16 ธ.ค. 2563 “แอมมี่ The Bottom Blues” หรือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ พร้อมทนายความเดินทางไป สน.สำราญราษฎร์ หลังได้รับการติดต่อจาก พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบสำนวนคดี “สาดสี” จากเหตุการณ์หน้า สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ให้เข้าไปพบโดยระบุว่า จะเปรียบเทียบปรับข้อหาทำร้ายร่างกาย และข้อหาตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ
ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวน สน.สําราญราษฎร์ แจ้งข้อกล่าวหาแอมมี่ในคดีนี้ รวม 3 ข้อหา ได้แก่ “ทําร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391, “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ “ทำให้ปรากฏซึ่งรูปรอยใดๆ บนถนนหรือที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 โดยเข้าแจ้งข้อกล่าวหาขณะแอมมี่ถูกฝากขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพ ในคดีจากการร่วมชุมนุมกับ #คณะราษฎรอีสาน ซึ่งแอมมี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมา พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการ โดยที่แอมมี่ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องแบบของผู้กล่าวหาทั้งสิบนั้น ในวันเกิดเหตุได้มีประชาชนรวบรวมเงินจำนวน 35,000 บาท มอบให้แก่ พ.ต.อ.อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กำกับ สน.สำราญราษฎร์ แล้ว ล่าสุด อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 4 มี.ค. 2564
แต่เมื่อแอมมี่ไปถึง สน.สำราญราษฎร์ ตามที่พนักงานสอบสวนนัด ร.ต.อ.อานนท์ ไทรด้วง พนักงานสอบสวนกลับกล่าวว่า ยังไม่สามารถเปรียบเทียบปรับในวันนี้ได้ เนื่องจากได้ส่งสำนวนให้อัยการแล้ว โดยอัยการได้ส่งสำนวนกลับมาให้สอบเพิ่มเติม หลังจากพนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมเสร็จแล้วก็จะส่งสำนวนให้อัยการอีกครั้ง หากอัยการสั่งให้เปรียบเทียบปรับถึงจะส่งมาให้พนักงานสอบสวนปรับ
พนักงานสอบสวนชี้แจงอีกว่า ส่วนที่นัดมาครั้งนี้ให้มารับทราบพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเพิ่มเติม จากนั้นได้แจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมว่า หลังผู้ต้องหาสาดสีใส่ผู้กล่าวหาที่ 1 – 10 ซึ่งยืนหลังแผงเหล็ก จนสีเปรอะเปื้อนเครื่องแบบ รวมไปถึงพื้นถนนเป็นบริเวณกว้าง และเดินกลับเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ต่อมา ผู้ต้องหาได้เดินมาผลักอกผู้กล่าวหานายหนึ่ง เมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553 ที่วางหลักไว้ว่า โจทก์สามารถฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นอันตราย แต่เมื่อเหล้าพลาดไปถูกคนอื่น เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ผู้อื่นโดยพลาดไปด้วย กรณีนี้ การที่ผู้ต้องหาผลักอกผู้กล่าวหา 1 คน จึงถือว่ากระทำต่อผู้กล่าวหาทั้ง 10 คน ด้วย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้กล่าวหาที่ 1-10 โดยไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ
หลังพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาเพิ่มเติม แอมมี่ไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่มเติมนั้นไม่ถูกต้อง ด้านพนักงานสอบสวนก็ไม่มอบสำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมให้แอมมี่ด้วย
หลังจากนี้แอมมี่จะเข้าพบพนักงานอัยการเพื่อฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องในวันที่ 4 มี.ค. 2563 ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) ตามที่อัยการนัดไว้
ปฏิบัติการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่หลังแผงเหล็กหน้า สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 จนเป็นเหตุให้แอมมี่ถูกดำเนินคดีนี้นั้น เกิดขึ้นขณะที่กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และศิลปินแร็ปซึ่งถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหากรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยแอมมี่กล่าวถึงเหตุผลเบื้องหลังสิ่งที่ทำในวันนั้นว่า “สิ่งที่เราทำคือการสร้างสัญลักษณ์ในการทวงความยุติธรรม ทวงถามความชอบธรรม และต้องการสื่อสารให้พวกเขาหยุดคุกคามประชาชนเสียที เพราะต่อไปนี้ไม่ใช่คุณแล้วที่จะคุกคามเราอย่างเดียว ถ้าคุณทำพี่น้องเรา เราก็มีสิทธิที่จะทำคุณเหมือนกันด้วยชั้นเชิงทางศิลปะ”