“ศาลรัฐประหาร” ผลึกทัศนะต่อกระบวนการยุติธรรมใต้ยุคเผด็จการ

หนังสือรวมบทความวิชาการเรื่อง “ศาลรัฐประหาร: ตุลาการ ระบอบเผด็จการและนิติรัฐประหาร” ตีพิมพ์ปี 2560 เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากเป็นการค้นคว้าที่กว้างขวาง ผู้เขียนยังเก็บเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตุลาการกับการรัฐประหารในระดับสากลมาเผยให้เห็นกันจะ ๆ อีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจต่อมา คือแม้ผู้เขียนจะเป็นนักกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ข้ามพ้นประเด็นเทคนิคทางกฎหมาย หรือนิติวิธีทั่วไป และคืน “ความเป็นการเมือง” ให้แก่กฎหมาย โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ที่ตำรับตำราทางกฎหมายไม่ได้ดำรงอยู่อิสระ บริสุทธิ์ โดยพิสูจน์ว่าศาลมิได้วินิจฉัยหลักกฎหมายอย่าง “เป็นกลาง” หากแต่การตีความกฎหมายเกี่ยวข้องอุดมการณ์หรือจุดยืนทางการเมือง ท้ายที่สุดหนังสือนำเสนอวาระใหม่ไว้แก่ผู้อ่านที่เอาใจใส่ต่อบ้านเมือง  

ศาลไหน ๆ ก็ไม่ได้ลอยอิสระจากอุดมการณ์ทางการเมือง

ความเข้าใจว่าไทยมีลักษณะเฉพาะต่างจากบ้านอื่นเมืองอื่น ดูจะไม่ช่วยให้เข้าใจบ้านเมืองเราได้ชัดเจนนัก ดังที่หนังสือเล่มนี้พาเราไปสำรวจการเมืองของระบบตุลาการในหลายประเทศ ซึ่งผ่านวิกฤติร้อนหนาวทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกับไทย

บทแรกที่ว่า “ตุลาการภิวัตน์” ถึง “ศาลรัฐประหาร” ได้เทียบเคียงระบอบการเมืองกับท่าทีของศาลต่อการรัฐประหาร จนกลั่นออกมาเป็นข้อสรุปในหลายประเด็น พร้อมกับกระตุกเตือนให้เราตั้งคำถามใหม่ ๆ ขึ้นมา เช่น กระบวนการยุติธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับศาลมีส่วนมากน้อยเพียงใดต่อเสถียรภาพระบอบเผด็จการ

สำหรับประเทศที่ผ่านการรัฐประหารกว่า 13 ครั้ง (นับเฉพาะที่ยึดสำเร็จ) เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตั้งคำถามว่า สาเหตุที่ทำให้สถาบันรัฐสภาและกลไกในระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเติบโตแข็งแรงได้คืออะไร เกิดปัญหาอะไรกันแน่ในหลักการแบ่งแยกอำนาจ ที่เรียกร้องว่าอำนาจในการตรากฎหมาย (อำนาจนิติบัญญัติ) อำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย (อำนาจบริหาร) และอำนาจในการชี้ขาดข้อพิพาท (อำนาจตุลาการ) นั้นต้องไม่รวมอยู่ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือคำถามทำนองว่า จะจัดวางฐานะศาลภายใต้ระบอบรัฐประหารครองอำนาจไว้อย่างไร

ขณะที่ระบบตุลาการหลายประเทศทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ งานชิ้นนี้ก็ปรามาสอย่างไม่อ้อมค้อมว่า ระบบตุลาการไทยทำหน้าที่พิทักษ์ผู้ปกครอง ซ้ำร้ายยังใช้อำนาจ “ห้ามดูหมิ่นศาล” ไว้จัดการกับประชาชน (น.37) จากการค้นคว้านี้เอง นำมาสู่สิ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งในเชิงองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหาร ประเทศไทยก็ดูจะมีแนวโน้มน้อมรับในคำพิพากษาจากฝ่ายศาล ขณะที่ในต่างประเทศ พร้อมที่จะชนหรือตอบโต้กับศาล (น.40-47)

ภาพกว้างที่งานชิ้นนี้ทำ ยังช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างระบอบการเมืองกับท่าทีของศาลได้ชัดขึ้น ดังปรากฏในตารางเปรียบเทียบศาลปกติกับศาลรัฐประหาร (น.42) เพราะศาลหรือกฎหมายไม่ใช่พระอรหันต์ที่หลุดพ้นไปจากระบอบการเมืองหรืออุดมการณ์ ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย ศาลมักจะมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือรัฐบาล เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของบุคคล ส่วนศาลที่อยู่ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะวางท่าทีนิ่งเฉย ละเลยไม่ตรวจสอบหรือกระทั่งรับประกันการปราบปรามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ  

เครื่องมือ 4 ชิ้นของระบอบเผด็จการ

คำถามคือมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร ที่ช่วยให้ศาลเล่นบทบาทนั้นได้ งานชิ้นนี้เสนอว่า ระบอบเผด็จการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือใน 4 ลักษณะ คือ

1. แปลงความต้องการของเผด็จการให้เป็นกฎหมาย แม้หนังสือจะไม่ได้อธิบายเฉพาะกรณีของประเทศไทยโดยแยกขาดจากบริบทโลก แต่สิ่งนี้ก็ได้เกิดขึ้นให้เห็นแล้ว ถ้านำข้อคิดจากหนังสือมามองกรณีของไทย

ดังรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2561 ที่ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือน ต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีหัวหน้าคสช. เสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งภายในสนช. ตลอดระยะเวลา 4 ปี 4 เดือน สภานี้ได้พิจารณาและผ่านความเห็นชอบกฎหมายไปไม่ต่ำกว่า 323 ฉบับ มากที่สุดในบรรดาสภาที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารครั้งไหน ๆ

2. นำกฎหมายของเผด็จการไปใช้บังคับ เราจะเห็นว่ากฎหมายเหล่านั้นหลายฉบับ มีลักษณะลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ ได้ถูกนำไปกวาดล้างดำเนินคดีกับประชาชนอย่างก้าวร้าวรุนแรงจนถึงปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติการชุมชนสาธารณะ พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

ส่วนลักษณะอีก 2 ประการที่งานชิ้นนี้เสนอคือ 3. นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปใช้ในทางที่ไม่เป็นคุณต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน  และ 4. นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วไปใช้แบบบิดเบือน บิดผันอำนาจเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของเผด็จการ

บทเรียนจากศาลภายใต้ระบอบเผด็จการ ชี้ตรงกันว่าความยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นในข้ามคืน  

หากผู้อ่านกรีดหน้ากระดาษไปจนถึงบทที่ 2 – 4 ซึ่งว่าด้วยเมื่อศาลเผชิญหน้ากับรัฐประหาร ศาลไทยกับรัฐประหาร และศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลรัฐประหาร ก็จะเห็นว่าบริบทของแต่ละประเทศรวมถึงไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ประชาชนจะต่อสู้เพื่อนำระบบนิติรัฐคืนสู่บ้านเมืองได้ในเร็ววัน หากต้องอาศัยความอุตสาหะ ความสม่ำเสมอและคงเส้นคงวา

ผู้เขียนตีแผ่ประเด็นนี้ให้เห็นผ่านภารกิจของศาลในระบอบเผด็จการกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ทั้งในบราซิล ชิลี หรืออาร์เจนติน่า

คำบรรยายให้เห็นถึงสภาพของศาลในชิลี (น.63-65) (Agents of anti-politics: Courts in pinochet’s Chile) ทำให้รู้สึกราวกับว่าผู้เขียนกำลังส่งความหวังให้ผู้ฝันจะเห็นความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้ เพราะเวลากว่า 3 ทศวรรษภายใต้การครองอำนาจของนายพลปีโนเชต์ ศาลของชิลีเอง ต่างอยู่ในสภาพเดียวกับหลายประเทศที่อยู่ใต้อำนาจเผด็จการ คือเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการปีโนเชต์ด้วย ผู้เขียนเสนอว่ามีปัจจัยด้านพฤติกรรมและอุดมการณ์ของศาลเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการปราบปรามประชาชน (น.67-76) ชาวชิเลี่ยนเองก็ต้องอดทนต่อสู้ยาวนาน จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมเมื่อล่วงมาไกลถึงสี่ทศวรรษ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือผู้เขียนยังทำการสำรวจ หลักการต่าง ๆ ที่ศาลใช้สำหรับวินิจฉัยผลของการรัฐประหาร และวิเคราะห์จัดประเภทหาข้อสรุปรวบยอดต่อบทบาทของศาลในการต่อต้านหรือสืบทอดอำนาจให้เผด็จการ เช่น หลักแห่งความจำเป็นของศาลในปากีสถาน (น.96-97, น.98-100) หลักแห่งความจำเป็นไซปรัส (น.104) ซึ่งกรณีหลังนี้ได้กลายเป็นจุดอ้างอิงให้แก่คำตัดสินต่อต้านการรัฐประหารของฝ่ายตุลาการในฟิจิ (ปี 2000)

อาจจะด้วยความที่ผู้เขียนมีสไตล์ผสานหลักทฤษฎีและแนวปฏิบัติ ดังนั้นจึงไม่พลาดที่จะเสนอวิธีการปฏิเสธรัฐประหารไว้ด้วย เหล่านี้ช่วยให้ผู้อ่านเห็นว่าศาลในโลกใบนี้ มีวิธีการปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.การปฏิเสธอำนาจทั้งที่คณะรัฐประหารครองอำนาจอยู่ และ 2.การปฏิเสธการรัฐประหารหลังคณะรัฐประหารลงจากอำนาจ (น.118-123) รวมถึงแนะนำวิธีการตรวจสอบความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญจากรูปแบบต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่กรณีของไทยหลังการรัฐประหาร การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างศาลกับการรัฐประหารเป็นเรื่องที่อาจต้องทำใจไว้บ้าง เพราะงานชิ้นนี้ฉายภาพปรากฏการณ์แบบสัจนิยม ทั้งการขยายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบ และการสถาปนารัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งดูจะเป็นใบเบิกทางไปสู่ของระบบอำนาจนิยมถาวรมากกว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางประชาธิปไตย

สิ่งนี้ชวนให้นึกไปถึง งานวิจัยของโอโอนา เอ แฮธาเวย์ (Oona A. Hathaway) (2002) เรื่อง “Do human rights treaties make a difference?” ซึ่งศึกษากฎหมายหรือบรรทัดฐานระหว่างประเทศว่ามีผลในการลดทอนหรือยุติความรุนแรงของรัฐหนึ่ง ๆ หรือไม่ โดยวิเคราะห์ผ่านพฤติกรรมของรัฐบาลจำนวน 166 ประเทศ (1960 -2000) ก่อนจะพบว่า การร่วมลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งหลายไม่ได้ควบคุมหรือกดดันให้รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนน้อยลง ปัจจัยที่สำคัญกว่าการลงนามในสนธิสัญญา คือพัฒนาการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

มากกว่านั้นข้ออ้างเรื่องสภาวะพิเศษ ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลเผด็จการเพื่อใช้ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปมาตรการเหล่านั้นยังแปรเปลี่ยนไปเป็นมาตรการปกติ จนนำไปสู่การลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ภายใต้การเมืองแบบนี้ ประชาชนจะถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว มายาคติเรื่องสังคมที่ไร้ระเบียบ จนกลายมาเป็นเหตุผลรองรับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ

การศึกษาศาลกับคณะรัฐประหารของไทยยังขาดแคลน

หากเราอ่านหนังสือเล่มนี้จะเห็นว่ามีกรณีศึกษาของต่างประเทศอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ฝ่ายตุลาการสามารถเลือกที่จะทัดทานอำนาจของคณะรัฐประหารในบางจังหวะของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เช่นที่เกิดใน กรีซ ฟิจิ หรือปากีสถาน

ทว่าในกรณีไทยเรายังไม่เห็นการเปลี่ยนรูปอำนาจดิบเข้าสู่ศาลปกติทั้งหมด เนื่องจากยังคงมีการใช้ปฏิบัติการทางทหารอยู่ เช่น การกดดันประชาชน การติดตามสอดส่องถึงบ้านพัก ที่ทำงาน รวมไปถึงยังมีการให้อำนาจเด็ดขาดแก่หัวหน้าคณะรัฐประหารในฐานะรัฏฐาธิปัตย์อยู่ มิพักต้องกล่าวถึงการร้องเรียนเกี่ยวกับซ้อมทรมานนักโทษ หรือร้ายแรงไปถึงมีผู้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นอำนาจดิบที่ใช้กำลังเป็นทางนำมากกว่าการแปรเจตจำนงของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมายได้หรือไม่ 

กรณีข้างต้นอาจจะเป็นผลมาจากการขาดแคลนความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างศาลและการรัฐประหารที่ยังมีน้อย เนื่องจากยังหลงเหลือคำถามพอสมควรที่รอคอยคำตอบอยู่ อาทิ บนสายพานกระบวนการยุติธรรมไทย อำนาจคณะรัฐประหารยังคงแทรกซ้อนอยู่ทั้งชั้นตำรวจ อัยการ จนถึงศาล หลักการต่าง ๆ ที่ยอมรับในทางสากลยังคงใช้ได้จริงแค่ไหน เช่น หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการความได้สัดส่วนของกรณี สิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา เป็นต้น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตุลาการกับสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ในสังคมไทย มีรูปร่างหน้าตา พัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร จนถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน

“ศาลรัฐประหาร” ถือว่าเป็นตำราที่เหมาะสมแก่กาละและเทศะยิ่ง นับตั้งแต่การเมืองสีเสื้อปะทุขึ้นล่วงทศวรรษ บทบาทของอำนาจตุลาการก็ปรากฏขึ้นอย่างอล่างฉ่าง สอดรับกับการยึดอำนาจประชาชนถึง 2 ครั้ง ภายในเวลาเพียง 8 ปี ส่วนการรัฐประหารเที่ยวล่าสุดนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าสิ่งตกค้างนี้จะอยู่กับประชาชนไทยอีกนานเพียงใด

 

X