บันทึกคดีคาร์ม็อบสตูล สามนักศึกษาต่อสู้กิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก ไม่มีใครติดเชื้อ

วันที่ 23 พ.ค. 2566 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดสตูลนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ 3 นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบสตูล #ขับรถไล่ตู่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดสตูล เรื่องการจัดชุมนุมที่มีความเสี่ยงการการแพร่ระบาดของโรคมากกว่า 20 คนขึ้นไป

เหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบขึ้นทั่วประเทศเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่ง และเรียกร้องปัญหาการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพ โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 กลุ่มราษฎรสตูลก็ได้จัดกิจกรรมขึ้นเช่นกัน โดยมีการขับรถรณรงค์จากบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าโกลบอลเฮ้าส์ อำเภอเมืองสตูล ไปจนถึงหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล

ต่อมา พ.ต.อ.สนธยา ธูปทอง ได้กล่าวหาดำเนินคดีต่อนักศึกษา 3 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ได้แก่ ฮัสซาน ทิ้งปากถ้ำ ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ, ธีระเทพ จิตหลัง และศุภวิชญ์ แซะอามา ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนทั้งสามจะได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาที่ สภ.เมืองสตูล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564

จากนั้น พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ยืนยันต่อสู้คดี ศาลจึงมีการนัดสืบพยานไปเมื่อเมื่อวันที่ 26-27, 31 ม.ค. 2566 และนัดสืบพยานจำเลยเพิ่มเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2566  โดยคดีนี้มี อรพรรณ ลิ่มเหรียญทอง และ สันติ สงห้อง เป็นผู้พิพากษาผู้พิจารณาพิพากษาคดี

คดีนี้จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า กิจกรรมคาร์ม็อบที่เกิดขึ้นไม่ได้มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 เนื่องจากเกิดขึ้นในที่โล่งแจ้ง พยานโจทก์ทุกปากรับว่าผู้เข้าร่วมทุกคนใส่หน้ากากอนามัย และมีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน การรอเคลื่อนขบวนรถในช่วงต้นใช้เวลาไม่นานนัก ก่อนขบวนรถจะเคลื่อนไปบนถนน เหมือนการสัญจรโดยรถตามปกติ ไม่ได้มีการรวมตัวกันที่ทำให้เกิดความเสี่ยง กิจกรรมยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุวุ่นวาย และไม่ได้มีการทำผิดกฎจราจร ทั้งหลังกิจกรรม ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดทั้งในส่วนของผู้เข้าร่วมและเจ้าหน้าที่ที่ติดตามการชุมนุม

คดีคาร์ม็อบสตูลนับเป็นคดีที่ศาลจะมีคำพิพากษาในลำดับท้ายๆ ของชุดคดีคาร์ม็อบช่วงปี 2564 ในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากคดีส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องมาก่อนหน้าที่ ขณะที่ยังเหลือคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราชอีก 1 คดี ที่ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้น

การสืบพยานโจทก์วันที่ 1

พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.อ.สนธยา ธูปทอง ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการ สภ.เมืองสตูล

พ.ต.อ.สนธยา เบิกความว่าก่อนวันเกิดเหตุในคดีนี้ได้รับแจ้งจากตำรวจสันติบาลและฝ่ายสืบสวน ว่าจะมีการจัดคารม็อบ “ไล่ลุงตู่” ประกาศผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ “ราษฎรใต้” ซึ่งในขณะนั้นมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และพื้นที่จังหวัดสตูลเองก็เป็นพื้นที่ควบคุม พยานได้ให้ตำรวจประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทั่วไปได้ทราบเพื่อขอให้หยุดจัดกิจกรรมดังกล่าว แต่ยังคงมีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้น

ในวันเกิดเหตุ 10 ส.ค. 2564 พ.ต.อ.สนธยา เบิกความว่า ตนมิได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แต่ได้รับข้อมูลจากฝ่ายสืบสวนและตำรวจสันติบาล ทราบว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 50 คน โดยมีเนื้อหาเรียกร้องเกี่ยวกับการใช้วัคซีนและการแสดงออก

พ.ต.อ.สนธยา ระบุว่า ตนยังได้รับรายงานมาว่าสถานที่จัดกิจกรรมนั้นมีความแออัด และกิจกรรมมีจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัด มิใช่เป็นเพียงผู้เข้าร่วม พยานเชื่อว่าจำเลยได้ทำการร่วมกันแชร์โพสต์และไลฟ์สดผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎรสตูล” จึงได้ทำการแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองสตูล เป็นคดีนี้

ในการตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน พ.ต.อ.สนธยา รับว่า ตนมิได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แต่เป็นผู้นั่งบัญชาการอยู่ที่โรงพัก และให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบติดตามกิจกรรม พยานยังระบุว่าในช่วงเกิดเหตุ มิได้มีการสั่งห้ามผู้คนออกจากบ้านแต่อย่างใด และในวันเกิดเหตุการสัญจรบนท้องถนนก็เป็นไปตามปกติ ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด หรือร้านอาหารก็เปิดทำการตามปกติ

พ.ต.อ.สนธยา เบิกความรับว่าบริเวณที่รวมตัวกันทำกิจกรรมนั้น เป็นที่โล่งแจ้ง แต่ก็เห็นว่าหากมีผู้คนอยู่รวมตัวกันมากๆ ก็จะเป็นพื้นที่แออัดได้ ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จึงต้องให้ผู้จัดกิจกรรมต้องขออนุญาตก่อน แต่ก็รับว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย ไม่มีการยุยง ไม่มีการทำลายทรัพย์สินราชการ ไม่ได้ทำผิดกฎหมายจราจรแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีรายงานเจ้าพนักงานที่ติดตามกิจกรรมติดเชื้อโควิด-19 และไม่ทราบว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมติดเชื้อหรือไม่

ทั้งนี้ หลังจากการสืบพยานปากนี้ ศาลเจ้าของสำนวนได้พูดคุยกับจำเลยทั้งสามคนว่าคิดที่จะทบทวนเกี่ยวกับการต่อสู้คดีหรือไม่ เพราะยังไม่แน่ใจว่าคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใด และสิ่งเหล่านี้ย่อมติดเป็นประวัติจำเลยหากถูกตัดสินลงโทษ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่ออนาคตของจำเลยเอง แต่จำเลยทั้งสามยังยืนยันที่จะต่อสู้คดีต่อไป

.

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบสตูล

.

พยานโจทก์ปากที่ 2: พ.ต.ท.สุทธิชัย อนันทบริพงศ์ ตำรวจฝ่ายสืบสวน

พ.ต.ท.สุทธิชัย เบิกความว่า พยานทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมในครั้งนี้ ก่อนวันเกิดเหตุวันที่ 8 ส.ค. 2564 ตนได้รับแจ้งว่าจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมไล่ลุงตู่ โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1. เรียกร้องวัคซีน mRNA ที่มีคุณภาพให้กับบุคลากรด้านหน้า 2. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพื่อนำผู้มีความเชี่ยวชาญจริงมาบริหารในสภาวะวิกฤติ 3. เรียกร้องให้ประชาชนคนไทยตระหนักว่าการเห็นต่างมิใช่เรื่องผิด และทุกคนสามารถส่งเสียงของตัวเองได้

ในวันเวลาเกิดเหตุ 10 ส.ค. 2564  พ.ต.ท.สุทธิชัย ได้ติดตามสถานที่ชุมนุมจากเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ราษฎรสตุล” ก่อนพยานจะได้เดินทางไปติดตามกิจกรรม พบเห็นผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งแสดงออกทางสัญลักษณ์ เช่น การชูสามนิ้ว การเขียนป้าย และได้พบเห็นจำเลยทั้งสามคนทำการแจกใบปลิว พยานประมาณว่ามีผู้เข้าร่วมกิจกรรมราว 50 คน และมียานพาหนะทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์รวมกันประมาณ 25 คัน

พ.ต.ท.สุทธิชัย เบิกความว่าในที่เกิดเหตุไม่มีประชาชนทั่วไปอยู่ มีแต่ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาติดตามและแฝงตัวเท่านั้น พยานระบุว่าในที่ชุมนุมนั้น ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการมาตรการวัดไข้ แต่ผู้เข้าร่วมสวมใส่หน้ากากอนามัย

พ.ต.ท.สุทธิชัย ระบุว่าหลังเกิดเหตุ ตนได้ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ในการตรวจสอบข้อมูลทางยานพาหนะและทะเบียนบ้านโดยใช้ชุดข้อมูลของผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นเอกสารราชการลับ มิได้มีการนำส่งต่อศาลแต่อย่างใด

ในการตอบคำถามค้าน พ.ต.ท.สุทธิชัย เบิกความว่าวันเกิดเหตุ ตนได้สังเกตการณ์อยู่ก่อนผู้ชุมนุมมาถึง กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในสถานที่นัดพบประมาณ 10 นาที ก่อนจะมีสัญญาณให้เคลื่อนย้าย พยานเห็นความเคลื่อนไหวในเฟซบุ๊ก จึงได้วิเคราะห์กับข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้แน่ใจว่าจำเลยทั้ง 3 เป็นแกนนำและผู้จัดของกิจกรรมนี้  แต่พยานรับว่าไม่ทราบว่ามีข้อความไหนที่จำเลยแจกแจงว่าเป็นผู้นำและผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ

พ.ต.ท.สุทธิชัย เบิกความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุ รถบนถนนสามารถสัญจรได้ตลอดเวลา การชุมนุมมีลักษณะเคลื่อนไหวและมีความอิสระ พยานยืนยันว่ามีการสั่งห้ามก่อนที่จะเกิดกิจกรรม แต่ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานเรื่องการสั่งห้ามจัดกิจกรรมมาแสดงแต่อย่างใด

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 ส.ต.ท.ปัณทัศน์ สามารถ ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองสตูล

ส.ต.ท.ปัณทัศน์ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบขึ้นในวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยประกาศผ่านเพจ  “ราษฎรสตูล”  ตนจึงได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถติดตามการจัดกิจกรรมดังกล่าวจนกว่าจะแล้วเสร็จ เพื่อดูแลความปลอดภัยและให้ความสะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนทั่วไป อีกทั้งผู้บังคับบัญชายังกำชับให้พยานตรวจตราจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นพิเศษอีกด้วย

ในวันเกิดเหตุ พยานได้ขับรถจักรยานยนต์ไปสถานที่นัดหมาย โดยได้เห็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตลอดจนพบผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 30 คน ที่มาตั้งขบวนอยู่ก่อนที่ตนจะไปถึงแล้ว โดยมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ตั้งขบวนอยู่บริเวณไหล่ทาง มีผู้กำลังชูป้ายและชูสามนิ้ว ตลอดจนการแสดงเชิงสัญลักษณ์ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม

ส.ต.ท.ปัณทัศน์ เบิกความว่าในกิจกรรม ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และมีการฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค อีกทั้งสถานที่จัดกิจกรรมไม่ถึงขนาดมีความแออัดแต่อย่างใด เพราะเป็นพื้นที่โล่งและผู้ชุมนุมมีการเว้นระยะห่างกันอยู่ เมื่อมีการเคลื่อนขบวน รถต่างๆ ได้เคลื่อนอย่างอิสระต่อกัน อีกทั้งขบวนก็ปฏิบัติตามกฎจราจรทุกประการ และไม่มีการประกาศปิดถนนแต่อย่างใด จึงคิดว่าไม่มีลักษณะที่อาจเกิดการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ได้ แต่ในระหว่างเคลื่อนขบวนรถ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บางส่วนอยู่ในระยะที่ใกล้กันมาก จึงอาจมีความเสี่ยงอยู่

ส.ต.ท.ปัณทัศน์ เบิกความว่า ตนไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นแอดมินเพจ “ราษฎรสตูล” แต่จากการสังเกตพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และ 2 แสดงออก ทั้งก่อนและหลังจากที่เคลื่อนขบวนไปแล้วนั้น อีกทั้งตอนที่มีการไลฟ์สดเพื่อแจ้งย้ายสถานที่จัดชุมนุมผ่านเพจ “ราษฎรสตูล” นั้น พยานเห็นว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในคลิปไลฟ์สดนั้นด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถ่าย จึงเห็นว่าทั้งสองคนเป็นผู้จัดชุมนุมในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ดีพยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 เข้าร่วมกิจกรรมนี้หรือไม่ เพราะได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจตราจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นพิเศษเท่านั้น

หลักจากเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรม ส.ต.ท.ปัณทัศน์ เป็นผู้จัดทำแผนภาพและคลิปกิจกรรมส่งให้แก่ผู้บังคับบัญชา แต่หลักฐานดังกล่าว ตนมิได้เป็นผู้จัดทำขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ตนเป็นผู้รวบรวมหลักฐานที่ได้มาจากเพื่อนตำรวจในทีมเดียวกัน

.

ภาพกิจกรรมคาร์ม็อบสตูลจากมติชนออนไลน์

.

การสืบพยานโจทก์วันที่ 2

พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.ท.มูฮัมหมัดซุกรี นุ่งอาหลี ตำรวจฝ่ายสืบสวน

พ.ต.ท.ฮัมหมัดซุกรี เบิกความว่า พยานได้รับคำสั่งให้สืบสวนแกนนำและกลุ่มที่ชักชวนในการทำกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสาธารณสุข และขับไล่นายกรัฐมนตรี โดยมีการระบุให้ติดตามจำเลยทั้ง 3 คนโดยเฉพาะเจาะจงอยู่ก่อนแล้ว พยานพบว่าเฟซบุ๊กของทั้งสามคนได้แชร์โพสต์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมมาจากเพจ “ราษฎรใต้” โดยในช่วงดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในลักษณะคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ในวันเกิดเหตุ 10 ส.ค. 2564 พยานได้รับหน้าที่ติดตามแกนนำในการชุมนุม โดยพบว่ามีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ไม่รวมเจ้าหน้าที่ที่เข้าติดตามกิจกรรม พยานเห็นผู้ชุมนุมทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย พยานเห็นจำเลยที่ 1 ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว และเห็นจำเลยที่ 2 และ 3 แจกใบปลิวแก่ผู้คนทั่วไปและนักข่าว และในขณะนั้นมีการถ่ายทอดสดกิจกรรมลงในเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎรสตูล” ด้วย แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถ่ายทอด แต่ภายหลังเชื่อว่าเป็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถ่าย  อัยการโจทก์ได้เปิดคลิปวิดีโอกิจกรรมให้พยานดู

พยานเบิกความว่าหลังมีการเคลื่อนขบวนรถไปจนถึงเป้าหมาย จนมีการรวมพลที่หน้าสหกรณ์ครูจังหวัดสตูล และแยกย้ายกันกลับในเวลาประมาณ 18.00 น. โดยในตอนนั้นมีฝนตกหนักด้วย

ตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ฮัมหมัดซุกรี เบิกความว่า ข้อมูลของจำเลยทั้งสาม พยานพบแค่การแชร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรม และดูพฤติการณ์การแสดงออกในวันที่เกิดเหตุ

พยานเบิกความว่า สถานที่จัดกิจกรรมขณะนั้นเป็นพื้นที่โล่ง และใช้เวลาไม่นานก่อนผู้ชุมนุมเคลื่อนที่ไปโดยการขับรถ พยานรับว่าตนไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามการชุมนุมหรือไม่ อย่างใด และไม่ทราบว่ามีตำรวจมาคอยอำนวยความสะดวกในกิจกรรมหรือไม่ และไม่ทราบว่าภายหลังจัดกิจกรรม มีผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่คนใดติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่

พ.ต.ท.ฮัมหมัดซุกรี เบิกความว่าตนไม่ทราบว่าผู้ใดดูแลเพจ “ราษฎรสตูล” อีกทั้งเอกสารหลักฐานไม่ปรากฏถึง URL เป็นเพียงการแคปหน้าจอมา และไม่ทราบว่ามีบุคคลอื่นถ่ายภาพและไลฟ์สดกิจกรรมอยู่อีกหรือไม่ เพราะพยานได้รับคำสั่งให้ติดตามจำเลยทั้ง 3 เท่านั้น

.

พยานโจทก์ปากที่ 5  ร.ต.ท.พรชัย พรหมสุวรรณ์ ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตกองกำกับการ 5 กองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่ 1 ประจำ สภ.เมืองสตูล

ร.ต.ท.พรชัย เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุวันที่ 8 ส.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊ก “ราษฎรใต้” ได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุม “คาร์ม็อบไล่ตู่” ในพื้นที่จังหวัดสตูล ในวันที่ 10 ส.ค. 2564 โดยในวันเกิดเหตุมีการย้ายสถานที่รวมตัวจากสนามบินจังหวัดสตูล ไปยังบริเวณถนนบายพาส หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านควน พยานและตำรวจสันติบาลอีก 3 นาย จึงติดตามไปยังที่เกิดเหตุ

ร.ต.ท.พรชัย เบิกความว่า ตนพบเห็นผู้ร่วมชุมนุมจำนวน 2 คน ยืนอยู่กับรถฟอร์จูนเนอร์ 1 คัน หลักจากนั้นอีกไม่นานก็ได้มีผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ ตามมาในภายหลัง รวมแล้วประมาณ 50 คน โดยมีจำเลยทั้งสามเป็นหนึ่งในนั้น ทำการนำป้ายและแผ่นกระดาษแจกผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ให้เขียนข้อความ

ร.ต.ท.พรชัย เบิกความว่าก่อนเคลื่อนขบวนคาร์ม็อบ ทุกคนในที่ชุมนุมต่างสวมใส่หน้ากากอนามัย และพบว่าจำเลยได้เดินฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือแก่ผู้ชุมนุมคนอื่นด้วย อีกทั้งผู้มาร่วมต่างเว้นระยะห่างไว้พอสมควร ก่อนมีการเคลื่อนขบวนรถออกไป โดยพยานขับรถติดตามถ่ายภาพและคลิปวิดีโอ โดยผู้เข้าร่วมขับรถไปตามปกติ และเป็นไปตามกฎจราจร

.

พยานโจทก์ปากที่ 6  นิธิศ สิตะรุโน ปลัดอำเภอเมืองสตูล

นิธิศ เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้เป็นผู้กลั่นกรองคำขออนุญาตเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของบุคคลในจังหวัดสตูลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีอำนาจในการชี้ขาดให้อนุญาตหรือไม่อนุญาต โดยผู้ที่จะจัดกิจกรรมทุกคนจะต้องเป็นผู้ยื่นคำขอ แต่หากเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่ต้องส่งคำขอต่อปลัดอำเภอแต่อย่างใด

นิธิศ เบิกความถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาให้จัดกิจกรรม กรณีที่หนึ่ง หากเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลที่น้อยกว่า 20 คน พยานจะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการให้อนุญาตเพียงลำพัง และเมื่อมีการอนุญาตแล้ว จะกำหนดหลักเกณฑ์และรูปแบบเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับมาตรการของสาธารณสุข เช่น กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ผู้เข้าร่วมทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หรือหากเป็นงานเลี้ยงอาหาร ก็จะให้เอาใส่ถุงกลับไปทานที่บ้าน เป็นต้น

กรณีที่สอง หากเป็นการรวมกลุ่มของบุคคลตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ลำดับแรกพยานจะพิจารณาว่ากิจกรรมนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ หากเป็น ก็จะพิจารณาร่วมกับสาธารณสุขว่ามีความเสี่ยงต่อโรคระบาดมากน้อยเพียงใด แต่หากการรวมกลุ่มนั้นมิได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะแล้ว จะอนุญาตได้ ก็ต่อเมื่อต้องลดจำนวนบุคคลให้เหลือ 20 คน เท่านั้น

อีกทั้งหากได้รับอนุญาตแล้ว ปรากฏว่าผู้จัดกิจกรรมไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ พยานก็จะออกคำสั่งให้ระงับกิจกรรมนั้นได้ทันที และถ้าหากได้รับแจ้งว่ามีการจัดกิจกรรมที่ขัดกับคำสั่งภายหลัง พยานก็จะประสานต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้จัดกิจกรรม อีกทั้งพยานได้ให้การเพิ่มเติมว่ากิจกรรมที่โดยปกติแล้วจะมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมากอยู่แล้ว กิจกรรมเหล่านั้นก็จะถูกระงับไปโดยปริยาย เช่น งานกาชาด เป็นต้น

ในการจัดกิจกรรมในคดีนี้ พยานเบิกความว่า มิได้รับคำขอเพื่อจัดกิจกรรมแต่อย่างใด และกิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้จะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือไม่นั้น ตนไม่ยืนยัน เนื่องจากไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่ได้เห็นข้อมูลหรือหลักฐานใดๆ เลยเกี่ยวกับการจัดการชุมนุมครั้งนี้ ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม

.

ประกาศข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาติด (ภาพจากมติชนออนไลน์)

.

การสืบพยานโจทก์วันที่ 3

พยานโจทก์ปากที่ 7: อรนุช นรารักษ์ นักวิชาการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล

อรนุช รับผิดชอบงานและควบคุมโรคติดต่อ รวมไปถึง รับหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยมีหน้าที่จัดการประชุม และปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ในช่วงโควิด-19 ระบาด ได้มีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการควบคุมโรค และเฝ้าระวังการระบาด ในช่วงปลายปี 2564 การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสตูล มีการระบาดค่อนข้างมาก มีอัตราการการเสียชีวิตมากกว่าปี 2565 โดยส่วนมากผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคแทรกซ้อน

พยานเบิกความถึงสถานการณ์ช่วงเกิดเหตุคดีนี้ว่า มีการควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยจะพิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดการระบาด เช่น สั่งปิดร้านอาหารหากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ตามอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ในทุกกิจกรรมที่จะมีการจัดขึ้น ต้องมีการขออนุญาตก่อน โดยขั้นตอนการขออนุญาต ผู้จัดกิจกรรมจะต้องมาชี้แจงรายละเอียดของกิจกรรมด้วยตนเอง โดยอำนาจอนุญาตจะเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด ผ่านมติของจังหวัดสตูล

พยานเบิกความเพิ่มเติมว่าในขณะที่ตนดำรงตำแหน่งและทำหน้าที่อยู่ ไม่เคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการชุมนุม “ขับรถไล่ลุง” อัยการได้ให้พยานดูภาพถ่ายกิจกรรม พยานระบุว่าจากภาพ ผู้เข้าร่วมสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ภายหลังกิจกรรมจบลง พยานไม่ทราบว่ามีการรับประทานอาหารร่วมกันหรือไม่ และไม่ทราบว่ามีผู้ชุมนุมคนใดติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ โดยพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่ทราบรายละเอียดหรือรูปแบบกิจกรรม

อรนุช เบิกความจากการดูภาพถ่าย เห็นว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งกว้างและอากาศถ่ายเทสะดวก ผู้เข้าร่วมสวมใส่หน้ากากอนามัย และมีบางรูปภาพผู้เข้าร่วมเว้นระยะห่างต่อกัน แต่ก็มีบางรูปที่ผู้เข้าร่วมอยู่ใกล้ชิดกันอยู่บ้าง สภาพโดยรวมแล้วเห็นว่าโล่งกว้างและสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ

พยานรับว่าไม่มีข้อมูลใดระบุโรคโควิด-19 สามารถแพร่ระบาดได้หากบุคคลนั่งในรถส่วนตัว และไม่มีรายงานว่ามีการติดเชื้อจากรถจักรยานยนต์ แต่ว่าผู้คนสามารถติดเชื้อได้ ถ้าหากมีคนใดคนหนึ่งมีอาการจาม ไอ และไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย

อรนุช เบิกความว่า ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ไม่มีการห้ามใช้ถนน และในช่วงนั้นการรับวัคซีนยังไม่ทั่วถึง ไม่ครอบคลุมถึงประชากรในจังหวัดสตูลทั้งหมด และมีการระบาดในหลายพื้นที่ แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้

.

พยานโจทก์ปากที่ 8: พ.ต.ท.พิรุณ ถวัลย์ธัญญา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสตูล

พ.ต.ท.พิรุณ เบิกความในคดีนี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 พ.ต.อ.สนธยา ธูปทอง ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามว่าได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมโดยเป็นการร่วมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 20 คนขึ้นไป เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดสตูล

พ.ต.ท.พิรุณ ระบุว่าขณะเกิดเหตุ ตนมิได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แต่ได้รับพยานหลักฐานเกี่ยวกับการชุมนุมจากตำรวจฝ่ายสืบสวนและสันติบาล ในการสืบสวน พยานได้สอบถามไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ ให้สืบค้นถึงผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก “ราษฎรใต้” และ “ราษฏรสตูล” แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นแอดมิน เนื่องจากข้อมูลอยู่กับบริษัทในต่างประเทศ

พยานเบิกความว่าในวันที่ 8 ส.ค. 2564 จำเลยที่ 3 ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2564 อันเป็นการโพสต์ก่อนที่เพจ “ราษฎรใต้” จะได้โพสต์เชิญชวน ในวันเกิดเหตุ พยานได้รับรายงานว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ไลฟ์สดผ่านเพจ “ราษฎรสตูล” และจำเลยที่ 3 เป็นผู้แจกใบปลิวเกี่ยวกับรายละเอียดของกิจกรรม จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมนี้

พ.ต.ท.พิรุณ ไม่ยืนยันว่าผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นจะมีการไลฟ์สดในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่ และจำเลยทั้งสามเป็นผู้แชร์โพสต์จากทั้งสองเพจข้างต้นเหมือนกับคนอื่นๆ ยังไม่ปรากฎว่าทั้งสามมีความเชื่อมโยงกับเพจเหล่านั้น

ในช่วงเกิดเหตุ เป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นจำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดสตูลยังถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด การจัดกิจกรรมที่เป็นการรวมกลุ่มของบุคคลนั้นจำต้องขออนุญาตจากผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นพนักงานควบคุมโรคก่อนเสมอ แต่หากเป็นเพียงแค่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาต

พยานเบิกความว่า ตนได้เรียกผู้ครอบครองยานพาหนะตามป้ายทะเบียนซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุมาสอบสวนด้วย บางคนก็รับว่าตนได้เข้าร่วมการชุมนุมจริง บางส่วนก็ให้การปฏิเสธว่ามิได้มาเข้าร่วมแต่อย่างใด  พยานจึงไม่ได้มีการดำเนินคดีหรือสอบสวนเพิ่มเติมถึงผู้ครอบครองยานพาหนะคนอื่นๆ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับบุคคลเหล่านั้น เว้นแต่จำเลยทั้งสาม

เมื่อพยานรวบรวมพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับคำให้การเพื่อแก้ต่างของจำเลยทั้งสามในชั้นสอบสวนนั้นไม่มีน้ำหนักพอ จึงมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม และส่งสำนวนให้กับอัยการต่อไป

พ.ต.ท.พิรุณ เบิกความถึงเหตุที่เชื่อว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกกรมได้แก่ จำเลยที่ 3 ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมชุมนุมในวันดังกล่าว อีกทั้งตำรวจสันติบาลที่แฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ยังได้พบกับจำเลยทั้งสามในที่เกิดเหตุ และหนึ่งในจำเลยได้ไลฟ์สดผ่านทางเพจ “ราษฎรสตูล” ทำให้รู้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือแกนนำ และเหตุที่ตนไม่ได้ดำเนินคดีกับคนอื่นๆ เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานได้

พยานรับว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมการชุมนุมในครั้งนี้มิได้เป็นการเรียกร้องที่ขัดกับกฎหมายแต่อย่างใด ประกอบกับสถานที่จัดกิจกรรมการชุมนุมนั้นเป็นพื้นที่ที่โล่งแจ้งและไม่ได้มีความแออัด กิจกรรมยังเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย มิได้มีเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีตำรวจคอยดูแลและให้ความสะดวกตลอดกิจกรรม

ทั้งนี้ในนัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้าย ไม่มีผู้สังเกตการณ์ไปติดตามการพิจารณา

.

————————-

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

X