6 ก.พ. 62 ศาลจังหวัดนครพนมนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 คดีบุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมโจทก์ยื่นฟ้องราษฎรตำบลอาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จำนวน 29 ราย ในข้อหา บุกรุก แผ้วถางที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม” ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เลขที่ 7941 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
คดีนี้ในชั้นต้นศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 60 ยกฟ้องจำเลย 27 ราย (2 รายเสียชีวิตระหว่างพิจารณาคดี) เนื่องจากมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย (อ่านข่าวย้อนหลัง ยกฟ้อง ชาวบ้าน ต.อาจสามารถ จ.นครพนม บุกรุกที่ดินสาธารณะ)
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลชั้นต้นระบุว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต เพียงแต่หน่วยงานของรัฐไม่มีมาตรการป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง ทำให้จำเลยเข้าใจว่ามีสิทธิอาศัยอยู่ได้ หากแต่ข้อต่อสู้ของจำเลยในชั้นต้นยืนยันว่า การออก นสล. เลขที่ 7941 มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ที่จริงที่ดินพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตฯ แต่เป็นที่ดินข้างเคียงซึ่งมีเอกสารตามกฎหมายที่ดิน แล้วถูกราชการออก นสล. มาทับซ้อนในปี 2521 ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ทำให้จำเลย 15 ราย ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทของจำเลยที่อุทธรณ์ไม่ได้อยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแตตาม นสล. ดังกล่าว โดยฝ่ายโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ และในระหว่างอุทธรณ์มีจำเลยผู้ยื่นอุทธรณ์เสียชีวิต 1 ราย
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทของจำเลยที่อุทธรณ์อยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแต หรือที่ดินตาม นสล.
อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแต มีทำเลติดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 เป็นที่ตั้งของ 4 หมู่บ้าน มีชาวบ้านกว่า 347 หลังคาเรือน มีพื้นที่เป็นหน่วยงานราชการ มีสาธารณูปโภค เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22, ทางหลวงชนบทสาย นพ.3008, มีระบบไฟฟ้า น้ำประปาเข้าถึง โดยชาวบ้านบางคนมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3), แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) มีการปลูกสร้างบ้านเรือนและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กรณีที่ทางราชการออก นสล. โดยมีแนวเขตทับที่ดินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อน
คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นก็ได้มีมติต่อการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินว่า หากราษฎรมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายให้รัฐออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่หากราษฎรไม่มีสิทธิรัฐจะจัดให้เช่าที่ทำกิน หรือดำเนินการออก สปก. ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินต่อไป ประกอบกับหลังวันที่ 22 พ.ค. 57 คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 72/2557 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อดำเนินการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศตามนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยคัดเลือกเอาที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแตส่วนหนึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม ดังนั้น ที่ดินพิพาทที่ไม่มีสภาพเป็นป่า แต่เป็นแหล่งชุมชน มีหมู่บ้านและส่วนราชการต่าง ๆ และกำลังจะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอยู่ในหลักเกณฑ์จะถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันได้ จำเลยผู้อุทธรณ์รวมทั้งจำเลยอื่นในคดีนี้จึงไม่สมควรต้องออกจากที่ดินสาธารณประโยชน์โคกภูกระแตหรือที่ดินตาม นสล.ที่โจทก์ฟ้อง
สิ้นเสียงอ่านคำพิพากษา จำเลยผู้ยื่นอุทธรณ์หลายคนมีสีหน้าโล่งใจและดีใจ แต่บางคนยังมีสีหน้าสงสัย และมีบ้างที่มีสีหน้าเรียบเฉย จำเลยซึ่งยังคงสงสัยยกมือขึ้นถามผู้พิพากษาว่า หลังจากนี้ตนจะสามารถทำประโยชน์ใด ๆ ในที่ดินพิพาทนี้ได้หรือไม่ และหากมีหน่วยราชการมาอ้างว่าบุกรุกและให้ออกเช่นที่ผ่านมาอีกจะทำอย่างไร ซึ่งผู้พิพากษาตอบว่า สามารถทำประโยชน์ในที่ดินเดิมได้ เพียงแต่ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ และบุกรุกเพิ่มเติมไม่ได้ และหากมีหน่วยงานมาไล่ให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นี้ขึ้นอ้าง
หนึ่งในจำเลยผู้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีสีหน้าเรียบเฉยหลังได้ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ เป็นผู้เฒ่าวัย 75 ปี ซึ่งลูกอีก 2 คน เป็นจำเลยในคดีนี้ และคำพิพากษามีผลต่อพวกเขาให้อยู่ในที่ดินเดิมได้เช่นกัน ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกดีใจเช่นเดียวกับคนอื่น แต่ก็ยังดีใจไม่เต็มที่ เนื่องจากเธอคาดหวังไปถึงเอกสารสิทธิในที่ดิน
ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ซึ่งติดตามกรณีพิพาทดังกล่าวนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานีไว้ด้วย โดยยื่นฟ้องนายก อบต.อาจสามารถ, นายอำเภอเมืองนครพนม, ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม, อธิบดีกรมที่ดิน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยชาวบ้านผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบ นสล. เลขที่ 7941 ว่า ในการออก นสล. ดังกล่าวมีการผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ และหากผู้ถูกฟ้องตรวจสอบแล้วพบว่า การออก นสล. ดังกล่าวมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจริง ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน โดยคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนของศาล
กรณีพิพาทที่นำมาสู่การดำเนินคดีชาวบ้านกลุ่มนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 57 หลังการรัฐประหาร และ คสช.ประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามด้วยนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ไม่นาน โดยทหารพร้อมอาวุธ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน และปลัด อบต.อาจสามารถ รวมนับสิบนาย อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ในพื้นที่บ้านห้อม หมู่ 11 ต.อาจสามารถ ควบคุมตัวชาวบ้าน 14 คน ไป สภ.เมืองนครพนม แจ้งข้อกล่าวหาว่า บุกรุกแผ้วถางที่สาธารณประโยชน์ ต่อมา ปลัดอำเภอเมืองนครพนม ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีชาวบ้านเพิ่มเติมอีก 21 ราย
นอกจากนี้ อำเภอเมืองนครพนม ร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัดนครพนม ยังมีหนังสือถึงชาวบ้าน 284 ราย ให้มาพบและขอคืนพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 โดยมีผู้ยินยอมออกจากที่สาธารณประโยชน์รวม 256 ราย (อ่านเพิ่มเติมประมวลเหตุการณ์และคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาที่ ชาวบ้านโคกภูกระแตลุ้นคำพิพากษา หลังถูกดำเนินคดีด้วยพิษเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
ชาวบ้าน 29 ราย เลือกที่จะต่อสู้คดี โดยในระหว่างการต่อสู้คดีมีผู้เสียชีวิตรวมถึง 3 ราย และกว่าคดีจะดำเนินมาจนมีผลเป็นที่น่าพอใจก็ใช้เวลาราว 4 ปีครึ่ง ชาวบ้านผู้ยืนหยัดจนถึงที่สุดต้องเทียวเดินทางระยะทางไปกลับกว่า 20 กม. มาศาลราว 30 ครั้ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายและสูญเสียรายได้ในการประกอบอาชีพเป็นเงินจำนวนไม่น้อย
ทั้งนี้ มีข้อมูลด้วยว่า มีชาวบ้านซึ่งเลือกที่จะไม่ต่อสู้คดีอย่างน้อย 6 ราย โดย 5 ราย ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษาคนละจำคุก 2 ปี 6 เดือน อีก 1 ราย พิพากษาจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา