เว็บไซต์ Medium.com ตั้งข้อสังเกตว่า หากแอปพลิเคชัน Tiktok ซึ่งปล่อยระบบปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2559 จะเริ่มเป็นคู่แข่งของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่หลังเวลาผ่านไปเพียง 2-3 ปี การที่แอปพลิเคชัน Minds ซึ่งเติบโตมาพร้อมสถานะที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ของเทคโนโลยีบล็อกเชนจะก้าวขึ้นมาตีตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้านับว่าไม่ใช่เรื่องยาก
Minds แอปพลิเคชันที่มีสัญลักษณ์เป็นหลอดไฟสีเหลือง ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 และใช้โอกาสจากบล็อกเชนประกาศตัวเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ให้ค่าตอบแทนผู้ใช้แพล็ตฟอร์มเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Crypto Social Network) แต่ไม่ใช่บล็อกเชนเท่านั้นที่ให้กำเนิด Minds ความไม่ไว้วางใจเรื่องการกำหนดอัลกอริทึม การขายข้อมูล และเปิดเผยความเป็นส่วนตัวของโซเชียลเน็ตเวิร์กกระแสหลักเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโซเชียลมีเดียทางเลือกอย่าง Minds
Minds มีความคล้ายคลึงทั้งทวิตเตอร์ ยูทูป และเฟซบุ๊กในขณะเดียวกัน แม้ปัจจุบันจะมียอดผู้ใช้ 2 ล้านกว่าคนซึ่งน้อยกว่าโซเชียลมีเดียกระแสหลักหลายเท่า แต่ถือเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในบรรดาโซเชียลมีเดียทางเลือกด้วยกัน โดย Minds ให้ความสำคัญกับ 4 ฟีเจอร์คือ
1. นิวส์ฟีด (news feed) ใช้สำรวจว่ามีอะไรเกิดขึ้นใหม่ในกระแสไหลเวียนข้อมูลข่าวสารและสเตตัสที่เราติดตาม
2. การค้นพบ (discovery) ใช้เพื่อค้นหาว่ามีคอนเท็นต์อะไรน่าสนใจ
3. บล็อก (blog) ใช้สร้างคอนเท็นต์ โดยคอนเท็นต์ที่มีผู้ติดตามมากจะได้รับเงินสกุลดิจิทัลตอบแทน และมีพื้นที่ให้โฆษณามาลงที่บล็อกของผู้ใช้โดยตรง
4. กลุ่ม (groups) ฟีเจอร์สำหรับสมาชิกในชุมชน Minds ที่สนใจประเด็นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทย Minds เป็นพื้นที่ที่ชาวทวิตเตอร์เล็งไว้ให้เป็นสำมะโนครัวใหม่ หลังทวิตเตอร์อัปเดตนโยบายความเป็นส่วนตัวที่น่าเคลือบแคลง และเกิดแอ็คเคาท์ #ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ ขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลผู้ใช้ทวิตเตอร์เกิดความไม่ไว้วางใจว่าทวิตเตอร์อาจทำงานร่วมกับรัฐบาลและกังวลว่ารัฐบาลอาจเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้ง่ายขึ้น ผู้ใช้ทวิตเตอร์จึงเรียกร้องให้ทวิตเตอร์กลับมาให้ความสำคัญต่อข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และเกิดกระแสแนะนำให้ชาวทวิตเตอร์ย้ายไปใช้แอปพลิเคชั่น Minds พร้อมติดแฮชแท็ก #MindsTH
สิ่งที่จูงใจให้ชาวทวิตเตอร์ส่วนหนึ่งเทนกฟ้าไปหาหลอดไฟเหลือง เป็นเพราะ Minds ให้ความสำคัญต่อความเป็นส่วนตัวและเคารพข้อมูลของผู้ใช้งานโดยยึดหลักไม่ขายข้อมูลผู้ใช้งานแลกเงิน ทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยอีกขั้นด้วยการเข้ารหัสข้อความทั้งหมด เพื่อให้ภาครัฐหรือสื่อโฆษณาเข้ามาหาประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานไม่ได้ ไม่ควบคุมมุมมองทางการเมือง นอกจากนี้ยังไม่ใช้ระบบการเซ็นเซอร์โดยปัญญาประดิษฐ์หรือตำรวจ แต่ใช้ระบบคล้ายการคัดเลือก “ลูกขุน” ในระบบศาลของสหรัฐอเมริกา โดยอนุญาตให้ผู้ใช้งานแจ้งเตือนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และระบบจะคัดเลือกผู้ใช้งาน 12 คน ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถูกแจ้งเตือน เพื่อร่วมพิจารณาว่าเนื้อหาดังกล่าวเหมาะสมจะได้รับการเผยแพร่หรือไม่
หลังผู้ใช้งานชาวไทยบางส่วนแบนทวิตเตอร์และเล็ง Minds เป็นบ้านใหม่ Bill Ottman หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Minds ต้อนรับผู้ใช้ชาวไทยอย่างอบอุ่น โดยโพสต์ลง Minds ว่า “ถึงผู้ใช้ Minds ชาวไทยทุกคน เรารักความร้อนรน ความคิดสร้างสรรค์ และหลักการของคุณ มาทำงานด้วยกันเถอะเพื่อสร้างแพล็ตฟอร์มที่จะส่งเสียงของคุณโดยปราศจากการกดขี่ เรารับฟังฟีดแบ็กของคุณอยู่อย่างใกล้ชิด”
หลังเกิดกระแส #MindsTH ขึ้น ได้มีผู้เข้าใช้ Minds มากจนแอปพลิเคชันล่มในช่วงแรกๆ และผู้เข้าใช้ชาวไทยบางส่วนโพสต์ถึงความไม่สะดวกของอินเทอร์เฟซเมื่อเทียบกับทวิตเตอร์ รวมทั้งชี้จุดอ่อนสำคัญที่สุดของ Minds นั่นคือติดแฮชแท็กช์เป็นภาษาไทยไม่ได้ หลังจากนั้น 2-3 วัน แอปพลิเคชัน Minds ได้พยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างรวดเร็ว จนล่าสุดเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในเวอร์ชั่นภาษาไทยได้แล้ว
=============================
ขอขอบคุณข้อมูล
Minds Is the Anti-Facebook That Pays You for Your Time
4 best decentralized social networks to use in 2020
Facebook Alternatives 2020 – Social Networks That Won’t Sell Your Data
Minds: The Latest Social Network That Is Changing the Game
Meet Facebook’s New Open-Sourced, Encrypted Competitor, Minds The goal is a community owned and operated social media platform