วันนี้ (30 ต.ค. 63) ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำพิพากษาในคดีของนักกิจกรรมและนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พร้อมทั้งสมาชิกสหภาพแรงงาน รวม 12 ราย จากกรณีเดินแจกใบปลิวโหวตโนประชามติที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 59 ก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้ง 12 คนตกเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 โดย 8 ราย ยังถูกฟ้องในข้อหา ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ฉบับที่ 25 ด้วย รวมทั้งมี 2 ราย ที่ถูกฟ้องข้อหา ไม่แสดงบัตรประชาชนอีก 1 ข้อหาด้วย (อ่านประมวลคดีนี้ได้ที่ ย้อนดู 4 ปี คดีแจกใบปลิว Vote No ประชามติบางเสาธง ก่อนคำฟังพิพากษา)
ศาลได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้ยกเลิกไปแล้ว และการแจกเอกสารรณรงค์ พูดคุยประชาสัมพันธ์ผ่านโทรโข่ง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 ส่วนข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 25 ก็ได้ถูกยกเลิกแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1-2 ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาไม่แสดงบัตรประชาชนนั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักจะรับฟัง จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน
เวลา 15.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 13 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยทั้ง 12 คน และทนายจำเลยมาศาล ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้จำเลยทั้ง 12 คน ฟัง โดยสรุปว่า
ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561
ส่วนข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือของจำเลย 8 ราย วินิจฉัยให้พ้นข้อกล่าวหา เนื่องจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยฯ (คปค.) ฉบับที่ 25 ยกเลิกแล้ว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในข้อหาไม่แสดงบัตรประชาชนของจำเลย 2 รายนั้น พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักจะรับฟังได้ ทำให้ยกไม่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน
ส่วนการกระทำจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 หรือไม่ ศาลเห็นว่า ขณะจำเลยทั้ง 12 แจกเอกสาร มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทย มีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
นอกจากนี้ มาตรา 5 ยังบัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้” ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 7 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”
ดังนั้น การใช้สิทธิจึงสามารถกระทำได้ เท่าที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้ง 12 แจกใบปลิวข้อความดังกล่าว จำเลยทั้ง 12 จึงมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความเห็น แม้พยานผู้เชี่ยวชาญ นายสิรวิชญ์ ง๊ะสมัน จะเบิกความยืนยันว่า การให้ข้อมูลต้องไม่กำกวม แต่ข้อความในเอกสาร หนังสือความเห็นแย้ง และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้ ไม่ถือเป็นข้อความกำกวม ส่วนข้อความ Vote No หรือ No Vote ไม่สามารถตีความได้ ส่วนที่ว่าข้อความล้อเลียนไม่สามารถกล่าวได้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของพยานเท่านั้น
ประกอบกับการลงประชามติเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชนโดยตรง การออกเสียงประชามติจึงต้องมีการเปิดเผย ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถรณรงค์ได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ยังไม่ผิดต่อกฎหมาย ไม่ถึงขนาดก่อให้เกิดความวุ่นวาย
อีกทั้งพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า จำเลยทั้ง 12 แจกเอกสาร พูดประชาสัมพันธ์ผ่านโทรโข่ง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นให้ประชาชนออกไปลงประชามติ ส่วนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นดุลยพินิจของประชาชน จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 พิพากษายกฟ้อง
สำหรับคดีแจกใบปลิวประชามติบางเสาธง ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงศาลมีคำพิพากษา รวมเป็นเวลากว่า 4 ปี 4 เดือนเศษ คดีเดิมเคยถูกพิจารณาในศาลทหาร ทำให้กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า พิจารณานานกว่า 3 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ก่อนคดีจะถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือน ภายหลัง คสช. ยุติบทบาท
สำหรับรายชื่อจำเลยที่ 1-12 ตามลำดับ ได้แก่ เตือนใจ (สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), กรชนก (สงวนนามสกุล), รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ, รังสิมันต์ โรม, กรกช แสงเย็นพันธ์, อนันต์ โลเกตุ, ธีรยุทธ นาขนานรำ, ยุทธนา ดาศรี, สมสกุล ทองสุกใส, นันทพงศ์ ปานมาศ และวรวุฒิ บุตรมาตร