา 78 จำคุก 1 เดือน ปรับ 2,500 บาท ให้จำเลยนำค่าเสียหายมาชำระให้ผู้เสียหาย ถือว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายแล้ว โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ส่วนชำระค่าปรับให้จัดการตาม มาตรา 29 และ 30

 

ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีผู้เสียหายคนใดถอนการร้องทุกข์ต่อนักศึกษา ศาลจึงลงโทษทั้ง 2 กระทง

คดีนี้มีผู้เสียหายที่เป็นผู้กล่าวหา 2 หน่วยงานได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ โดยนายพงศ์สวัสดิ์ พิชญาพันธุ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ รับมอบอำนาจ และสำนักงานกรมธนารักษ์พื้นที่นครปฐม โดยนางสาวปนัดดา ชาวพิหารแดง เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน รับมอบอำนาจจากนางอารี งามศิริอุดม ธนารักษ์พื้นที่นครปฐม 

กรมธนารักษ์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่ารูปรัชกาลที่ 10 เปรอะสี จำนวน 820 บาท และกำแพงรั้วเปรอะเปื้อน จำนวน 4,920 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย. 63 ซึ่งเป็นวันละเมิดจนถึงวันฟ้อง และนับวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระแก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหาย แต่ก็ไม่ได้ถอนฟ้องไป

 

X