ศิลปะใต้เงา 112 (ตอน 2) : ความสร้างสรรค์แคระแกร็น ในพื้นที่แล้งเสรีภาพ

“ในสังคมที่ขาดการวิพากษ์วิจารณ์ ศิลปะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการตั้งคำถาม แต่เมื่อถูกกรอบความคิดเก่าครอบงำ การตั้งคำถามกลับกลายเป็นการก้าวล่วง”

เสียงของสรพจน์ เสวนคุณากร เปล่งประโยคลึกซึ้งสะท้อนความท้าทายของศิลปินไทยในการแสดงออกภายใต้ร่มเงาของมาตรา 112 อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนักปฏิบัติการศิลปะผู้นี้กำลังพาเราดำดิ่งลงสู่ความซับซ้อนของการสร้างสรรค์งานศิลปะในพื้นที่ที่มีเส้นแบ่งอันบอบบางระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์กับการตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 

“โดยรวมประเทศไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดดแล้วผสมปนเปในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มันทำให้รัฐไทยปัจจุบันเป็นแบบจารีต ความเชื่อของผู้คนส่วนใหญ่แฝงฝังอยู่ในระบบปฏิบัติการ”

.

.

ปมประวัติศาสตร์ที่ผูกมัดปัจจุบัน

สรพจน์มองว่า เส้นแบ่งระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์และการล้อเลียนในบริบทของมาตรา 112 นั้นสะท้อนโครงสร้างสังคมไทยที่มีรากฐานมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งยังคงฝังรากลึกในสังคม แม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ชนชั้นสูงและแนวคิดจากระบอบเก่ายังคงดำรงอยู่ สรพจน์เรียกสภาพนี้ว่า ประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยม ที่ความศักดิ์สิทธิ์ของโบราณยังคงอยู่คู่กับความพยายามในการเป็นรัฐสมัยใหม่

โครงสร้างเหล่านี้ทำให้ “สังคมไทยไม่ใช่สังคมแห่งการวิจารณ์ แต่เป็นสังคมแห่งการนินทา พอนินทาปุ๊บการพูดข้อเท็จจริงเลยไม่มี เพราะโครงสร้างอำนาจของสังคมมันไม่เอื้อให้เกิดการกระทำแบบนี้ได้” เขาอธิบายว่า เมื่อไม่มีพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างอิสระ การแสดงความคิดเห็นจึงถูกผลักให้เกิดขึ้นในที่ลับ กลายเป็นการนินทาแทนที่จะเป็นการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

อาจารย์คณะศิลปศาสตร์กล่าวอีกว่า สังคมไทยเป็นสังคมมหรสพ ดูละครแล้วชอบมีความยุติธรรมในใจ แล้วมักจะไปตัดสินเขา  “เช่นคนนี้ทำผิดเอาไปประหารเลย แต่คุณได้มีวิจัยไหมว่าการตัดสินโทษประหารเนี่ย มันช่วยลดอาชญากรรมหรือเปล่า เราไม่เคยตัดสินทุกอย่างด้วยเหตุและผลแต่เราเอาความรักใคร่ชอบชัง อารมณ์ความรู้สึก” 

ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากรผู้นี้ แสดงทัศนะอีกว่า “มันคือที่มาที่ไปของการเอาศิลปะมายกยอให้สูงส่ง เอาสุนทรียศาสตร์ที่ อ.ศิลป์ พีระศรี สอนในศิลปากร ใช้อารมณ์แทนที่จะใช้ทฤษฎีวิพากษ์แบบเฮเกล เพื่อสร้างพื้นที่ขึ้นมา เราไม่ได้ใช้เหตุผลตั้งแต่แรกในการเอาองค์ความรู้แบบนี้มา” 

.

เมื่ออารมณ์ขันกลายเป็นข้อจำกัดการสร้างสรรค์

“อารมณ์ขันหรือล้อเลียนเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เราอาจจะไม่ได้มีความแข็งแรงมากกว่าในเชิงอำนาจ ทางกายภาพ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ต่อรอง โต้แย้งในเรื่องของสติปัญญา”

สรพจน์ยังมองว่าศิลปะที่ดีควรเป็น  ‘ปลายเปิด’ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ถกเถียงและร่วมสร้างความหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคม

“ศิลปะที่ดี มันก็ควรจะเป็นปลายเปิด หมายถึงไม่จำเป็นต้องบอกให้ชัดเจนหรือสะท้อนว่ามองเห็นอะไร แต่มันเปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียง สร้างสนามของความหมาย ที่จะช่วยกันประกอบสร้างความจริงหรือความหมายของตัวชิ้นงานได้”

แต่ในบริบทของสังคมไทย เมื่อศิลปินตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แม้จะเป็นการตั้งคำถามที่เป็นกลาง ก็มักถูกตีความว่าเป็นการก้าวล่วง

.

.

สรพจน์ยกตัวอย่างกรณีของนิว จตุพร ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการแต่งชุดไทย โดยชี้ให้เห็นว่าการตีความขึ้นอยู่กับบริบทและมุมมองของผู้ดู  “คือชุดไทยใครแต่งก็ได้ แน่นอนว่าเราแต่งมันก็ขึ้นอยู่กับบริบทถ้าเราแต่งที่อื่น บริบทแต่ละที่มันสร้างความหมายเฉพาะของมัน ถ้าไปแต่งที่ญี่ปุ่นก็เกิดภาวะที่มันเป็น Alianation (ความแปลกแยก) เหมือนกัน ถ้าในบริบทนี้คนอาจจะคิดว่า เป็นน้องไนซ์ก็ได้ เชื่อมจิตก็ได้ หรือเป็นคุณหญิงคุณนาย ที่เขาอาจะช่วยเหลือผู้คนก็ได้” 

สรพจน์กล่าวอีกว่า  “ถ้าเรามองในมุมมองสัญญะวิทยา เรื่องการสื่อความหมาย มันจะมีทั้ง รูปสัญญะ (Signifier) และความหมายสัญญะ (Signified) เวลาเราจะดูสัญญะบางอย่าง บางทีมันไม่ได้มีความหมายตายตัว ความหมายมันดิ้นได้”

ในวงการศิลปะ การตีความมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสังคมที่มีข้อจำกัด สรพจน์ยกตัวอย่างกรณีของรามิล ศิลปินจากเชียงใหม่ที่สร้างงานซึ่งถูกตีความว่าเป็นการละเมิดมาตรา 112

“อย่างงานที่ไม่มีแถบสีน้ำเงินของรามิล ผมมองว่าเขาพยายามทำให้เป็นปลายเปิดแล้วเขาก็พูดถึงสิ่งที่ไม่ได้เป็นธงชาติ แต่เขาพูดถึงแสงสีต่างหาก ไม่ได้โฟกัสความเป็นชาติ นี่กำลังจะบอกว่าตัวสัญญะ มันจะตีความยังไงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของคนว่าเรารับรู้ในสัญญะความหมายไหน ซึ่งในเรื่องนี้เขาพูดถึงแสงสี มันมีแสงสีขาว ที่เรามองไม่เห็นอยู่แล้ว แต่พอกลายเป็นว่าเราเหมารวมทุกอย่าง การไม่ปรากฏของสิ่งหนึ่งเพื่อที่จะมีสิ่งหนึ่ง อันนี้อาจจะตีความเกิน” 

จากนั้นเขายกกรณีของวารุณี ที่โพสต์ภาพ ร.10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดราตรีแบรนด์ Sirivannavari ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีตามมาตรา 112

“กรอบหรือฟิลเตอร์ที่ทำให้มองเป็นแบบนี้ ถึงที่สุดก็ไม่ได้ก้าวไปไกลถึงการลบล้างหรือทำให้เสื่อมเสียใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการตั้งคำถามมันสำคัญ ทำให้สังคมร่วมแชร์และมีการโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นี่คือวิธีการของไดอะเล็คติค วิภาษวิธี จนถกเถียงเพื่อได้คำตอบร่วมกันเป็นมาตรฐานเดียวกัน”

ในฐานะนักการละคร สำหรับสรพจน์การล้อเลียนเสียดสีและอารมณ์ขัน มันมีพัฒนาการมาตั้งสมัยยุคกรีกแล้ว เรื่องละครคอมเมดี้ “ศิลปะเชิงล้อเลียนทำให้คนเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วมองเห็นการนำไปแก้ไขในชีวิต ในส่วนหนึ่งด้วยอารมณ์ขันมันไม่ทำให้เกิดภาวะของความตึงเครียด หรือการเผชิญหน้าที่นำไปสู่ความเกลียดชัง มันทำให้ทุกสิ่งผ่อนคลายและเบาลง” 

ในความเป็นจริง หลายกรณีของมาตรา 112  ไม่ได้มีเจตนาถึงขั้นนั้น แม้จะมีบางกรณีที่อาจใช้การด่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเรียนรู้ถึงท่าทีและวิธีการที่เหมาะสม แต่ส่วนใหญ่แล้วอาจเป็นเพียงการใช้อารมณ์ขันเพื่อตั้งคำถามและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา แต่สังคมไม่เปิดโอกาสให้พัฒนาต่อยอด  จึงทำให้การพัฒนาการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ในสังคมไทยไม่สามารถก้าวไปได้ไกลกว่านี้

ในบริบทไทยการล้อเลียนวิจารณ์เกิดขึ้นแทบไม่ได้ ผิดกับบริทของอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) “เพราะว่าอำนาจของกษัตริย์แทบสูญหายไปตั้งแต่สมัยมีการออกมหากฎบัตรแมคนาคาร์ตาร์ และกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริงๆ บทบาทของกษัตริย์มีน้อยมากในการครอบงำทางการเมืองและมีรัฐสภาคอยควบคุม” 

เขายังยกตัวอย่างงานของ Banksy ศิลปินกราฟิตี้ชื่อดัง ที่เคยสร้างภาพ Monkey Queen เป็นภาพ Queen Elizabeth 2 ในรูปหน้าลิงแทนหน้าคน หรือภาพราชินีถือภาพสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์พร้อมข้อความ “God Save my Son”  หรือแม้แต่ภาพ Queen Victotia ทำท่าแบบร่วมเพศกับผู้หญิง แต่มันก็ตีความได้หลายความหมาย เพราะอย่าลืมว่า ยุควิคตอเรียนเป็นยุคที่ชายจริงหญิงแท้และศีลธรรมจะต้องชัดเจน เพศภาพต้องเป็นตามกำเนิด งานเหล่านี้เป็นที่ยอมรับในสังคมอังกฤษ “แต่ในไทยบริบทนี้มันยาก แต่ในความยาก เราจะต้องทำงานหนักมากขึ้น ข้อจำกัดเรามีเยอะ เห็นได้ชัดเลยว่าข้อจำกัดมันมีพอสมควรในการสร้างงานหนึ่งชิ้นขึ้นมา”

.

 Performance Art และหนทางแห่งการอยู่รอด ?

“สภาพที่มันจำกัดจำเขี่ยนี้ มันท้าทายเรื่องความคิดสร้างสรรค์มาก แล้วมันมีโอกาสที่จะเกิดงานดีๆ ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้”

เขายกตัวอย่างงานวรรณกรรมแนว Magical Realism ในทวีปอเมริกาใต้ ที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะเผด็จการทหาร “งานแบบ Magical Realism มันเกิดขึ้นจากสภาวะที่เป็นเผด็จการทหาร การพูดอะไรที่ไม่แน่ใจว่าเป็นความจริงไหม ใช่หรือเปล่า มันคือวิธีการแสดงออกแบบใหม่ในงานศิลปะขึ้นมาได้ เพราะมันแยกไม่ออกว่าอันไหนจริง เราสามารถพูดความจริงได้ เพราะไม่เป็นความจริงที่แน่ชัด”

เขาเสนอว่า ศิลปินไทยอาจต้องค้นหาวิธีการที่ทำให้งานเปิดกว้างต่อการตีความได้หลากหลายมุมมอง “เช่น เราทำหนังสั้นสักเรื่องที่อาจกล่าวถึงสถาบัน แต่มันเป็นไปได้ไหมที่จะทำงานชิ้นนี้แล้วทำให้คนดูเข้าใจว่าเขากำลังสนับสนุนสถาบันอยู่ ให้เกิดสนามของการตีความ แล้วมีการแลกเปลี่ยนกัน แต่เจตนาเบื้องลึกเขาอาจจะเป็นการตั้งคำถามได้”

.

.

“ที่จะพอทำได้คือ Performance Art เพราะมันมีความมินิมอล เป็นศิลปะแบบไม่ต้องใช้อะไรเยอะก็ได้ และใช้จรยุทธ์ที่ดี แต่ที่เชียงใหม่ก็ถูกดำเนินคดีเยอะมาก” เขาเตือน “สัญญะมันขึ้นอยู่กับการรับรู้ ถ้าเราเป็นฝ่ายขวาเราก็จะมองเป็นฝ่ายขวา หรือในตรงข้ามกันในฝ่ายซ้าย”

เขายังเสนอแนวทางอื่นๆ เช่น การค้นคว้าทบทวนวรรณกรรม และการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ “อีกอันที่ช่วยได้คือการทบทวนวรรณกรรม แล้วลองไล่ดูว่าใครจะทำอะไรมาบ้าง เราควรทำอะไรให้แตกต่าง” และ “การมีคอนเนคชั่นสำคัญ เพื่อที่จะไปเสนองานโดยไม่โดดเดี่ยว ถ้าคอนเนคชั่นของเราเข้มแข็ง มันก็จะเป็นพลังที่สำคัญมากเลยในการเป็นแนวร่วมในการไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมได้”

สรพจน์ยกตัวอย่างผู้กำกับภาพยนตร์อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ “อภิชาติพงษ์ งานหลายชิ้นเช่น Ten Years Thailand ที่พูดถึงระบอบการปกครองแต่ให้ความจริงมันเล่าเองทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องไปจัดการอะไร เพียงแต่จะให้ความจริงมันเล่ายังไง”

สรพจน์ยังกล่าวถึงกรณีของศิลปินหลายคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 กรณีที่น่าสนใจคือการยอมรับสารภาพของศิลปินบางคน ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดูเหมือนจะปลอดภัยที่สุดในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่

“กรณีของภาพล้อเลียนบางส่วนที่เลือกจะสารภาพเพราะมันต่อรองอะไรไม่ได้เลย ในประเทศนี้การต่อสู้ในทางกฎหมายก็ในเมื่อมันมีมาตรานี้ ก็มีความตั้งใจที่จะไม่ให้เกิดการตั้งคำถามได้ และมันมีปัญหาคือโทษหนักได้ 3-15 ปี”

เขายกตัวอย่างกรณีของ หมอลำแบงก์  ปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่ยังคงทำงานแต่ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น “น่าสงสารมาก ๆ แม้เขาจะทำงานต่อเนื่อง แต่ท่าทีจะต้องระวังตัวมากขึ้น เห็นความเจ็บปวดของเขาจากการถูกลงโทษมา และต้องดิ้นรนทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่รอดจากทั้งการหาเลี้ยงชีพและงานแสดงอื่นๆ เราสังเกตได้เลยว่า Performance ของเขาไม่เหมือนเดิม”

ก่อนจบการสนทนา สรพจน์ทิ้งข้อคิดว่า “ความจำเป็นในการอนุรักษ์มันต้องมี แต่มันต้องมีการเปิดพื้นที่ให้สร้างสรรค์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร แล้วควรทำให้มันอยู่ในส่วนร่วมของชีวิตและสังคม และเมื่อสร้างต่อไม่ได้ หรือสร้างได้เฉพาะกรอบจารีตประเพณี สังคมไทยจะเป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ?”

.

ศิลปะคือเสรีภาพสุดท้าย : “อัฐสิษฎ” ศิลปินผู้ถูกจองจำ 

.

อัฐสิษฎ  ศิลปินผู้ต้องขังคดี 112 ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีเผยแพร่ภาพวาดแนวเสียดสีสังคม เมื่อต้นปี 2567 เขาถูกลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี หลังสารภาพลดโทษเหลือ จำคุก 2 ปี 12 เดือน (หรือประมาณ 3 ปี) ขณะนี้ต้องขังที่เรือนจำกลางบางขวาง 

อัฐสิษฎ เคยเล่าถึงที่มาของผลงานที่ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องขังทาการเมือง ภาพดังกล่าวชื่อ ‘ทางออกประเทศไทย’ เกิดจากการหลอมรวมระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองและแรงบันดาลใจจากการ์ตูน Attack on Titan  จนกลายเป็นภาพประตูทางออกกับเด็กนักเรียนซึ่งเปรียบเสมือนอนาคตของชาติ แต่ประตูนั้นกลับไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง สะท้อนความรู้สึกว่าประเทศนี้อาจไม่มีทางออกให้กับผู้ที่จะเป็นอนาคตของแผ่นดิน

แม้ร่างกายจะถูกจองจำ แต่ความคิดของศิลปินยังโบยบินอิสระ  

“ผมยังคิดคอนเทนท์อยู่เสมอ แค่ยังวาดออกมาไม่ได้ แต่เก็บไว้ว่าถ้าได้ออกไปจะวาดแน่นอน” เขากล่าวด้วยความมุ่งมั่น ทุกเรื่องราวที่พบเจอในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบากในการใช้ชีวิต การกิน การนอน หรือการกดขี่เอาเปรียบ ล้วนถูกบันทึกเป็นภาพในห้วงความคิดที่รอวันปลดปล่อยออกมาเป็นผลงานศิลปะ  อย่างที่ทราบกันดีเส้นทางของศิลปินผู้นี้ไม่ได้ราบรื่น แต่เขามองว่าความท้าทายสำคัญคือการทำให้วงการศิลปะยอมรับงานของเขา ซึ่งมักถูกเรียกว่า “งานใต้ดิน” หรือ “งานสายมืด” ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการล้อเลียนหรือแซวตามบริบทสังคมเท่านั้น

“หากไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ ไม่มีทางที่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ภายใต้กรอบที่มี” อัฐสิษฏกล่าว 

ศิลปินวัย 30 ปี มองว่าสถานการณ์นี้แทบไม่ส่งผลกระทบต่อวงการศิลปะในภาพรวม เนื่องจากศิลปินที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจหรือมองว่าเป็นปัญหา พวกเขาเลือกที่จะสร้างงานภายใต้กรอบที่กำหนด ซึ่งนั่นหมายความว่า “ผลงานก็ไปได้แค่เท่านี้ ความสร้างสรรค์ก็ไปได้แค่เท่านี้”  

อัฐสิษฎยังคงยืนยันว่า “สำหรับผมมันไม่ส่งผล ผมก็ยังคิดแบบเดิมและจะสร้างสรรค์ผลงานเช่นเดิม” 

.

ส่องต่างประเทศ : ที่ทางการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์

ในหลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ทั่วโลก มุมมองที่มีต่อการล้อเลียนเสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญและน่าสนใจ ดังนี้ 

.

สเปน: ยกเลิกกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ ปี 2022

.

ปี 2014 นิตยสาร El Jueves ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนกษัตริย์ Felipe VI และพระราชินี Letizia ในท่าทางทางเพศ สร้างความตื่นตระหนกในสังคมสเปนเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลานั้น สเปนยังคงมีกฎหมายที่ห้ามการดูหมิ่นราชวงศ์ และนิตยสารถูกปรับจากการตีพิมพ์ภาพดังกล่าว

ในปี 2022 สเปนยกเลิกความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ออกจากกฎหมายอาญา การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้มีคำวินิจฉัยว่า การลงโทษการแสดงออกเชิงล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกตามที่ได้รับการคุ้มครองในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้ปัจจุบัน ศิลปินและนักเขียนในสเปนมีเสรีภาพในการล้อเลียนและวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

.

เนเธอร์แลนด์: ยกเลิกกฎหมายหมิ่นกษัตริย์ ปี 2018

.

ในเนเธอร์แลนด์ ศิลปินและนักเขียนการ์ตูนอย่าง Gregorius Nekschot เคยสร้างผลงานล้อเลียนราชวงศ์ที่สร้างความถกเถียงในสังคม แม้ว่าในขณะนั้นเนเธอร์แลนด์ยังคงมีกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ทิศทางของประเทศก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ย้อนไปปี 2018 เนเธอร์แลนด์ได้ตัดสินใจยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการถกเถียงสาธารณะเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ปัจจุบันการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ในเนเธอร์แลนด์ได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการทั่วไปของเสรีภาพในการแสดงออก 

.

สหราชอาณาจักร: วัฒนธรรมการล้อเลียนที่เข้มแข็ง

.

สหราชอาณาจักรมีประวัติที่ยาวนานในการล้อเลียนบุคคลสาธารณะ รวมถึงราชวงศ์ หนึ่งในกรณีศึกษาที่โดดเด่นที่สุดคือผลงานของ Jamie Reid ที่มีชื่อว่า “God Save the Queen” สร้างขึ้นในปี 1977 ในสไตล์พังก์ที่ล้อเลียนพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ผลงานนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลและได้รับการยอมรับในฐานะศิลปะที่ทรงคุณค่า นอกจากนี้ยังมีศิลปินกราฟฟิตี้อย่าง Banksy ที่สร้างผลงานที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับราชวงศ์อีกด้วย

ในแง่ของกฎหมาย สหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการดูหมิ่นกษัตริย์ มีเพียงกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปที่ใช้กับทุกคนโดยไม่มีการแยกแยะสถานะ ด้วยเหตุนี้ ศิลปินจึงมีเสรีภาพที่ค่อนข้างสูงในการล้อเลียนราชวงศ์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือรายการโทรทัศน์ “Spitting Image” ซึ่งใช้หุ่นคาริเคเจอร์ล้อเลียนบุคคลสำคัญทางการเมืองและสังคม รวมถึงสมาชิกราชวงศ์ โดยไม่ได้รับการลงโทษทางกฎหมาย

นอร์เวย์และสวีเดน: ต้นแบบความเปิดกว้าง

.

ประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างนอร์เวย์และสวีเดน ศิลปินเขียนการ์ตูนล้อเลียนกษัตริย์ตามสื่อต่างๆ อย่างเป็นปกติ เช่น Harold ของนอร์เวย์และ Carl XVI Gustaf ของสวีเดน ทั้งสองประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการดูหมิ่นกษัตริย์

ผลลัพธ์คือ การล้อเลียนราชวงศ์ในประเทศเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติในสื่อกระแสหลัก โดยไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย แนวทางนี้สะท้อนถึงความเชื่อที่แข็งแกร่งในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ว่าการมีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยเป็นส่วนสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่มีสุขภาพดี

เมื่อมองภาพรวมของกรณีศึกษาเหล่านี้ เราสามารถเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในประเทศที่มีระบอบกษัตริย์ที่กำลังเคลื่อนไหวไปสู่การให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น ประเทศที่มีราชวงศ์ในยุโรปหลายประเทศได้ยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นกษัตริย์ในทศวรรษที่ผ่านมา โดยยอมรับว่าการดำเนินคดีกับการแสดงออกเชิงล้อเลียนอาจไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสมัยใหม่

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้เกิดพื้นที่ที่กว้างขึ้นสำหรับศิลปินและผู้สร้างสรรค์ที่ต้องการสร้างผลงานที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาและระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง กรณีศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการยอมรับการล้อเลียนและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันที่ทรงอำนาจไม่ได้ทำให้สถาบันเหล่านั้นอ่อนแอลง แต่อาจเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับพัฒนาการของประชาธิปไตยโดยรวม

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ศิลปะใต้เงา 112 (ตอน 1) : ราคาของการเสียดสีและขีดจำกัดของเสรีภาพ

.

X