คดี CMU06 อัยการสั่งฟ้องข้อหาชุมนุมทางการเมือง ทั้งที่ความผิดถูกยกเลิกไปแล้ว

วันที่ 6 ก.พ. 62 เวลา 13.00 น. ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหา 6 คน ในคดีร่วมกิจกรรมการชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” ใน “เทศกาลแห่งความหมดรัก” เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 61 ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือคดี CMU06 ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ได้เข้ารายงานตัวตามที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่นัดหมายสั่งฟ้องคดีต่อศาล

เวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานอัยการคดีศาลแขวงได้นำคำฟ้องและสำนวนคดีมายื่นฟ้องต่อศาล โดยสั่งฟ้องนายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ กับพวกรวม 6 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และสั่งฟ้องจำเลยที่ 1-4 และจำเลยที่ 6 ในข้อหาร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีอธิบดีอัยการภาค 5 เป็นผู้อนุญาตให้ฟ้องคดี

อัยการโจทก์บรรยายฟ้องโดยระบุว่ากลุ่มจำเลยได้ร่วมกันกล่าวแถลงการณ์ที่มีข้อความโจมตีการทำงานของรัฐบาลและคสช. ซึ่งมีสาระสำคัญว่าภายหลังจากการจัดตั้งคสช. จนถึงการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการกระทำการละเมิดหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนมากมาย ทั้งยังมีการเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง ซึ่งจำเลยกับพวกต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

คำฟ้องระบุว่าจำเลยกับพวกได้ร่วมกันกล่าวปราศรัยเชิญชวนบุคคลอื่นให้มาร่วมชุมนุมกับพวกของจำเลย เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง และร่วมกันแสดงแผ่นป้ายที่มีข้อความต่างๆ อันมีเนื้อหาในการต่อต้านการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นการชุมนุมดังกล่าวเข้าใจว่ารัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล และเป็นการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนให้เห็นต่างกับรัฐบาล อันเป็นการร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ศาลได้ประทับรับฟ้องดังกล่าวไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1142/2562 และกำหนดวันนัดพร้อมและคุ้มครองสิทธิต่อไปในวันที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 น.

จากนั้น จำเลยทั้งหกได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นศาล โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัว เนื่องจากไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และคดีไม่ได้มีโทษร้ายแรง ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำสั่งในห้องควบคุมตัวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดไป โดยให้สาบานตัวว่าจะมาตามนัดศาล และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกัน

ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น โดยขอให้ศาลยกฟ้องจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เนื่องจากหัวหน้าคสช. ได้มีการออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ลงวันที่ 11 ธ.ค. 61 ให้มีการยกเลิกความผิดในข้อหาเรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปแล้ว การฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องในข้อหาที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอีกต่อไป จึงเป็นการฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ศาลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายนี้ในการพิจารณารับฟ้องคดีในวันนี้

ยุติคดีฝ่าฝืนเรื่องการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 7 คดี

ทั้งนี้ ภายหลังจากมีการยกเลิกความผิดเรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 61 จนถึงปัจจุบัน ศาลต่างๆ และอัยการเองก็ได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะยุติการดำเนินคดีข้อหานี้มาแล้ว อย่างน้อย 7 คดีที่ถูกกล่าวหาจากข้อหาดังกล่าว ได้แก่

1.ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ มีคำพิพากษายกฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ในคดีเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายให้ดำเนินคดีต่อจำเลยแล้ว

2. ศาลทหารกรุงเทพสั่งจำหน่ายคดี 6 นักศึกษา จากการจัดกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย เนื่องจากความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองถูกยกเลิกแล้ว

3. ศาลทหารกรุงเทพสั่งจำหน่ายคดี 19 นปช. ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคสช.ประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

4. พนักงานอัยการคดีศาลแขวงพัทยามีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาชุมนุมคนอยากเลือกตั้งพัทยา (PATTAYA12) ในข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมเท่านั้น โดยไม่ฟ้องในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป เนื่องจากการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไป

5-7. ศาลทหารขอนแก่นสั่งจำหน่ายคดี คดีชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร 2 คดี ของ “ไนท์ ดาวดิน” และ “ไผ่ ดาวดิน” และคดีจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกแล้ว

อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เคยเข้ารับการอบรมจากทหารมาแล้ว

สำหรับคดีชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ โดยยังไม่มีคำสั่งในคดีมาเกือบ 1 ปี หลังจากมีการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 61 ทำให้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมารายงานตัวเป็นประจำทุกเดือนรวมแล้ว 11 ครั้ง จนกระทั่งอธิบดีอัยการภาค 5 มีคำสั่งให้ฟ้องคดีในที่สุด

นอกจากนั้น มีข้อสังเกตด้วยว่าในการสั่งฟ้องของอัยการนั้นได้มีการฟ้องจำเลยสองราย ซึ่งเคยเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างที่คดียังอยู่ในชั้นอัยการ ตามเงื่อนไขในวรรคที่ 2 ของ 12 ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดว่าหากผู้กระทำความผิดที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ให้ถือว่าคดีเลิกกัน แต่อัยการกลับมีการสั่งฟ้องในข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเข้ามาอีก เพียงแต่บรรยายฟ้องไว้ว่าจำเลยทั้งสองคนได้เข้ารับการอบรมตามเจตนารมณ์ของคำสั่งในวรรคนี้แล้ว

จำเลยทั้งหกคนในคดีนี้ ได้แก่ 1. นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ นักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2. นายจตุพล คำมี นักศึกษาสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. นายสิทธิชัย คำมี นักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4. นายยามารุดดิน ทรงศิริ นักศึกษาสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง 5. นายอ๊อด แอ่งมูล ชาว จ.กำแพงเพชร และ 6. นางสาวจิตต์ศจีฐ์ นามวงค์ ช่างเสริมสวยจาก จ.เชียงราย

อ่านเพิ่มเติม ทำความรู้จักกับผู้ต้องหาทั้ง 6 คน และ เหตุการณ์ที่มาของคดีนี้

 

X