ประชาชนคนธรรมดายังเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” แม้อยู่ในโหมดเลือกตั้ง

การประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 ทำให้ดูเหมือนว่าสถานการณ์สิทธิเสรีภาพดูจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ในความเป็นจริงการคุกคามหรือการตั้งข้อหาประชาชนยังคงดำเนินไป และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะนักการเมืองหรือผู้สมัคร ส.ส. เท่านั้น แต่ยังเป็นลักษณะของการคุกคามประชาชนคนธรรมดาโดยทั่วไป บรรยากาศเช่นนี้ ไม่แตกต่างไปจากบรรยากาศการเมืองภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช. ตลอดเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา คือการมองประชาชนในฐานะของ “เป้าหมายการติดตาม” แม้จะอยู่ในช่วงฤดูการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 แล้วก็ตามที

ภาพเอกสารที่เกียรติบุรุษ พันธ์เลิศ ตั้งข้อสังเกตถึงการทุจริตเลือกตั้ง จนนำมาสู่การติดตาม: ที่มา ประชาไท

จากหนุ่มยโสธรถึงคนงานย่านรังสิต

นับตั้งแต่เกียรติบุรษ พันธ์เลิศ ชายหนุ่มอายุ 21 ปี ซึ่งมีอาชีพขายลอตเตอรี่ ชาวอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้โพสต์วีดีโอลงในเฟสบุ๊คส่วนตัว เพื่อตั้งข้อสังเกตต่อการทุจริตการเลือกตั้ง หลังจากนั้นได้มีการคุกคามประชาชนที่เกี่ยวเนื่องจากการตรวจสอบการเลือกตั้งอีกหลายกรณีต่อมา

สำหรับกรณีเกียรติบุรุษเองพบว่า มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตั้งโต๊ะลงทะเบียนในหมู่บ้านให้กับชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเรียกเก็บบัตรประจำตัวประชาชนที่มาลงทะเบียนบ้าน รูปภาพ และให้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อแลกกับการได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมเงิน 100 บาท โดยเขาได้ตั้งคำถามว่า วิธีการนี้ถือเป็นการโกงเลือกตั้งหรือไม่

เป็นที่น่าสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 30 หรือไม่ ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นสมาชิก

ทว่าการออกมาตั้งข้อสังเกตนี้ไม่ได้นำมาซึ่งความคืบหน้าในการตรวจสอบการทุจริตแต่อย่างใด เพราะในทางตรงข้ามคือ มีเจ้าหน้าที่ติดตามมาบ้านพักของชายขายลอตเตอรรี่คนนี้แทน ทั้งยังมีการซักถามข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่: เปิดใจ ‘มือโพสต์คลิป’ แฉบัตรคนจน ปัดเรื่องปรับทัศนคติ โดนซักปมผู้หนุนหลัง)

ให้หลังกรณีเกียรติบุรุษไม่นานนัก 25 ธ.ค. 61 เอกภักดิ์ คลังกลาง ประธานหมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย อำเภออุบลรัตน์ แจ้งว่า “ป้ายหมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย” ที่ได้เปิดไป ณ ริมถนนทางเข้าบ้านบ่อ ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และ ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังรื้อป้าย “หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย” ดังกล่าว ก่อนที่ผกก.สภ.อุบลรัตน์ จะทำการสอบปากคำเอกภักดิ์ เกี่ยวกับการเปิดหมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย หลังจากนั้นได้มีการยึดป้ายไป โดยอ้างว่าผิดกฎหมายแต่ไม่มีรายงานว่าเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหา

ต่อมาวันที่ 11 ม.ค. 62 สุวรรณา ตาลเหล็ก นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปที่โรงงานไทรอัมพ์เพื่อขอพบกรรมการสหภาพแรงงานที่ถูกดำเนินคดีรณรงค์ประชามติ ตามร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระหว่างที่รัฐบาลยังไม่มีการประกาศพระราชกฤษฎีการเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะมีการเลื่อนเลือกตั้งอีกครั้ง (อ่านความคืบหน้าล่าสุดของคดีนี้ที่: รอความเห็นเขตอำนาจศาลคดีประชามติบางเสาธง เหตุไม่ผิดชุมนุมทางการเมือง) ท่ามกลางการข่มขู่คุกคามประชาชนที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้มีการเลื่อนการเลือกตั้ง ในบางกรณีรุนแรงถึงขั้นมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายด้วย (ตัวอย่างการทำร้ายร่างกายผู้เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งอ่านได้ใน: เมื่อ “เอกชัย” ถูกทำร้ายซ้ำ ๆ ท่ามกลางความเงียบงัน)  

ยกเลิกภาพยนตร์เรื่อง 10 Years Thailand ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะขัดกับกฎหมายเลือกตั้ง

เยี่ยมบ้าน-เซนเซอร์ในองค์กร-ขึ้นบัญชีติดตาม นศ.และนักวิชาการ

หลังวันที่ 23 ม.ค. 62 เมื่อมีราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ความเข้าใจที่ว่า “เป้าหมายในการติดตาม” จะกลายเป็นนักการเมืองหรือ ผู้สมัคร ส.ส. นั้นอาจจะเป็นการรับรู้ข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน

เนื่องจากยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญการคุกคามอยู่ บรรยากาศเช่นนี้มีสภาพไม่แตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา (2561) ที่มีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จากการติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า มีประชาชนที่สนับสนุนข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้งตามที่ได้สัญญาไว้ และถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ติดตามตัว ดำเนินคดี และมีจำนวนมากที่สุดคือการ “เยี่ยมบ้าน” กลุ่มคนอยากเลือกตั้งในหลายกรณี (อ่านเพิ่มเติมที่: ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทย)

2 กรณีถัดจากนี้ เกิดขึ้นกับสมาชิกเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) คือรองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ซึ่งโพสต์สเตตัสหน้าเฟสบุ๊คว่า “รับขวัญการประกาศวันเลือกตั้ง” ใจความว่า มีเจ้าหน้าที่ ระดับรองผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่บ้านพัก โทรมาติดตามเนื่องจากได้รับคำสั่งให้มาติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเขาได้แจ้งกลับไปว่า “ที่จริงไม่ต้องติดตามผมเป็นการส่วนตัวก็ได้ เพราะผมทำกิจกรรมในที่แจ้ง สามารถติดตามจากทางนั้นก็ได้” โดยในวันเดียวกัน พนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านแจ้งว่ามีตำรวจเข้ามาหาที่บ้านเขาเมื่อช่วงบ่าย แต่ไม่เจอใคร  

อีกกรณีในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน หนึ่งในนักวิชาการกลุ่ม คนส. แจ้งว่า “มีมิตรสหายถือโพยรายชื่อพร้อมรูปถ่ายมาเยี่ยมที่บ้าน 5 คน ตัดผมเกรียน บอกว่าเคยเรียนธรรมศาสตร์ อยากจะมาคุยด้วย พยายามซักถามว่าผมพักอยู่ที่ไหนพร้อมถ่ายรูปกลับไป ถ้ามาเป็นทางการก็ควรนัดหมายไปที่ทำงานนะครับ มาหาที่บ้านตามทะเบียนบ้านทำให้ทหารแก่อย่างคุณพ่อผมตกอกตกใจ ท่านไม่ได้รู้เห็นอะไรด้วย”

ไม่เพียงแค่เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้าน บางกรณีผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานมหาวิทยาลัยได้มีการเซ็นเซอร์บุคลากรในองค์กรอีกด้วย ดังกรณีที่เกิดกับรองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้ง 2562 มติชนออนไลน์ระบุว่า “หลังจากอาจารย์ดัง ม.เกษตรฯ แซะ ‘แฟร์มาก’ ปมตั้ง ‘บิ๊กป้อม’ ประธานสรรหา ส.ว. ได้มีผู้ใหญ่โทรมาเตือนว่า ให้ระวังการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง… อึม… #แฟร์มาก”

ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาด้วย ดังเช่นนักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งกำลังจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “การกระจายอำนาจกับทิศทางอนาคตประเทศไทย” โดยมีการนำเสนอผลงานวิชาการของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และการฉายภาพยนตร์เรื่อง Ten Years Thailand ในวันที่ 18 ก.พ. 62 ภายในมหาวิทยาลัย

ภายหลังการประชาสัมพันธ์กิจกรรมออกไป นักศึกษาได้เชิญอธิการบดีมาเปิดงาน ทว่าอธิการบดีได้มอบหมายให้รองอธิการบดีมาเปิดงานแทน แต่รองอธิการบดีได้ติดต่อมาที่นักศึกษาผู้จัดงานว่าอยากให้มีการตรวจสอบเนื้อหาก่อน โดยเกรงว่าอาจมีการขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง อาจเป็นการให้คุณหรือโทษกับแนวคิดของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เมื่อทางคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ทราบ จึงเห็นว่าเมื่อยังไม่ได้ดูตัวเนื้อหาของภาพยนตร์ทั้งหมดก่อนจัดฉาย ทำให้ไม่มีการกลั่นกรองก่อน จึงให้มีการงดฉายไปก่อน เพราะกลัวจะมีปัญหาติดตามมา

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ผู้บริหารตัดสินใจยกเลิกไม่จัดเวทีดีเบตผู้สมัคร ส.ส. หลังจากที่ กกต. ติงเป็นสถานที่ราชการ เกรงไม่เป็นกลาง โดยวันที่ 18 ก.พ. 62 ผศ.ดร.ประยูร ลิ้มสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าการเตรียมจัดเวทีดีเบต มีผู้สมัคร ส.ส. จากหลายพรรคการเมืองทำหนังสือสอบถามเข้ามา มหาวิทยาลัยจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงาน กกต. เพชรบูรณ์ ถึงแนวปฏิบัติการในการจัดเวที แต่ได้รับคำแนะนำและท้วงติงให้ระมัดระวังเพราะเป็นสถานที่ราชการและมีความสุ่มเสี่ยง จะเกิดปัญหาเรื่องความไม่เป็นกลางขึ้น

จากตัวอย่างที่กล่าวมาเป็นลักษณะการคุกคามทั้งในรูปแบบ “เยี่ยมบ้าน” ไปจนถึงเซนเซอร์กันเอง อันเป็นประสบการณ์ร่วมของนักศึกษา-นักวิชาการไทย คำถามคือนักวิชาการต่างประเทศซึ่งเดินทางเข้าออกประเทศไทยในฐานะนักวิจัยเผชิญอะไร

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็พบลักษณะการคุกคามที่ต่างออกไปในกรณีนี้คือนักวิชาการจำนวนไม่น้อยถูกขึ้นบัญชีเพื่อติดตามการเคลื่อนไหว พวกเขารู้สึกถึงอุปสรรคในการเดินทางและการแสดงความคิดเห็นบางอย่างในช่วงเวลาไม่นานมานี้ (อ่านกรณีนี้ได้ที่: เปิดเรื่องราว 4 นักวิชาการนานาชาติถูกกักตัวสอบที่ตม.ไทย หลังร่วมลงชื่อแถลงงานไทยศึกษา)

เพนกวินและเพื่อน” จัดกิจกรรมมอบพริกและเกลือไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ส่งคนติดตามไปจนกระทั่งดำเนินคดี

กรณีต่อไปนี้ เป็นการข่มขู่คุกคามที่หนักหน่วงมากขึ้น กล่าวคือมีการส่งคนติดตาม ไปจนกระทั่งมีการตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดี แม้ว่าเมื่อเดือน ธ.ค. 61 จะมีการยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปแล้ว ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองซึ่งถูกควบคุมสั่งห้ามมาตลอดหลังการรัฐประหาร 4 ปีครึ่ง ไม่ถือเป็น “ความผิด” ไปแล้ว ทว่าเจ้าหน้าที่ยังมีการกดดันและตั้งข้อหาผ่านกฎหมายอื่น

วันที่ 5 ก.พ. 62 ยามารุดดินและคณิตภัฒน์ พร้อมเพื่อนนักศึกษาอีกหนึ่งคน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้านกาแฟภายในมหาวิทยาลัย มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 5 นาย เดินทางมารอ หนึ่งในนั้นแนะนำตัวว่าชื่อ “ผู้กองหนุ่ย” มาจากหน่วยข่าวกรองของตำรวจ อีกคนระบุตัวว่ามาจากสภ.ห้างฉัตร ส่วนอีก 3 คน ไม่บอกว่ามาจากสังกัดใด

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากยามารุดดินและเพื่อน ได้ยืนชูสามนิ้วและถ่ายภาพขณะวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 62 โดยมีรายงานข่าวว่าฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามนักศึกษา และภายหลังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดและจำนวน เข้าไปที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อสอบถามหานักศึกษาแต่ไม่พบตัว

เช่นเดียวกับงานกิจกรรมฟุตบอลประเพณี “จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้ห้ามล้อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และแคนดิเดตว่าที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 62 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่า ระหว่างเตรียมงานฟุตบอลประเพณีฯ พบว่ามีชายแปลกหน้าคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และเฝ้าดูการทำหุ่นล้อการเมืองของนักศึกษา อีกทั้งยังมีคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ 6 คนเข้าไปพบที่กองกิจการนักศึกษาและทีมงานล้อการเมืองให้ห้ามล้อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  

การตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีมาปรากฏขึ้นในกรณีของ “เพนกวินและเพื่อน” เหตุจัดกิจกรรมมอบพริกและเกลือไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในวันที่ 2 ก.พ. 62 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.นางเลิ้ง ได้จับกุมนักศึกษา 2 คน คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และ ธนวัฒน์ วงไชย ซึ่งเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมฝากพริกเกลือแขวนเอาไว้ที่รั้วของทำเนียบรัฐบาล โดยตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์และธนวัฒน์ ในข้อหาจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

เช่นเดียวกับการดำเนินคดีกับ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 62 โดย สภ.เมืองนนทบุรี จากการทำกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งที่ท่าน้ำนนท์ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 62 โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจัดชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งไม่อนุญาตให้จัดโดยอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวปิดกั้นทางสัญจรของท่าเรือ ทั้งนี้ในคดีเดียวกันเมื่อ 25 ม.ค. 62 มีผู้ต้องหาจำนวน 3 คนได้แก่ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ และพิมพ์ลภัส เกียรตินอก ได้ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้

ท่ามกลางการรณรงค์เลือกตั้ง หนึ่งในนโยบายที่ฮือฮาและโยนข้อถกเถียงลงสู่สังคมได้มากที่สุดคือนโยบายลดงบประมาณกองทัพเพื่อยกมาตรฐานทางเศรษฐกิจของประชาชน จากหลายพรรคการเมือง หลังจากนั้นมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรงจากพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” อันเป็นเพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ความรักชาติในยุคสงครามเย็น ผลที่ตามมามีกิจกรรมตอบโต้คำสัมภาษณ์ของผู้บัญชาการกองทัพบก และการตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีประชาชนที่ออกมาตอบโต้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง   

20 ก.พ. 62 ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ตำรวจสน.นางเลิ้งควบคุมตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์และ ธนวัฒน์ วงศ์ไชย หลังจากทั้ง 2 คน พร้อมเพื่อนนักศึกษาอ่านแถลงการณ์คัดค้านการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน ของพล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้จัดชุมนุมโดยไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับ “เอกชัย-โชคชัย” หลังเปิดเพลงประเทศกูมี ผบ.ทบ.สั่งเปิดเพลงหนักแผ่นดินในค่ายทหาร  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อตำรวจสน.นางเลิ้งควบคุมตัว เอกชัย หงส์กังวานและโชคชัย ไพบูลย์รัชตะ พร้อมยึดตุ๊กตาหมี หลังจากทั้ง 2 คน เปิดเพลงประเทศกูมีเพื่อคัดค้านการเปิดเพลงหนักแผ่นดิน ของผู้บัญชาการกองทัพบก

ด้านพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้จัดชุมนุมโดยไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และยังมีการแจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.การควบคุมโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ด้วย ขณะที่ทั้ง 2 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในส่วนของการไม่แจ้งการชุมนุม แต่ในส่วนข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงฯ พวกเขาได้ให้การรับสารภาพพนักงานสอบสวนจึงได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงินสด 200 บาท ก่อนปล่อยตัวทั้งสองกลับพร้อมคืนตุ๊กตาให้

แถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง การแสวงหาข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้ยุติการคุกคามต่อนักข่าวสืบสวน กรณีตรวจสอบงบประมาณการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชารัฐ สร้างชาติ”

แชร์ข่าวปลอมเจอโทษหนัก และสื่อยังถูกปิดปาก

การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองยังคงถูกจำกัดอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่มีการออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ ดังกรณี กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ทำการจับกุมประชาชน 11 คน เหตุจากโพสต์แชร์ข่าวกองทัพปรับเกณฑ์ทหารเพิ่มเป็น 4 ปี

24 ก.พ. 62 มติชน รายงานข่าวกรณีสมชาย (สงวนนามสกุล) และน.ส.จุไรรัตน์ (สงวนนามสกุล) และบุคคลอีก 9 คนถูกควบคุมตัวมาแถลงข่าวการจับกุมที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พวกเขาตกเป็นผู้ต้องหากระทำความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (2) และ (5) จากการเผยแพร่ข่าวว่ามีพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะขยายระยะเวลาการเกณฑ์ทหารเพิ่มจาก 2 ปีเป็น 4 ปี โดยข่าวดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ jookthai.com ซึ่งในข่าวระบุว่าบุคคลที่ชื่อสมชายเป็นเจ้าของเว็บไซต์ แต่ไม่ได้เป็นคนลงข่าวดังกล่าวในเว็บไซต์

ขณะที่วันที่ 4 มี.ค. 62 หลังจากพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีมีการแชร์ข่าว “พล.อ.ประวิตรดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท” ต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาพล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม.ได้จัดแถลงข่าวว่ามีผู้เผยแพร่และส่งต่อข่าวปลอมดังกล่าว 6 ราย และมีการแจ้งข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (2) โดยมีผู้เข้ารับทราบข้อหาแล้ว 4 ราย จนท. ส่วนอีก 2 รายมีการออกหมายเรียก

นอกจากนั้นท่ามกลางการหาเสียงเลือกตั้งที่งวดเข้ามาไม่เพียงประชาชน นักวิชาการ และนักศึกษาเท่านั้น สื่อมวลชนเองต้องเผชิญการคุกคามเช่นดังที่เกิดใน 2 กรณีต่อไปนี้ เมื่อ กสทช. มีคำสั่งทางปกครองระงับการออกอากาศ ช่องวอยซ์ ทีวี เป็นเวลา 15 วัน ว่า คณะอนุกรรมการกำกับผังและเนื้อหารายการ ได้พิจารณาประเด็นของวอยซ์ ทีวี โดยให้พักใช้ใบอนุญาต 15 วัน นับตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 13 ก.พ. 62 โดยอ้างว่าวอยซ์ทีวีได้ทำผิดมาอย่างต่อเนื่องถึง 34 ครั้งแล้ว และทาง กสทช.ได้มีคำสั่งทางปกครองแล้วหลายครั้ง แต่ล่าสุดยังมีอีก 5 ครั้ง จึงเป็นมาตรการที่ กสทช.เห็นสมควรแล้ว

นอกจากนี้การคุกคามยังลามไปถึงกรณีที่สื่อมวลชนออกมาตรวจสอบงบประมาณการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชารัฐ สร้างชาติ” ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งใช้งบประมาณที่สูงเกินจริง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 62 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า มีการเผยแพร่แถลงการณ์ ฉบับที่ 2 เรื่อง การแสวงหาข้อเท็จจริง และเรียกร้องให้ยุติการคุกคามต่อนักข่าวสืบสวน กรณีตรวจสอบงบประมาณการจัดพิมพ์หนังสือ โดย รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล ระบุใจความว่า

“ได้รับการคกคามจากชายฉกรรจ์ที่ปิดบังใบหน้า หลังจาก ออกมาตรวจสอบงบประมาณการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชารัฐ สร้างชาติ”  กระบวนการจัดพิมพ์และเนื้อหาอันแสดงถึงความทับซ้อนของตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการตรวจสอบวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์ หนังสือ “ประชารัฐ สร้างชาติ” รวมถึงตั้งคำถามต่อ ก.ก.ต.ว่าจะมีการตรวจสอบรายละเอียดแม้ทางพรรคพลังประชารัฐจะยืนยันว่ามิได้มีไว้เพื่อแจกก็ตาม”

จากกรณีการคุกคามข่มขู่ประชาชน ได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตามไปพบที่บ้านพัก การขอข้อมูลส่วนบุคคล การทำบัญชีติดตาม ไปจนกระทั่งการดำเนินคดีด้วยข้อหาต่าง ๆ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรยากาศการเมืองหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 เจ้าหน้าที่รัฐยังคงติดตามประชาชนคนธรรมดาอย่างหนัก มิได้ปรับเปลี่ยนบรรยากาศทางการเมืองให้คลี่คลายเพื่อสอดรับกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งกำลังจะมาถึงแต่อย่างใด

 

X