ศาลราชบุรีอนุญาตฝากขัง 5 ผู้ต้องหา พ.ร.บ.ประชามติ ก่อนให้ประกันตัวหลักทรัพย์คนละ 1.4 แสนบาท

11 ก.ค.59  ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง 5 ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 เป็นเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสภ.บ้านโป่ง ก่อนจะอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 140,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

ร.ต.อ.ยุทธนา ภูเก้าแก้ว พนักงานสอบสวนสภ.บ้านโป่ง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งห้าคนต่อศาล โดยระบุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร จึงขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด มีกำหนด 12 วัน รวมทั้งยังขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ขณะที่ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง แต่ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยศาลเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 3 ปี ซึ่งถือเป็นกระบวนการปกติที่ต้องพิจารณาให้ฝากขัง

จากนั้น ผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย ได้ยื่นขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดรายละ 140,000 บาท โดยเงินประกันของนักกิจกรรมและนักศึกษา 4 ราย เป็นเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนประกันตัว ขณะที่นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ทางองค์กรต้นสังกัดคือสำนักข่าวประชาไทได้เตรียมเงินมายื่นขอประกันตัวเอง

ก่อนที่เวลาประมาณ 16.50 น. ศาลจังหวัดราชบุรีจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยศาลนัดผู้ต้องหามารายงานตัวอีกครั้งวันที่ 29 ส.ค.59 เวลา 9.00 น. หลังครบฝากขังจำนวน 4 ผัด ก่อนทั้ง 5 คนได้รับการปล่อยตัวที่ศาลจังหวัดราชบุรี ในเวลาประมาณ 17.08 น.

photo_2016-07-11_17-08-39

photo_2016-07-11_17-17-28

สำหรับเหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ก.ค. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นรถกระบะของนายปกรณ์ อารีกุล ขณะมาให้กำลังใจผู้ต้องหารับทราบข้อกล่าวหากรณีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่สภ.บ้านโป่ง ก่อนพบเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ, สติ๊กเกอร์ Vote No แผ่นพับประชาสัมพันธ์ของ กกต. และกล่องรับเงินบริจาคอยู่ท้ายรถ โดยยังไม่ได้มีการแจกจ่าย จึงมีการควบคุมตัวผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ ได้แก่ นายปกรณ์ อารีกุล, นายอนันต์ โลเกตุ และนายอนุชา รุ่งมรกต สามนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM), นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท ก่อนมีการแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 นอกจากนั้นยังมีการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศคมช.ฉบับที่ 25/2549 ต่อทั้ง 4 คน เหตุไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน (ดูรายงานข่าว)

ก่อนที่เวลาราว 20.20น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 10 คันรถ จะเข้าล้อมบ้านและควบคุมตัว นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น แล้วนำตัวมาที่ สภ.บ้านโป่ง เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ประชามติเช่นกัน เหตุเนื่องจากมีภาพนายภานุวัฒน์ขนเอกสารรณรงค์ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก่อนพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คนมาขออำนาจศาลจังหวัดราชบุรีฝากขัง (ดูรายงานข่าว)

ในการพิจารณาคดีวันนี้ เจ้าหน้าที่ศาลได้สั่งห้ามประชาชนและผู้สังเกตการณ์ถ่ายรูปในบริเวณศาล ยกเว้นผู้สื่อข่าวที่ได้รับอนุญาต โดยต้องแสดงสำเนาบัตรประชาชนและบัตรผู้สื่อข่าว

นายปกรณ์ อารีกุล ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการปล่อยตัวว่าเหตุการณ์เมื่อวานนั้น ทั้ง 5 คนไม่ได้นำเอกสารมาแจก อาจจะมีการยกขึ้นมาจากท้ายรถบ้าง แต่ไม่ได้มีการแจกจ่ายใดๆ โดยความผิดพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ต้องมีการแจกจ่าย โฆษณาเอกสารเหล่านั้น ซึ่งพฤติกรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้เลย แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งข้อหานี้ต่อเรา สร้างความคลุมเครือให้กับการใช้พ.ร.บ.ประชามติ โดยถ้าเป็นแบบนี้ แสดงว่าในการลงประชามติครั้งนี้ ประชาชนที่มีความเห็นต่างไปจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะเพียงแค่มีเอกสารติดตัวก็สามารถูกกล่าวหาดำเนินคดีได้ อีกทั้งในตัวเอกสารของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เอง ก็ไม่ได้มีข้อความที่เป็นการปลุกระดม มีคำหยาบ หรือเป็นเท็จใดๆ การกล่าวหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

ด้านทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท เปิดเผยว่ารู้สึกแปลกใจว่าการมาทำข่าว กลายเป็นมาโดนข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติได้อย่างไร เข้าใจว่าเมื่อวานนี้ที่หน้าสภ.บ้านโป่งมีตนที่เป็นนักข่าวอยู่เพียงคนเดียว ส่วนเหตุที่เดินทางมาด้วยรถพร้อมกับนายปกรณ์ เพราะต้องการมาทำรายงานข่าวสัมภาษณ์นายอนันต์ โลเกตุ ที่โดนข้อหาพ.ร.บ.ประชามติมาก่อนจากการแจกเอกสารที่บางพลี และสัมภาษณ์นายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ที่เป็นหนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/58 ที่สภ.บ้านโป่งจากกรณีถ่ายรูปเปิดศูนย์ปราบโกง

ทั้งนี้ตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ระบุองค์ประกอบความผิดว่า “ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง” โดยกำหนดโทษจําคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

13592209_1722486171324155_7034806761664931213_n

ภาพจาก  Banrasdr Photo

X