ถอดประเด็นอภิปรายผลกระทบคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. : “การเข่นฆ่าความจริงผ่านวาทกรรมเพื่อความปรองดอง”

 

ก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพียงสองวัน ได้มีการประกาศใช้ พรบ. กฎอัยการศึกผ่านประกาศของกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องหวนกลับสู่วังวนของการชี้นำโดยอำนาจเหนือกฎหมายอีกครั้ง

 

ผลจากการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของคณะ คสช. ก่อให้เกิดภาวะไม่ปกติที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการละเมิดสิทธิของประชาชนได้อย่างชอบธรรมเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องภายใต้ผลผูกพันของกฎอัยการศึกจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 ก่อนจะมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 รวมไปถึงประกาศและคำสั่งอื่น ๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จกับเจ้าหน้าที่ทหารอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกไปแล้ว ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่รัฐบาล คสช. อยู่ในอำนาจ สื่อไม่ว่าจะเป็นในช่องทางไหนล้วนถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอความจริงที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ทว่าที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น นั่นก็คือการที่รัฐบาล คสช. นำเครื่องมือกฎหมายอย่างศาลทหารเข้ามาเพื่อดำเนินคดีกับพลเรือนจำนวนมากที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีคณะรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ผลกระทบจากประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับที่รับรองโดยมาตรา 44 นั้นยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ภายใต้การรับรองของรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี 2560 ในมาตรา 279 จึงน่าเป็นห่วงถึงผลผูกพันต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับกุมคุมขังประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การใช้สิทธิในการตรวจสอบรัฐบาล หรือแม้แต่ผลกระทบต่อการเมืองในภาพรวม

เพื่อจะศึกษาผลกระทบจากอำนาจนอกกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเรื่องผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. กรณีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 2. การจำกัดเสรีภาพสื่อ และการแสดงออกของประชาชน โดยผลจากการดำเนินงานได้ถูกสรุปออกมาใน รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน และถูกนำมาอภิปรายเพื่อส่งต่อข้อสังเกตและข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ร่วมให้ข้อมูลทางคดีและสถิติทางกฎหมายกับทางคณะทำงานฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ถอดบทเรียนประเด็นการอภิปรายจากรายงานชิ้นดังกล่าวเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับผลพวงของการรัฐประหารที่ยังคงดำรงอยู่ และคงจะเป็นเช่นนั้นต่อไปหากไม่มีการปฏิรูปอย่างแท้จริงทั้งในทางสถาบันและในทางสังคม

ถอดประเด็นอภิปรายผลกระทบคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. : “ความอยุติธรรมในนามของศาลทหาร”

 

อีกประเด็นที่ได้รับการศึกษาในรายงานฯ เล่มดังกล่าวของคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร นั่นก็คือเหล่าบรรดาประกาศคำสั่งและการแทรกแซงทางนิติบัญญัติกระทำการโดย คสช. เพื่อปิดกั้นเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอความจริงให้กับสังคม รวมไปถึงสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งผลลัพธ์ของการล่วงละเมิดเหล่านั้นก็ยังคงปรากฏกายอยู่แม้ในยามที่ประเทศมีรัฐบาล “ที่มาจากการเลือกตั้ง” โดยในประเด็นนี้ ได้มี ส.ส. และอดีต ส.ส. จากทางพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่ พรรณิการ์ วานิช, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี และ ไกลก้อง ไวทยการ ที่ได้ร่วมในการอภิปราย

พรรณิการ์ วานิช: “การรัฐประหารแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อสื่อถูกพรากสิทธิในการนำเสนอความจริง

พรรณิการ์เริ่มการอภิปรายโดยอิงจากประสบการณ์ของตัวเองในฐานะที่เคยเป็นสื่อ เธอเท้าความถึงกระบวนการแรกสุดในการสร้างความมั่นคงให้กับฐานอำนาจของรัฐบาลเผด็จการนั่นก็คือการจัดการกับ “ความจริง” คสช. ได้เข้าจำกัดเสรีภาพในการรับรู้ความจริงของประชาชนโดยใช้วิธีการปิดปากสื่อตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม เป็นเวลาสองวันก่อนที่จะมีการรัฐประหาร สื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอข่าวอย่างอิสระอันเป็นผลจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก ประชาชนต้องถูกบังคับให้รับรู้แต่สารที่ผ่านการคัดกรองแล้วผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแต่เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น

ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 4 ซึ่งถูกประกาศเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งภายหลังการรัฐประหารคือประกาศที่บังคับให้สื่อวิทยุโทรทัศน์และดาวเทียมงดออกอากาศรายการปกติ จะใช้ได้ก็แต่สัญญาณจากสถานีกองทัพบกเท่านั้น ในทางสถิติ พรรณิการ์ชี้ว่า จากวันนั้นจนกระทั่งสิ้นสุดยุค คสช. มีการปิดสื่อโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปแล้วทั้งหมด 39 ครั้ง ปิดตาม พรบ. กสทช. อีก 20 ครั้ง รวมเป็น 59 ครั้ง

แม้หลังจากที่ไม่มี คสช. ทำให้ไม่มีการใช้อำนาจดิบเถื่อนโดยตรง แต่ก็ยังมีการใช้อำนาจผ่านกลไกทางกฎหมายอยู่ เหตุเพราะคำสั่งหลายฉบับของ คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 นั้นไม่ได้หมดอายุไปด้วยพร้อมกับตัว คสช. ตัวอย่างคำสั่งที่ยังคงมีผลผูกพันอยู่ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 ที่ให้อำนาจ กสทช. ในการปิดสื่อได้อย่างกว้างขวางขึ้นจากเดิมที่ได้ระบุขอบข่ายไว้ใน พรบ. กสทช. จากเดิมที่ให้อำนาจในการปิดสื่อที่นำเสนอเนื้อหาที่เป็นภัยคุกคามถึงขั้นทำลายล้าง ล้มล้างการปกครอง แต่คำสั่ง คสช. ฉบับนี้ให้อำนาจ กสทช. ปิดสื่อที่นำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือมีความขัดแย้ง พรรณิการ์ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพว่า อย่างในกรณีที่สื่อรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าที่ประเทศจีนผิดพลาด แม้จะแค่เพียงหนึ่ง เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สื่อนั้นถูกปิด เพราะเป็นข้อมูลที่ก่อให้เกิดความสับสน นอกจากนี้ คำสั่งฉบับนี้ยังให้สิทธิคุ้มครองกับ กสทช. ด้วย ระบุว่า หาก กสทช. ปิดสื่อโดยที่ไม่เกินกว่าเหตุและโดยสุจริต ย่อมที่จะได้รับความคุ้มครองจากโทษทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย นี่คือสิ่งรากเหง้าของการละเมิดสิทธิที่ยังหลงเหลือจากมาตรา 44 แม้จะไม่มี คสช. และการใช้อำนาจอันดิบเถื่อนโดยตรงแล้วก็ตาม

ประกาศคำสั่ง คสช. อีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวพันกับเรื่องของการจำกัดเสรีภาพของสื่อนั่นก็คือ ประกาศคสช. ที่ 26/2557 มอบหมายให้คณะทำงานด้านสื่อสามารถสั่งปิดเว็บไซต์โดยไม่ต้องขอหมายศาล พรรณิการ์ได้อ้างถึงกฎหมายอีกตัวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการจำกัดเนื้อหาสื่อบนโลกออนไลน์ นั่นก็คือ พรบ. คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบัน แม้ว่าจะมีลักษณะปิดกั้นเสรีภาพสื่อพอสมควร แต่ก็ยังถือว่ารัดกุมน้อยกว่าคำสั่งฉบับนี้ ในกรณีของ พรบ. คอมพิวเตอร์ คณะทำงานหรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่กลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ ในจำนวน 9 คน จะต้องมี 3 คนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมวลชน แต่คณะทำงานที่ตั้งโดยคำสั่ง คสช. นี้ ทั้งหมดล้วนมาจากการแต่งตั้ง และเป็นบุคคลในเครื่องแบบที่มีอำนาจเหนือยิ่งกว่าคณะกลั่นกรองเนื้อหาสื่อของ กสทช. ตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ เพราะสามารถสั่งปิดเว็บไซต์ได้เลยโดยที่ไม่ต้องขอหมายศาล เป็นการทำงานเหนือกฎหมายเพื่อเข่นฆ่า “ความจริง”

“เราเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการที่จะเข้าถึงความจริงสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะได้ตาสว่างและตัดสินใจได้ว่าอะไรถูกอะไรผิดในประเทศ”

กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี:” คำสั่งผีของ คสช. ที่คอยหลอกหลอนสื่อ

ส.ส. กัญจน์พงศ์ ได้ขยายความต่อจากอดีต ส.ส. พรรณิการ์ ว่า นอกจากการให้อำนาจ กสทช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 41 / 2559 แล้ว คสช. ยังใช้อำนาจออกคำสั่งวงเล็บเฉพาะฉบับที่ 12/2557 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและส่งสามารถส่งเรื่องต่อไปยังทาง กสทช. เพื่อดำเนินการลงโทษ อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหาคำสั่งในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะมีผลผูกพันอย่างมากต่อการทำงานของสื่อ แต่กลับไม่พบว่าคำสั่งนี้เคยเผยแพร่สู่สาธารณะ จึงไม่อาจทราบได้เลยว่าคณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยใครบ้างและมีอำนาจหน้าที่พิเศษอย่างไร

จากการสืบค้นด้วยตนเองของ ส.ส. กัญจน์พงศ์ ยอมรับว่าเขาเองก็ไม่สามารถหาคำสั่งแต่งตั้งฉบับนี้เจอเช่นกัน เจอก็แต่เพียงข่าวของพลเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะ คสช. ที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะครั้งที่ 1/2557 ซึ่งมีเนื้อหาระบุถึงภายหลังจาก คสช. มีคำสั่งเฉพาะที่ 12 / 2557 แต่งตั้งคณะย่อย 5 คณะ ได้แก่ คณะติดตามด้านข้อมูลสื่อวิทยุสื่อโทรทัศน์ ให้ กสทช. เป็นประธานคณะทำงาน คณะติดตามสื่อสิ่งพิมพ์ให้ตำรวจสันติบาลเป็นคณะทำงาน คณะติดตามด้านข่าวสารสื่อสังคมออนไลน์ให้ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน และคณะติดตามด้านข้อมูลข่าวสารต่างประเทศให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน อีกข่าวคือข่าวที่ กสทช. ส่งหนังสือเชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการนำเสนอข่าวสาร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 โดยอ้างว่าได้รับการประสานงานจากคณะกรรมการเพื่อติดตามการเผยแพร่ข่าวสารต่อสาธารณะ กัญจน์พงศ์สรุปว่า จากข่าวที่กล่าวมา ชัดเจนว่าคณะกรรมการชุดนี้มีอยู่จริง เพียงแต่ไม่อาจหาคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาได้

คณะกรรมการชุดนี้ได้ใช้อำนาจแทรกแซงสื่อโดยมีกรณีตัวอย่าง เช่น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 คณะกรรมการการทำงานฯ ได้ร้องเรียนไปยัง กสทช. ให้ทำการตักเตือนพีชทีวี ต่อมา 30 มีนาคม 2558 ได้ร้องเรียนให้พีชทีวีถูกระงับการออกอากาศเป็นเวลาเจ็ดวัน หลังจากนั้น สถานีวิทยุชุมพรซิตี้เรดิโอก็โดนร้องเรียนโดยคณะกรรมการชุดเดียวกัน ส่งผลให้ถูกระงับการออกอากาศเจ็ดวัน และในที่สุด สถานีพีซทีวีก็ได้ถูกคณะกรรมการยื่นเรื่องเพิกถอนใบอนุญาตกิจการกระจายเสียง นอกจากสองสื่อข้างต้น ยังมีสื่อขนาดใหญ่อย่างวอยซ์ทีวีและไทยพีบีเอสที่ถูกส่งบันทึกตักเตือนให้ปรับปรุงเนื้อหา

“ผมขอเรียกคำสั่งนี้ (คำสั่งเฉพาะที่ 12 / 2557) ว่าคำสั่งผี เพราะมันจับต้องไม่ได้ หาตัวต้นตอไม่เจอ เป็นการแต่งตั้งเกสตาโปแห่งวงการสื่อมวลชนเพื่อไล่ล่ากดดันพี่น้องสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”

ไกลก้อง ไวทยการ: “ไม่มีคำว่าส่วนตัวในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

อดีต ส.ส. ไกลก้อง ได้สะท้อนเรื่องราวของการปิดกั้นสื่อออนไลน์ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากสื่อรุ่นเก่า เนื่องจากเป็นสื่อที่ไม่มีศูนย์กลางควบคุม สามารถกระจายข่าวได้อย่างรวดเร็วและเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แตกต่างจากสื่อโทรทัศน์วิทยุปกติที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ คสช. อย่างไรก็ตาม คสช. ได้มีความพยายามในการควบคุมสื่อออนไลน์โดยการออกประกาศหลัก ๆ อยู่ 3 ฉบับด้วยกัน นั่นก็คือฉบับที่ 12/2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องกับสื่อออนไลน์ให้ระงับการส่งข้อความเชิงปลุกระดมยั่วยุสร้างความรุนแรงหรือความน่าเชื่อถือที่ขัดต่อกฎหมาย ตลอดจนต่อต้าน คสช. หากใครไม่ปฏิบัติตาม จะถูกระงับการให้บริการทันที อีกฉบับคือฉบับที่ 17/2557 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ต ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนยุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อย เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อีกฉบับคือ 26/2557 ซึ่งรวมเนื้อหาของทั้ง 2 ฉบับที่กล่าวมาไว้ด้วยกัน โดยกำหนดให้คณะทำงานด้านสื่อออนไลน์สามารถ 1. เข้าถึงข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่เผยแพร่เนื้อหาปลุกระดมยั่วยุ 2. สามารถระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาตามข้อหนึ่ง 3. ประสานงานกับ คสช. เพื่อใช้อำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

“ประกาศ คสช. ทั้งหมดนี้มีผลบังคับใช้อยู่เป็นเวลาทั้งหมด 5 ปีโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเองก็ไม่ทันได้สังเกต อีกทั้งเรายังไม่สามารถรายงานหรือว่าตรวจสอบได้เลยว่ามีเว็บไซต์ถูกบล็อกไปกี่เว็บไซต์ เนื่องจากไม่มีบันทึกเอกสารราชการแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม ไกลก้องได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 คสช. ได้ใช้มาตรา 44 ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 และฉบับที่ 17/2557 ไปแล้ว แต่ถึงวันนี้ประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 26/2557 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ กระทบถึงการเข้าถึงเนื้อหาบนโลกออนไลน์ อีกทั้งรัฐเองก็ยังสามารถใช้ขั้นตอนลัดกฎหมายเพื่อเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้สื่อออนไลน์ได้เช่นเคย เป็นการจงใจที่จะใช้อำนาจพิเศษที่ถูกสืบทอดมาจากสมัย คสช. ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของประชาชนได้โดยไม่ต้องมีหมายและไม่ต้องรายงาน สามารถสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และดูข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่มีการถ่วงดุลหรือมีหมายศาลมากำกับ

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

จับตาสภาประชุมพิจารณารายงานผลกระทบคำสั่ง/ประกาศ คสช. เรื่องศาลทหาร-เสรีภาพการแสดงออก

 

X