ถอดประเด็นอภิปรายผลกระทบคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.: “ความอยุติธรรมในนามของศาลทหาร”

 

ก่อนการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพียงสองวัน ได้มีการประกาศใช้ พรบ. กฎอัยการศึกผ่านประกาศของกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องหวนกลับสู่วังวนของการชี้นำโดยอำนาจเหนือกฎหมายอีกครั้ง

ผลจากการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของคณะ คสช. ก่อให้เกิดภาวะไม่ปกติที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการละเมิดสิทธิของประชาชนได้อย่างชอบธรรมเป็นเวลายาวนานต่อเนื่องภายใต้ผลผูกพันธ์ของกฎอัยการศึกจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2558 ก่อนจะมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 รวมไปถึงประกาศและคำสั่งอื่น ๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จกับเจ้าหน้าที่ทหารอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกไปแล้ว ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่รัฐบาล คสช. อยู่ในอำนาจ สื่อไม่ว่าจะเป็นในช่องทางไหนล้วนถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอความจริงที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ทว่าที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น นั่นก็คือการที่รัฐบาล คสช. นำเครื่องมือกฎหมายอย่างศาลทหารเข้ามาเพื่อดำเนินคดีกับพลเรือนจำนวนมากที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีคณะรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ผลกระทบจากประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับที่รับรองโดยมาตรา 44 นั้นยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ภายใต้การรับรองของรัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี 2560 ในมาตรา 279 จึงน่าเป็นห่วงถึงผลผูกพันธ์ต่อการละเมิดสิทธิของประชาชนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับกุมคุมขังประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การใช้สิทธิในการตรวจสอบรัฐบาล หรือแม้แต่ผลกระทบต่อการเมืองในภาพรวม

เพื่อจะศึกษาผลกระทบจากอำนาจนอกกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเรื่องผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งของหัวหน้า คสช. ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1. กรณีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 2. การจำกัดเสรีภาพสื่อ และการแสดงออกของประชาชน โดยผลจากการดำเนินงานได้ถูกสรุปออกมาใน รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ศึกษากรณีการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน และถูกนำมาอภิปรายเพื่อส่งต่อข้อสังเกตและข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมสภาฯ สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ร่วมให้ข้อมูลทางคดีและสถิติทางกฎหมายกับทางคณะทำงานฯ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ถอดบทเรียนประเด็นการอภิปรายจากรายงานชิ้นดังกล่าวเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับผลพวงของการรัฐประหารที่ยังคงดำรงอยู่ และคงจะเป็นเช่นนั้นต่อไปหากไม่มีการปฏิรูปอย่างแท้จริงทั้งในทางสถาบันและในทางสังคม

 

หลังจากการกล่าวนำเสนอ รายงานการพิจารณาเรื่อง ผลกระทบจากประกาศ คสช. โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แล้ว ทาง ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ได้สะท้อนเนื้อหาของรายงานชุดนี้ผ่านคำอภิปรายซึ่งแบ่งเนื้อหาหลักๆ เป็นสองส่วน ได้แก่ส่วนที่ว่าด้วยผลกระทบของประกาศคำสั่ง คสช. ต่อประเด็นเรื่องการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อและของประชาชน ในขณะที่อีกส่วนคือผลกระทบและภาพสะท้อนของกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายผ่านตุลาการศาลทหารซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ คสช. ใช้เพื่อจัดการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาต่อต้านการเข้าสู่อำนาจอันไม่ชอบธรรม

โดยในประเด็นเรื่องผลกระทบจากการใช้ศาลทหารเพื่อดำเนินคดีกับประชาชนนั้น มี ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ ได้แก่ รังสิมันต์ โรม, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, พลตำรวจตรี ศุพิศาล ภักดีนฤนาท, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ได้ร่วมกันสะท้อนทัศนะต่อประเด็นดังกล่าว

รังสิมันต์ โรม: “เมื่อหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหารของประชาชนถูกทำให้กลายเป็นเรื่องไม่ปกติ”

ในทัศนะของรังสิมันต์ การออกคำสั่งและประกาศคำสั่งต่าง ๆ ของ คสช. นั้น ไม่ได้มีผลแค่การจำกัดสิทธิของประชาชน เปลี่ยนประชาชนจากการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศให้กลายเป็นแค่ผู้อยู่อาศัย แต่ยังสะท้อนถึงความพยายามของ คสช. ในการที่จะสร้างหลักประกันให้กับอำนาจของตน

“ในเวลาปกติที่มีคนออกมาพูดเรื่องการต่อต้านการรัฐประหาร คนคนนั้นอาจได้รับการนับถือจากสังคมว่าทำเพื่อชาติบ้านเมือง แต่พอเราอยู่ในช่วงที่เป็นระบอบการรัฐประหาร ทำสิ่งเดียวกันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นคดีความ”

การนำศาลทหารมาใช้คือกลไกที่คณะ คสช. ใช้ เพื่อสร้างความหวาดกลัวต่อคนในสังคมไม่ให้กล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่ผิดปกติและเป็นอันตราย นั่นจึงนำไปสู่ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีการศึกษาประกาศคำสั่งและคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่อำนวยการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังให้อำนาจต่อศาลทหารซึ่งไม่ได้มีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี

รังสิมันต์ได้ทิ้งทายการอภิปรายในช่วงแรกโดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของรายงานเล่มนี้ ในแง่ของการเสนอเพื่อให้มีการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. รวมถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องสร้างหลักประกันเพื่อไม่ให้ประชาชนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอีก

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล: “ความยุติธรรมที่บิดเบี้ยวภายในศาลทหาร”

อมรัตน์ได้เท้าความถึงช่วงหลังการรัฐประหาร ซึ่ง คสช. ได้ออกคำสั่งให้ความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า การตีความคำว่า “ความมั่นคง” ของ คสช. นั้นมีปัญหา เพราะเป็นการตีความที่กว้าง มีกรณีของกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอย่างกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ที่แต่กลับต้องถูกดำเนินคดีในความผิดฐานความมั่นคง นอกจากนั้น การกระทำที่ดูเล็กน้อยหลายๆ อย่างเองก็ถูกตีความว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกินแซนด์วิชหรือแม้แต่การอ่านบทกวี

อมรรัตน์ได้สะท้อนว่า นี่คือความย้อนแย้งอย่างหนึ่งในจำนวนนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจ เพราะแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายที่มีความรุนแรง ผู้ต้องหาเหล่านั้นกลับขึ้นศาลพลเรือนปกติ ไม่ใช่ศาลทหาร ในทางหลักการเอง การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารถือว่าเป็นการผิดต่อพันธสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ร่วมเป็นภาคีอย่างหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามกับศาลทหาร อย่างแรกนั่นก็คือเรื่องของกระบวนการในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะเรื่องความเป็นอิสระของตุลาการ อมรรัตน์อ้างอิงจากข้อมูลในหนังสือรายงานฯ ที่พูดถึงเรื่องตุลาการศาลทหาร ซึ่งในศาลทหารชั้นต้น ตุลาการทั้งสามคนล้วนถูกแต่งตั้งโดยกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับบัญชา มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกกำหนดให้ต้องจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์  ในขณะที่อีกเรื่องนั่นก็คือเรื่องของความโปร่งใส เนื่องจากในศาลทหารนั้นจะไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาต่างจากในศาลพลเรือน อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ทำการถ่ายสำเนากระบวนพิจารณา มีการสั่งให้มีการพิจารณาคดีโดยลับ จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีราว 24 คดี ที่ศาลทหารสั่งพิจารณาโดยลับ ห้ามไม่ให้มีการจดรายงานหรือเผยแพร่กระบวนการพิจารณาอย่างเด็ดขาด และในประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในกระบวนการพิจารณาคดีนั่นก็คือการเรียกหลักประกันที่สูงกว่าศาลยุติธรรม ยกตัวอย่างในกรณีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง คดี UN62 แกนนำในคดีนี้ถูกเรียกเงินประกันรวมกันสูงถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท

การที่ศาลทหารมีระบบวิธีการดำเนินงานที่แตกต่างไปจากศาลยุติธรรมยังส่งผลให้เกิดความล่าช้า อมรรัตน์ได้ยกตัวอย่างกรณีคดีของ บัณฑิต อานียา จำเลยที่ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การที่ศาลทหารไม่มีระบบการนัดพยานเหมือนศาลพลเรือนส่งผลให้การสืบพยาน 10 ปากใช้เวลานานถึง 4 ปี ต่างจากการนัดสืบพยานในศาลพลเรือนที่มักจะกำหนดระยะเวลาในการสืบพยานติด ๆ กันเพื่อความรวดเร็ว ส่วนอีกคดีที่สะท้อนปัญหารูปแบบเดียวกันนั่นก็คือคดีของผู้ป่วยจิตเวชรายหนึ่งที่แม้ว่าจะมีการรับรองจากแพทย์ว่าเป็นผู้มีความป่วยไข้ทางจิต แต่ก็ยังต้องถูกจำคุกนานถึง 8 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

“แม้ คสช. จะสิ้นอำนาจไปแล้ว แต่ผลพวงการกระทำของเผด็จการ คสช. จะยังคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนานหลายปี … ผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้จึงควรถูกนำไปใช้เพื่อทำให้การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย”

อมรรัตน์ได้สรุปก่อนจบการอภิปรายของตนเองว่า ถึงแม้ในท้ายที่สุดจะมีคำสั่งโอนย้ายคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม แต่ศาลอาญาก็ไม่อาจเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่จำเป็นต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อโดยใช้กระบวนพิจารณาเดิมที่ศาลทหารได้ดำเนินการไป ซึ่งก็น่ากังขาในเรื่องของความถูกต้องชอบธรรมและความเป็นกลาง

พลตำรวจตรี ศุพิศาล ภักดีนฤนาท: “เมื่อกฎหมายก่อให้เกิดการละเมิดอย่างชอบธรรม”

พลตำรวจตรี ศุพิศาล ได้ชี้ว่า มีประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. และคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหารได้แก่ คำสั่งที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คสช. มุ่งเน้นที่จะใช้ศาลทหารเพื่อปราบปรามพลเรือนที่เห็นต่าง ซึ่งความเห็นต่างในทรรศนะของคสช. คือการทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ เพื่อจะให้เป็นปกติก็จำเป็นจะต้องจัดการกับคนที่เห็นต่างโดยอาศัยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่ยึดเอาจากประชาชน ซึ่งผู้ที่ได้ผลกระทบจากศาลทหารนี้ปรากฏอยู่มากถึงราว 1,800 กว่าราย

อำนาจของศาลทหารไม่ได้ปรากฎอยู่แค่ในคำสั่งของคสช. เท่านั้น แต่ใน พรบ. พระธรรมนูญศาลทหารปี 2498 ในมาตรา 16 วงเล็บ 7 ก็ได้กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารต้องขึ้นศาลทหาร ในฉบับที่ 8 ที่ถูกปรับใช้ปี 2558 มาตรา 19 ระบุให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิพากษาได้ทุกบทกฎหมาย การจำกัดอำนาจของศาลทหารในแง่นี้ของพลตำรวจตรี ศุพิศาล จึงไม่ใช่แค่การจัดการกับคำสั่งของ คสช. เท่านั้น แต่ยังต้องจัดการกับกฎหมายฉบับเก่าๆ ที่ให้อำนาจกับศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะไม่มีคณะ คสช. แล้ว แต่ใน รธน. ปี 60 มาตรา 265 วรรค 2 และมาตรา 279 ก็ได้รับรองอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์เดิมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้อีก ข้อเรียกร้องของพลตำรวจตรี ศุพิศาล นั่นก็คือการที่รัฐควรจะต้องหันมาสนใจภาคประชาชน และหลักการของศาลทหารนั้นเองก็ต้องถูกปรับเปลี่ยน ข้อบัญญัติการตราอำนาจของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม (due process of law) หรือนิติกระบวน ห้ามไม่ให้กฎหมายย้อนหลังมีโทษทางอาญา ศาลต้องมีความเป็นอิสระ มีมาตรฐานชัดเจน มีกระบวนการพิจารณาที่เหมาะสมกับประเภทคดี เสียค่าใช้จ่ายน้อยและต้องเปิดเผย เหล่านี้คือรากฐานที่โลกทั้งโลกใช้ ในขณะที่ศาลทหารไทยยังคิดยึดโยงกับหลักการเดิมที่มีความโบราณ

พลตำรวจตรี ศุพิศาล ยังได้เสนอการแก้ไขกฎหมายเพื่อห้ามไม่ให้ศาลทหารมีอำนาจตัดสินคดีพลเรือนอีกต่อไป อย่างแรกคือ 1. แก้ไขเพิ่มเติม รธน. ไทย มาตรา 29 เพื่อรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพิ่มขึ้น พลเรือนซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหมจะต้องได้รับประกันว่า ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็ไม่ควรที่จะถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร 2. ยกเลิก พรบ. กฎอัยการศึก 2457 มาตรา 7 มาตรา 7 ทวิ มาตรา 7 ตรี โดยเฉพาะเรื่องการประกาศกฎอัยการศึก ทหารไม่ควรมีสิทธิในการประกาศ แต่ควรจะเป็นสภาที่ใช้อำนาจนี้แทน 3. ต้องแก้ พรบ. พระธรรมนูญศาลทหารปี 2498 เพราะศาลทหารมีลำดับชั้นการบังคับบัญชาขึ้นกับกระทรวงกลาโหม อำนาจทหารสามารถบังคับควบคุมตุลาการศาลทหารด้วย 4. มาตรา 199 ใน รธน. ปี 60 วรรค 1 กำหนดให้ศาลทหารมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่ผู้กระทําความผิดเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในอํานาจศาลทหารและคดี ”อื่น” ซึ่งคำว่า “อื่น” ในที่นี้อาจหมายรวมถึงประเภทคดีอื่น ๆ ที่อาจถูกประกาศเพิ่มในอนาคตให้ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณา อาจส่งผลให้เพิ่มขอบข่ายในการละเมิดเพิ่มอีกในอนาคต

“ผมขอเสนอและเห็นด้วยกับอาจารย์ปิยบุตรและคณะทำงาน (ในการศึกษาเรื่องผลกระทบจากประกาศต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยของ คสช.) เพื่อนำเสนอความจริงที่ถูกต้อง และเยียวยาเหยื่อจำนวนกว่า 1,800 คน และทบทวนในสิ่งคนเหล่านั้นต้องสูญเสีย”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร: “การปฏิรูปกองทัพที่แท้จริงคือการปฏิรูปความยุติธรรม”

ส.ส.วิโรจน์เริ่มการอภิปรายด้วยการชี้ว่า การปฏิรูปกองทัพที่แท้จริงนั้นไม่ควรที่จะปฏิรูปแค่ในเรื่องของสวัสดิการและธุรกิจที่สัมพันธ์กับกองทัพ แต่จะต้องปฏิรูปในเรื่องของความยุติธรรมด้วย โดยเฉพาะความยุติธรรมกับนายทหารชั้นผู้น้อย ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การกำกับของกองทัพเอง แต่ก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรมจากระบบความยุติธรรมของกองทัพ จึงน่าสงสัยว่า การนำเอาระบบยุติธรรมของกองทัพในนามของศาลทหารมาใช้กับประชาชนนั้นจะก่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นได้อย่างไร?

“การนำศาลทหารมาดำเนินคดีกับพลเรือน ถูกเชื่อว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เราจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องการจำกัดเขตอำนาจของศาลทหารเสียที”

ก่อนที่จะมีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกซึ่งมีผลต่อเนื่องหลังจากนั้นยาวนานข้ามปี ทำให้ประชาชนถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหารในฐานความผิดอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม วิโรจน์ชี้ว่า ยังมีฐานความผิดอีกอย่างหนึ่งที่ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารด้วย นั่นก็คือความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. โดยปกติแล้ว ข้ออ้างของการมีศาลทหารก็มักจะอ้างว่าเพื่อต้องการความรวดเร็ว เพื่อคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบ แต่ในความเป็นจริง นี่คือกระบวนการสถาปนาอำนาจของพลเอกประยุทธ์มีให้มีความมั่นคงเพียงเท่านั้น สุดท้ายคนที่เป็นเหยื่อก็คือประชาชนทุกคน

วิโรจน์ได้ขยายความต่อเรื่องโครงสร้างของศาลทหารที่เพื่อนสมาชิก ส.ส. ได้อภิปรายไป แม้ว่าโครงสร้างของศาลทหารจะมีศาลชั้นต้น ชี้นกลาง และชั้นสูงสุดเหมือนศาลยุติธรรม ทำให้สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว หากมีการประกาศกฎอัยการศึกจะถือว่าประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จำเลยไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ที่สำคัญอัยการที่ฟ้องประชาชนก็เป็นอัยการทหาร ทำให้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ ทหารมีอำนาจจัดการกับประชาชนแต่เพียงหน่วยงานเดียว และที่มากไปกว่านั้น ในแง่ของกระบวนการพิจารณาคดี ตาม พรบ. พระธรรมนูญทหารปี 2498 แม้จะมีการระบุว่าให้จัดหาทนายความให้จำเลยได้ แต่ในรายงานฯ ฉบับนี้พบว่า จำเลยหลายรายไม่มีทนายอยู่ด้วยในระหว่างที่มีการนัดสอบพยาน การสอบปากคำจำเลยเองก็ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ไม่มีการกำหนดวันสืบพยานไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนทำให้คดีล่าช้า พยานที่ไม่มีส่วนสาระสำคัญก็ไม่มีการตัดออกออกจากบัญชีสืบพยาน เรียกได้ว่าเป็นการจงใจดึงคดีเพื่อกักขังประชาชนให้อยู่ในความควบคุมของทหารเป็นระยะเวลานาน

“ยืนยันว่าการมีอยู่ของศาลทหารที่มีอำนาจขอบเขตที่ใหญ่โต นำมาบังคับใช้กับประชาชนเป็นเรื่องที่ล้าหลัง หลังสงครามโลกครั้งที่สองหลายประเทศก็ได้มีการยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีไปหมดแล้ว”

ก่อนจบการอภิปรายในประเด็นเรื่องการนำพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร วิโรจน์ได้เสนอแนะให้ทำการแก้ไขปัญหาที่สืบเนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรมที่ถูกครอบงำโดยกองทัพ โดยเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 29 ควรจะมีการระบุไว้เลยว่า ไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใด จะต้องไม่มีการนำเอาศาลทหารมาใช้พิจารณาคดีพลเรือน อย่างที่สอง ต่อให้มีการประกาศกฎอัยการศึกก็ตาม จะต้องไม่มีการจับประชาชนขึ้นศาลทหาร สุดท้าย จะต้องมีการออกพระราชบัญญัติสักฉบับหนึ่งที่ทำให้คำพิพากษาคดีที่ถูกพิพากษาโดยศาลทหารเป็นโมฆะและต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ที่ศาลทหารตัดสินประชาชนเพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบแล้วหาทางเยียวยา

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร: “ราคาของความยุติธรรมในนามของศาลทหาร”

จากข้อมูลในหนังสือรายงานเล่มนี้ เท่าพิภพได้เล่าถึงกรณีของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีในศาลทหาร โดยยกตัวอย่างกรณีของศศิพิมล – แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองที่ทำงานโรงแรม แต่แล้ววันหนึ่งกลับโดนทหารเรียกไปพิจารณาในความผิดตามมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ Facebook หมิ่นสถาบันฯ โดยปกติ เวลาขึ้นศาลยุติธรรม ถ้าจำเลยไม่มีทนาย ศาลจะต้องหาทนายให้กับจำเลยหรือที่เรียกกันว่าทนายขอแรง แต่ในศาลทหารไม่มีทนายที่ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบนั้น

“วันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่มาบอกว่าสารภาพเถอะ “รับ ๆ ไปก่อน ไม่มีอะไรน้อง” อันนี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ได้มีแค่เฉพาะในศาลทหาร แต่ในหลายภาคส่วนผู้บังคับใช้กฎหมายในไทยก็มักใช้คำนี้ในการบังคับให้เซ็นรับสารภาพหรือรับรองการตรวจค้นในยามวิกาล”

จากการโดนกดดันและด้วยภาวะที่มีลูกเล็กรออยู่ข้างนอก สุดท้ายศศิวิมลเซ็นรับสารภาพ ทำให้เธอโดนข้อหาหาจำคุกนานถึง 56 ปี ตามปกติคดีเช่นนี้ในศาลยุติธรรมจะมีโทษมากสุดแค่ติดคุก 5 ถึง 10 ปี แต่สิ่งที่ศศิพิมลต้องเจอถือได้ว่าเป็นข้อพิสูจน์ว่า ศาลทหารมักจะลงโทษหนักกว่าศาลพลเรือน ซึ่งเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง แม้ว่าจะได้รับการลดโทษในภายหลังก็ตาม

เท่าพิภพยังได้ยกตัวอย่างอีกคดีที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามกับการตีความเรื่องความมั่นคงของ คสช. นั่นก็คือคดีของลุงปรีชา พ่อของน้องเฌอผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งได้เดินทางนำดอกไม้ไปให้กำลังใจกลุ่มพลเมืองโต้กลับ แต่กลับโดนปรับเป็นเงินจำนวน 4,000 บาท อีกทั้งยังโดนโทษจำคุกนานถึงสามเดือน

“แม้จะหมดยุคของคสช. ไปแล้ว การทำกิจกรรมของนักกิจกรรมต่าง ๆ ก็โดนกดดันตลอดเป็นแผลเป็นที่ค้างอยู่ในสังคมไทยทำให้คนไม่กล้าคิดเป็นอิสระทำให้คนกลัวที่จะเปลี่ยนแปลงทำให้เราเชื่อว่าเราทำอะไรกับประเทศนี้ไม่ได้”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

จับตาสภาประชุมพิจารณารายงานผลกระทบคำสั่ง/ประกาศ คสช. เรื่องศาลทหาร-เสรีภาพการแสดงออก

X