ในวันที่ 22 เม.ย. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สองอาจารย์จากภาควิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตจากสาขาวิชาเดียวกัน ถูกฟ้องเป็นจำเลย
ทั้งสามคนถูกกล่าวหาและฟ้องร้องจากเหตุการณ์ #ทวงคืนหอศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มต้นจากความพยายามของนักศึกษาและอาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ ในการเข้าใช้พื้นที่พื่อจัดแสดงงานศิลปะของนักศึกษาประจำปี ในรายวิชาเรียน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 แต่จบลงด้วยอาจารย์และนักศึกษาได้หมายเรียกในข้อหา ร่วมกันบุกรุกฯ และ ทำให้เสียทรัพย์ โดยผู้กล่าวหาคือมหาวิทยาลัย และอดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์
.
ภาพเหตุการณ์ตัดโซ่ประตูหอศิลป์ มช. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564 (ภาพจากประชาไท)
.
นิทรรศการของนักศึกษาที่ไม่เคยได้รับคำตอบให้ใช้พื้นที่?
ย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุ วันที่ 1 ต.ค. 2564 นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดแสดงงานนิทรรศการในอาคารหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นงานในวิชาเรียน Multiple Media Research Project 2 เป็นวิชาวิทยานิพนธ์ที่นักศึกษาจะต้องผ่านก่อนสำเร็จการศึกษา ระบุขอใช้พื้นที่ซึ่งเป็นวันจัดงานนิทรรศการระหว่างวันที่ 16 – 22 ต.ค. 2564
ต่อมาช่วงวันที่ 4-15 ต.ค. 2564 คณะวิจิตรศิลป์ มช. และคณะกรรมการดำเนินงานหอศิลป์ ขอให้นักศึกษาส่งเอกสารโครงการ (Proposal) เพิ่มเติมอีกหลายครั้ง โดยนักศึกษาก็ส่งรายละเอียดชิ้นงานตามที่ได้รับแจ้งภายในกำหนดเวลา กระทั่งวันที่ 15 ต.ค. 2564 ทางคณะกรรมการฯ มีหนังสือแจ้งว่าจะพิจารณาเรื่องการขอใช้หอศิลป์อีกครั้งในวันที่ 19 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยช่วงการจัดงานนิทรรศการไปแเล้ว
วันที่ 14 ต.ค. 2564 เกิดการประท้วงของนักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ที่สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ตึกหน้า) โดยกลุ่มนักศึกษาต่างยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บริหาร มช. เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการไม่ได้รับคำตอบอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่หอศิลป์จัดแสดงผลงาน
วันที่ 15 ต.ค. 2564 คณาจารย์และนักศึกษาจึงตัดสินใจไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จากนั้นกลุ่มนักศึกษาจึงประกาศว่าจะเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ เพื่อจัดแสดงผลงานตามที่ได้ขออนุญาตไว้ ไม่ว่าจะมีคำสั่งให้ใช้พื้นที่หรือไม่
16-22 ต.ค. 2564 คณาจารย์ นักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปถึงที่หอศิลปวัฒนธรรม กลับพบว่าประตูรั้วของหอศิลป์ฯ ถูกปิดล็อคคล้องโซ่และใส่กุญแจ ซึ่งปกติไม่ได้มีการปิดล็อกประตูในลักษณะดังกล่าว พื้นที่ด้านในถูกตัดน้ำ และไฟฟ้าไม่สามารถใช้งานได้ รวมทั้งมีนักศึกษาบางส่วนติดอยู่ภายในพื้นที่หอศิลป์ ซึ่งมีอาคารเรียนอยู่ในบริเวณรั้วด้วย จึงตัดสินใจตัดกุญแจและเข้าไปดำเนินการให้ระบบน้ำและไฟฟ้าให้กลับมาใช้ได้ นักศึกษาก็จัดแสดงงานศิลปะ รวมทั้งคณาจารย์ก็ให้คะแนนแก่นักศึกษา ในรายวิชาเรียบร้อยแล้ว
18 ต.ค. 2564 ระหว่างการจัดแสดงงานนิทรรศการ ทางคณะกรรมการดำเนินงานหอศิลป์ฯ ก็ยังไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ นักศึกษาจำนวน 24 รายจึงได้รวมกันยื่นฟ้องผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม, คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการละเลยการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อีกทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองการใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของนักศึกษาระหว่างนั้นด้วย ศาลปกครองมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา
ต่อมา 4 พ.ย. 2564 ศาลปกครองมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า การกระทำของ ผอ.หอศิลป์ฯ และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร แต่เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่านักศึกษาผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คนได้อารยะขัดขืนเข้าใช้หอศิลป์จัดแสดงผลงานการเรียนและอาจารย์ได้ตรวจให้คะแนนแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้ ผอ.หอศิลป์ฯ และคณบดี พิจารณาเรื่องการขอใช้หอศิลป์ฯ อีกต่อไป
กรณีนี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้หยิบยกประเด็นขึ้นมาตรวจสอบ และเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 ได้พิจารณามีความเห็นว่าการที่คณะวิจิตรศิลป์ โดยคณะกรรมการฯ ไม่แจ้งผลการพิจารณาขอใช้พื้นที่หอศิลป์ มช. ให้นักศึกษาทราบในเวลาอันสมควร และขัดขวางไม่ให้อาจารย์และนักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในการจัดแสดงผลงานศิลปะ จึงกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
.
ภาพนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ร่วมกันเข้าใช้หอศิลป์ฯ มช. จัดแสดงผลงาน
.
มช. ถอนฟ้องข้อหาทำให้เสียทรัพย์ แต่ข้อหาบุกรุกฯ จำเลยยังต้องสู้ต่อ
หลังเหตุการณ์การจัดแสดงนิทรรศการในเดือน ต.ค. 2564 มีการให้คะแนนและปัจจุบันนักศึกษาก็สำเร็จการศึกษาไปแล้ว อาจารย์และบัณฑิต คณะวิจิตรศิลป์ มช. ยังต้องเผชิญกระบวนการทางกฎหมายในข้อหาทำให้เสียทรัพย์และร่วมกันบุกรุกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยาวนานเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
10 พ.ย. 2564 อาจารย์พร้อมนักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ มช. ทั้งสามคนเดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ฯ ซึ่งเหตุมาจาก อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดี ได้เข้าแจ้งความไว้ในวันเกิดเหตุ
เวลาผ่านไปกว่าสองปี 23 ม.ค. 2567 สว่าง จันทะสาร พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยสรุปว่าจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้คีมตัดเหล็กกุญแจพร้อมโซ่คล้องประตูรั้ว ทุบทำลายประตูและสายยู รวมค่าเสียหาย 3,314 บาท อันเป็นความผิดฐานทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น และได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปภายในหอศิลป์ฯ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของคณะวิจิตรศิลป์ อันเป็นการรบกวนการครอบครองโดยปกติสุข อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ 362, 365
18 มี.ค. 2567 ในวันนัดพร้อมและตรวจพยานที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏว่าพนักงานอัยการไม่มาศาล แต่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ขณะนั้นมีทนายความของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอัศวิณีย์ หวานจริง ผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมและขอเรียกค่าสินไหมทดแทนฯ ความเสียหาย 15 รายการ รวมเป็นเงิน 148,874 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 44/1
วันที่ 23 ส.ค. 2567 วันนัดสืบพยานนัดแรก ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ ศาลได้ให้คู่ความคือฝ่ายมหาวิทยาลัย กับฝ่ายจำเลยทั้งสามได้เจรจาตกลงกัน โดยจำเลยทั้งสามตกลงชำระเงินเป็น “ค่าทำนุบำรุงหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” จำนวน 3,664 บาท และฝ่ายโจทก์ร่วมไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวน 148,874 บาท และถอนคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตาม ม.44/1
นอกจากนี้ อัศวิณีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม ทนายความโจทก์ร่วม และนิติกรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังแถลงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามในความผิดทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 อีกด้วย โดยศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์ในข้อหาดังกล่าว ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับลง
แม้ข้อหานี้จะสิ้นสุดลง ทว่า “ข้อหาร่วมกันบุกรุก โดยกระทำตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป” ตามมาตรา 362 และ 365 ซึ่งเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์ได้ตามกฎหมาย ศาลจึงให้มีการสืบพยานเฉพาะในข้อหานี้ โดยจำเลยทั้งสามยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
.

.
ภาพรวมการสืบพยานคดี “ทวงคืนหอศิลป์” กับคำถามเรื่องการบุกรุกฯ
ในการสืบพยานคดีนี้ มีขึ้นทั้งหมด 2 ช่วง ดำเนินต่อเนื่องรวม 8 วัน ระหว่างวันที่ 23, 27–30 สิงหาคม 2567 และ 15–17 มกราคม 2568
ประเด็นสำคัญของคดีอยู่ที่ข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสาม “ได้กระทำการใด อันเป็นการรบกวนการครอบครองหอศิลปวัฒธรรมโดยปกติสุขของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือไม่” โดยการสืบพยานในประเด็นนี้ ฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าเบิกความ 5 ปาก ได้แก่
- อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้กล่าวหา
- กิตติ มาลีพันธุ์ ผู้ช่วยคณบดี และประธานคณะกรรมการดำเนินงานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บริพันธ์ แสงศาสตรา พนักงานรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เยาวภา เทพวงศ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานนิทรรศการ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ร.ต.ท.เมธาสิทธิ์ อาจองค์ พนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์
พยานฝ่ายโจทก์ให้การโดยสรุปว่า อัศวิณีย์และกิตติรับทราบคำขออนุญาตใช้พื้นที่หอศิลป์ของนักศึกษาที่ยื่นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยขอจัดนิทรรศการในวันที่ 16-22 ต.ค. 2564 แต่ยังเห็นว่าขาดรายละเอียดเกี่ยวกับภาพผลงานและการติดตั้ง จึงมีการตั้งคณะกรรมการฯ และขอเอกสารเพิ่มเติมจากนักศึกษาเพิ่มเติม โดยมีการส่งเอกสารเพิ่มเติมในวันที่ 4, 11 และ 14 ต.ค. 2564
อัศวิณีย์ชี้แจงถึงเหตุที่คณะกรรมการฯ ไม่พิจารณาอนุญาตให้ทันวันจัดนิทรรศการในวันที่ 16-22 ต.ค. 2564 เนื่องจากช่วงของเดือน ต.ค. 2564 มหาวิทยาลัยได้ขยายระยะเวลาการส่งคะแนน ทำให้การพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ไม่ถือว่าต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน กิตติยังกล่าวถึงการอนุญาตให้ใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ ว่าต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ และอำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่อัศวิณีย์โดยตรง
อัศวิณีย์เบิกความถึงการล็อคกุญแจประตูรั้วหอศิลปวัฒนธรรม เนื่องจากช่วงเวลาเกิดเหตุอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 พื้นที่จะปิดตลอดหากไม่มีจัดนิทรรศการ และหากนักศึกษาอยู่ภายในอาคาร ก็สามารถออกได้ทางประตูเล็กด้านข้างได้ โดยจะต้องผ่านทางลูกรังของไร่ฟอร์ด มช. ออกไปสู่ถนน
ดังนั้นเมื่อไม่มีคำสั่งจากคณะกรรมการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ นักศึกษาจึงไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ ได้ แต่วันที่ 16 ต.ค. 2564 กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์รวมตัวกันหน้าหอศิลป์ และตัดโซ่คล้องประตูเพื่อเข้าใช้พื้นที่บริเวณและอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงาน ทั้งอัศวิณีย์และกิตติจึงเดินทางไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูพิงคราชนิเวศน์ในวันเดียวกัน เพื่อดำเนินคดีต่ออาจารย์และนักศึกษา
.
ฝ่ายจำเลยนำพยานเบิกความ 9 ปาก ชี้ไม่ได้เจตนาบุกรุก แต่ คกก.หอศิลป์ ไม่ได้มีคำสั่งตามคำขอใข้สถานที่ ทำให้เกิดความกังวลการแสดงงานศิลปะจบการศึกษา
ฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 9 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสามคน, อดีตอาจารย์ที่เคยทำหน้าที่ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ มช., อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 คน ที่รู้เห็นเหตุการณ์, นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ที่ยื่นหนังสือขอใช้พื้นที่ รวมทั้งตัวแทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีความเห็นต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในกรณีนี้
พยานฝ่ายจำเลยได้ร่วมกันแสดงให้เห็นโดยสรุปว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์จำเป็นต้องใช้หอศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของนักศึกษา งานนิทรรศการ MAD Festival ซึ่งจัดขึ้นประจำปี
นักศึกษาได้ยื่นคำขอใช้หอศิลป์อย่างถูกต้องตั้งแต่ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 หลังจากนั้นทางคณะวิจิตรศิลป์และคณะกรรมการหอศิลป์ให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม 3 ครั้ง คือวันที่ 4, 11 และ 14 ต.ค. 2564 นักศึกษาก็ส่งภายในกำหนดระยะเวลาตลอดมา
แต่สุดท้ายเมื่อใกล้จัดวันนิทรรศการกลับไม่ได้คำตอบว่าอนุญาตหรือไม่ ก่อให้เกิดความกังวลเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาโดยตรง นักศึกษาจึงตัดสินใจเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์
ฝ่ายจำเลยยังโต้แย้งว่าประตูรั้วของหอศิลปวัฒนธรรมโดยปกติจะไม่เคยถูกปิดล็อค แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 ก็ตาม แต่จะเปิดไว้โดยตลอด ช่วงการจัดแสดงผลงานโดยปกติจะมีนักศึกษานอนอยู่ด้านในอาคารเรียน ซึ่งมีห้องปฏิบัติงานเพื่อทำงานศิลปนิพนธ์ให้เสร็จทันเวลา ทำให้เมื่อมีการล็อคประตูรั้วในคืนวันที่ 15 ต.ค. 2564 จึงมีนักศึกษาบางส่วนไม่สามารถออกมาจากพื้นที่ได้ รวมทั้งมีการตัดน้ำ และตัดไฟฟ้าภายในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมทั้งหมด วันที่ 16 ต.ค. 2564 จึงช่วยกันตัดกุญแจประตูรั้วเพื่อจะเข้าไปด้านใน
วิธีปฏิบัติในการขอใช้หอศิลปวัฒนธรรมที่ผ่านมาจะไม่มีการขอเอกสารเพิ่มเติม หรือรายละเอียดชิ้นงานเช่นในกรณีนี้ แต่มักจะเป็นการอนุญาตให้ใช้พื้นที่โดยไม่มีปัญหามาโดยตลอด โดยทางคณะวิจิตรศิลป์มักจะไม่เคร่งครัด เนื่องจากเป็นกิจกรรมภายในของมหาวิทยาลัย รวมทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย ดังนั้นการขอเอกสารเพิ่มเติมอีกหลายครั้งจึงไม่ใช่เรื่องปกติ
นอกจากนี้ฝ่ายจำเลยยังให้ข้อมูลต่อศาลว่า อดีตคณบดียังมีข้อพิพาทกับนักศึกษาในสาขาสื่อ ศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มาก่อนเกิดเหตุ ซึ่งเคยถูกนักศึกษารวมตัวประท้วงจากการตัดงบประมาณงานนิทรรศการของนักศึกษา โดยจำเลยที่ 3 เป็นแกนนำในการชุมนุมประท้วง และยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในคณะวิจิตรศิลป์เรื่อยมา
ด้านตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ชี้ให้เห็นว่าการที่คณะวิจิตรศิลป์ มช. ไม่แจ้งผลพิจารณาคำขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม และดำเนินการขัดขวางไม่ให้นักศึกษาใช้พื้นที่จัดแสดงผลงาน กระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
โดยรวมแล้วการกระทำของกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์เป็นการเข้าใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานตามหลักสูตร ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการศึกษา มิได้มีเจตนาบุกรุกเพื่อรบกวนการครอบครองโดยปกติสุขของมหาวิทยาลัย แต่เป็นการใช้สิทธิในการเรียนรู้และแสดงออกทางศิลปะในฐานะนักศึกษาของคณะวิจิตรศิลป์เท่านั้น
.