ชาวบ้านโคกภูกระแตลุ้นคำพิพากษา หลังถูกดำเนินคดีด้วยพิษเขตเศรษฐกิจพิเศษ

26 ม.ค.60 ศาลจังหวัดนครพนม นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่  3737/2557 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดนครพนมโจทก์ยื่นฟ้องราษฎรตำบลอาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จำนวน 29 ราย ในข้อหา บุกรุก แผ้วถาง ที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม” ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เลขที่ 7941 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หลังจากนัดเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.59 แล้วเป็นอันต้องเลื่อน เนื่องจากจำเลยป่วยหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 1 ราย และถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอีก 1 ราย ไม่สามารถมาศาลได้

14593218_785130344962411_519855565_n

ก่อนหน้านัดอ่านคำพิพากษาครั้งก่อนเพียง 2 วัน คือในวันที่ 20 ธ.ค.59 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 74/2559 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2558 เนื้อหาโดยสรุปเป็นการประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจในจังหวัดนครพนมและกาญจนบุรี เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยประกาศไปแล้ว 5 จังหวัด โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 ในการเพิกถอนสภาพที่ดินตามกฎหมายต่างๆ สำหรับจังหวัดนครพนม มีผลเป็นการถอนสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันของที่ดินในท้องที่ตําบลอาจสามารถ อําเภอเมืองนครพนม ตาม นสล. เลขที่ 7941 เนื้อที่ 1,408 ไร่ ซึ่งก็คือ ส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม” นั่นเอง

หากดูตามแผนที่แนบท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 74/2559 นี้ แม้พบว่า ไม่รวมพื้นที่พิพาทในคดีนี้ แต่สำหรับชาวบ้านที่ตกเป็นจำเลย และชาวบ้านอีกสองร้อยกว่าครอบครัวที่จำต้องออกจากพื้นที่รู้ดีว่า รัฐบาล คสช., จังหวัดนครพนม จนถึงอำเภอเมืองนครพนม มีความต้องการและความพยายามจะใช้พื้นที่พิพาทนี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษมากเพียงใด หากศาลตัดสินให้ชาวบ้านแพ้คดี การใช้ ม.44 ออกประกาศเพิ่มเติมตามหลังเพื่อถอนสภาพที่สาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ncpo-head-order74-2559-page-003

แผนที่แนบท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 74/2559 แสดงพื้นที่ที่สาธารณะโคกภูกระแตที่ถูกเพิกถอนสภาพ

ใช้และอ้างกฎหมายพิเศษขับไล่-จับกุม-ดำเนินคดี เมินเอกสารสิทธิในมือชาวบ้าน    

ย้อนกลับไปวันที่ 29 ก.ค. 57 เวลาประมาณ 06.00 น. ทหารพร้อมอาวุธ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน และปลัด อบต.อาจสามารถ รวมนับสิบนาย เข้าตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต” ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ในพื้นที่บ้านห้อม หมู่ 11 ต.อาจสามารถ โดยกระจายกำลังเข้าควบคุมตัวชาวบ้าน 14 คน แจ้งเพียงว่า เชิญไปคุยกับที่ดินจังหวัด หรือผู้ว่าฯ และนายอำเภอ โดยไม่ยินยอมให้ทำธุระส่วนตัวก่อน และบางรายถูกทหารเอาปืนจี้เร่งให้ไป แต่แล้วเจ้าหน้าที่กลับพาชาวบ้านไป สภ.เมืองนครพนม ควบคุมตัวไว้ในห้องสอบสวนนานกว่า 5 ชั่วโมง ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาว่า บุกรุกแผ้วถางที่สาธารณประโยชน์  และผู้ต้องหาทั้ง 14 ต้องโทรศัพท์ให้สมาชิก อบต. หรือญาติมาช่วยประกันตัว โดยเจ้าหน้าที่ระบุในบันทึกจับกุมว่า การจับครั้งนี้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก

ต่อมา   อำเภอเมืองนครพนม ร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัดนครพนม มีหนังสือถึงชาวบ้าน 284 ราย ให้มาพบในวันที่ 18 – 22 ส.ค. 57 โดยอ้างว่า ได้ตรวจสอบพบว่า ชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม” และเชิญมาทำความเข้าใจในการดำเนินการขอคืนพื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 ในการเรียกชาวบ้านมาทำความเข้าใจครั้งนี้ มีผู้ยินยอมออกจากที่สาธารณประโยชน์ 256 ราย และมี 21 ราย ยืนยันว่ามีเอกสารสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่ ไม่ได้เป็นผู้บุกรุก แม้จะมีการเย้ยหยันแกมขู่คนที่ถือ ส.ค.1(แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน) ไปว่า เป็นแค่เศษกระดาษ ไม่มีความหมาย

หลังการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ อำเภอเมืองนครพนม, กอ.รมน.จ.นครพนม, กรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลอาจสามารถ เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “โคกภูกระแต บ้านไผ่ล้อม” ซึ่งมีมติให้ดำเนินคดีชาวบ้าน 21 ราย ที่ไม่ยินยอมออกจากที่สาธารณประโยชน์ โดยอ้างคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 วันที่ 22 ต.ค.57 ปลัดอำเภอเมืองนครพนม โดยการมอบอำนาจของนายอำเภอเมืองนครพนม  จึงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม ให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ “โคกกระแตบ้านไผ่ล้อม” ทั้ง 21 ราย

คดีดำเนินไปจนกระทั่งพนักงานอัยการจังหวัดนครพนม ทยอยยื่นฟ้องชาวบ้านต่อศาลจังหวัดนครพนม ในเดือนธันวาคม 2557 – มกราคม 2558 โดยคำขอท้ายฟ้องนอกจากให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายแล้ว ยังขอศาลสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินซึ่งเข้าไปยึดถือครอบครอง พร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง  ศาลจังหวัดนครพนมได้สั่งให้รวมพิจารณาคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี รวม 29 ราย และนัดสืบพยานในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา

phukratae-headline

ดำเนินคดีเพราะต้องการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไร้การตรวจสอบ ไม่มีนโยบายเยียวยา

ในการสืบพยาน กำนันตำบลอาจสามารถ พยานฝ่ายโจทก์ระบุอย่างชัดเจนในคำเบิกความว่า การดำเนินคดีชาวบ้านในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตเป็นพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของ คสช. นอกจากนี้ กำนัน ซึ่งนับว่ามีอายุการรับราชการนานที่สุดในพื้นที่ ยอมรับว่า ขอบเขตที่สาธารณะที่มีการขึ้นทะเบียนในปี 2483 ไม่ตรงกับขอบเขตที่สาธารณะที่มีการออก นสล. ในปี 2521 รวมทั้ง นสล.ยังระบุขอบเขตที่สาธารณะไม่ชัดเจน

พยานปากอื่นๆ ที่โจทก์นำเข้าเบิกความ ได้แก่ อดีตปลัดฝ่ายปกครองอำเภอเมืองนครพนม, เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองนครพนม, เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ปลัดและนิติกร อบต.อาจสามารถ และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11  ท้องที่เกิดเหตุ รวมทั้งกำน้น ไม่มีคนใดยืนยันว่า ได้ทำการตรวจสอบว่า จำเลยบุกรุกที่สาธารณะจริง แม้เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะเบิกความว่า เข้าไปตรวจสอบโดยการจับพิกัด  และเทียบแผนที่ของป่าไม้ มาตราส่วน 1:50,000 กับ แผนที่ของอำเภอ มาตราส่วน 1:4,000 แล้วพบว่า บ้านของจำเลยที่ 1 และบ้านใกล้เคียงอยู่ในที่สาธารณะ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้คนดังกล่าวก็ยอมรับว่า ทำการตรวจสอบเพียงหลังเดียว และเนื่องจากแผนที่มีมาตราส่วนแตกต่างกัน จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้

นอกจากนี้ ที่มีชาวบ้าน 21 ราย ยืนยันในระหว่างการเข้าพบ กอ.รมน.ว่า ตนเองมีเอกสารสิทธิ  แต่พยานยอมรับว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยตรวจสอบเอกสารสิทธิดังกล่าว รวมถึงไม่ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมแก้ไขปัญหา แต่มีมติให้แจ้งความดำเนินคดีเลย ในชั้นสอบสวน แม้ชาวบ้านจะนำเอกสารสิทธิมาแสดง แต่พนักงานสอบสวนก็ยอมรับว่า สั่งฟ้องคดีโดยไม่ได้ทำการตรวจสอบเอกสารสิทธินั้นเลย

พยานโจทก์ยังเบิกความว่า ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตส่วนหนึ่งได้ใช้ในการก่อสร้างสะพานและศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน โดยมีชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องออกจากพื้นที่ และจังหวัดนครพนมให้การเยียวยา เนื่องจากเป็นนโยบายของจังหวัด แต่การขับไล่ รวมทั้งดำเนินคดีชาวบ้านในครั้งนี้เป็นคำสั่ง คสช. ซึ่งไม่มีการเยียวยา

ผู้เฒ่ายืนยันจำเลยอยู่ข้างเคียงที่สาธารณะ ไม่ใช่ผู้บุกรุก ขณะผู้เชี่ยวชาญชี้การออก นสล.คลาดเคลื่อนทับที่ชาวบ้าน  

ขณะที่จำเลยทุกคนให้การยืนยันว่า ที่ดินที่ตนเองอยู่อาศัยมีเอกสารตามกฎหมายที่ดิน ได้แก่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3), ใบจอง (น.ส.2) และแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งรัฐเป็นคนออกให้ จำเลยเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่นี้ได้

จำเลยได้นำคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด อายุ 80 ปี (เกิดปี 2479) มาเป็นพยาน พยานคนดังกล่าวซึ่งมีรายชื่อเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตตามหนังสืออำเภอเมืองนครพนม พ.ศ.2519 เบิกความว่า จำเลยในคดีนี้ สืบสิทธิหรือรับตกทอดที่ดินมาจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต ไม่ใช่ผู้บุกรุกที่อยู่ในที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต

นอกจากนี้ จำเลยยังนำพยานผู้เชื่ยวชาญเรื่องที่สาธารณะ ซึ่งเป็นสมาชิกสมัชชาคนจน และอดีตอนุกรรมการป่าไม้และที่ดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาเบิกความ พร้อมทั้งยื่นรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งชี้ว่า การขึ้นทะเบียนหวงห้ามที่สาธารณประโยชน์ สำหรับเป็นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์เนื้อที่ 6,000 ไร่ ในท้องที่หมู่ที่ 1 ตำบลอาจสามารถ  อำเภอเมืองนครพนม เมื่อปี 2483  เป็นการหวงห้ามที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา อีกทั้งไม่มีแผนที่แนบท้าย

รายงานฯ ยังระบุว่า ในการสำรวจรังวัดเพื่อออก นสล. แปลง “ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกภูกระแตบ้านไผ่ล้อม” ในปี 2519 ไม่มีการออกหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม แจ้งให้ผู้มีรายชื่อเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่สาธารณะโคกภูกระแตไปชี้แนวเขตที่ดิน ทั้งที่มีหลักฐานการครอบครองที่ดินเป็น น.ส.3 (ออกปี 2514), น.ส.2 (ออกปี 2501) และ ส.ค.1 (ออกปี 2498) แต่กลับมีผู้ที่ไม่ได้มีรายชื่อเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียง และส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานแสดงการครอบครองที่ดิน มาเป็นผู้ชี้และรับรองแนวเขต จึงน่าเชื่อว่า การออก นสล. เลขที่ 7941 มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  และเป็นที่มาของปัญหาการออก นสล. ทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านบ้านห้อมในปัจจุบัน กล่าวคือ ที่ดินพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตฯ  แต่เป็นที่ดินข้างเคียงที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตฯ นั่นเอง

ภูกระแต

ครม.เคยมีมติให้แก้ไขปัญหา แต่ไร้การดำเนินการ

การออก นสล. ทับซ้อนที่ของชาวบ้านสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านบ้านห้อมมานานแล้ว จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสมัชชาคนจนพบว่า ในปี 2538-2539 ชาวบ้านได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ และ ส.ส.จ.นครพนม รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม โดยระบุว่า ได้ครอบครองที่ดินบริเวณภูกระแตบ้านห้อมมาเป็นระยะเวลานาน  และทางราชการได้ออกเอกสารเป็น น.ส.2 และ น.ส.3 ให้ตั้งแต่ปี 2501 และ 2514 ตามลำดับ ต่อมาในปี 2521 ทางราชการได้รังวัดที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทับซ้อนกับที่ดินของชาวบ้านที่ครอบครองอยู่ก่อน  จึงทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน  จึงขอความช่วยเหลือให้ชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวได้รับเอกสารสิทธิของทางราชการต่อไป

ต่อมา จังหวัดนครพนมได้แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจตรวจสอบจำนวนราษฎรที่เข้าไปปลูกสร้างบ้านเรือนในที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแต พบว่ามีทั้งหมด  31 หลัง โดยมีเอกสารสิทธิเป็น ส.ค.1, น.ส.2 และ น.ส.3  และผลการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเกษตรกรคนจนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล  เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539  คณะรัฐมนตรีได้มีมติต่อการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินว่า หากราษฎรมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายให้รัฐออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน  แต่หากราษฎรไม่มีสิทธิ รัฐจะจัดให้เช่าที่ทำกินหรือดำเนินการออก ส.ป.ก. ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินต่อไป  

อย่างไรก็ตาม ราษฎรบ้านห้อมยังไม่ได้เอกสารสิทธิใดๆ จนกระทั่งปี 2554  คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาบุกรุกที่สาธารณะตามคำสั่งอำเภอเมืองนครพนม ได้สำรวจพบผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์โคกภูกระแตเพิ่มเป็น 347 คน จึงมีมติให้แจ้งความดำเนินคดี ขณะเดียวกันให้ดำเนินการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยยื่นหนังสือต่อจังหวัดนครพนม เมื่อปี 2539 จำนวน 31 ราย หรือผู้ที่มีฐานะยากจนไม่มีที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน แต่เช่นเดิมทางราชการยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนมาถูกขับไล่และดำเนินคดี โดยไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ในยุครัฐบาลจากการรัฐประหาร…

สู้เพื่อยืนยันสิทธิในที่ดินที่เชื่อว่าตนเองมี

จำเลยหลายคนในคดีนี้เป็นเครือญาติกัน เนื่องจากเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แบ่งให้น้อง หรือลูก หลาน สร้างบ้านอยู่ด้วยกัน หากในที่สุดพวกเขาแพ้คดี นอกจากจะถูกศาลตัดสินจำคุก และปรับแล้ว ครอบครัวก็ต้องไร้ที่อยู่อาศัย หันหน้าไปพึ่งใครก็ล้วนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เช่นเดียวกับคนที่ยินยอมออกไปแล้วแต่โดยดี แม้ตนเองจะถือเอกสารสิทธิอยู่ หรือคนที่ถูกดำเนินคดีและยอมรับสารภาพไปแล้ว

จำเลยชาวบ้านห้อมทั้ง 29 ราย ซึ่งในระหว่างการต่อสู้คดีเสียชีวิตไป 2 ราย ป่วยหนัก 1 ราย พวกเขาเล็งเห็นชะตากรรมของตนเองได้ แต่อย่างไรเสีย พวกเขายังคาดหวังความยุติธรรมจากศาล คาดหวังว่าการต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธิในที่ดินที่เชื่อว่าตนเองมี จะได้รับความเป็นธรรม และครอบครัวได้อยู่ในที่ดินของตนต่อไป

กรณีนี้หากรัฐบาลไม่ใช้กฎหมายพิเศษภายใต้ภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพื่อเร่งเดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ใช้เวทีเปิดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งมีมาตรการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ชาวบ้านก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนา และไม่มีใครต้องสูญเสียทุกอย่างแต่เพียงฝ่ายเดียว

อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งมีผลผูกพันให้รัฐไทยมีหน้าที่ต้องทำให้สิทธิซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้กลายเป็นความจริง ทั้งนี้ ICESCR ข้อ 11 วรรค 1 ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสําหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ  และสภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” และคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีความเห็นทั่วไปว่า “ก่อนที่จะมีการขับไล่ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมี่อเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่ รัฐภาคีจะต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขับไล่ ทําการสํารวจหาลู่ทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับหรือใช้ให้น้อยที่สุด  ควรจะมีการแก้ไขตามกฎหมายให้แก่ผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากคำสั่งขับไล่ รัฐภาคีจะต้องดูว่าบุคคลที่ถูกขับไล่จะได้รับค่าชดเชย สำหรับทรัพย์สมบัติที่เสียไป  สำหรับทั้งบุคคลและที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการขับไล่นี้”

 

หมายเหตุ โพสต์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธ.ค.59 ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 25 ม.ค.60

 

X