“สมยศ-ไผ่” ถูกแจ้งข้อหา ม.112 หนที่ 2 จากคำปราศรัยเรื่องสถานะสถาบันกษัตริย์ เวที 19 ก.ย.

8 ธ.ค. 63 เวลา 13.00 น. ที่สน.ชนะสงคราม สมยศ พฤกษาเกษมสุข และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 63 หลังจากทั้งสองถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอื่นๆ ในช่วงเดือนตุลาคม

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 63 ในคดีนี้ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ต่อแกนนำและผู้ปราศรัยในการชุมนุมไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม โดยเจ้าหน้าที่นำคำปราศรัยในเวทีการชุมนุมมากล่าวหาว่าเข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์

>> 4 แกนนำ “ราษฎร” – หมอลำแบงค์ รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 เพนกวินคนเดียวถูกแจ้งรวด 4 คดี

นอกจากทั้ง 5 คนแล้ว สมยศและจตุภัทร์ยังได้รับหมายเรียกของสน.ชนะสงคราม ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมด้วย โดยมี พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร กับพวกฯ เป็นผู้กล่าวหา ทั้งสองคนจึงได้นัดหมายเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่พร้อมกันในวันนี้ โดยบรรยากาศบริเวณสถานีตำรวจ มีมวลชนกว่า 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมนำรถเครื่องเสียงมาปราศรัย

พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม พร้อมคณะพนักงานสอบสวน ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อสมยศและจตุภัทร์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยได้มีการนำข้อความการปราศรัยในประเด็นสถาบันกษัตริย์ของทั้งสองคน ในเวทีชุมนุม ##19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 63 มาใช้ตั้งข้อกล่าวหา

  • คำปราศรัยของสมยศ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเสื่อมถอยของสถาบันกษัตริย์ และการใช้มาตรา 112 เป็นกฎหมายเผด็จการ พร้อมกับกล่าวยืนยันสนับสนุนข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
  • คำปราศรัยของจตุภัทร์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เพิ่มอำนาจให้กับประชาชน กล่าวถึงสถานะความเป็นคนเหมือนกัน พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 โดยทบทวนถึงคดีเก่าของเขา ที่ถูกจำคุกจากการแชร์ข่าวประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย

นักกิจกรรมทั้ง 2 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป ขณะเดียวกันในส่วนของไผ่ จตุภัทร์ ยังปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุในบันทึกว่า “ข้าพเจ้าไม่ขอลงลายมือชื่อ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ยอมรับกฎหมายมาตรา 112 เพราะเป็นกฎหมายอยุติธรรม ยกเลิกมาตรา 112″

จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวทั้งสองคนไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว

 

 

ขณะเดียวกันระหว่างการรอกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้เข้าแจ้งข้อหาต่อมวลชนหน้าสถานีตำรวจที่นำเครื่องขยายเสียงมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตบนรถ 2 คัน ก่อนจะเปรียบเทียบปรับข้อหาดังกล่าวเป็นเงิน 200 บาท

สำหรับสมยศและจตุภัทร์ได้ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 เป็นครั้งที่สองในชีวิตแล้ว โดยสมยศถูกจับกุมและกล่าวหาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554 จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และมีการเผยแพร่บทความที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ เขาต่อสู้คดีนี้ถึงชั้นศาลฎีกา โดยไม่ได้รับการประกันตัว และต้องติดคุกอยู่ทั้งหมด 7 ปีเต็ม ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว

ขณะที่จตุภัทร์ถูกจับกุมและกล่าวหาครั้งแรกในช่วงปลายปี 2559 ขณะเปลี่ยนผ่านรัชสมัย จากการแชร์บทความประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ไผ่ถูกจองจำอยู่ในคุกทั้งหมด 2 ปี 4 เดือนเศษ ก่อนได้รับการปล่อยตัวช่วงกลางปี 2562 ทั้งสองคนยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังการปล่อยตัว จนกระทั่งถูกดำเนินคดีข้อหานี้อีกครั้ง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 เป็นต้นมา ที่แกนนำนักกิจกรรมเริ่มได้รับหมายเรียกในข้อหาตามมาตรา 112 พบว่ามีการออกหมายเรียกในข้อหานี้จำนวนอย่างน้อย 11 คดี และมีผู้ถูกออกหมายเรียก 23 รายแล้ว โดยเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอื่นไปก่อนหน้านี้แล้ว 6 คดี และเป็นคดีใหม่ 5 คดี

>> บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN

 

X