ผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” นครสวรรค์ ไม่หวั่นแม้ถูกแจ้ง 3 ข้อหา – บุรีรัมย์เช่นกัน



23 ม.ค. 2563 เวลา 10.20 น. ที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ นายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี ผู้ถูกกล่าวหาว่าจัดงานวิ่งไล่ลุงใน จ.นครสวรรค์ พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หลังจากได้รับหมายเรียกในข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุม เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563 จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนไปงานวิ่งไล่ลุง บริเวณที่ถนนริมเขื่อนเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ ในวันที่ 12 ม.ค. 2563

ในวันนี้ ทางพนักงานสอบสวน ร.ต.อ.ชัยวัฒน์ ทิพยโสตถิ ได้แจ้งข้อกล่าวหานายกฤษฐ์หิรัญถึง 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ในมาตรา 10 เรื่องการจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 108 ร่วมกันเดินเป็นขบวนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ


ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ผู้ต้องหาได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรมทางเพจเฟซบุ๊กชื่อ “วิ่งเพื่อประชาธิปไตย” โดยลงข้อความว่า #วิ่ง . ไล่ . ลุง # นครสวรรค์ # เปิดเป็นสาธารณะซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยเป็นกิจกรรมที่แสดงออกทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำเสื้อยืดสีขาว สกรีนข้อความ “วิ่งไล่ลุง” เพื่อจำหน่ายให้ผู้มาเข้าร่วมสวมใส่

ต่อมาเมื่อมีกิจกรรมวันที่ 12 ม.ค. 2563 ผู้ต้องหาไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย ซึ่งผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ พ.ต.อ.วีรภัสส์ ห้วยหงษ์ทอง ในฐานะผู้รับแจ้งตามกฎหมาย ได้นำคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะไปแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบ แต่ผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

หลังจากรับทราบข้อกล่าวหากฤษฐ์หิรัญให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง 

นอกจากนี้กฤษฐ์หิรัญ เปิดเผยว่า ที่ยืนยันต่อสู้คดีเนื่องจากอยากให้เป็นบรรทัดฐาน และยืนยันว่าการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงไม่ผิดกฎหมาย โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีการลงทะเบียนก่อนเข้างาน อีกทั้งการจัดกิจกรรมดังกล่าวแสดงออกถึงความอึดอัดของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล และสะท้อนว่าประเทศไทยยังไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่มีการสืบทอดอำนาจ จะไม่ฟ้องประชาชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกแบบนี้

กฤษฐ์หิรัญยังแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ควรจะรับฟังประชาชนมากกว่าการห้ามปราม โดยส่วนตัวเขาองไม่ได้รู้สึกกลัวกับการถูกดำเนินคดี แต่ครอบครัวรู้สึกเป็นห่วง เพราะครอบครัวทำธุรกิจ ทำให้ต้องมาเสียเวลากับการขึ้นโรงขึ้นศาล และตนรู้สึกว่าแทนที่เจ้าหน้าที่รัฐจะได้เอาเวลาไปช่วยเหลือประชาชน แต่เจ้าหน้าที่กลับจะต้องมาเสียเวลากับการไล่จับคนเห็นต่างทางการเมืองอย่างเดียว หรือรับใช้ผู้มีอำนาจอย่างเดียว และอยากจะฝากถึงนายกฯ ว่า จะทำอะไรขอให้เห็นหัวประชาชนบ้าง เพราะหากวันหนึ่งท่านถูกกลั่นแกล้ง และรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เราก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน

                                               (ภาพขณะเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง)

กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563  เวลา 17.00 มีการจัดงานวิ่งไล่ลุงที่บริเวณถนนริมเขื่อนเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีนายกฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี และผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200-300 คน สวมเสื้อวิ่งไล่ลุง พร้อมป้ายติดตามหน้าอก ห้อยคอ แสดงออกทางการเมืองในลักษณะไม่พอใจการบริการงานของนายกรัฐมนตรี ในงานยังมีการชูสามนิ้วเพื่อสัญลักษณ์ทางการเมือง และการตะโกนไล่ลุงตู่

เวลาประมาณ 16.55 น.ก่อนถึงเวลาวิ่ง ปรากฏว่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ตำรวจเทศกิจ ทหาร จำนวนกว่า 100 นาย นำโดย พ.ต.อ.วีรภัสส์ ห้วยหงษ์ทอง ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าเจรจาแกนนำพร้อมแสดงคำสั่ง สภ.เมืองนครสวรรค์ สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมือง โดยกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมพยายามเรียกร้องให้ตำรวจให้ความเป็นธรรม เพราะว่าการวิ่งดังกล่าวเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวระบุว่า “กิจกรรม วิ่งไล่ลุง เป็นกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงอาศัยอำนาจตาม มาตรา 11 (3) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ห้ามการจัดกิจกรรมอันเป็นการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ด้านนายกฤษฐ์หิรัญ ได้เซ็นเอกสารรับทราบข้อความดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่ผิดกฎหมาย เป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ และในท้ายที่สุดตำรวจก็ปล่อยให้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงได้

ในวันที่ 17 ม.ค. 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากกฤษฐ์หิรัญว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายเรียกผู้ต้องหามาส่งให้ที่บ้านเขาในเวลาประมาณ 17.00 น. ข้อกล่าวหาตามหมายเรียกระบุว่า กฤษฐ์หิรัญ จัดให้มีการดำเนินกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอันเป็นการจัดกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งมีการแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว และตะโกนไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมาย ที่จะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง แต่กฤษฐ์หิรัญไม่ได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง 

หมายเรียกกำหนดให้กฤษฐ์หิรัญ เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ ในวันที่ 23 ม.ค. 2563 และผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว

ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวในช่วงธันวาคม 2562 กฤษฐ์หิรัญเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล จำนวน 2 คน เข้ามาพูดคุยที่ออฟฟิศ โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามว่าเป็นเจ้าของเพจ วิ่ง.เพื่อ.ประชาธิปไตย และเป็นผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงใช่หรือไม่ รวมไปถึงกล่าวห้ามปรามไม่ให้จัดกิจกรรมด้วย แต่ผู้จัดยังยืนยันจะจัดต่อไป 

หลังจากนั้นในช่วงก่อนวันจัดงาน ได้มีเจ้าหน้าที่ติดต่อให้เขาไปแจ้งการชุมนุมฯ ต่อตำรวจ แต่กฤษฐ์หิรัญเห็นว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุม จึงไม่ได้จำเป็นต้องแจ้งการชุมนุม

ทั้งนี้ กฤษฐ์หิรัญ นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ จากกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา อีกราย เช่นเดียวกับผู้จัดหรือผู้ร่วมกิจกรรมในกรุงเทพฯ, นนทบุรี, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, นครพนม และกาฬสินธุ์ แต่กรณีจังหวัดนครสวรรค์นี้แตกต่างจากคดีในจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากพนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้จัดวิ่งอีกถึง 2 ข้อหาเพิ่มเติมจากข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม

 

อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ เข้าร่วม “วิ่งไล่ลุง” พร้อมไลฟ์สด ถูกแจ้งหาข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” เช่นกัน

วันเดียวกันนี้ที่สถานีตำรวจภูธรสตึก จ.บุรีรัมย์ น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.บุรีรัมย์ พร้อมทนายความ ก็เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน จากกรณีกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ซึ่งมี พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก เป็นผู้กล่าวหาว่า น.ส.อิสรีย์ จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม 

พ.ต.ท.ยศวัฒน์ มณีชัยวงษ์กิจ พนักงานสอบสวน ได้แจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีว่า  เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 น.ส.อิสรีย์ ได้เชิญชวนทางเฟซบุ๊กให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ซึ่งหมายถึงการแสดงออกทางการเมืองในเชิงคัดค้านการบริหารประเทศของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งได้มีการนัดหมายให้มีการชุมนุมในที่ต่างๆ ของประเทศ ข้อความเชิญชวนดังกล่าวนั้นเข้าข่าย เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุม สาธารณะ พ.ศ.2558 ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลา 06.00 น. ถึงเวลาประมาณ 07.40 น. น.ส.อิสรีย์ ได้ไปที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ มีผู้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองรวมจำนวน 7 คน โดยมีข้อความที่หน้าอกของเสื้อที่สวมใส่ว่า “วิ่งไล่ลุง” เป็นสัญลักษณ์ และได้มีการไลฟ์สดขณะเดินและวิ่งไปตามทางวิ่งภายในสวนสาธารณะ พร้อมทั้งมีการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นของตน ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งที่มีความคิดเห็นในทำนองสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล การกระทำของ น.ส.อิสรีย์ เข้าข่ายเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรค 2 ซึ่งมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.อิสรีย์ว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยไม่แจ้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ทราบภายใน 24 ชั่วโมง โดย น.ส.อิสรีย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 7 ก.พ. 2563  

อิสรีย์กล่าวว่า ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด พร้อมทั้งยืนยันอีกว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันดังกล่าวก็เหมือนกับกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพทั่วไปไม่เข้าข่ายการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา (ดูไลฟ์สดขณะวิ่ง) ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ตำรวจจะออกเป็นหมายเรียก ได้โทรศัพท์มาบอกตนให้ไปเสียค่าปรับ เนื่องจากชุมนุมโดยไม่แจ้ง ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อิสรีย์ยืนยันกับตำรวจว่า ไม่ได้ทำผิดและไม่ไปเสียค่าปรับ 

ก่อนหน้ากิจกรรม อิสรีย์ก็ถูกคุกคามหลายครั้ง โดยตำรวจทั้งโทรศัพท์ และไปพบเธอถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งเธอก็ยืนยันเสมอมาว่า จะไปร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดแต่อย่างใด นอกจากนี้  นายณัฐพงษ์ หรือ เจมส์ หนุ่มพนักงานบริษัท ผู้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อต้นเดือน ม.ค. 63 ว่า จะจัดงานวิ่งไล่ลุงที่ อ.สตึก และเชิญชวนให้คนมาวิ่ง ก็ถูกตำรวจไปพบที่บ้าน และที่โรงงาน ทั้งยังถูกเรียกไปพบรองผู้กำกับการ สภ.สตึก ห้ามจัดกิจกรรมในวันดังกล่าว จนเจมส์ต้องงดจัดกิจกรรมไป

มีข้อมูลด้วยว่า ประชาชนกลุ่มที่ใส่เสื้อ “ลุงตู่สู้” มาเดินที่สวนสาธารณะในวันดังกล่าว และมีการตะโกนโห่ใส่ กลุ่มที่ใส่เสื้อ “วิ่งไล่ลุง” ก็ถูกพนักงานสอบสวนเรียกมาดำเนินคดี ไม่แจ้งการชุมนุม เช่นเดียวกัน โดยตัวแทนกลุ่มดังกล่าวได้รับสารภาพและถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 10,000 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้โพสต์นัดหมาย “วิ่งไล่ลุง” นครพนม ยืนยันสู้คดี “ไม่แจ้งชุมนุม”
“บอล” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ไม่แจ้งชุมนุม” วิ่งไล่ลุงคดีพุ่งแล้ว 10 คดี
ถูกปรับแล้ว 2 รายในภาคอีสาน หลังรับว่าเป็นผู้จัด “วิ่งไล่ลุง” อีก 2 ยืนยันสู้คดี
3 นิสิต ม.พะเยา ยุติกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” แต่ตำรวจยังติดตามถึงหอพักและถ่ายรูปรายงาน “นาย”

 

X