24 มี.ค. 62 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของไทย หลังจากการรอคอยของประชาชนมาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี ปรากฏว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและโปร่งใส กลับปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างน่ากังขา ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ตั้งแต่ความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ การนับคะแนนเสียง และการประกาศผลคะแนนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อในเว็บไซต์ Change.org ซึ่งถึงปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่า 849,000 รายชื่อ และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยการลงชื่อในเว็บไซต์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการทำงาน ถอดถอน กกต. ชุดปัจจุบัน และให้มีการแต่งตั้ง กกต. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
พร้อมกันนั้นก็ได้มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนออกมาทำการรณรงค์ “1 ล้านชื่อ ยื่นถอดถอน #กกต. โป๊ะแตก” โดยจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อจากประชาชน เพื่อนำไปยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงการทำงานของ กกต. ตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยกิจกรรมเกิดขึ้นทั่วประเทศกระจายตัวไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างน้อย 26 จุด ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและสถานที่สาธารณะ จนถึงวันที่ 5 เม.ย. 62 ตัวแทนนักศึกษาระบุว่ารวบรวมรายชื่อได้ในส่วนนี้ทั้งหมด 7,234 รายชื่อ ก่อนจะได้นำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ต่อไป
นอกจากนั้นภายหลังการเลือกตั้ง ยังมีองค์การนักศึกษา สภานักศึกษา และกลุ่มองค์กรอิสระในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มากกว่า 30 แห่ง ออกแถลงการณ์ประณามการทำงานและเรียกร้องความรับผิดชอบจาก กกต. อีกด้วย
การล่ารายชื่อที่เต็มไปด้วยขวากหนาม: เมื่อมหาวิทยาลัยปิดกั้น-เจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม
แม้ว่าการจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อร้องเรียน ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อองค์กรอิสระอย่าง กกต. ด้วยความกังขาของประชาชนว่าอาจมีการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น จะเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถกระทำได้ และได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 235 ประกอบมาตรา 234 (1) แต่การทำกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ดังกล่าวกลับถูกปิดกั้นและคุกคามจากทั้งมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่รัฐในทุกภูมิภาคของประเทศ
จนถึงวันที่ 10 เม.ย. 62 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีอย่างน้อย 18 กิจกรรม ที่เผชิญกับสถานการณ์การปิดกั้นและคุกคาม ในจำนวนนี้แยกเป็นกิจกรรมที่ถูกปิดกั้น-แทรกแซงจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างน้อย 9 แห่ง และกิจกรรมที่ถูกคุกคามกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ อย่างน้อย 6 แห่ง (ในหลายกรณีทั้งถูกปิดกั้นจากมหาวิทยาลัยและถูกติดตามจับตากิจกรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วย) รวมทั้งมีกรณีที่นักศึกษาผู้ทำกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปคุกคามถึงที่บ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว เท่าที่ทราบอย่างน้อยจำนวน 3 ราย
มหาวิทยาลัยปิดกั้น-ห้ามใช้สถานที่
1. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. กลุ่มนิสิตได้ถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยห้ามตั้งโต๊ะล่าชื่อถอดถอน กกต. ภายในมหาวิทยาลัย โดยอ้างว่านิสิตไม่ได้ขอใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยก่อน พร้อมระบุว่า มหาวิทยาลัยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อีกทั้งในระหว่างที่นิสิตกำลังตั้งโต๊ะ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดเข้าถ่ายรูปนิสิตด้วย จนในที่สุดกลุ่มนิสิตได้ตัดสินใจย้ายสถานที่รวบรวมรายชื่อออกไปยังทางเท้าข้างถนน บริเวณทางเข้าออกมหาวิทยาลัยประตูพหลโยธิน
ภาพจากสำนักข่าวประชาไท
2. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. กลุ่มนักศึกษาได้มีการตั้งโต๊ะบริเวณโรงอาหารของมหาวิทยาลัย ต่อมา รองอธิการบดีกิจการนักศึกษาได้ออกประกาศห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยไม่เคยอนุญาตให้ใช้สถานที่ และเมื่อทราบถึงกิจกรรม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปหยุดการกระทำ อีกทั้งประกาศว่าหากมีบุคคลใดเข้ามาดำเนินการหรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. กลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรมลงชื่อถอดถอน กกต. ที่อาคารกิจกรรมนักศึกษา (อมช.) แต่ต่อมาต้องยกเลิกการตั้งโต๊ะในจุดดังกล่าว เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแจ้งว่าไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรม เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาไม่ได้ขอจัดกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยก่อน ต่อมาทางกลุ่มนักศึกษาจึงได้ย้ายสถานที่ตั้งโต๊ะไปที่หน้าคณะนิติศาสตร์แทน ซึ่งในวันดังกล่าวมียอดผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1,400 คน
ภาพจากเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย
4. ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ระหว่างที่กลุ่มนักศึกษาทำการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อที่บริเวณคณะนิติศาสตร์ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามรายละเอียดกิจกรรม พร้อมถ่ายรูปนักศึกษา และต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้ามาแจ้งกลุ่มนักศึกษาว่าทางคณะนิติศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ในการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อดังกล่าว ด้านนักศึกษายืนยันจัดกิจกรรมต่อไปจนเสร็จสิ้น และทางมหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการใดต่อมา
ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส.
5. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระหว่างที่เตรียมการตั้งโต๊ะเพื่อล่ารายชื่อเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามกิจกรรม พร้อมสอบถามผลการลงชื่อเป็นระยะ ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเข้าแจ้งนิสิตว่าไม่สามารถใช้พื้นที่ในการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อได้ เนื่องจากไม่ได้ขอใช้สถานที่ต่ออธิการบดีก่อน แต่ได้มีอาจารย์ของนักศึกษาเข้ามาช่วยเจรจา จนนิสิตสามารถทำกิจกรรมต่อได้
ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส.
6. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กลุ่มนักศึกษาโพสต์เชิญชวนให้มาร่วมลงชื่อเพื่อถอดถอน กกต. โดยมีการนัดหมายตั้งโต๊ะที่หอประชุมภายในมหาวิทยาลัยในวันที่ 2 เม.ย. แต่นักศึกษาผู้จัดกลับได้รับการติดต่อจากอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการประสานงานจากอธิการบดี สั่งห้ามการจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อภายในมหาวิทยาลัยโดยเด็ดขาด โดยระบุว่าได้รับแจ้งจากทางเจ้าหน้าที่สันติบาล พร้อมสั่งห้ามใช้ชื่อของมหาวิทยาลัยไปเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง ทางกลุ่มนักศึกษาจึงได้ประกาศยุติการจัดกิจกรรมลงก่อน
ก่อนที่เมื่อวันที่ 4 เม.ย. กลุ่มนักศึกษาจะมีการตั้งโต๊ะล่าชื่อภายในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง และมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาและบุคลากร
7. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วันที่ 4 เม.ย. กลุ่มนักศึกษาที่จะทำกิจกรรม ได้ถูกอาจารย์โทรศัพท์สั่งห้ามการตั้งโต๊ะภายในมหาวิทยาลัย ทำให้ทางนักศึกษาต้องออกไปทำกิจกรรมภายนอก แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเข้าไปห้ามร้านถ่ายเอกสารทำการถ่ายเอกสารสำหรับลงชื่อถอดถอน กกต. ด้วย
8. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมการล่ารายชื่อ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ โดยระบุเหตุผลเรื่องการขอใช้สถานที่ ต้องยื่นเรื่องให้พิจารณาก่อนกิจกรรมเป็นเวลา 3 วัน
เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามกดดันทั้งภายในและนอกมหาวิทยาลัย
9. ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ระหว่างการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อของนักศึกษาได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดเข้าสอบถามวัตถุประสงค์กิจกรรม ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบเข้ามาจับตาตลอดทั้งกิจกรรม โดยมีการเข้ามาขอรายชื่อนักศึกษาที่จัดกิจกรรม ผู้ร่วมลงชื่อ และเอกสารในการทำกิจกรรมด้วย
ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส.
10. ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นิสิตคณะสังคมศาสตร์ได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อภายในมหาวิทยาลัย ก่อนถูกคณบดีคณะสังคมศาสตร์เรียกพบ ระบุผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะในมหาวิทยาลัย วันต่อมานิสิตกลุ่มดังกล่าวจึงได้ย้ายออกมาตั้งโต๊ะนอกมหาวิทยาลัย ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้ากดดันร้านถ่ายเอกสารอันเป็นสถานที่จัด จนต้องย้ายไปข้างรั้วมหาวิทยาลัยและบริเวณตลาดนัด ทั้งตลอดการจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยติดตามจับตาอย่างใกล้ชิด
ภาพจากเพจ NU-Movement
11. ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณบดีคณะรัฐศาสตร์เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่ รปภ.ของมหาวิทยาลัย เข้าสอบถามอาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์หลายคนว่า กิจกรรมการล่ารายชื่อถอดถอน กตต. จะทำอะไรบ้าง และใครเป็นผู้จัด ต่อมายังมีตำรวจสันติบาลมาพบ รปภ.ของคณะ เพื่อสอบถามถึงกิจกรรมดังกล่าวอีก และมีเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อมาที่คณบดีว่าจะเข้ามาสังเกตการณ์กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ในกิจกรรมตั้งโต๊ะเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ก็ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าถ่ายรูปและจับตากิจกรรม
12. บริเวณท่ารถตู้ ตรงข้ามฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ทางแกนนำของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ราย ต้องยกเลิกการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมากเข้ากดดันไม่ให้จัดกิจกรรม และอ้างเรื่องการทำกิจกรรมจะกระทบการสัญจรของประชาชน
13. ที่จังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ-อส.กว่า 20 นาย ติดตามการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ บริเวณหน้าศาลากลางที่มีการจัดถนนคนเดิน เจ้าหน้าที่พยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวของผู้จัดกิจกรรม พร้อมกดดันไม่อยากให้มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ และระบุไม่อยากให้เดินรณรงค์อ้างอาจมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา ผู้จัดกิจกรรมจึงต้องตัดสินใจยกเลิกการเดินรณรงค์ในช่วงท้ายกิจกรรม
เจ้าหน้าที่รัฐติดตามถึงบ้าน-พื้นที่ส่วนตัว
14. ที่มหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากการกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อภายในมหาวิทยาลัย นิสิตของคณะรัฐศาสตร์ได้ถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลบุกเข้าไปติดตามตัวถึงที่บ้านในจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 1 เม.ย. โดยมีการสอบถามเรื่องการเป็นแกนนำในการรวบรวมรายชื่อถอดถอน กกต. โดยทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับคำสั่งจากหน่วยข่าวกรองให้มาสอบถามนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรม
ภาพจากเพจคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มอส.
15. ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายหลังจากการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยเพื่อตามหานักศึกษาที่จัดกิจกรรมขึ้น และหนึ่งในนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมยังได้รับแจ้งจากทางบ้านว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางไปยังที่ทำงานของพ่อตนด้วย โดยทางเจ้าหน้าที่พูดคุยเตือนให้นักศึกษารายดังกล่าวหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ภาพจากเพจ The UNIQUEX
นอกจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานกรณีผู้จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ต้องยกเลิกกิจกรรมอีกอย่างน้อย 2 กิจกรรม โดยแยกเป็นกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย 1 กิจกรรม เนื่องจากถูกทางมหาวิทยาลัยกดดันห้ามทำกิจกรรม และภายนอกมหาวิทยาลัย 1 กิจกรรม เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ากดดัน อีกทั้งยังมีรายงานกรณีนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทางภาคอีสานอีก 1 ราย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามไปถึงที่บ้านหลังทำกิจกรรมล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ด้วย
อ่านเพิ่มเติม การล่าชื่อถอดถอน กกต. เป็นสิทธิ – พื้นที่มหาวิทยาลัยควรเปิดกว้างต่อเสรีภาพการแสดงออก
เมื่อ กกต. หันไปแจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชน ทั้งที่ยังไม่คลายข้อกังขาในการปฏิบัติหน้าที่
ก่อนหน้าการยื่นรายชื่อถอดถอน กกต. ต่อ ป.ป.ช. ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 62 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้องได้ทำการแถลงข่าวว่า กกต. ได้มอบอำนาจให้นายนวัต บุญศรี เข้าแจ้งความเอาผิดกับบุคคลที่แชร์แคมเปญรณรงค์ถอดถอน กกต. ทางเว็บไซต์ Change.org ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับมาตรา 328
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาแล้วจำนวน 7 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับหมายเรียกที่เป็นที่รู้จักของสังคม ได้แก่ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และพิธีกรของ Voice TV และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์” นักกิจกรรมทางการเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 62 นางพะเยาว์ อัคฮาด หรือ “แม่น้องเกด” พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามเมื่อปี 2553, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” ก็ได้ถูก กกต. เข้าแจ้งความดำเนินคดีที่ สน.พญาไท ในข้อหาหมิ่นประมาทเช่นกัน โดยคาดว่าเป็นเหตุจากการทำกิจกรรมและปราศรัยเพื่อรวบรวมรายชื่อถอดถอน กกต. เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 62 บริเวณสกายวอล์ค บีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ยังต้องรอติดตามการออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
ด้านนายพริษฐ์ เมื่อทราบเรื่องการดำเนินคดีจาก กกต. ได้ประกาศว่าตนเองก็ได้มีการเตรียมการเพื่อฟ้องร้อง กกต.ทั้ง 7 คน ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เช่นกัน เกิดเป็นแคมเปญ “กกต.ต้องติดคุก” ที่มีการเปิดตัวโดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา
ภาพจากเพจ Banrasdr Photo
แม้ก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้ กิจกรรมการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. ในพื้นที่ต่างๆ จะยุติลง เมื่อจะมีการยื่นรายชื่อทั้งหมดร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป แต่สถานการณ์การตรวจสอบและการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. ดูเหมือนจะยังมีความร้อนแรง โดยเฉพาะเมื่อทาง กกต. เองใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและประชาชนผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจใช้มาตรการต่างๆ เข้ากดดันคุกคามผู้ออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำกิจกรรมล่ารายชื่อ และมหาวิทยาลัยในหลายแห่งเองก็เข้าไปมีส่วนยับยั้งปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษา
องค์ประกอบหนึ่งของการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Election) คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (Participation) นั่นรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาติดตาม ตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้ สถานการณ์ของการปิดกั้น คุกคาม และการดำเนินคดีต่อประชาชนที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้นั้นอยู่ห่างไกลจากคำว่าเสรีและเป็นธรรม
อ่านเพิ่มเติมความเห็นของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ความเห็นทางกฎหมาย กรณี กกต.ดำเนินคดีต่อประชาชนผู้แชร์การรณรงค์ถอดถอน กกต. ออกจากตำแหน่ง