31 มี.ค. 62 มีการจัดกิจกรรมใน 2 จุด เพื่อรวบรวมรายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีจัดการเลือกตั้ง นับคะแนนและประกาศผล ที่ไม่โปร่งใส เป็นที่เคลือบแคลงว่าจะเกิดการทุจริต และเอื้อประโยชน์ให้กับบางพรรคที่หนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. สวนทางคำให้สัมภาษณ์ของ โฆษก คสช. ที่ออกมาระบุว่า การจัดชุมนุมดังกล่าวไม่เหมาะสม และเจ้าหน้าที่จะต้องเข้าดูแลเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย
จุดแรกที่สกายวอล์ค บีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แนวร่วมประชาชนเพื่อการเลือกตั้งที่เป็นธรรม จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ (flash mob) และตั้งโต๊ะให้คนมาลงชื่อถอดถอน กกต. ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมในเวลา 16.00 น. มีกำลังตำรวจชุดควบคุมฝูงหลายสิบนายเตรียมพร้อมเพื่อดูแลการชุมนุม จากนั้นมีประชาชนทยอยมาลงชื่อและยืนชูป้ายแสดงความเห็นถึง กกต. เช่น เห็นหัวกูบ้าง, Respect our Voice, หยุดโกงเลือกตั้ง, เปิด! คะแนนทุกหน่วย เป็นต้น โดยผู้ชุมนุมยืนชิดริมทางเพื่อไม่ให้กีดขวางการเดินทางของประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ มีทั้งตำรวจในเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายเข้าสังเกตการณ์และถ่ายรูป และมีรายงานจากประชาไทว่า ตำรวจให้ย้ายโต๊ะที่รับลงชื่ออยู่เรื่อย ๆ พร้อมทั้งขอดูใบอนุญาตด้วย
17.15 น. ผู้จัดย้ายกิจกรรมลงมาลานด้านล่างฝั่งดินแดง เนื่องจากบน skywalk มีคนจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวกั้นผู้ชุมนุมไม่ให้ลงไปยืนบนถนน จากนั้นมีการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้ กกต.เปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยเลือกตั้ง และติดตามนำบัตรเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งมานับเป็นคะแนนทั้งหมด (อ่านรายละเอียดแถลงการณ์ที่เพจ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG) ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 18.00 น. โดยมีการประกาศ หาก กกต. ถ้ายังไม่มีการกระทำที่แสดงความโปร่งใส อาจมีนัดชุมนุมอีกครั้ง จากนั้น ผู้จัดชุมนุมได้เดินทางไปจ่ายค่าปรับที่ สน.พญาไท ฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 ปรับ 200 บาท และฐานวางสิ่งของกีดขวางทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 109 ปรับ 200 บาท
อีกจุดหนึ่ง เป็นกิจกรรม “ถึงโกงก็ชนะ” ที่บริเวณแยกราชประสงค์ จัดโดยกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายอนุรักษ์ เจนตะวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” และนายเอกชัย หงส์กังวาน กิจกรรมประกอบด้วยการตั้งโต๊ะให้คนมาลงชื่อถอดถอน กกต. อ่านแถลงการณ์ (ดูรายละเอียดแถลงการณ์ที่เฟซบุ๊ค ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) และเต้นประกอบเพลง “ประเทศกูมี” โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.ลุมพินี และชุดควบคุมฝูงชยหลายสิบนาย วางกำลังดูแลการชุมนุม แต่เมื่อเริ่มกิจกรรมในเวลา 15.00 น. ได้ไม่นาน กลับถูกตำรวจพยายามเข้าขัดขวางไม่ให้ใช้สถานที่บริเวณหน้าแมคโดนัลด์ และหน้าห้างเกษรโดยอ้างว่าไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่ รวมทั้งเข้ายึดเครื่องเสียงและไมโครโฟน โดยอ้างว่า ไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียง นายอนุรักษ์กล่าวว่า หลังเข้าแจ้งการชุมนุมที่ สน.ลุมพินี ตนได้นั่งรถไปขออนุญาตใช้เครื่องเสียงที่สำนักงานเขต แต่มีตำรวจโทรศัพท์บอกว่าไม่ต้องไปเพราะเขตปิดแล้ว หลังจัดกิจกรรมค่อยจ่ายค่าปรับ 200 บาท แต่แล้ววันนี้กลับถูกยึดเครื่องเสียง
เวลาประมาณ 16.20 น. นายอนุรักษ์ประกาศว่า หากตำรวจไม่นำเครื่องเสียงและไมโครโฟนที่ยึดไปมาคืน จะพาผู้ชุมนุมเดินลงถนน สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อตำรวจแจ้งว่า หากมีการเดินลงถนนจะเป็นการผิดกฎหมาย แต่การเจรจาไม่เป็นผลทางด้านนายอนุรักษ์จึงประกาศเดินลงไปบนถนนแล้วเดินลงไปพร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งตำรวจในบริเวณดังกล่าวจึงพยายามคุมตัวนายอนุรักษ์บนกลางถนนขณะที่สัญญาณไฟยังแดงอยู่จึงเกิดการดึงดันกันไปมา จนกระทั่งทั้งนายอนุรักษ์และมวลชนถูกดันกลับมาบนถนน และมีการเจรจรากันอีกครั้งซึ่งนายอนุรักษ์และผู้ชุมนุมยืนยันให้ตำรวจนำเครื่องเสียงมาคืน ขณะที่ตำรวจยืนยันให้ใช้เพียงโทรโข่ง
17.30 น. หลังการเจรจา ตำรวจยอมคืนเครื่องเสียงให้ โดยสามารถจัดการชุมนุมได้ถึงเวลา 20.00 น. ตามที่แจ้งการชุมนุมไว้ แต่ ผกก.สน.ลุมพินี มีหนังสือแจ้งให้ปรับการชุมนุมถึงนายอนุรักษ์ ผู้จัดการชุมนุม ระบุว่า ห้ามเดินขบวนลงถนน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินลงถนน และมีการตั้งแถวตำรวจเป็นแนวกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินลงถนนอีก
กิจกรรมบริเวณแยกราชประสงค์ยุติลงในเวลาประมาณ 19.30 น. โดยนายอนุรักษ์ประกาศว่า อาทิตย์จะมีการจัดกิจกรรมอีก จากนั้น นายอนุรักษ์และกลุ่มประชาชนอยากเลือกตั้งได้เดินทางไป สน.ลุมพินีเพื่อเสียค่าปรับ 200 บาท ฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4