“รัฐลอยนวล” เป็นคำที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ไทยใช้เรียกรูปแบบของรัฐไทยในหนังสือ “In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand” ซึ่งเขียนโดย ไทเรล ฮาเบอร์คอน (Tyrell Haberkorn) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทย จาก University of Wisconsin-Madison (อ่านเรื่องนี้ได้ที่: รัฐลอยนวล โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์)
คำนิยามข้างต้นเกิดขึ้นจากผู้เขียนหนังสือรู้สึกประหลาดใจว่า เหตุใดประเทศไทยซึ่งเป็น 1 ใน 48 ประเทศตั้งต้นสนับสนุนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองตั้งแต่ปี 1948 ทั้งยังลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (อังกฤษ: International Covenant on Civil and Political Rights) จึงเต็มไปด้วยความรุนแรงทางการเมือง ที่สำคัญกว่านั้นคือจากประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองของไทยตั้งแต่ปี 1932 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน คงต้องจำนนต่อหลักฐานว่าไม่มีผู้ร้ายที่ใช้ความรุนแรงกระทำต่อประชาชนได้รับโทษฑัณฑ์แม้เพียงคนเดียว
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 61 งานเสวนาเรื่อง “รัฐไทย อาชญากรรม และความรุนแรง” ได้เปิดตัวหนังสือ “In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand” ที่ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการอภิปรายและตั้งคำถามปัญหาข้างต้นไว้ในหลากหลายมุมมองเพื่อหาทางออกในการยุติความรุนแรงทางการเมือง
แต่เหมือนจะเป็นหลักฐานยืนยันว่าสภาวะรัฐลอยนวลในสังคมไทยนั้นมีอยู่จริง เพราะให้หลังงานสัมมนาในวันนั้นไม่ถึง 1 สัปดาห์ หลักฐานเชิงประจักษ์ก็ปรากฏให้เห็นคาตาทันที เมื่อมีข่าวพบศพผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทย 2 คน ลอยเคว้งริมฝั่งแม่น้ำโขงพรหมแดนไทย-ลาว (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่: รำลึก “สุรชัย แซ่ด่าน กับสหาย” ด้วยอาลัย แม้ก่อนหน้านี้ตำรวจไม่ให้ใช้พื้นที่ราชประสงค์) และเมื่อไม่นานมานี้ยังมีรายงานผู้ลี้ภัยทางการเมืองหายตัวเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 ราย (อ่านเรื่องนี้ได้ที่: แม่ “สยาม” ร้องกองปราบฯ ช่วยหาตัวลูกชาย จันทร์หน้ายื่นหนังสือถึง กสม.และกต.อีก) ท่ามกลางข่าวญาติผู้เสียชีวิตเรียกร้องให้หาผู้กระทำความผิดใน 2 เหตุการณ์ของเดือนพฤษภาคม ทั้งเหตุการณ์การสลายการชุมนุมประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 และ เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 คงไม่มีเดือนไหนในปฏิทินจะมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมืองเท่าเดือนพฤษภาคมนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสรุปคำอภิปรายของ ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้นำเสนอความเห็นที่มีประโยชน์ไว้ในงานเสวนาดังกล่าวมานำเสนออีกครั้ง โดยกรพินธุ์คลี่คลายให้เห็นถึงสาระสำคัญของรัฐลอยนวลพ้นผิด อาทิ หน้าตาของความรุนแรงโดยรัฐเป็นอย่างไร ไปจนถึงฐานะของประชาชนในรัฐลอยนวลพ้นผิดเป็นอย่างไร
ทนายสมชาย นีละไพจิตร ภาพจาก Prachatai English
ความรุนแรงต่อหน้าต่อตา: จากถังแดง บ้านนาทราย ทนายสมชาย ถึงคนเสื้อแดง
กรพินธุ์เริ่มอภิปรายถึงหนังสือด้วยการพาผู้ฟังไปพิจารณาชื่อหนังสือที่ว่า “in plain sight” ซึ่งสามารถแปลเป็นไทยได้หลายคำ อาทิ “ต่อหน้าต่อตา” “กลางวันแสก ๆ” โดยคำดังกล่าวใช้สำหรับการกระทำเป็นเรื่องไม่ดี น่าอับอาย แต่กลับทำอย่างโจ่งครึ่ม อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ไม่ได้กำลังพูดถึงการกระทำแบบปล้นกลางแจ้ง หรือแก้ผ้าในที่สาธารณะที่อาจจะใช้คำว่า “in plain sight” ได้เช่นเดียวกัน หากแต่เป็นการกล่าวถึง “ความรุนแรงทางการเมือง” อันเป็นความรุนแรงที่มีแบบแผนและเป็นระบบ เกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งบางครั้งก็เห็นอยู่ตำตา แต่เราเพิกเฉยต่อมัน บางทีอาจเพราะเราไม่รับรู้ บางทีอาจเพราะเราไม่นับมันว่าเป็นความรุนแรง หรือบางทีก็อาจเป็นเพราะว่ากลัว
จากการค้นคว้าของผู้เขียนพบว่าความรุนแรงในสังคมไทยมีประวัติศาสตร์มาต่อเนื่องยาวนาน และกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผู้เขียนนำเสนอตัวอย่างมากมายอันเต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งจากคำให้การของพยาน รายงานการประชุมของผู้มีอำนาจ ท่าทีของสื่อมวลชนในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นกรณีถังแดงมาจนถึงการปราบปรามสลายผู้ชุมนุมเสื้อแดงกลางกรุงในปี 2553
ความรุนแรงต่อหน้าต่อตาจริง ๆ ครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในกรณีการถูกบังคับให้สูญหายของทนายสมชาย นีละไพจิตร ในบทที่ 6 เมื่อผู้เขียนสำรวจคำให้การของพยานที่ว่า
“ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 มีบุคคลห้าคนพยายามบังคับขืนใจทนายสมชายให้ขึ้นรถ ทั้ง ๆ ที่ทนายสมชายร้องขัดขืนและ ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นข้างถนนที่มีคนเดินพลุกพล่าน หลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบทนายสมชายอีกเลย ต่อมามีการสำรวจเอกสารของรัฐ คำให้การแบบเชิงลึก พบว่ามีพยานขึ้นมาให้การเนื้อหาสอดคล้องกับข้างต้นจำนวน 7 คน ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าฟังว่า แม้ว่าจะมีพยานถึง 7 คน ที่เห็นความรุนแรงต่อหน้าต่อตา แต่ไม่มีใครรุดเข้าไปช่วยเหลือคนที่โดนกระทำ มีแค่ 1 คนเท่านั้นที่โทร 191”
ซึ่งไทเรล ฮาเบอร์คอนเขียนไว้ว่า “นี่เป็นเครื่องเตือนใจว่าแม้เราจะอยู่ในที่สาธารณะก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะช่วยให้เรารอดพ้นจากการเป็นเหยื่อความรุนแรง”
นอกจากนี้ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ไว้ด้วยว่า “ถ้าหากชายห้าคนที่ทำร้ายทนายสมชายสวมเครื่องแบบสีน้ำตาลหรือสีเขียว ผู้เขียนคาดเดาว่า โอกาสที่คนที่อยู่ในเหตุการณ์จะเข้าไปช่วยก็ยิ่งน้อยลง”
จากตัวอย่างที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่า กรณีทนายสมชายเป็นหนึ่งในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าอัปยศของรัฐไทยที่มีมายาวนาน หนังสือได้มุ่งสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอกสารบันทึกของรัฐ คำให้การ รายงานการถกเถียงกันในรัฐสภา จดหมายโต้ตอบของกระทรวงต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะร้อยเรียงเขียนเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงและการพ้นผิดของรัฐไทย ไม่ว่าจะเป็นการกักขังบุคคลที่ถูกตีตราว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติภายใต้รัฐบาลเผด็จการในอดีต อาทิ ภายใต้ชื่อค่ายฝึกวิชาชีพ หรือ ศูนย์ที่ชื่อว่า “การุณยเทพ” ต่อมาในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ศูนย์ฝึกอบรม” และแน่นอนเมื่อไม่นานมานี้ ความรุนแรงลักษณะนี้ก็หวนกลับมาหาเราใหม่ในชื่อ “การกักขังในค่ายปรับทัศนคติ”
นอกจากการกักขังตามอำเภอใจแล้ว ผู้เขียนยังได้ศึกษาความรุนแรงประเภทอื่น ๆ เช่น กรณีเผาทั้งหมู่บ้าน (บ้านนาทรายในปี 1974) การทรมานชาวบ้าน และจับเผาถังแดง การฆ่าในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การถูกบังคับให้สูญหาย และการใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุมประท้วง เหล่านี้แสดงให้เห็นข้อโต้แย้งหลักของผู้เขียนที่พยายามอธิบายลักษณะของรัฐไทยว่า
“ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำซากเสียจนกระทั่งกลายเป็นโครงสร้างกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในประเทศไทย การได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลับหมายถึงความสามารถในการกระทำความรุนแรงต่อพลเมืองโดยไม่ต้องรับผิด ในขณะที่การได้เป็นพลเมืองไทยกลับหมายถึงการสำเหนียกว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถทำร้าย ทรมาน ทำให้สูญหาย หรือฆ่าคุณได้ และมีแนวโน้มว่าพวกเขาจะลอยนวล”
รัฐลอยนวล คือความรุนแรงที่ไม่ชอบธรรม (ต่างหาก)
ประเด็นต่อมาที่กรพินธุ์ชี้ให้เห็นข้อคิดจากหนังสือคือ ข้อถกเถียงทางทฤษฎีว่าด้วยรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็นสองประเภท 1.คำอธิบายการเกิดของรัฐ อาทิ คำอธิบายที่ว่าสงครามสร้างรัฐ รัฐสร้างสงคราม หรือ ทุนนิยมสร้างรัฐ มาจนถึงปัจจุบันมีนักวิชาการบางคนเสนอว่า ธัญพืชสร้างรัฐ
และ 2.แนวคิดที่พยายามนิยามความเป็นรัฐลักษณะต่าง ๆ โดย แม็ก เวเบอร์ นักสังคมวิทยา ซึ่งเคยอธิบายว่า “รัฐสมัยใหม่คือชุมชนทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการผูกขาดอำนาจที่ชอบธรรมภายในอาณาบริเวณที่จำกัด” ส่วนคาร์ล มาร์กซ์และ เองเกลส์ เสนอว่า “รัฐคือคณะกรรมมาการจัดการบริหารผลประโยชน์ของชนชั้นกระฎุมพี” ขณะที่นักวิชาการการเมืองเปรียบเทียบจำนวนมากแบ่งรัฐออกเป็นหลายประเภท รัฐเข้มแข็ง รัฐอ่อนแอ รัฐกลวง รัฐทุนนิยมเข้มแข็ง รัฐนำการพัฒนา หรือรัฐอุปถัมภ์ เป็นต้น
ทว่าหนังสือเล่มนี้พยายามโต้เถียงและต่อยอดกับทฤษฎีว่าด้วยรัฐที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งประเด็นโต้เถียงที่น่าสนใจคือคำนิยามรัฐที่แม็ก เวเบอร์ อธิบายเอาไว้นั้น ผู้เขียนได้โต้แย้งว่า แทนที่จะเป็นความรุนแรงที่ชอบธรรม มันกลับเป็นความรุนแรงที่ไม่ชอบธรรม ลอยนวลพ้นผิด ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ต่างหาก ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นลักษณะสำคัญของรัฐไทย โดยมีวิธีการคือทำให้การลอยนวลเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ผ่านการตีความตัวบทกฎหมายของศาล เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยสืบสานอำนาจรัฐ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของรัฐไทยอีกด้วย
ดังนั้นรัฐไทยในหนังสือเล่มนี้จึงมีลักษณะเป็น “รัฐพ้นผิด” หรือ “รัฐลอยนวล (state with impunity) โดยผู้เขียนสนใจไปที่ความรุนแรงที่กระทำต่อพลเมือง ซึ่งสามารถนำมาใช้นิยามลักษณะรัฐแบบใดแบบหนึ่งได้ อาทิ ระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการอำนาจนิยม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทสุดท้าย ผู้เขียนได้เชื่อมโยงความรุนแรงโดยรัฐกับอุดมการณ์หลักของไทย ผ่านตัวอย่างในหลายกรณีที่สะท้อนความรุนแรงที่แสนจะไม่ชอบธรรม ขัดกับหลักการสากล แต่ก็กระทำได้อย่างโจ่งครึ่มเพราะอิงแอบกับอุดมการณ์ข้างต้น
เจ้าหน้าที่ยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขณะคาบบุหรี่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19: ภาพจาก Wikipedia
จะเห็นโฉมหน้าความรุนแรง ต้องเปรียบเทียบเรื่องเล่าของผู้มีอำนาจและผู้ด้อยอำนาจ
ประเด็นต่อมาที่กรพินธุ์นำเสนอคือ แนวคิดเรื่องเล่าสาธารณะ (public transcripts) และ เรื่องเล่าหลังม่าน (hidden transcripts) ของ เจมส์ ซี สก็อต ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ซึ่งศึกษาการเมืองเรื่องการต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านในหมู่ชนชั้นล่าง คนยากไร้ที่ไม่มีปัญญาจัดตั้งเพื่อสร้างขบวนการเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ ซึ่งในสังคมที่เหลื่อมล้ำ ที่มีการกดขี่และเป็นเผด็จการสูง คนเล็กคนน้อยไม่สามารถลุกฮือต่อสู้กับผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา แต่มักจะแสดงการต่อต้านในชีวิตประจำวัน ภายใต้ผิวฉาบหน้าอันเงียบสงบ
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พาไปดูเรื่องเล่าหลังม่านของคนเล็กคนน้อย คนที่ถูกกดขี่ แต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องเล่าหลังม่านของรัฐเอง ซึ่งผู้เขียนดำดิ่งลงไปในโลกของรัฐไทย ภาษาของผู้มีอำนาจไทย เปิดเผยให้เห็นว่าเขามีเรื่องหลังม่านเกี่ยวกับความรุนแรงอย่างไร เช่น พิจารณาไปที่บทสนทนาของผู้มีอำนาจ ที่มีส่วนในการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
อย่างไรก็ตามกรพินธุ์ตั้งข้อสังเกตต่อหนังสือในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องเล่าหลังม่านของรัฐไทยว่าแท้จริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่
“เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่มีเอกสารทางการจำนวนมากเกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ และสาธารณชนเข้าถึงได้ สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่ารัฐไทยสืบสานความรุนแรงทางการเมืองและวัฒนธรรมพ้นผิดอย่างเป็นระบบ เปิดเผย เป็นเรื่องสาธารณะอันน่าอัปยศที่ผู้มีอำนาจไม่ยี่หระที่จะปิดบัง ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องเล่าหลังม่านแต่อย่างใด หากคือความตั้งใจในการประกาศความรุนแรงสาธารณะของรัฐไทยมากกว่า”
ดังนั้นแล้วจะประเมินความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมหนึ่ง ๆ ได้ ก็ต่อเมื่อนำทั้งเรื่องสาธารณะและหลังม่าน ของทั้งผู้มีอำนาจและผู้ไม่มีอำนาจมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็น 4 เรื่อง ถ้าหากผู้มีอำนาจและผู้ด้อยอำนาจพูดภาษาเดียวกันทั้งในที่ลับและที่แจ้ง สิ่งนี้อาจสะท้อนสังคมที่มีเสรีภาพและความโปร่งใสระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรื่องเล่าทั้ง 4 เรื่องนั้น แตกต่างกันสุดขั้วซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ ก็อาจจะสะท้อนภาพของสังคมมือถือสากปากถือศีลแทน
รถหุ้มเกราะเข้าสลายการชุมนุมในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53: ภาพจาก Wikipedia
รัฐเป็นผู้กำหนดว่าชีวิตใดไร้ค่า
ในตอนท้ายของการเสวนา กรพินธุ์อภิปรายประเด็นที่สำคัญในบทท้ายของหนังสือที่ชื่อว่า “ใครสามารถจะถูกฆ่าได้โดยไม่ผิด” โดยยกตัวอย่างในหนังสือเกี่ยวกับการพิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีหนึ่ง ที่กล่าวว่า “ศาลอาญาเต็มใจที่จะกักขังจำคุกชายผู้หนึ่งยาวนานเป็นเวลา 360 วัน อันเป็นช่วงเวลาที่เขารอการไต่สวนและคำพิพากษาจากกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าเอื้อนเอ่ยคำที่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ในบ้านส่วนตัวของเขาเอง แต่ในขณะเดียวกันศาลกลับไม่อนุญาตให้มีการฟังคำให้การพยานในคดีที่มีการวางแผนฆ่าคนจำนวนกว่า 94 คนล่วงหน้า” (หมายถึงกรณีการพิจารณาคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53)
ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนความรุนแรงที่รัฐ (กรณีนี้คือ ศาล) กระทำต่อผู้ต้องหาคดีหนึ่ง (ซึ่งภายหลังเขาถูกตัดสินว่าไม่ผิดและต้องติดคุกฟรี) ซึ่งตรงกันข้ามและแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับมุมมองของศาลที่มีต่อความรุนแรงที่โจ่งครึ่ม มีคนตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สำหรับชีวิตที่ที่ถูกทำให้ไร้ค่าในรัฐลอยนวล จะพบว่า ในทุก ๆ สังคมมีชีวิตที่เปลือยเปล่า ชีวิตที่ถูกรัฐฏาธิปัตย์ชี้เป็นชี้ตายได้โดยไม่อิงกับหลักกฎหมาย ชีวิตที่ถูกพรากคุณค่า สารัตถะ จนความตายของพวกเขาไม่ถูกรับรู้ รับผิด ในรัฐอเมริกามันอาจจะเป็น ชีวิตของคนดำที่ถูกตำรวจฆ่า อาจจะเป็นชีวิตของนักโทษในคุกกวนตานาโม
นี่คือการเมืองเรื่องชีวิต ซึ่งแยกไม่ออกจากประเด็นเรื่องความรุนแรงโดยรัฐและอุดมการณ์หลักที่ครอบงำสังคมนั้น ๆ ดังที่ จูดิธ บัทเลอร์ (นักปรัชญาชาวอเมริกัน) นิยามไว้ว่า มันคือชีวิตที่ไม่ควรคู่ต่อการเสียใจ อาลัยอาวรณ์ และแน่นอนว่า ในสังคมทุกสังคม ต้องมีชีวิตที่รัฐให้คุณค่ามหาศาล ให้ทุน ระดมทรัพยากร ปลุกเร้าอารมณ์ให้เสียใจอาวรณ์
ก่อนที่กรพินธุ์จะปิดท้ายการนำเสนอด้วยใช้เวลาสั้น ๆ อ่านรายชื่อชีวิตที่ไม่เคยถูกให้ค่าแก่การไว้อาลัยทั้งจากผู้มีอำนาจและชนชั้นกลางไทย อันมีมากจนนับไม่ถ้วน ดังต่อไปนี้ ณรงศักดิ์ กรอบไธสง เหยื่อ 10 เมษา- 19 พ.ค. 53 หลายชีวิตที่เสียไปในค่ายทหารเกณฑ์ “อากง” หรือ อำพล ตั้งนพคุณ อภิวันต์ วิริยะชัย ชัยภูมิ ป่าแส ลุงเด่น คำแหล้ ฯลฯ ….