ทำยังไงดี! ถูกบริษัทไล่ออกเพราะไปม็อบ

คุ้มเกล้า  ส่งสมบูรณ์

ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุ ทั้งข่าว ส.ส.บุกรุกที่ป่าสงวนก็ดี ข่าวยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีกู้เงินหัวหน้าพรรคก็ดี หรือข่าวแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่สกายวอล์คเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้รับความสนใจมากจนกลายเป็นชุมนุมใหญ่ เห็นได้จากคนติด #ไม่ถอยไม่ทน ในทวิตเตอร์เกินล้านครั้งทำให้แฮชแท็กนี้ติดอันดับหนึ่ง แล้วต้นเดือนมกราคม 2563 ก็จะมีกิจกรรมอย่าง “วิ่งไล่ลุง” อีกด้วย

เชื่อว่าคนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีหัวใจรักประชาธิปไตยหลายๆ คนคงวางแผนว่าจะไปร่วมกิจกรรมทั้งแบบไปสังเกตการณ์และแบบตั้งใจว่าจะไปร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกันอยู่เป็นแน่ แต่ก็ไม่วายมีเรื่องที่ทำให้ต้องคิดหนักว่าการออกไปชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น จะมีผลกระทบกับอาชีพการงานของตนเองหรือเปล่า หากว่านายจ้างมีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันรู้ว่าไปชุมนุม

เป็นลูกจ้างแล้วออกไปชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยได้หรือไม่

ทำได้แน่นอน ! เพราะบุคคลทุกคนรวมถึง “ลูกจ้าง” ย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิไว้ และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิส่วนบุคคล นายจ้างจะก้าวล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน “ลูกจ้าง” มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ฉะนั้น ก่อนออกไปร่วมชุมนุมต้องแน่ใจก่อนว่าได้ปฏิบัติตามสัญญาและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถูกต้องแล้ว เช่น ไปร่วมชุมนุมนอกเวลาทำงาน ไปร่วมชุมนุมในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี (วันลาพักร้อน) ที่ได้ลาไว้ถูกต้องตามข้อบังคับฯ เป็นต้น

แต่ถ้าใช้ลาป่วยหรือลากิจว่ามีธุระแล้วไปร่วมชุมนุม หากนายจ้างพบว่าไม่ได้ลาป่วยหรือลากิจจริง นายจ้างอาจถือเป็นเหตุให้เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างได้ โดยอ้างว่าลูกจ้างลาป่วยหรือลากิจธุระเท็จเป็นการละทิ้งการงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ได้

แต่ถึงเราจะปฏิบัติตามสัญญาและข้อบังคับแล้วแต่ก็ยังถูกนายจ้างลงโทษ กดดัน หรือบังคับให้ลาออก หรือเลิกจ้างล่ะ จะต้องทำอย่างไรดี เรามีสิทธิในการป้องกันตัวจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง หรือเรายังเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้างตามกฎหมาย

กรณีแรก นายจ้างลงโทษตักเตือนไม่ว่าจะเตือนด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือเตือน อ้างว่าทำผิดเนื่องจากไปชุมนุมทางการเมือง ทำให้นายจ้างเสื่อมเสีย 

อันดับแรกต้องดูสัญญาจ้างแรงงานหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของที่บริษัทหรือองค์กรเสียก่อนว่า เหตุที่นายจ้างอ้างเป็นเหตุลงโทษตักเตือนนั้นมีระบุไว้ในสัญญาหรือข้อบังคับหรือไม่ เมื่อตรวจดูแล้วไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเหตุดังกล่าวที่นายจ้างอ้างก็ตาม ลูกจ้างก็มีสิทธิไม่ลงลายมือชื่อรับหนังสือเตือนหรือรับทราบการเตือนนั้น ซึ่งมักจะมีข้อความทำนองว่าลูกจ้างยอมรับว่าตนทำผิด และการไม่ลงลายมือชื่อดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง

อันดับต่อมาให้ลูกจ้างทำหนังสือคัดค้านว่าเหตุที่นายจ้างอ้างเป็นเหตุลงโทษตักเตือนไม่ได้ถูกระบุไว้ในสัญญาหรือข้อบังคับ หรือแม้ระบุไว้ แต่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด เนื่องจากลูกจ้างไปร่วมชุมนุมนอกเวลาทำงาน หรือเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือลาพักร้อน ที่ได้ลาไว้ถูกต้องตามสัญญาและข้อบังคับแล้ว และการชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กระทำให้นายจ้างเสียหาย

เหตุที่เราแนะนำให้ทำหนังสือคัดค้านไว้ เนื่องจากนายจ้างอาจไม่ได้เลิกจ้างทันที ภายใน 1 ปีหลังตักเตือน ถ้านายจ้างอ้างเหตุเดิมมาลงโทษว่าลูกจ้างได้ทำผิดซ้ำหลังจากมีคำเตือนแล้วมาลงโทษเลิกจ้าง ลูกจ้างอาจใช้เป็นเหตุฟ้องเพิกถอนการลงโทษมิชอบ หรือใช้เป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้

นอกจากนี้ แม้นายจ้างจะระบุเหตุลงโทษดังกล่าวไว้ในสัญญาหรือข้อบังคับ ลูกจ้างก็ยังมีสิทธิต่อสู้ได้ว่าข้อสัญญาหรือบังคับเอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควร และให้ศาลสั่งให้สัญญาและข้อบังคับของบริษัทหรือองค์กรตามที่ระบุไว้ดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี ตาม มาตรา 14/1 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

กรณีที่สอง นายจ้างกดดันหรือบังคับให้ลาออก

วิชามารของนายจ้างและฝ่ายบุคคลที่มักหยิบมาใช้เพื่อปิดปากลูกจ้างที่ออกมาเรียกร้องสิทธิแรงงานกรณีถูกเลิกจ้าง และต้องบอกว่าโดยส่วนใหญ่ใช้ได้ผลด้วย เพราะตามกฎหมายเมื่อลูกจ้างลงลายมือชื่อในใบลาออกแล้ว ถือเป็นการแสดงเจตนาลาออก ยุติความเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง โดยที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย และการจะพิสูจน์ว่าขณะที่ลูกจ้างเขียนใบลาออกถูกนายจ้างกดดันหรือบังคับให้ลาออกนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานแล้วแต่กรณีจริงๆ หากจะต้องยกแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาเทียบเคียงก็อาจจะยังไม่ได้ทุกกรณีขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยแวดล้อม

อย่างไรก็ดี มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่พอจะเป็นประโยชน์กับลูกจ้างอยู่บ้าง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 4052/2548 ที่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับการเลิกจ้างโดยปริยาย ตามมาตรา 118 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ว่า การเขียนใบลาออกของลูกจ้างที่เกิดจากการข่มขู่ของนายจ้างว่า หากไม่ยื่นใบลาออกจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยทันที ในภาวะเช่นนั้นลูกจ้างย่อมเกิดความกลัวและยอมทำใบลาออก ประกอบกับนายจ้างอนุมัติให้ลูกจ้างลาออกทันที ฟังว่านายจ้างมีเจตนาจะไม่ให้ลูกจ้างทำงานกับจำเลยต่อไปและจะไม่จ่ายค่าจ้างอันเป็นการเลิกจ้าง ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย เป็นต้น

แต่ขอแนะนำว่า ถ้านายจ้างกดดันหรือบังคับให้ลาออกโดยอ้างเหตุว่าลูกจ้างชุมนุมทางการเมืองทำให้นายจ้างเสียหาย หรือยกเหตุอื่นมาอ้างเพราะลูกจ้างไปชุมนุม ลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธไม่เขียนใบลาออก และให้นายจ้างทำเป็นหนังสือเลิกจ้างและจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนหนึ่งงวดการจ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชยตามอายุการทำงานตาม มาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

กรณีที่สาม นายจ้างลงโทษเลิกจ้าง อ้างว่าทำผิดเนื่องจากไปชุมนุมทางการเมือง ทำให้นายจ้างเสื่อมเสีย 

กรณีนายจ้างใช้ยาแรงลงโทษเลิกจ้าง โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับหนังสือเลิกจ้างจากนายจ้างได้โดยไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับทราบหรือรับหนังสือในทำนองว่า ตนเองยอมรับว่ากระทำความผิดตามหนังสือเลิกจ้าง แต่ถ้านายจ้างไม่ให้หนังสือเลิกจ้างก็มีสิทธิจดข้อความในหนังสือเลิกจ้างเพื่อทราบเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างได้

ในกรณีนี้หากลูกจ้างประสงค์ใช้สิทธิเรียกร้อง ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลแรงงาน เรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย (กรณีที่นายจ้างค้างจ่าย), ค่าชดเชย, ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ที่ยังเหลืออยู่) ที่เฉลี่ยตามส่วนในปีที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มจากเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน และยังมีสิทธิเรียกค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ 7) ซึ่งแก้ไขปี 2562 ทั้งยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522

นอกจากสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิของประกันสังคมจะได้รับเงินประกันการว่างงานกรณีเลิกจ้าง ไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท โดยสามารถไปรับสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมภายหลังจากถูกเลิกจ้างไปแล้ว 8 วัน และในวันที่ 9 ของการถูกเลิกจ้าง ให้ลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนว่างงาน และขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่สำนักงานจัดหางานพื้นที่ที่ลูกจ้างทำงาน หรือลูกจ้างมีภูมิลำเนาอยู่ และมารายงานตัวตามกำหนด

ได้ข้อมูลตามนี้แล้ว เชื่อว่าจะช่วยเติมพลังให้คนหนุ่มสาวที่มีใจรักประชาธิปไตย จะไปใช้สิทธิชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกันอย่างรู้เท่าทันนายจ้างและกฎหมายมากขึ้น

X