สืบพยานคดี “เพนกวิน-บอล” ใช้พริกเกลือไล่พลเอกประยุทธ์เสร็จสิ้น ศาลนัดฟังคำพิพากษา 21 ส.ค. 62

12 มิ.ย. 62 ศาลแขวงดุสิต นัดสืบพยานคดีจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีจำเลย 2 คน คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือบอล สองนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 62 ทั้งสองได้เดินทางไปยังหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่ออ่านจดหมายและมอบของขวัญเป็นพวงพริก กระเทียม เกลือ เชิญพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปยังสน.ดุสิต และถูกแจ้งข้อหาชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ทั้งยังมีการตรวจยึดของกลางเป็นพริกแห้ง เกลือ และกระเทียมอีกด้วย ก่อนที่อัยการจะมีความเห็นสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 62 โดยจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างการสืบพยานจำเลยทั้งสองชี้ว่าเป็นการทำพิธีกรรมสาปแช่งขับไล่คนไม่ดีออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พิธีกรรมดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำสัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อสื่อมวลชนที่ท้าให้คนออกมาขับไล่ เนื้อหาคำสัมภาษณ์มีดังนี้

“อย่าไปไล่ล่ากันมากนัก พอไล่คนนี้แล้วลาออก แล้วเดี๋ยวมาไล่นายกฯออก ก็กฎหมายว่าอย่างนี้ มึงมาไล่ดูสิ ไล่ให้ได้สิ ผมไม่ท้าทาย แต่ไม่ออก การที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แพ้การเลือกตั้งปี 54 ในการแข่งกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำไมแพ้ล่ะ เป็นรัฐบาลหรือเปล่า ทำไมแพ้ แสดงว่าการเป็นรัฐบาลไม่น่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นมาแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีผลงานหรือไม่ หากไม่มีประชาชนก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ก็ไปหวังในสิ่งใหม่ๆ ที่เขาพูดออกมาจริงบ้างไม่จริงบ้าง นั่นคือการเมืองไทย”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อ่านความเป็นมาของคดีที่: อัยการสั่งฟ้อง “เพนกวิน-บอล” คดีไม่แจ้งชุมนุม แขวนพริกเกลือหน้าทำเนียบฯ ไล่พล.อ.ประยุทธ์

พริษฐ์และธนวัฒน์ขณะทำพิธีกรรมขับไล่พลเอกประยุทธ์ ที่หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล (2 ก.พ.ุ62)

พยานโจทก์ระบุจำเลยทำกิจกรรมโดยไม่แจ้งการชุมนุม ส่วนจำเลยชี้ ไม่ต้องแจ้งเพราะเป็นพิธีกรรมเผาพริกเกลือเพื่อขับไล่คนไม่ดี

9.30 น. กระบวนการสืบพยานเริ่มขึ้น โดยเป็นการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 5 ปาก มีพยานฝ่ายโจทก์ 3 ปาก ได้แก่ผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลดุสิต สายสืบเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวน ขณะที่จำเลยทั้งสองขึ้นเบิกตัวเองเป็นพยานต่อสู้คดี สำหรับประเด็นในกระบวนการสืบพยานที่สำคัญมีดังนี้

พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.ดุสิต ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุ ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์เบิกความว่า จากการตรวจสอบในการข่าวพบว่าจำเลยทั้งสองได้มีการโพสต์เชิญชวนประชาชนผ่านเฟสบุ๊ค และเดินทางมาทำกิจกรรมบริเวณหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลอันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน ทราบว่าในกิจกรรมวันนั้นจำเลยไม่ได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดูแลสถานที่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เมื่อจำเลยทำกิจกรรมที่หน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตนในฐานะเจ้าพนักงานที่ดูแลพื้นที่ได้เข้าไปแจ้งต่อจำเลยทั้งสองให้ยุติกิจกรรม แต่จำเลยยังยืนยันจะทำกิจกรรมต่อด้วยการย้ายจากประตู 3 มายังประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล จึงได้มีการเชิญตัวมาให้สอบปากคำที่สถานีตำรวจ

ด้านจำเลยทั้งสองขึ้นเบิกความไปในทางเดียวกันว่า ในวันดังกล่าวตนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หลังจากได้ฟังคำสัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “มึงมาไล่กูสิ” จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคำสัมภาษณ์ดังกล่าวปรากฏขึ้น ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การจัดการเลือกตั้ง หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งได้มีการประกาศอีกด้วย

ในส่วนการห้อยพวงพริก เกลือ กระเทียมตรงรั้วทำเนียบนั้น จำเลยถือเป็นการแสดงออกทางพิธีกรรมขับไล่คนไม่ดี ในที่นี้หมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ตามความเชื่อของศาสนาผีและความเชื่อของล้านนา ดังนั้นจึงไม่ต้องแจ้งการชุมนุมอันเป็นการใช้สิทธิแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ อีกทั้งในระหว่างการทำพิธีกรรม จำเลยไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียงหรือโทรโข่งเชิญชวนคนอื่นให้เข้าร่วม และในวีดีโอบันทึกเหตุการณ์ก็ไม่ปรากฏภาพการระดมคน หรือส่งเสียงดังโหวกเหวกเพื่อก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด

ต่อกรณีนี้อัยการฝ่ายโจทก์ได้ถามแย้งว่า แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ใช้โทรโข่ง แต่ก็มีการแจกใบปลิวเพื่อให้คนอื่นเข้าร่วมใช่หรือไม่ จำเลยเบิกความว่า พิธีกรรมนี้คนอื่นเข้าร่วมไม่ได้ เนื่องจากในการโพสต์ประกาศผ่านเฟสบุ๊คนั้นได้เตรียมคนและสิ่งของมาเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งในระหว่างทำพิธีกรรมก็ไม่มีใครสามารถเข้ามาได้ มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกับสื่อมวลชนเท่านั้นที่อยู่บริเวณสถานที่เกิดเหตุ

ด้านพยานโจทก์เบิกความว่า ในกรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบอาจจะหมายถึงคนอื่นก็ได้ เนื่องจากมีการแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ขนาดเล็ก ซึ่งกรณีนี้พริษฐ์จำเลยที่ 1 เบิกความว่าได้มีการแจกให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่ตนจำได้ และผู้สื่อข่าวเท่านั้น ส่วนธนวัฒน์ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า พิธีกรรมนี้คนภายนอกไม่ทางเข้ามาร่วมกิจกรรมได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการล้อมบริเวณทำกิจกรรมไว้หมด

ต่อกรณีการย้ายพิธีกรรมสาปแช่งจากประตู 3 มายังประตู 4 ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าเป็นการโพสต์เชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุม พริษฐ์เบิกความว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาเจรจา ตนจึงขอยกเลิกการทำพิธีกรรมที่หน้าประตู 4 ตามที่โพสต์ในเฟสบุ๊คไว้ เพื่อไปทำพิธีกรรมสาปแช่งพลเอกประยุทธ์ที่หน้าประตู 3 แทน การดำเนินคดีด้วยข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมจึงเป็นคนละเหตุกัน

สุดท้ายทนายความของจำเลยได้นำสืบว่า เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ในเรื่องการแจ้งการชุมนุมมีความมุ่งหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบและเตรียมการรักษาความเรียบร้อย ซึ่งจากการเบิกความเจ้าหน้าที่ก็ได้สืบทราบว่าจะมีพิธีกรรมนี้เกิดขึ้น และพยานโจทก์ซึ่งเป็นสายสืบ ก็ได้เบิกความว่าได้สืบทราบแล้ว และได้มีการปรึกษาผู้บังคับบัญชา จนผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้เตรียมกำลัง จัดวางกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลกว่า 30 นาย ในทางเนื้อหาจึงถือว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว

เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการสืบพยาน ศาลจึงมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ส.ค. 62

พริษฐ์และธนวัฒน์หลังจากถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต  (2 ก.พ.62)

พริษฐ์และธนวัฒน์ ยังเหลือคดีที่คล้ายคลึงกันอีก 1 คดี

นอกจากนี้ทั้งสองคนยังถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันจากเหตุ วันที่ 20 ก.พ. 62 ซึ่งได้เดินทางไปยังหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เพื่ออ่านจดหมายชี้แจง และคัดค้านคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ตามที่ผบ.ทบ.ได้ชี้แจงว่าจะเปิดเพลงดังกล่าวตามหน่วยทหารต่าง ๆ โดยทั้งพริษฐ์ และธนวัฒน์เห็นว่าเพลงดังกล่าวเคยถูกใช้ปลุกระดมมวลชนให้ฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยในโพสต์ยังระบุว่ากิจกรรมนี้ไม่ใช่ชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นกิจกรรมเพื่อการศึกษา

เมื่อถึงเวลานัดทั้งสองคนได้จัดชุมนุมและมีพวกของจำเลยมาร่วมและยังมีนักข่าว ทั้งสองคนได้ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกอธิบายว่าทำไมจึงไม่ควรเปิดเพลงหนักแผ่นดินจากนั้นได้นำแถลงการณ์ไปติดที่ป้ายบอกสถานที่สำคัญและแผ่นป้ายข้อความ “เพลงหนักแผ่นดิน สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง ความเจ็บปวดในสังคม” ไปวางไว้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าทั้งสองคนไม่ได้แจ้งต่อหัวหน้าสถานี สน.นางเลิ้งภายใน 24 ชั่วโมง จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย (อ่านเรื่องนี้ที่: ดำเนินคดีไม่แจ้งชุมนุม 4 นศ.-นักกิจกรรม หลังทำกิจกรรมค้านเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” หน้าบก.ทบ.)

 

X