Army57: ผกก.สน.นางเลิ้งเบิกความเผยมีแผนสกัดผู้ชุมนุมไม่ให้ไปกองทัพบก เหตุเกรงกีดขวางจราจร

30 พ.ค. 62 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแขวงดุสิต เป็นนัดแรกของการสืบพยานคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเดินขบวนไปยังกองบัญชาการกองทัพบก ในวันที่ 24 มี.ค. 61 (Army57) นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าคดีชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 61 (RDN50) ซึ่งอัยการฝ่ายโจทก์มีความเห็นถอนฟ้อง หลังคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิก แต่ต้องรอความเห็นชอบจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อ่านความเป็นมาของทั้ง 2 คดีนี้ได้ที่: จับตา 3 พ.ค. นี้: เริ่มสืบพยาน ‘พันเอกบุรินทร์’ ปากแรกในชุดคดีคนอยากเลือกตั้ง

พยานเบิกความผู้ชุมนุมจะไปชุมนุมที่กองทัพบกจึงต้องตั้งแนวสกัด

สำหรับการสืบพยานโจทก์นัดแรกในคดี Army57 ซึ่งผู้ชุมนุมจำนวน 47 คน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อัยการฝ่ายโจทก์นำ พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผกก.สน.นางเลิ้ง เข้าเบิกความ โดยในวันเกิดเหตุ พ.ต.อ.กัมปนาท ทำหน้าที่ดูแลการเดินขบวนของผู้ชุมนุมตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปตามถนนราชดำเนินนอก จนถึงหน้ากองทัพบก ซึ่งเป็นปลายทางการเดินขบวนของผู้ชุมนุมในวันดังกล่าว

พยานเบิกความตอบอัยการในประเด็นสาเหตุของการตั้งแนวสกัดกั้นผู้ชุมนุมบริเวณแยก จปร. ว่า เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนต่อไปยังหน้ากองทัพบกได้ โดยพยานอ้างว่าในวันที่ 22 มี.ค. 61 ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รอง ผบช.น. ให้ทำหน้าที่วางแผนติดตามการชุมนุมในเขตรับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง โดยเส้นทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเป็นความรับผิดชอบของ สน.ชนะสงคราม และจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นความรับผิดชอบ สน.สำราญราษฎร์

พยานเบิกความต่อว่า เมื่อถึงวันชุมนุมในวันที่ 24 มี.ค. 61 เวลา 17.00 น. ได้รับรายงานทางวิทยุว่าผู้ชุมนุมได้เดินขบวนออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จึงได้มีการเตรียมการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรแก่ผู้ชุมนุมและให้ผู้สัญจรไปมาระมัดระวัง จนกระทั่งเวลา 18.30 น. พบว่าผู้ชุมนุมเดินขบวนมาจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนมาถึงแยกจปร. โดยผู้ชุมนุมเดินบนพื้นผิวถนนกีดขวางการจราจร ทั้งยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเดินนำหน้ารถปราศรัยของแกนนำการชุมนุม พยานจึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถว และประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมในเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งประกาศว่า การชุมนุมผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2550 เนื่องจากยังมีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมหลังเวลา 18.00 น. ซึ่งผิดเงื่อนไขการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมไม่ได้ยุติการชุมนุม หากแต่ผลักดันแนวของเจ้าหน้าที่ผ่านแยก จปร. เดินต่อไปจนถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบก โดยแกนนำสลับกันปราศรัยโจมตีรัฐบาลต่อไปจนกระทั่งถึงเวลา 20.45 น. จึงยุติการชุมนุม ซึ่งพยานเห็นว่าการชุมนุมของจำเลยเป็นการละเมิดกฎหมายและกีดขวางทางจราจร

ต่อมา ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ตามลำดับ โดยมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ การขวางทางเดินขบวนทำให้การชุมนุมจบช้า ไปจนถึงการเรียกร้องเลือกตั้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยโดยรับว่า ก่อนวันชุมนุมของคนอยากเลือกตั้ง คือ ในวันที่ 22 มี.ค. 61 ได้มีการประชุมตั้งคณะทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การชุมนุม หลังจากผู้ชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมกับ สน.ชนะสงคราม และสถานีตำรวจท้องที่ที่ผู้ชุมนุมจะเดินขบวนผ่าน พยานยังรับด้วยว่า การตั้งแถวของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณแยก จปร. กีดขวางการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม จนทำให้ผู้ชุมนุมล้นจากฟุตบาทลงมายังถนน และทำให้จราจรติดขัด แต่พยานเห็นว่า ไม่ถึงกับทำให้รถวิ่งไม่ได้

ตำรวจตั้งแผงเหล็กกั้นบริเวณ ถ.ราชดำเนินนอก เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเดินเข้าไปถึงหน้ากองทัพบก

รับในการประชุมเตรียมการมีแผนสกัดผู้ชุมนุมไม่ให้ไปหน้ากองทัพบก

ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ปากนี้ต่อในประเด็นการประชุมของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 22 มี.ค. 61 พยานรับว่า การประชุมในวันดังกล่าวมี พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รอง ผบช.น. เป็นประธาน โดยมีทหารเข้าร่วมด้วย แต่พยานจำไม่ได้ว่าเป็นใคร เป็นการประชุมเพื่อเตรียมการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม โดยไม่ได้มีการเตรียมประกาศแจ้งแก่ประชาชนทั่วไปว่าจะมีการชุมนุมหรือประกาศว่าผู้ชุมนุมจะเดินขบวนไปตามถนนราชดำเนิน และพยานไม่ทราบว่า สน.อื่นที่เข้าร่วมประชุมจะเตรียมการวางกำลังหรือแผงกั้นการเคลื่อนนขบวนของผู้ชุมนุมหรือไม่

พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า ทราบว่าการชุมนุมดังกล่าวมีคำรณรงค์ว่า “โค่นล้ม ถอนราก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” และเรียกร้องการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แน่ใจว่า การชุมนุมขับไล่ คสช. เป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยหรือไม่ พยานรับข้อเท็จจริงที่ว่าหลังการรัฐประหารมากว่า 4 ปี ไม่มีการเลือกตั้ง ระหว่างการชุมนุม พยานเห็นป้ายผ้า ข้อความ รถบรรทุกเครื่องขยายเสียงที่แกนนำใช้ปราศรัยเรียกร้องการเลือกตั้งให้ผู้สัญจรไปมาได้ทราบตลอดเส้นทาง โดยรถคันดังกล่าววิ่งอยู่บนช่องทางคู่ขนานซ้ายสุดติดฟุตบาทตลอด ขณะที่รถเจ้าหน้าที่ตำรวจวิ่งประกบบนเลนซ้ายสุดของทางหลัก

พยานเห็นว่าการเดินขบวนของผู้ชุมนุมเป็นการเดินขบวนที่ไม่ใช่ต่างคนต่างเดินไป เมื่อขบวนไปถึงแยก จปร. ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของพยานก็หยุดลงชั่วคราว พยานไม่แน่ใจว่าขบวนหยุดที่บริเวณดังกล่าวนานแค่ไหน แต่พยานได้สั่งให้ตั้งแนวตำรวจและแผงเหล็กเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินต่อไปยังกองทัพบก แต่ให้เลี่ยงไปชุมนุมหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาแทน เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมที่หน้ากองทัพบกจะเป็นการกีดขวางทางจราจร ในจังหวะนั้นผู้ชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศของเจ้าหน้าที่ แต่ยืนยันตามที่ได้แจ้งการชุมนุมไว้

ผกก.สน.นางเลิ้ง ตอบทนายจำเลยอีกว่า มีการเตรียมการตั้งแต่การประชุมในวันที่ 22 พ.ค. 61 แล้วที่จะไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังหน้ากองทัพบก โดยพยานเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เอง แต่ในวันเกิดเหตุไม่สามารถสกัดผู้ชุมนุมได้ สุดท้ายผู้ชุมนุมก็เดินขบวนถึงหน้ากองทัพบกในเวลา 19.00 น. จากนั้น แกนนำผู้ชุมนุมสลับกันขึ้นปราศรัย โดยตำรวจก็มีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเช่นกัน ในช่วงหนึ่งมีการปราศรัยโต้เถียงกันไปมาจนกระทั่งแกนนำผู้ชุมนุมคนหนึ่งประกาศให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดปราศรัยแข่งเพราะฟังไม่รู้เรื่อง และจะทำให้การชุมนุมจบช้ากว่ากำหนด พยานจำไม่ได้ว่าเนื้อหาปราศรัยเป็นอย่างไร เนื่องจากตำรวจที่ประกาศอยู่บนรถเครื่องเสียงเป็นลูกน้องของพยาน พยานไม่ได้เป็นผู้ประกาศเอง พ.ต.อ.กัมปนาท ยอมรับในที่สุดว่า การชุมนุมจบลงโดยไม่มีความรุนแรง และผู้ชุมนุมแยกย้ายกันเดินทางกลับอย่างสงบ

การเลือกตั้งที่ไม่เป็นตามสัญญาของหัวหน้า คสช.  

พยานโจทก์ปากแรกในคดีนี้ตอบทนายจำเลยหลังอ่านกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ทนายนำมาให้ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุม ร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ ซึ่งประเทศไทยร่วมลงนามกติกาสากลนี้ด้วย” ซึ่งพยานไม่แน่ใจว่าประเทศไทยผูกพันกับกติกาสากลดังกล่าวนี้ ส่วนการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เดินทางไปต่างประเทศและได้ให้สัญญากับนานาชาติว่าจะจัดการเลือกตั้งแต่ไม่จัดเลือกตั้งนั้น พยานก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่น่าอายหรือไม่ แต่ทราบว่าการได้อำนาจมาของ คสช. ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

พยานไม่แน่ใจว่า เคยใช้สิทธิเลือกตั้งมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งหรือไม่ แต่รับว่าการเลือกตั้งเป็นวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีของสังคมอารยะ อย่างไรก็ตาม พยานเห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่ดีก็ต่อเมื่อไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย

หลังเสร็จการสืบพยานโจทก์ปากแรก ยังเหลือพยานที่โจทก์นัดไว้อีก 1 ปาก คือ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ เลิศไกร โจทก์แถลงว่า มีข้อซักถามพยานปากนี้จำนวนมาก เนื่องจากพยานต้องระบุตัวจำเลยในที่ชุมนุม ขณะที่ทนายจำเลยทุกคนแถลงร่วมกันว่า ฝ่ายจำเลยมีข้อถามค้านพยานปากนี้จำนวนมากเช่นกัน น่าจะไม่สามารถสืบให้เสร็จภายในวันนี้ได้ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปในนัดหน้าคือวันที่ 3 ก.ค. 62 เวลา 9.00 น.

อัยการมีความเห็นถอนฟ้องผู้ชุมนุม RDN50  แต่รอความเห็น ผบ.ตร. ก่อน

ในส่วนคดีผู้ชุมนุม RDN50 ซึ่งมีนัดสืบพยานเช่นกัน แต่ก่อนเริ่มการพิจารณา อัยการแถลงว่า ขณะนี้ได้มีความเห็นถอนฟ้องคดี เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป ได้ถูกยกเลิกแล้ว ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561

อย่างไรก็ตาม ต้องรอขั้นตอนให้อธิบดีผู้พิพากษาส่งเรื่องไปขอความเห็นชอบจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อจะได้มีความเห็นให้จำหน่ายคดีต่อไป ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าหากมีการถอนฟ้อง ทนายความสามารถแถลงความเห็นได้ โดยจำเลยไม่ต้องเดินทางมาศาล แต่ทำหนังสือมารายงานต่อศาลแทน และศาลยังคงนัดสืบพยานไว้ก่อนในวันที่ 23 ก.ค. 62 และให้คู่ความมาฟังคำสั่งเรื่องถอนฟ้องในวันนั้น

 

X