คุยเรื่องสิทธิเด็กกับวรางคณา มุทุมล: เลนส์มองปรากฏการณ์เด็กโต้กลับในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

เรื่อง: ชลธร วงศ์รัศมี

อายุของผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง และอายุของผู้ต่อต้านอำนาจรัฐได้ลดน้อยลงทั่วโลก “เด็ก” กลายมาเป็น “ผู้กระทำการ” (actor) ที่สำคัญ รวมทั้งการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยขณะนี้ ที่เด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้สร้างสรรค์การประท้วงตามแบบฉบับของตนเอง

ท่ามกลางสถานการณ์ “เด็ก-เยาวชนโต้กลับ” อย่างเข้มข้น จำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกคุกคามในพื้นที่โรงเรียนและครอบครัวเพราะการแสดงออกทางการเมืองในสังคมไทยได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ซึ่งเริ่มการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก หรือตั้งแต่นักเรียนเริ่มแสดงออกโดยผูกโบว์สีขาวและชูสามนิ้วในโรงเรียนครั้งแรก มีเด็กจำนวนมากถูกข่มขู่คุกคาม ปิดกั้นการแสดงออก และยังมีเยาวชนถูกแจ้งข้อกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญาจากการชุมนุมทางการเมืองถึง 6 รายแล้ว รวมทั้งการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อเยาวชนรายล่าสุด

องค์กรด้านสิทธิเด็กมีจุดยืนอย่างไรและอยากให้เราเข้าใจประเด็นใดจากปรากฏการณ์นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนพูดคุยกับ วรางคณา มุทุมล ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็ก และที่ปรึกษาองค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ประจำประเทศไทย เพื่อช่วยให้มุมมองว่าในวันที่เด็กและเยาวชนกลายมาเป็นตัวแสดงหลัก แต่ผู้ใหญ่หลายคนอาจยังไม่พร้อม เราควรทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง

ทั่วโลกต่างพยายามลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เด็กมีวิจารณญาณและความสามารถพอจะตัดสินใจแสดงออกหรือร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่? อาจเป็นคำถามที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่แน่ใจ บ่อยครั้งเราจึงพบเห็นการไล่เด็กที่เคลื่อนไหวทางการเมืองกลับไปเรียนหนังสือหรือช่วยพ่อแม่ล้างจานก่อน แต่วรางคณากล่าวว่าทั่วโลกล้วนปรับทัศนคตินี้กันใหม่แล้ว

ตามเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติ ‘เด็ก’ คือผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่วรางคณากล่าวว่าหลายพื้นที่ในโลก ได้ให้สิทธิและความไว้เนื้อเชื่อใจแก่เด็กในช่วงอายุต่ำกว่านั้น

“มีงานวิจัยเชิงจิตวิทยา พัฒนาการเด็ก และกฎหมาย ว่าคุณอย่าตัดสินเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โต้แย้งวาทกรรมว่าอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังคิดไม่ได้ งานวิจัยเหล่านี้บอกว่าจริงๆ แล้ว เด็กมีศักยภาพเยอะกว่านั้น มีงานวิจัยหนึ่งบอกว่าเด็กอายุ 11 ปี สามารถมีมุมมองของตัวเองได้และตระหนักถึงประเด็นทางสังคมที่กระทบในชีวิตของเขา[1] จากงานวิจัยล่าสุดชี้ออกมาว่าเด็กอายุตั้งแต่ 14-16 ปี สมองมีความซับซ้อนพอจะแยกแยะประเด็นและคำถามที่ซับซ้อนพอๆ กับผู้ใหญ่ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมออสเตรียถึงเลื่อนอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาที่ 16 ปี เพราะเขาตระหนักว่าจากผลศึกษาทางวิชาการ เด็กสามารถคิด วิเคราะห์ เลือกทางที่เหมาะสมกับเขาได้”

การลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงเป็นข้อถกเถียงในพื้นที่สาธารณะทั่วโลก อาร์เจนตินา ออสเตรีย บราซิล นิการากัว ล้วนลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงเหลือ 16 ปี เพราะเห็นว่าในวัยนี้เยาวชนมีวุฒิภาวะแล้ว ในสหรัฐอเมริกาการลดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1971 เมื่อรัฐบาลส่งเยาวชนอายุ 18 ปีไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม จนเกิดคำถามว่าถ้าไปรบได้ทำไมถึงเลือกตั้งไม่ได้ และเกิดแรงผลักดันจนรัฐตรากฎหมายลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 21 ปี เป็น 18 ปี ปัจจุบันในสหรัฐฯ กำลังมีข้อถกเถียงเรื่องการลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง จากอายุ 18 ปี เป็น 16 ปี หนึ่งในเหตุผลคือเด็กนักเรียนชั้นมัธยมคือผู้ได้รับผลกระทบจากการกราดยิงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่กลับไม่มีส่วนร่วมในนโยบายการควบคุมอาวุธปืนของรัฐต่างๆ

วรางคณากล่าวว่าสำหรับในประเทศที่เด็กอายุน้อยกว่า 18 ปียังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง การชุมนุมเป็นวิธีการแสดงออกที่สำคัญของเด็ก

“ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเลือกตั้งหรือการชุมนุมเรียกร้อง คือหนทางถกเถียงเรื่องต่างๆ ที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์ สำหรับเด็กยิ่งสำคัญมาก เพราะเขาอาจยังไม่ได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การชุมนุมเรียกร้องคือหนทางที่เด็กจะสื่อสารความคับข้องใจ แม้ความสามารถของเด็กยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่เราไม่ควรเอาความสามารถของเด็กมาเป็นตัวชี้วัดแล้วกีดกันเขาออกไป เพราะถ้าเอาความสามารถเป็นตัวชี้วัด ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่มีความสามารถเช่นกัน”

วรางคณากล่าวว่ามีงานวิจัยจำนวนมากที่ทลายล้างความเชื่อว่าเด็กไม่มีความสามารถในการตัดสินใจเพราะวัยวุฒิ งานวิจัยเหล่านี้อยู่ในสำนักทฤษฎีความเป็นพลเมือง (Citizenship) ทฤษฎีสายนี้พยายามบอกว่าเด็กควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นพลเมืองตั้งแต่วันนี้ได้โดยไม่ต้องรอเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า

“ทฤษฎีสายนี้บอกว่าอย่าไปใช้คำว่าความสามารถ วัยวุฒิ คุณวุฒิ แต่ให้ตระหนักถึงเรื่อง การพัฒนาเด็กในภาพกว้าง และเราควรจัดวางแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองใหม่ เด็กคือองคาพยพหนึ่งในสังคม ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาส สิทธิ และพื้นที่กับเขา เพื่อทำให้เขาสามารถใช้พื้นที่ของเขาได้อย่างเต็มที่ คำพูดว่า ‘เด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า’ อาจจะไม่สอดคล้องอีกต่อไป เราอาจจะต้องคิดว่า ณ วันนี้ เขาคือมนุษย์คนหนึ่ง แล้วเขามีคุณค่าอะไรต่อสังคม คุณไม่ต้องรอให้เขาเป็นผู้ใหญ่แล้วค่อยจำแนกว่าเขาเป็นพลเมือง เด็กไม่ควรถูกมองว่าเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในสังคม มีความสนใจ มีการแสดงความเห็นของเขาเยี่ยงผู้ใหญ่ เพียงแต่มีความต้องการหรือการปกป้องเฉพาะด้านซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองและตอบสนอง”

วรางคณากล่าวว่าแนวคิดเช่นนี้จะได้รับการตอบรับอย่างดีในประเทศที่เห็นความสำคัญของเด็ก และมีความเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความสามารถและตัดสินใจ จะเป็นผลดีกับเด็กและประเทศต่อไป

 

เด็กคือผู้กระทำการและมีความสามารถ

เลนส์มองปรากฏการณ์ที่มาในวันผู้ใหญ่ยังไม่พร้อม

“ในอดีตมีปัจจัยบางอย่างขวางกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็ก หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรมผู้ใหญ่เป็นผู้รู้ดีกว่า (adult-directed educational culture) เป็นมุมมองแบบประเพณีนิยมที่มองว่าผู้ใหญ่มีบางสิ่งบางอย่างที่เด็กไม่มี เช่นความสามารถในการวิเคราะห์ การตัดสินใจ วัยวุฒิ และคุณวุฒิที่สูงกว่าเด็ก แต่แนวคิดนี้ถูกท้าทายโดยงานวิจัยใหม่ๆ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเด็กที่เพิ่มมากขึ้น”

วรางคณากล่าวว่าแนวคิดผู้ใหญ่เป็นผู้รู้ดีกว่าถูกท้าทายหลังปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โดยมีแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองข้างต้นและยังมีอีกแนวคิดที่สำคัญคือแนวคิดการเป็นผู้กระทำการของเด็ก (Children’s Agency) ที่มองว่าเด็กเป็นผู้กระทำการและมีความสามารถ

“หลังปี ค.ศ. 2000  เด็กมีส่วนร่วมเรียกร้องเรื่องการเหยียดสีผิวในทวีปอาฟริกา เด็กเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทำแท้งในสหรัฐอเมริกา ขบวนการเคลื่อนไหวของเด็กขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีคนสนใจศึกษาว่าทิศทางแบบนี้หมายความว่าอย่างไร เลยมีแนวคิดเรื่องการเป็นผู้กระทำการของเด็ก (Children’s Agency) ขึ้นมา แนวคิดนี้ตีความ ‘การมีส่วนร่วม’ ของเด็กในแง่มุมที่เป็นจริงและมีชีวิตชีวามากขึ้น ในลักษณะที่เด็กมีสิทธิ มีอิสระตัดสินใจ มีความเป็นไทในตัวเอง มีความสามารถ แนวคิดนี้ถูกพัฒนามาในช่วงไม่กี่ปีนี้”

วรางคณายกตัวอย่างกรณีของสองพี่น้องอดัมและโรซี่ที่มักจะได้รับการยกตัวอย่างเสมอเมื่อพูดถึงแนวคิดการเป็นผู้กระทำการของเด็ก

“ปี 2011 สองพี่น้องตระกูลคาสเทิล คืออดัมพี่ชาย อายุ 16 ปี และโรซี่น้องสาว อายุ 15 ปี ออกไปประท้วงที่จตุรัสทราฟัลการ์เรื่องค่าเทอมที่แพงมากในอังกฤษ แล้วถูกตำรวจใช้วิธี kettling[2]  โดยอ้างว่าเด็กก่อความวุ่นวายต้องจับตัวเพื่อไม่ให้เกิดการบานปลายใหญ่โตขึ้น พอตอนหลังเด็กๆ เปิดเผยว่าไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมทั้งตอนถูกจับและตอนถูกกักตัว ซึ่งศาลอังกฤษเข้าข้างตำรวจ มีคำพิพากษาว่าตำรวจมีสิทธิจับเด็ก ทนายบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรป

“ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีคำสั่งว่ารัฐควรมีพันธะหน้าที่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและระเบียบกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ในการออกมาตรการพิเศษสำหรับเด็กที่จะเข้าร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ต้องส่งเสริมสิทธิในการเรียกร้องชุมนุมของเด็ก ขณะเดียวกันต้องหามาตรการป้องกันกรณีที่เด็กอาจถูกล่วงละเมิดจากความเป็นเด็กหรือภาวะเปราะบาง เช่น วางแผนอบรมตำรวจให้ปฏิบัติตัวอย่างเป็นมิตรกับเด็กและหลีกเลี่ยงวิธีการที่น่าละอาย”

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากกรณีของสองพี่น้องคาสท์เทิลจะพบว่าการวางมาตรฐานใหม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องระมัดระวังและรับผิดชอบมากกว่าเดิมเมื่อผู้ชุมนุมเป็นเด็ก เกิดขึ้นได้ด้วยพลังจากกรอบใหญ่นั่นคือความเป็นประชาคมยุโรปซึ่งกำกับกันและกัน โดยมีทั้งพลังทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เบื้องหลัง ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงในเรื่อง “เด็กเป็นผู้กระทำการและมีความสามารถ” จึงนับว่าไม่ได้เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย แต่ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะ “โครงสร้างทางอำนาจ” ในสังคม

โครงสร้างทางอำนาจของสังคมไทยที่ทำให้เด็กคับข้องใจ

ผู้ใหญ่คับข้องใจ ทุกคนล้วนคับข้องใจ

วรางคณายกตัวอย่างงานวิจัยของประเทศฟินแลนด์เรื่อง “การเป็นผู้กระทำการของเด็ก : โอกาสและความตึงเครียดต่างๆ” (Children’s Agency: Opportunities and Constraints ปี 2019) ซึ่งสรุปว่าการเข้าไปสำรวจ “โครงสร้างเชิงอำนาจ” ของแต่ละสังคมสำคัญต่อการสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพของเด็กกับอำนาจและหน้าที่ของผู้ใหญ่ ซึ่งโครงสร้างอำนาจนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่โครงสร้างทางอำนาจกำลังถูกท้าทายเช่นกัน

“ในช่วงเวลาแบบนี้ สิ่งที่เด็กสื่อสารเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความโกรธขึ้ง ความไม่เข้าใจ ไม่ต่างกับการเปิดกล่องแพนโดรา[3] เมื่อเขามีโอกาสได้เปิดเผยปัญหาหนึ่ง ปิศาจตัวหนึ่งได้ออกมาจากกล่อง จะมีปิศาจอีกหลายตัวพวยพุ่งตามมา ปัญหาที่เด็กเปิดเผยเป็นปัญหาที่เด็กเผชิญมายาวนาน แล้วถูกซุกซ่อนไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การถูกกดขี่ เลือกปฏิบัติเพียงเพราะต้องการเลือกเพศสภาพของตัวเอง การล่วงละเมิดทางเพศโดยคนใกล้ตัว การกดทับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนา ปัญหาเหล่านี้ทะลักทลายเปิดเผยออกมาพร้อมๆ กับที่เด็กๆ ได้โอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้อง

“มันเป็นความกลัวและเป็นความรู้สึกที่ผสมปนเปหลายอย่างมาก สถานการณ์ตอนนี้ปะทะกันในหลายมิติ ทั้งระดับการเมือง ครอบครัว วัฒนธรรม ไม่มีใครถูกเตรียมมาให้รับมือกับอะไรที่เร็วและแรงขนาดนี้ หลายครั้งพ่อแม่และครูวางตำแหน่งตัวเองในฐานะผู้ที่อยู่เหนือกว่า และคิดว่าตัวเองควรมีสิทธิตัดสินใจให้เด็กว่าอะไรถูกผิด การถูกตั้งคำถามกับตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ถูกท้าทายอำนาจที่คิดว่าตนมีอยู่ ภายใต้คลื่นของความเปลี่ยนแปลงที่กรอบวัฒนธรรมอำนาจแบบเดิมๆ กำลังถูกสั่นคลอน พ่อแม่ ครู ผู้มีอำนาจในสังคมกังวลเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของตัวเอง

“เวลาเราพูดเรื่องการเป็นผู้กระทำการของเด็ก มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องแตะเรื่องศีลธรรมและแนวคิดเชิงการเมือง เพราะเมื่อเราพูดถึงเรื่องอำนาจจะกลายเป็นเรื่องการเมืองทันที ต้องค้นหาว่าตกลงแล้วคุณนิยามว่าผู้ใหญ่กับเด็กมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันยังไง แบบไหน ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหวมาก เพราะมีความตึงเครียดเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่บริบทของพื้นที่โรงเรียน แต่รวมถึงพลวัตระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กกับระบอบสังคม และเด็กกับการเมือง”

วรางคณากล่าวว่าในสังคมหนึ่งๆ เด็กจะได้รับการยอมรับเมื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่ เกิดจากโครงสร้างอำนาจในสังคมนั้น ในสังคมที่เด็กถูกมองว่าเป็นสมบัติของผู้ใหญ่ มักตีความว่าเด็กไม่มีความสามารถเพียงพอในการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตัวเอง ต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่ก่อนถึงตัดสินใจได้

“การใช้ความรุนแรงกับเด็กหลายครั้งมาจากการใช้อำนาจกดทับต่อกันมาเป็นทอดๆ ครูหรือผู้ปกครองอาจโดนการใช้อำนาจ ถูกควบคุม หรือสั่งให้ทำโดยบอกว่าต้องเชื่อฟังโดยไม่ตั้งคำถาม เขาไม่รู้จักเครื่องมืออื่นที่จะสอนเด็กนอกจากใช้อำนาจ เขาต้องทำงานหนักกับความตะขิดตะขวงใจของตัวเองถ้าต้องเปิดรับการใช้วินัยเชิงบวกหรือเครื่องมืออื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เด็กแลกเปลี่ยน ถกเถียงตามเสรีภาพที่เด็กมี”

วรางคณากล่าวว่า ตามหลักสิทธิเด็ก ผู้ใหญ่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ และใช้กลไกอย่างการเสริมวินัยเชิงบวกหรือการเป็นผู้ปกครองเชิงบวก แต่การเป็นครูหรือผู้ปกครองที่เคารพสิทธิเด็กไม่ใช่เรื่องง่ายดาย

“การเป็นผู้ปกครองเชิงบวกหมายความว่าเราต้องหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่ทางร่างกาย พ่อแม่บางคนไม่ตีลูก แต่ใช้ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ใช้คำพูด ใช้การกดดัน หรือทำเป็นไม่สนใจ บอกว่าฉันจะไม่รักเธอแล้ว ถ้าไม่ฟังก็ตัดพ่อตัดแม่ตัดลูกกันไปเลย การขาดพื้นที่ปลอดภัยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กและวัยรุ่นยุคปัจจุบันเผชิญปัญหาสุขภาพจิต เช่น อาการซึมเศร้า บ้านและโรงเรียน น่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่เด็กหลายคนพบว่าบ้านกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยกับเด็กเลยแม้แต่น้อย

“ขณะเดียวกันเราเข้าใจความกังวลใจของผู้ใหญ่หลายคนช็อกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเด็กออกมามากมายขนาดนี้ แล้วในฐานะผู้ใหญ่เอง ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เด็กเฮโลกันไป ในที่สุดมันเป็นความรับผิดชอบของเรา ถ้าเขาเกิดอันตรายใดๆ ขึ้นมา พ่อแม่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูก ครูกลัวว่าถ้าเด็กเป็นอะไรไป ครูกลัวจะโดนโจมตีว่าไม่ดูแลลูกศิษย์ ไม่ใช่แต่เด็กที่คับข้องใจ ผู้ใหญ่เองก็คับข้องใจและกังวลใจไม่น้อยไปกว่ากัน เขาขาดเครื่องมือที่เหมาะสม ขาดทักษะที่ดีในการสื่อสารหรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหรือลูกศิษย์ ขาดพื้นที่พูดคุยแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

“การจะเป็นผู้ปกครองหรือครูที่ไม่ใช้ความรุนแรงและเคารพสิทธิเด็กเป็นทักษะอย่างหนึ่ง ต้องฝึกฝน ทดลอง ปรับเปลี่ยน หาวิธีการที่หลากหลาย  ผู้ปกครองหรือครูที่พยายามปรับตัวต้องล้มลุกคลุกคลาน โดยเฉพาะถ้าไม่มีแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีทิศทางยุทธศาสตร์เครื่องมือหรือที่ปรึกษาที่เขาจะหันหน้าไปคุยด้วย ส่วนใหญ่พอพบว่าไม่ได้ผลแล้วท้อ คนที่ล้มเลิกกลางคันมักไม่ได้วิเคราะห์ว่าเพราะอะไรหรือทำพลาดตรงไหน หรือไม่มีความพยายามเพียงพอที่จะเสาะหาวิธีการทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งการใช้ความรุนแรง

“จากผลการวิจัยประเทศอื่นที่ใช้แนวทางนี้แล้วได้ผล เช่น ในสวีเดน ในโรงเรียนบางแห่งของฟิลิปปินส์ ไม่เพียงเพราะครอบครัวหรือโรงเรียนพร้อมเปลี่ยนแปลง แต่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและมีคนคอยกระตุ้นให้เขาสำรวจตัวเองว่าเป็นเพราะอะไรการเลี้ยงลูกหรือสอนนักเรียนโดยไม่ใช้ความรุนแรงถึงไม่สำเร็จ และต้องชวนกันทบทวนว่าสังคมหรือพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกัน มีโครงสร้างทางอำนาจแบบไหน ใครเป็นคนกำหนดขึ้นมา ควรต้องเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า แล้วเด็กอยู่ตรงไหนในโครงสร้างความสัมพันธ์นั้น หรือเราแค่เชื่อตามๆ กันมาว่าสิ่งที่เราทำอยู่ คือสิ่งที่ถูกต้องและดีที่สุดแล้ว”

จุดยืนของผู้ใหญ่อยู่ตรงไหนในวันที่เด็กโต้กลับ

“มีประเด็นที่เราควรต้องพิจารณาเมื่อเราส่งเสริมเรื่องสิทธิการประท้วง เช่นความเป็นไปได้ที่เด็กจะถูกฉวยใช้ หลายกรณีผู้ใหญ่ใช้เด็กเป็นแนวหน้าเพื่อให้สังคมเกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือสร้างความช็อกให้สังคม เราต้องตระหนักถึงเด็กกลุ่มนี้ด้วย อย่างกรณีประเทศซีเรีย รัฐบาลจงใจทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นเด็กบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างแรงกดดันเชิงการเมือง หรือ ค.ศ.1989 ที่มีการนำทารกไปประท้วงเรื่องการต่อต้านการทำแท้งในอเมริกา

“เด็กที่เผชิญกับการฉวยใช้ หรือการถูกละเมิดระหว่างการแสดงออกถึงเสรีภาพ บางครั้งจะมีภาวะความเครียดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในจิตใจ (PTSD: post-traumatic stress disorder) ได้ง่ายกว่าและอาจมีการแสดงออกทางอารมณ์รุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เมื่อดูพัฒนาการเรื่องนี้หลังจากโลกได้เรียนรู้บทเรียนที่เด็กถูกฉวยใช้หลายครั้งเพื่อผลทางการเมือง จึงเกิดแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมอย่างมีจริยธรรม (ethical participation) ขึ้น”

การมีส่วนร่วมอย่างมีจริยธรรม ประกอบไปด้วยหลัก 9 ประการคือ 1. เป็นการมีส่วนร่วมโดยได้รับข้อมูลที่โปร่งใสครบถ้วน เด็กต้องได้รับการแจ้งถึงจุดประสงค์ของการมีส่วนร่วมอย่างไม่ปิดบัง และทราบถึงผลกระทบที่ตนจะได้รับหากเข้าร่วม 2. เป็นการมีส่วนร่วมโดยสมัครใจ  เด็กมีเวลาพิจารณาและตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่และสามารถถอนตัวเมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ 3. เด็กได้รับความเคารพ สามารถแสดงความคิดเห็น มีกระบวนการมีส่วนร่วมที่สร้างความนับถือตนเองให้เกิดขึ้นแก่เด็ก 4. เด็กสามารถสัมพันธ์กับกิจกรรมที่เข้าร่วมด้วยได้ในระดับที่เหมาะสมกับอายุและความนึกคิด 5. กระบวนการจัดการและสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกับเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย 6. รองรับความหลากหลายทั้งเพศสภาพ ศาสนา ลักษณะร่างกายของเด็กที่มีทั้งสมบูรณ์และบกพร่องบางประการ 7. มีทีมสนับสนุนที่ได้รับการฝึกฝนในการทำงานกับเด็ก 8. มีความปลอดภัย ผู้จัดกิจกรรมมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงแก่เด็ก 9. องค์กรและผู้จัดกิจกรรมต้องรับผิดชอบต่อเด็กที่เข้าร่วมหากเด็กเกิดอันตราย[4]

“นอกจากให้เด็กตระหนักเรื่องสิทธิเด็กแล้ว การประเมินความเสี่ยงและระวังว่าเด็กเองมีความเปราะบางบางอย่างที่อาจจะถูกฉวยใช้ได้ก็สำคัญ ผู้ใหญ่อาจชวนให้เขาทบทวนว่าการเข้าร่วมของเขาเป็นการเข้าร่วมที่ไม่ได้ฉวยใช้เขา และเขาเข้าใจผลที่จะเกิดขึ้นดีแล้วหรือเปล่า ชวนเขาประเมินความเสี่ยง ประเมินผลกระทบของการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การใช้สื่อออนไลน์ การเข้าถึงข้อมูลที่ปลอดภัย ชวนทบทวนว่ามีบทเรียนอะไรที่เขาอาจเรียนรู้ได้จากในอดีต เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรเข้ามาสนับสนุนเด็ก ชวนเขาคิด คุย แลกเปลี่ยน วางแผนร่วมกัน

“ถ้าดูตัวอย่างในต่างประเทศ ช่วงเหตุการณ์เคลื่อนไหว Black Lives Matter ที่ผ่านมา มีกลุ่มแม่ๆ รวมตัวกันเป็น Mommy Protest แม่ๆ เอาตัวเองมาล้อมตัวลูกๆ ไว้ตอนตำรวจจะใช้แก็สน้ำตา แล้วบอกว่า These are  our children. ห้ามทำอะไรลูกฉันนะ ส่วนในสังคมไทย เราเห็นหลายครอบครัวพยายามปรับตัว เราเห็นพ่อแม่ที่ไปนั่งชุมนุมกับลูก เห็นพ่อแม่ที่ยืนดูอยู่ห่างๆ ปล่อยให้ลูกอยู่กับเพื่อนในที่ชุมนุม แล้วบอกว่าเขาจะรออยู่ตรงนี้นะถ้ามีอะไร พ่อแม่และครูในสังคมไทยอาจอยู่ในช่วงเรียนรู้และพัฒนา ปรับตัวไปสู่รูปแบบใหม่ของความสัมพันธ์ที่เด็กไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติตามอย่างเดียวอีกต่อไป การเปลี่ยนนี้ไม่ง่ายและต้องใช้เวลา แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงได้เขาจะได้เด็กที่กลายเป็นคู่คิด ผู้กระทำการกำหนดตัดสินใจร่วมกับผู้ใหญ่ และเป็นผู้กระทำการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (Agent of Change)”

สิทธิเด็กในหลักการขององค์การสหประชาชาติ

“ถ้าเราย้อนกลับไปดูในเชิงกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศจะเห็นว่าพัฒนามาตามความท้าทายหรือเหตุการณ์ที่เด็กถูกละเมิดสิทธิหรือถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ปี ค.ศ. 1989 มีการตราอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งประกอบไปด้วยสิทธิสี่กลุ่มหลักๆ คือ 1. สิทธิในการมีชีวิตรอด ได้เกิดมาและเข้าถึงปัจจัยสี่พอจะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ 2. สิทธิในการได้รับการพัฒนา ได้เข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาอย่างรอบด้านทั้งสติปัญญาและกายภาพ เพื่อให้มีทักษะเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมได้ 3. สิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากภัยอันตรายทุกรูปแบบ ทั้งการล่วงละเมิดทางกาย วาจา อารมณ์ สังคม การถูกแสวงประโยชน์ 4. สิทธิในการมีส่วนร่วมหรือได้รับการรับฟัง ซึ่งการประท้วงเรียกร้อง หรือแสดงออกทางการเมืองของเด็กจะอยู่ในสิทธิกลุ่มนี้

“คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Commission) เคลื่อนไหวออกแถลงการณ์รับรองว่าการประท้วงหรือการเรียกร้องของเด็กเป็นสิ่งที่เราควรต้องตระหนักและส่งเสริม เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเปล่งเสียงได้กลุ่มอื่นๆ และยืนยันว่าเสรีภาพในการรวมตัวและการชุมนุมคือการให้โอกาสแก่บุคคลในการแสดงความเห็นทางการเมือง และสำคัญพอๆ กับสิทธิในการเลือกตั้ง

“หลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา จากการเคลื่อนไหวและแสดงออกทางการเมืองของเด็กที่เกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เริ่มมีการยกระดับสิทธิเด็ก มีการตั้งมีผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (special rapporteur) เข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุมต่างๆ  เพื่อตรวจตราการใช้สิทธิในการชุมนุมและรวมตัวโดยสงบ ใน Black Lives Matter หรือการเคลื่อนไหวที่ฮ่องกงก็มีเจ้าหน้าที่พิเศษฯ เข้าไปจับตามอง ปัจจุบันคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กพัฒนากรอบการทำงานย่อยๆ (general comment) เพื่อทำให้คนทำงานมีแนวทางการทำงานเรื่องสิทธิเด็กได้ชัดเจนมากขึ้น”

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันใน อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ตั้งแต่ พ.ศ. 2532  เป็นต้นมา ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฉบับดังกล่าว อนุสัญญาฉบับนี้คุ้มครองสิทธิของเด็กทั้งในเรื่องเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการได้รับการคุ้มครองเมื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยดูได้จากอนุสัญญาข้อ 12, 13, 15, และ 16 ซึ่งเป็นสิทธิในกลุ่มสิทธิในการมีส่วนร่วม (Right to participation) อย่างไรก็ตามสิทธิเด็กใน 4 กลุ่มหลักล้วนมีความสัมพันธ์กันและไม่ได้แยกออกจากกัน

“ในอนุสัญญาข้อ 12 ปรากฏเนื้อหาที่มีความหมายคล้ายคลึงกันกับสิทธิพลเมืองที่ว่า ‘เด็กและเยาวชนมีสิทธิเท่ากับพลเมืองคนหนึ่ง ที่ได้รับการให้ความตระหนักและมีส่วนร่วมในทุกๆ การตัดสินใจใดๆ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา’ หมายถึง เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น และมีสิทธิที่จะปฏิเสธข้อเสนอใดๆ ที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ดังนั้นการปฏิเสธถึงความเป็นพลเมืองของเด็กและเยาวชน จึงเป็นสิ่งที่ขัดต่ออนุสัญญาและลดทอนค่าความเป็นพลเมืองในตัวเด็กและเยาวชน ในข้อ 15 กล่าวว่ารัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ อนุญาตให้เด็กได้รวมกลุ่มและเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยในประเด็นที่ส่งผลกับตัวเขาเอง”  วรางคณายกตัวอย่างอนุสัญญาในกลุ่มสิทธิในการมีส่วนร่วมบางข้อ

จากสถานการณ์ปัจจุบันของไทย เด็กที่แสดงออกทางการเมืองถูกคุกคามหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น ด่าทอ, ดูหมิ่น, ถูกครูครูยึดโทรศัพท์, เอาตำรวจเข้ามาในโรงเรียน, ดึงโบว์ออก, ขู่ว่าจะไล่ออก, ลงโทษทางวินัย ฯลฯ บางรูปแบบจำแนกได้ง่ายว่าเป็นการคุกคาม แต่ยังมีการคุกคามบางรูปแบบที่ซับซ้อน เช่น การใช้อคติทางการเมืองตัดคะแนน พิจารณาไม่ให้เด็กเรียนต่อที่เดิมหลังจบการศึกษาแล้ว หรือการเลือกปฏิบัตินั่นเอง

“ปัจจุบันการคุกคามเด็กในความหมายขององค์การสหประชาชาติมี 5 แบบ คือ 1) การคุกคามทางกาย 2) การคุกคามทางใจ เช่น ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจหรืออารมณ์ 3) การล่วงละเมิดทางเพศ 4) การปล่อยปละละเลย ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ส่งผลให้เด็กเกิดอันตราย 5) การแสวงประโยชน์จากเด็ก แต่ในระยะหลังเกิดรูปแบบการคุกคามที่ผสมผสาน การกีดกันและการถูกเลือกปฏิบัติจัดอยู่ในการคุกคามรูปแบบนี้”

ในอนุสัญญาข้อ 2 (2) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุไว้ว่า รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง เพื่อที่จะประกันว่าเด็กได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ หรือการลงโทษในทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของสถานภาพ กิจกรรมความคิดเห็นที่แสดงออก ฯลฯ และข้อ 16 (1) ระบุว่าเด็กจะไม่ถูกแทรกแซงโดยพลการหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว บ้าน หรือหนังสือโต้ตอบ รวมทั้งจะไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติและชื่อเสียง ฯลฯ

กล่าวได้ว่าการแสดงออกทางการเมืองของเด็กได้รับการคุ้มครองสิทธิไว้ค่อนข้างครอบคลุม ทั้งสิทธิในกลุ่มการมีส่วนร่วมและการได้รับการป้องกันจากภัยอันตราย อย่างไรก็ตามการตระหนักว่าการมีหลักสิทธิมนุษยชนคอยตรวจสอบการปิดกั้นคุกคามเด็ก ไม่ใช่สิ่งที่วรางคณาต้องการย้ำเตือนมากที่สุด แต่เป็นการชวนให้ตระหนักว่าหากเราคิดว่าเด็กไม่อาจคิดได้ เราอาจสูญเสียสิ่งที่มีค่าไป

“งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกว่าถ้าผู้ใหญ่ใช้เลนส์ในการมองว่าเด็กไม่มีความสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองโดยตัดสินจากอายุ จะขาดโอกาสมองจากมุมมองของเด็กเอง เราจะพลาดโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เด็กสร้างขึ้นมาเองจากความเข้าใจและจากการมีส่วนร่วมโดยตรงของเขา แล้ววิเคราะห์ด้วยตัวเองว่าอะไรคือประโยชน์ มุมมองที่มาจากสายตาของเด็กนี่เอง ที่มีค่าและสำคัญมาก”

————————————-

[1] https://link.springer.com/article/10.1057/cpt.2011.43

[2] คำว่า kettling ปรากฏในข่าวการชุมนุมทั้ง Black Lives Matter แมนฮัตตัน ประชาชน 5,000 คนติดอยู่บนสะพาน และที่ฮ่องกง คำว่า kettling มีที่มาจากปฏิบัติการของตำรวจในเยอรมนี โดยเป็นเทคนิคการควบคุมฝูงชนโดยตำรวจ เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า “การปิดล้อม” ซึ่งรวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ล้อมรอบผู้ชุมนุมก่อนจับกุม  อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไม่อาจปิดล้อมการชุมนุมโดยสงบได้  คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลอธิบายไว้ว่าการปิดล้อมและขวางกั้นส่วนหนึ่งของผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย สามารถกระทําได้เฉพาะเมื่อมีความจําเป็นและได้สัดส่วน เพื่อที่จะแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือภัยที่ใกล้จะถึงจากผู้ชุมนุมส่วนดังกล่าวเท่าน้ัน  ท้ังนี้ มาตรการบังคับใช้กฎหมายที่จําเป็นและเฉพาะเจาะจงต่อปัจเจกบุคคลมักจะมีความเหมาะสมกว่าการปิดล้อม การปิดล้อมนั้นสามารถกระทําได้โดยใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเท่าที่จะเป็นไปได้ ต่อบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ความรุนแรงเท่านั้น และต้องจํากัดระยะเวลา การปิดล้อมให้สั้นที่สุดเท่าที่จําเป็น หากการปิดล้อมถูกใช้โดยไม่แยกแยะ หรือใช้เพื่อลงโทษ การกระทําดังกล่าวจะถือเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และอาจจะละเมิดสิทธิอื่นๆ ได้แก่ เสรีภาพจากการถูกคุมขังโดยพลการ และเสรีภาพในการเดินทาง

[3] กล่องที่บรรจุสิ่งเลวร้ายต่างๆ รวมทั้งความหวัง ตามเทพปกรณัมของกรีก

[4] Every child’s right to be heard. a resource guide on the un committee on the rights of the child general comment no.12

X