“ยังฝันอยู่”: 2 ปี 4 เดือนของการจองจำ กับรอยยิ้ม น้ำตา และการเติบโตของ “ไผ่ ดาวดิน”

แม้จะใส่แว่นดำ…แต่รอยยิ้มนั้นยังคงอยู่บนใบหน้า

870 วัน หรือ 2 ปี 4 เดือน กับ 19 วัน คือเวลาทั้งหมดของเขาที่ถูกบังคับให้สูญสิ้นอิสรภาพ และจำต้องใช้จ่ายวันคืนไปในเรือนจำ

“ไผ่” หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในวัย 27 ปี  เป็นบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นนักศึกษาผู้เคยเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิของชุมชนท้องถิ่นในนามกลุ่มดาวดิน  เป็นนักกิจกรรมผู้เคยชูสามนิ้วต่อหน้าหัวหน้าคณะรัฐประหาร  เป็นผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติมาแล้ว 6 คดี  เป็นผู้ถูกจองจำจากคดีทางการเมืองมาแล้วสามคุก เป็นอดีต “น.ช.” หรือนักโทษชายจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น  และยังเป็นผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก แห่งประเทศเกาหลีใต้

ไผ่เพิ่งถูกปลดปล่อยจากการคุมขังเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 62 ที่ผ่านมา ถึงวันนี้เขาก็กลับมาเป็นอิสระได้ 1 เดือนเศษ ประสบการณ์การถูกดำเนินคดีและการจำต้องใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นอย่างไร มีสิ่งใดบ้างที่นักต่อสู้คนนี้เรียนรู้จากห้วงเวลาอันมืดมนตลอดสองปีกว่าที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวน “ไผ่ ดาวดิน” ทบทวนถึงคดีความ ประสบการณ์ และบทเรียนเหล่านั้น

(ภาพโดย Banrasdr Photo)

 

ติดคุก 3 ครั้งใน 3 เรือนจำ

หากนับว่าการชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะขึ้นกล่าวบนเวทีที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 เป็นการเปิดตัวต่อสาธารณะในการต่อต้านการรัฐประหารของไผ่และเพื่อนกลุ่มดาวดิน จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมา 4 ปีครึ่ง ไผ่ทบทวนให้ฟังว่ามีช่วงเวลาที่ทำให้เขาต้องเข้าไป ‘เรียนรู้’ ในเรือนจำแล้วทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน แต่ละครั้งเขาถูกคุมขังในเรือนจำแตกต่างสถานที่กัน คนละจังหวัด ด้วยช่วงเวลาสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ทุกๆ ครั้ง ก็เป็น “คุก” ที่สิ้นไร้อิสรภาพเหมือนกัน

หนแรกนั้นคือการเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 เขาและเพื่อนๆ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกกล่าวหาดำเนินคดี และถูกฝากขังด้วยอำนาจของศาลทหารกรุงเทพ ทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำ อยู่ 12 วัน ก่อนที่ศาลทหารจะยกคำร้องขอฝากขังของตำรวจในครั้งถัดมา

“การเข้าเรือนจำครั้งแรกตอนการเคลื่อนไหวช่วงครบ 1 ปี รัฐประหาร ต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ครั้งนั้นคือตกใจ ตื่นเต้น คือมันเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วมันไม่นาน เหมือนกับเราไปเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ ในมุมหนึ่ง มันก็ไม่มีใครอยากเข้าไปหรอก แต่พอได้เข้าไปแล้ว มันทำอะไรไม่ได้ไง นอกจากพยายามคิดในแง่บวกเข้าไว้ เป็นประสบการณ์ไป แต่มันก็เป็นเวลาสั้นๆ มันก็ไม่ได้ซึมซาบเท่าไรหรอก” ไผ่ย้อนเล่า

ครั้งถัดมา เกิดขึ้นในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพียง 1 วัน คือเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2559 ไผ่และเพื่อนนักศึกษาอีกหนึ่งราย เดินแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดสดภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ครั้งนั้นไผ่ตัดสินใจไม่ยื่นประกันตัว ทำให้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำอำเภอภูเขียว และเขายังประกาศอดอาหารประท้วง เพื่อยืนยันว่าตนและเพื่อนไม่ได้กระทำความผิด ครั้งนั้นหลังจากได้ประกันตัวในคดีประชามตินี้ เขายังถูกอายัดตัวไปสั่งฟ้องต่อศาลทหารขอนแก่นในคดีชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารอีกคดีหนึ่งในช่วงดึกด้วย ทำให้มีประสบการณ์ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นอีกแห่งหนึ่ง

“รอบสองที่เรือนจำภูเขียว ก็เริ่มรู้แล้วว่ามันเป็นยังไง แต่มันเปลี่ยนบริบท เปลี่ยนสถานที่ไป แล้วมันก็แป๊บเดียว รอบนี้เหมือนเราเลือกเอง เลือกจะลองดู ลองว่าถ้าเราไม่ประกันตัวได้ไหม มันจะเป็นยังไง กระบวนการยุติธรรมมันจะว่ายังไงกับเรื่องนี้ ก็ติดที่ภูเขียว 12 วัน แล้วก็ถูกส่งไปต่อที่ขอนแก่นอีก 5 วัน มันก็ยังนิดเดียว มันเป็นช่วงที่เราเลือกได้ว่าจะประกันตอนไหน จะออกมาตอนไหน”

ขณะที่ในรอบสุดท้ายนี้ อย่างที่ทราบว่าไผ่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 จากการแชร์ข่าวบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 อันเป็นที่มาของการถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นนานนับสองปีกว่า ไผ่บอกว่านี่เป็นหนที่หนักหนาสาหัสที่สุด กลายเป็นช่วงเวลาที่เปลี่ยนชีวิตไปโดยสิ้นเชิง หากก็เป็นช่วงเวลาที่เขาได้ทบทวน ได้พบเห็น และเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

.

เศษเสี้ยวของความรู้สึกต่อกระบวนการ (อ) ยุติธรรม

‘ความโกรธ’

ย้อนทบทวนกลับไป ไผ่บอกว่ามีหลากหลายความรู้สึกปนกันไปในแต่ละช่วงเวลาของคดีและการถูกคุมขังด้วยข้อหามาตรา 112 นี้ ในช่วงแรกที่ศาลมีการถอนการประกันตัว เนื่องจากเขาได้โพสต์ข้อความที่ศาลเห็นว่าเป็นการ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ”  และต่อมา ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีกเลย แม้จะมีความพยายามยื่นขอรวมทั้งหมดถึง 10 ครั้งก็ตาม ไผ่เล่าว่าในขณะนั้น เขาเต็มไปด้วยความรู้สึกโกรธต่อกระบวนการที่เกิดขึ้น

“มันมีหลายความรู้สึกในภาวะตั้งแต่แรก โดยเฉพาะความโกรธต่อกระบวนการยุติธรรม อย่างมีฝากขังครั้งหนึ่งที่เรายื่นคัดค้านฝากขัง แต่กระบวนการเขาเหมือนกับชิน เขาเข้าใจว่าไม่มีการคัดค้านเวลาฝากขัง แต่เราคัดค้านทุกครั้งไง แล้วครั้งนั้นเราก็คัดค้าน แล้วทีนี้เขาลืม เขาลืมพิจารณา ตอนหลังเขาก็ให้ผมไป conference โดยไม่ได้พาตัวไปศาล แล้วผมก็ไม่ยอมรับกระบวนการนี้ คือเหมือนกับเขากะไม่พิจารณาเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ได้สนใจอยู่แล้ว กับการที่จะฟังเสียงของเรา ว่าเรามีเหตุผลยังไงในการคัดค้าน มันเลยรู้สึกโกรธ

“แล้วตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าเขาจะถอนประกัน มันไม่มีเหตุผลในการถอน เรื่องการเย้ยหยันอำนาจรัฐ มันไม่มีหรอกในกฎหมาย แต่เขากลับทำได้ โดยอ้างว่าเนื่องจากเย้ยหยันอำนาจรัฐ เนื่องจากจำเลยไม่เข็ดหลาบ  คือถ้าให้ผมออกมา ผมก็สู้ตามกระบวนการน่ะ เหตุผลที่เขาอ้างว่าจะหลบหนี มันก็ไม่ใช่ ถ้าผมจะหนี ผมก็หนีไปแล้ว มันเลยรู้สึกตลอดว่ามันไม่แฟร์ อันนี้คือจากกระบวนการที่เราได้เห็นโดยตรงทั้งหมด อันนี้คือความรู้สึกแรก”

.

‘การอดทนรอคอย’

ในช่วงถัดมาที่ถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ความรู้สึกของไผ่ คือการจำต้องอดทนอยู่ภายใต้ความรู้สึกของการรอคอยอย่างค่อนข้างยืดยาว เพื่อจะได้ต่อสู้ในคดี ได้ทำการสืบพยาน และได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ในระหว่างนั้น ความรู้สึกของเขาก็ยังปะปนไปด้วยความหวังว่าจะได้ประกันตัวออกมา จากการยื่นขอประกันต่อศาลในแต่ละครั้ง เพื่อจะสามารถออกมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

“หลังจากนั้น ก็เป็นความรู้สึกของการรอคอย คือก่อนจะสืบพยาน มันใช้เวลารอ ประมาณ 8 เดือน กว่าจะได้สืบ มันเหมือนต้องรอคอยนาน แล้วในระหว่าง 8 เดือนนั้น มันยังมีความหวังอยู่ตลอด ในการยื่นขอประกันตัว เราก็ยื่นไปเรื่อยๆ ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้ คือการยื่นแต่ละครั้งมันก็มีความหวัง แล้วเราก็เปลี่ยนวิธีการ คือสมมติยื่นแบบนี้ไม่ได้ เราก็ลองเปลี่ยน เช่น หาคนค้ำประกัน หาคนรับรอง หาหลายอย่าง มีอาจารย์ต่างๆ มาช่วยรับรองว่าเราจะไม่หลบหนี แล้วเราก็ไม่ได้หลบหนีจริงๆ แต่ประเด็นมันคือไม่ได้ติดอยู่ที่ว่าเรื่องทางกฎหมายเลย แต่คุณไม่ได้ฟัง ไม่ได้เชื่อเราเลย ไม่ได้ดูอะไรเราเลย

“คือกฎหมายมันก็ให้สิทธิในการประกันตัว มีหลักการที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเราเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เขาไม่เคยใช้ในมุมแบบนี้ มีแต่อำนาจที่ต้องขังเอาไว้อย่างเดียว มันทำให้เรารู้สึกไม่แฟร์ เราไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ตอนนั้นเราก็คิดตลอดว่าคดีจะสู้อะไรยังไง ศึกษาหาความรู้ หาหนังสืออ่านนู้นนี่ แต่ประเด็นคือมันไม่แฟร์ในการให้ต่อสู้ ผมไม่สามารถคุยกับทนายได้อย่างเต็มที่ เพราะถูกขังอยู่

“คือพอเริ่มไม่ได้ประกันหลายครั้ง เราก็พอรู้อยู่แล้วว่ามันน่าจะยาว แล้วเราคือไม่เคยติดนานขนาดนั้น ช่วงนั้นก็หนัก คนอื่นเขามีกำหนดโทษ มีรอวันกลับ แต่เราไม่มี เราไม่รู้อนาคตเลย กว่าจะนัดสืบพยาน ก็ 8 เดือนนู้น กลายเป็นเราต้องติดยาว” ไผ่กล่าวถึงความสิ้นหวังในวันนั้น

.

‘ร้องไห้’

การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดสำหรับไผ่เกิดขึ้น ในขณะการสืบพยานในศาลยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อเขาต้องเลือกกลับคำให้การจากการต่อสู้คดี มาเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ด้วยปัจจัยอันซับซ้อนโดยเฉพาะเรื่องครอบครัว สถานการณ์ของมาตรา 112 ในขณะนั้นที่การต่อสู้คดีเป็นไปอย่างยากลำบาก และการต้องเลือกระหว่างการอาจถูกพิพากษาจองจำยาวนานถ้ายังต่อสู้คดี หรือการเลือกจะรับสารภาพ เพื่อให้ได้มีวันที่ได้รับการปลดปล่อยรวดเร็วขึ้น

“คือที่จริง ใจผมอยากจะสู้นั่นแหละ แต่ประเด็นคือมันก็หลายอย่าง มีเรื่องครอบครัว มีเรื่องความรู้สึกของคนในครอบครัว เรื่องแรงกดดันต่างๆ สภาวะตอนนั้นคือหนักสุดแล้ว ตั้งแต่ติดคุกมา ตอนนั้นคือร้องไห้หนักเลย  ที่ผ่านมา เราก็เคยร้องไห้กับกระบวนการไม่เป็นธรรมต่างๆ มาเยอะ ตั้งแต่ตอนปี 2 ที่เคยโดนจับ เพราะไปคัดค้านเสาไฟฟ้าแรงสูง แล้วเขาอุ้มเรามาตี ลากมา เราก็ร้องไห้ แต่มันไม่ใช่การร้องไห้เพราะเราอ่อนแอน่ะ เราต่อสู้สันติวิธี เราไม่ได้ทำอะไรเขา แต่ เหี้ย เราโดนแบบนี้น่ะ

“ผมคิดว่าในชีวิตเรา การตัดสินใจครั้งสำคัญๆ มันมีไม่กี่ครั้ง แล้วแม่ง แต่ละครั้งมันส่งผลต่อชีวิต แล้วการตัดสินใจเรื่องการรับสารภาพครั้งนั้น มันเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิตผมครั้งหนึ่งเลย ผมรู้สึกว่าตอนตัดสินใจไปชูสามนิ้วต่อหน้าประยุทธ์ มันยังไม่ได้ตัดสินใจยากขนาดนี้ ผลของมันก็ทำให้ผมต้องติดมาอีกปีกว่า  มันกลายเป็นเราต้องเปลี่ยนเป้าหมาย จากที่เลือกสู้ มาเป็นทำยังไงให้ได้ออกเร็วที่สุด มันเลยเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก คือมันสู้กับตัวเองมาก คือเราจะทำตามความคิดตัวเอง หรือทำเพื่อครอบครัว มันสู้กันหนักมาก”

(ภาพโดย Banrasdr Photo)

ไผ่เห็นว่าสภาวะการถูกบีบบังคับให้จำยอมรับสารภาพ ยังไม่ได้เกิดขึ้นกับเขาเพียงลำพัง หากแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงระบบ คือเกิดขึ้นกับคดีของจำเลยเป็นจำนวนมากที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา โดยไม่ได้รับการสิทธิในการประกันตัวหรือไม่มีหลักทรัพย์ในการยื่นขอ ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกรับสารภาพเพื่อให้ได้ออกจากเรือนจำรวดเร็วขึ้นบ้าง แม้บางคนจะไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาเลยก็ตาม

“มันมีชุดประสบการณ์หนึ่ง คำอธิบายหนึ่ง ที่ผมคิดว่ามันเฉียบดี มันเกิดจากประสบการณ์ตรงของเพื่อนพี่น้องผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหลาย คือ ‘สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน รับสารภาพติดพอประมาณ’ คือคนที่สู้คดี มันติดอยู่แล้วล่ะ ระหว่างสู้คดี แล้วมันนานไง แล้วถ้าคุณแพ้ คุณติดโทษเต็มๆ เลย ยิ่งนาน แต่ถ้าเลือกรับสารภาพ มันลดกึ่งหนึ่ง เทียบกับสู้ต่อไป แต่ติดไปอีกปีสองปี ก็เลยต้องเลือกรับสารภาพกันให้ได้ออกเร็วกว่า แม้จะไม่ได้กระทำความผิดจริงๆ ก็ตาม”

.

การปรับตัวในเรือนจำที่กลายเป็น ‘บ้าน’

ศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาโทษจำคุกไผ่ 5 ปี แต่เมื่อเขาหันมารับสารภาพ ทำให้ศาลลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน นับแต่นั้น คดีของเขาก็มีหมายเลขแดง ตัวเขาแปรสภาพจากผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณากลายเป็นนักโทษคดีสิ้นสุดแล้ว

“หลังจากตัดสินใจรับสารภาพ ชีวิตตอนนั้นก็เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง กลายเป็น น.ช. (นักโทษชาย) เต็มตัวไปเลย ตอนนั้นก็ไปทำงาน เพราะผมรู้สึกว่ามันว่าง ทำอะไรช่วยเขาได้ก็ทำ มีกิจกรรมอะไรก็ช่วยเขา กลายเป็นผู้ต้องราชทัณฑ์เต็มตัว เข้าไปช่วยเหลืองาน อย่างเขาจัดกิจกรรม จัดกระบวนการอะไร เราก็ไปช่วยยกของ จัดโต๊ะ ช่วยเรียกคน ช่วยเช็คชื่อ ช่วยถ่ายรูป ตอนแรกก็ไปช่วยจัดอีเว้นท์ จัดกิจกรรมนี่แหละ”

เมื่อถามถึงสภาพความเป็นอยู่และการปรับตัวของเขาในเรือนจำที่เริ่มยาวนาน ไผ่บอกว่าเขาใช้เวลาไม่นานนักในการปรับตัว เนื่องจากเป็นคนปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ค่อนข้างเร็ว อีกทั้งยังเป็นการเข้าไปในเรือนจำแห่งนี้เป็นรอบที่สอง มีคนรู้จักอยู่บ้างแล้ว ทำให้พอได้มีคนที่ช่วยเหลือกันตั้งแต่ต้น

“แรกๆ คือต้องปรับตัว เรื่องการนอน การตื่น การทำกิจวัตรประจำวัน คือเราไม่ชิน การนอนปกติเรานอนดิ้นไปมา แต่ข้างในมันต้องระวังตัวหน่อย อย่าดิ้นไปโดนเขา แรกๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องการนอนมาก การเข้าห้องน้ำ มันแบบเปิดเผยไง เราไปนั่งขี้ เวลาเข้าไปในห้องเรือนนอน เราก็นั่งไป มันก็เห็นคนดูทีวี หรือบางคนก็นอน เขาก็เห็นเรา มันก็ยังไม่ชินไง ก็ยังเกรงใจเขาอยู่ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง สัก 3-4 เดือน จนเริ่มชิน เริ่มไม่อาย ไม่เคอะเขิน”

ไผ่บอกว่าชีวิตในเรือนจำของเขาได้รับการดูแลดีในระดับหนึ่ง แต่การดำเนินชีวิตทุกอย่างก็ต้องดำเนินไปภายใต้ระเบียบอันเข้มงวดของเรือนจำ และการไม่ทำผิดวินัยต่างๆ เขาถูกกำหนดเวลาตื่นนอน เวลากินอาหาร เวลาสวดมนต์ เวลาเข้าแถวเช็คชื่อ เวลากลับเข้าเรือนนอน และการต้องอยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำแทบจะตลอดเวลา

ไผ่ยังเล่าถึงการใช้ชีวิตรวมหมู่ในเรือนจำ ว่าในหมู่ผู้ต้องขังมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่ม “บ้าน” เพื่อดูแลกัน โดย “บ้าน” ในที่นี้หมายถึงกลุ่มนักโทษจำนวนหนึ่ง ที่อยู่ร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน แบ่งหน้าที่การทำงานในชีวิตประจำวันกัน และแบ่งปันอาหารหรือสิ่งของกันภายในกลุ่ม

“รอบก่อนที่ผมเข้าไป พี่ที่เป็นหัวหน้า ‘บ้าน’ เขาก็เรียกเข้าไปกินข้าวด้วย คือมีประมาณ 6-7 คน เราก็เข้าไปกินข้าว คือในกลุ่มบ้าน มันจะดูแลกันไง มีการแบ่งหน้าที่ คนหนึ่งซักผ้า คนหนึ่งไปซื้อกับข้าว คือคนที่มีเงินหน่อย ที่บ้านพอมีฐานะ ก็จะช่วยซื้อกับข้าว คือเป็นการดูแลกัน แชร์ขนม มีกาแฟ 3 in 1 ที่เป็นกองกลาง ตื่นเช้ามาชงกาแฟกัน มีขนมอะไรก็แบ่งกัน อะไรหมดก็ช่วยกันซื้อ แบ่งเวรกันไปกดกับข้าว

“ทีนี้พอผมกลับไปรอบนี้ แล้วคนออกไปเรื่อยๆ คนรุ่นเก่าๆ รุ่นเดิมในบ้าน มันเหลืออยู่กันแค่ 2 คน ก็เลยไปดึงคนอื่นๆ มาใหม่ คือมีผู้ต้องขังเข้าใหม่ เขาไม่มีเพื่อน เขาไม่รู้จักใคร เราก็ชวนกันเข้ามา กินข้าวด้วยกัน ตอนหลังกลายเป็นสร้างบ้านตัวเอง เรียกว่า ‘บ้านไผ่ เมืองพล’ เขาก็เรียกกันว่า ‘บ้านไผ่’ คือในนั้น มันสนิทกันง่าย มันอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง ระบบมันก็จะเป็นว่าทุกอย่างเป็นส่วนรวม ดูแลกัน ชุดอาบน้ำก็จะมีตระกร้า สมมติบ้านผมไปอาบน้ำ ก็จะหยิบตระกร้านี้ไปอันเดียว แล้วแต่ละคนก็หยิบของใช้ของแต่ละคน”

ไผ่ยังเล่าว่าในหมู่ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เข้าใจคดีที่เขาเผชิญ แม้จะเป็นเรื่องมาตรา 112 ที่อ่อนไหวในสังคมไทยก็ตาม เพื่อนบางคนที่ได้ฟังเขาเล่าถึงคดี และพฤติการณ์ที่นำไปสู่การติดคุก ถึงกลับอุทานว่า “ส่ำนี้ก็ติดบ่?” ในภาษาอีสาน หมายถึงแค่นี้ก็ติดแล้วหรือ แค่แชร์เฟซบุ๊กนี้ก็ติดคุกแล้วหรือ

หรือมีเพื่อนผู้ต้องขังบางราย ที่ไม่รู้มาก่อนว่าเขาติดคุกเพราะเหตุใด แต่ได้ไปพบภาพข่าวของไผ่อยู่ในหนังสือสรุปข่าวประจำปีในห้องสมุดของเรือนจำ ก็ถึงกลับวิ่งมาคุยกับเขาว่า “กูเจอรูปมึงในนั้น มึงไปทำอะไรมา” เป็นโอกาสให้เขาได้เล่าเรื่องคดีของตัวเองให้เพื่อนฟัง

นอกจากการเข้าไปช่วยจัดกิจกรรมต่างๆ ของเรือนจำแล้ว หลังถูกพิพากษา ไผ่ยังได้ไปช่วยงานในสถานพยาบาล และช่วยทำงานด้านธุรการ ดูแลเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์เป็น ทำให้พอมีงานการให้ทำในแต่ละวันที่ผ่านไปภายในนั้น

“พอมีงาน มันก็ทำให้หมดวันไปได้เร็วขึ้น คือข้างใน มันคือทำยังไงก็ได้ให้หมดวันไปได้เร็วๆ ถ้าเรามีอะไรทำ มันก็จะหมดวันเร็ว แต่ถ้าไม่มี มันก็จะหมดช้า ปีที่สองมันจะเริ่มเบื่อแล้ว พอเริ่มเห็นคนอื่นออก ก็อยากออก แต่คนก็เข้ามาใหม่เยอะน่ะ เข้ามาวันละ 10 แต่ปล่อยออกไปวันละคน  

“คือรอบแรกผมติดแป๊บเดียว ผมมา แล้วผมออก แต่รอบนี้ ผมมา แล้วก็ดูเขาออก ความรู้สึกมันก็เหมือนกับว่า เฮ้ย คนรู้จักเราค่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ คนที่สนิทกันรอบตัวเรา มันก็ค่อยๆ ออกไปเรื่อยๆ มีช่วงหนึ่งที่แบบว่าเราก็อยากออกบ้าง มันก็มีฟิลล์นี้อยู่เป็นระยะ”

.

หนังสือในห้องสมุด: บางจิ๊กซอว์ของการเรียนรู้

ถ้าคุกเป็นดั่งห้องเรียนที่เขาถูกบังคับให้เข้าเรียน ไผ่เห็นว่าบทเรียนที่ได้จากการเรียนรู้เมื่อต้องเป็น น.ช. มีอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน เรื่องหนึ่งคือประสบการณ์ที่ได้จากการอ่าน ซึ่งส่งผลไปถึงการเติบโตทางความคิดและการทบทวนตัวเอง

ไผ่เล่าว่าโดยปกติแล้ว เขาไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือเท่าไรนัก เพียงแต่ชอบซื้อเก็บไว้ เพราะเห็นว่าเล่มนี้น่าอ่าน เล่มนี้จำเป็นต้องอ่าน หรือเล่มนี้เขาแนะนำให้อ่านกัน แต่ก็มักจะอ่านไม่ค่อยจบ หากชีวิตข้างในเรือนจำกลับเป็นจังหวะที่ทำให้เขาได้อ่านหนังสือค่อนข้างมาก ไผ่ประมาณว่า 2 ปีเศษที่ผ่านมา เขาน่าจะอ่านหนังสือได้มากกว่าหนึ่งร้อยเล่ม

ไผ่บอกว่าในช่วงแรกที่ถูกคุมขัง และยังไม่ต้องทำงาน ทำให้ค่อนข้างมีเวลาว่าง เขาจึงเข้าไปใช้เวลาบางส่วนในห้องสมุดของเรือนจำ ซึ่งเปิดทำการในวันธรรมดาและอนุญาตให้ยืมหนังสือไปอ่านได้ ทั้งหนังสือในห้องสมุดของทัณฑสถานแห่งนี้ยังค่อนข้างหลากหลายประเภท ทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือธรรมะ  หลายคนที่ได้ไปเยี่ยมเขาระหว่างถูกคุมขัง จึงมักจะได้ยินเขาเล่าว่ากำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้อยู่

“ข้างในเรือนจำ ที่หนึ่งที่เป็นแดนศิวิไลซ์สำหรับผม ก็คือห้องสมุด ช่วงแรกผมก็ว่าง ผมก็หาอะไรทำ ก็ไปอ่านหนังสือ คือห้องสมุดใหญ่มาก หนังสือค่อนข้างดี มันเป็นห้องสมุดที่สมเด็จพระเทพฯ มาเปิด แล้วหนังสือดีๆ ค่อนข้างเยอะ ผมก็ไล่อ่านตั้งแต่หนังสือวรรณกรรม อย่างของศรีบูรพา, เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือพวกพันธุ์หมาบ้า, ลูกอีสาน, แด่หนุ่มสาว” 

เมื่อถามว่าหนังสือเล่มไหนที่เขาประทับใจจากการได้อ่านในเรือนจำนั้น ไผ่เห็นว่าแต่ละเล่มก็มีมุมที่แตกต่างกันไป อาจจะเอามาวัดกันยาก แต่ถ้าต้องเลือก ไผ่เห็นว่าเล่ม “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” ของเปาโล เฟรเร นักการศึกษาชาวบราซิล เป็นเล่มที่อ่านแล้วทำให้เขาได้ทบทวนตัวเองและกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของเขาเองมากที่สุด ทั้งในด้านของผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่

หนังสืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไผ่เริ่มชอบจากการได้อ่านในเรือนจำ คือหนังสือในหมวดปรัชญา ที่เขาอ่านแล้วทำให้ชอบเกี่ยวกับเรื่องความรู้ การแสวงหาความรู้ และการตั้งคำถาม จนกระทั่งในการสาบานตนต่อศาลครั้งหลังๆ ขณะถูกพิจารณาคดี เขาถึงกับเอ่ยสาบานตนต่อโสเครติส นักปรัชญากรีกโบราณ และนักปรัชญาอีกหลายคน เลยด้วยซ้ำ

“คือผมรู้สึกว่าหนังสือทุกเล่ม มันทำให้เราเติบโตทุกครั้งที่อ่าน ทุกครั้งที่อ่าน เราเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะอ่านเล็ก อ่านน้อย อ่านมากน่ะ อย่างวิธีคิดและมุมมองใหม่ๆ ก็ได้จากการอ่านหนังสือ วิธีคิดในการมองคน มองโลกมันกว้างขึ้น เข้าใจมนุษย์มากยิ่งขึ้น เข้าใจความหลากหลายมากยิ่งขึ้น บางเล่มเป็นเรื่องชีวประวัติ นักคิด นักเขียน นักต่อสู้ มาเล่า มันก็ได้เห็นว่า เฮ้ย เราก็มีกำลังใจขึ้น แบบเนลสัน แมนเดลา ติดคุก 20 กว่าปีน่ะ คือได้อ่านเล่ม ‘บุกคนสำคัญ’ ของนิ้วกลม เขาก็พูดถึงนักต่อสู้หลายคน เออ เรามันก็ไม่ได้แย่อยู่คนเดียวนี่หว่า”

(ภาพโดย Banrasdr Photo)

การอ่านหนังสือในเรือนจำ ยังนำไผ่ไปสู่ประสบการณ์การพูดคุยกับเพื่อนผู้ต้องขังในเรื่องหนังสือที่ได้อ่าน และเรื่องความคิดทางปรัชญาที่ซับซ้อนขึ้นไป ทำให้เกิดการแนะนำหนังสือ การถกเถียง แบ่งปันประสบการณ์การอ่าน กระทั่งเปิดมุมมองต่อมนุษย์ของไผ่เอง

“มีเพื่อนผู้ต้องขังมาถามว่าผมอ่านเรื่องอะไร เป็นยังไง แรกๆ ก็ไม่เท่าไร แต่พอสนิทกันไปสักพัก พอผมได้อ่านบางเล่ม ผมก็รีวิวหนังสือให้ฟัง เพื่อนมันก็เริ่มสนใจ ก็เริ่มลองไปอ่านบ้าง เฮ้ย มันก็ได้ว่ะ อย่างคนที่กำลังมีฟิลล์เรื่องความรัก ผมได้อ่าน ‘ข้างหลังภาพ’ ผมก็เลยแบบว่ามึงควรอ่านเรื่องนี้ว่ะ มันให้มุมมองความรักน่ะ ก็เริ่มอ่านด้วยกัน แบบเรื่องทั่วไป เรื่องที่เกิดจากเค้า คือเค้ามีเมียมีลูก แล้วเมียมาเลิก มันก็เลยได้อ่านข้างหลังภาพ แล้วก็เริ่มชอบมา เราก็แนะนำไปเรื่อยๆ จากวรรณกรรมความรัก

“ทีนี้ มันก็ไปถึงจุดสูงสุดอันหนึ่ง คือเรื่อง ‘โลกของโซฟี’ น่ะ แม่ง นั่งคุยกันเรื่องปรัชญา แบบนั่งสูบยา กินกาแฟ 3 in 1 นี่แหละ แล้วก็ใส่น้ำร้อน คนมันก็จะนั่งเรียงกันยาว เหมือนลูกเป็ด เป็นแถวๆ ปรากฏว่าคุยกันเรื่องความฝัน เมื่อคืนฝันแบบนั้นแบบนี้ คือตอนมันอยู่ข้างใน (เรือนนอน) มันพูดกันไม่ค่อยได้ เพราะคนมันอยู่เยอะ ประตูเปิดแก๊กเดียวคือเสียงดังแล้ว คือเขาก็ไปอ่านโลกของโซฟี แล้วเขาก็สนใจ ก็มาคุยกันเรื่องของโสเครติส เรื่องของโลกของแบบ อะไรแบบนี้

“คือผมรู้สึกว่ามันได้เปิดมุมมองมนุษย์ว่ะ คือเขาก็ไม่ได้เติบโตมาจากนักศึกษา หรือปัญญาชนอะไร แต่เขาก็มีความชอบ ความสนใจเรื่องปรัชญาที่ซับซ้อน มันก็รู้สึกว่า เฮ้ย การทำงานของเรา มันไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่กลุ่มนักศึกษา หรือชาวบ้านที่มีปัญหา คือมันมีคำว่า ‘การเจอคนที่ดี ในที่ๆ ไม่ดี’ คือขนาดในที่ๆ ไม่ดี มันยังมีเรื่องดีๆ มีคนที่เป็นขบถทางความคิดอยู่ ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีทุกที่ว่ะ” ไผ่ระลึกถึงบางจังหวะเวลาในเรือนจำ

.

การเรียนรู้กฎหมายใน “ภาคปฏิบัติ”

บทเรียนอีกเรื่องหนึ่งที่ไผ่บอกว่าได้เรียนรู้อย่างมากจากช่วงเวลาที่ผ่านมา คือการได้สัมผัสกระบวนการยุติธรรม “ที่เป็นจริง” ไม่ใช่เพียงในห้องเรียน ในฐานะนักเรียนกฎหมายที่เคยเรียนเรื่องหลักการทางกฎหมายต่างๆ จากในตำรา ตัวบท หรือถ้อยคำของอาจารย์ กระบวนการที่เขาเจอ แทบจะแตกต่างออกไปจากสิ่งเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง

“ตัวผมเองก็เรียนกฎหมาย คือผมรู้สึกว่าที่เรียนมา มันใช้ไม่ได้ในสังคม เช่น เรื่องหลักการการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เวลาเราเรียน หลักการนี้มันสำคัญไง แต่เวลาใช้จริง หลักการนี้มันไม่ถูกพูดถึงเลย คือไม่ใช่แค่เคสผมน่ะ แต่มันทั่วไปเลย 

“พอเราได้อยู่นาน เราก็เห็นปัญหา เห็นช่องว่างการปฏิบัติ คือมันโยนกันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ชั้นตำรวจ ก็ใช้วิธีเอาไปฝากขัง คือในระหว่างนี้เขาก็ต้องอยู่ในคุก ผิดไม่ผิดไม่รู้น่ะ แต่ระหว่างนั้นเขาอยู่ในคุก มันก็ง่ายในการเรียกไปศาลอะไรก็ง่าย แต่มันคือการโยนมาที่เรือนจำ เรือนจำแทบจะเป็นลำดับสุดท้ายแล้ว ก็ทำตามคำสั่ง มันเป็นความมักง่าย เราไม่ต้องฝากขังได้ไหม แต่คุณออกหมายเรียกมา ทำไมต้องเอาเขามาโยนไว้ในเรือนจำ แล้วมันทำให้เกิดปัญหาแออัดตามมา

“อย่างของผม ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ประกันตัว เพราะเขาอ้างว่าอัตราโทษสูง แต่ขณะเดียวกันมันมีข่าวของคดีฆ่าอะไรพวกนี้น่ะ โทษจำคุก 50 ปี แต่ก็ยังประกันได้ อะไรคือมาตรฐาน อะไรคือความยุติธรรม คือความยุติธรรมผมรู้สึกว่ามันต้องมาชั่ง แต่กรณีผม มันรู้สึกว่าไม่ได้ถูกชั่งเลย แล้วกระบวนการมันตั้งแต่ตำรวจ มาอัยการ มาศาล ซึ่งก็เข้าใจว่าเขาก็ชินน่ะ เขารับรู้เรื่องพวกนี้ทุกวัน วันละหลายเรื่อง เขาอาจจะเหมารวมอะไรไป ซึ่งมันแข็งกระด้าง แต่ละคน แต่ละเคส รายละเอียดมันต่างกันไง ซึ่งเขาไม่ค่อยได้สนใจรายละเอียดตรงนี้

“คือผมรู้สึกว่ามันไร้หัวใจน่ะ คือพอทำตามตัวหนังสือแล้วปุ๊บ แต่บางเคสบางเรื่องมันพลาด คือไม่ได้มาจากความตั้งใจหรือโดยจิตสำนึก คุณน่าจะให้โอกาสเขา ให้มันเบาลง หรือให้โทษมันสอดคล้องกับสภาพการกระทำ สภาพจิตใจ สภาพสังคม คือมันไม่ค่อยได้ถูกมองถึงเรื่องพวกนี้เลย คือหลายเคส เขาก็บอกว่าเขาทำแบบนี้จริง แต่มันมีรายละเอียดที่เขาทำ ซึ่งมันไม่ค่อยถูกพูดถึงไง ผิดคือจบตามนั้น ตัดสินตามตัวกฎหมาย คือการตัดสินหรือแนวตัดสิน มันควรจะชั่งน้ำหนักจากเรื่องเหล่านี้ด้วย”

จากพื้นเพร่ำเรียนมาทางด้านกฎหมาย ทั้งบทเรียนจากประสบการณ์การอ่านและจากการเผชิญหน้ากับกระบวนยุติธรรมที่เป็นจริงเช่นนี้เอง ทำให้ถึงวันนี้หลังผ่านพ้นคุกมาแล้ว ไผ่คิดว่าตนเองมีความสนใจกว้างขวางขึ้น และมีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้นด้วย

“คือพอเรามองกว้างขึ้น เราก็เข้าใจ ไม่ได้ไปโฟกัสเรื่องที่เป็นเรื่องการเมืองหรือกฎหมายอย่างเดียว แต่คิดว่ามันเชื่อมโยงกัน ผมมองภาพแบบว่าทุกปัญหามันเชื่อมโยงกัน มันก็ต้องแก้ไปด้วยกันทั้งหมดแหละ ในสังคมไทยปัญหามันเยอะมาก ตั้งแต่โครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางการเมือง ยาวไปจนถึงเรื่องปากท้อง เรื่องการใช้ชีวิต คือพอมันมองกว้างขึ้น มันก็ช่วยขยายพื้นที่ในการรับรู้ประเด็นปัญหาต่างๆ

“ส่วนการขยับเคลื่อนไหว ผมคนเดียวก็ไม่สามารถแก้ไขได้หมด แต่คือเราไม่ได้ทอดทิ้งปัญหาแบบนี้ ไม่ได้ปล่อยข้ามปัญหาแบบนี้ไป แต่เราสนใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น แล้วก็อยากทำเท่าที่เราทำได้ แต่ไม่ได้ปล่อยผ่าน คือรู้แล้วว่าเรื่องเหล่านี้มีปัญหา อย่างเรื่องการเกณฑ์ทหาร ได้คุยกับน้องที่ต้องไปเป็น แม้ว่าเราจะผ่านจุดที่เกณฑ์ทหารไปแล้วน่ะ แต่เราก็เกิดความรู้สึกว่าตรงนี้ต้องแก้ไข ผมจบไปแล้วก็จริง แต่น้องผม ลูกลุง ก็ต้องเกณฑ์ เราก็ยังต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านี้อยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่ในครอบครัวเล็กๆ ไปจนถึงสังคมที่ใหญ่ขึ้นๆ  ผมว่ามันเชยไปแล้วน่ะ ที่จะบอกว่าคุณทำประเด็นเรื่องการเมือง เรื่องทรัพยากร แล้วจะอยู่กับแค่นั้น”  ไผ่เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเขาหลังออกจากเรือนจำ

.

การต่อสู้ภายใน กับความฝันภายนอก

นอกจากบทเรียนกับโลกภายนอก ไผ่ยังทบทวนให้ฟังถึงการต่อสู้ภายในบางส่วนของเขา ซึ่งนักต่อสู้คนนี้บอกว่า “เถียงกันหนักมาก” ในแต่ละช่วงจังหวะเวลา ไผ่เปรียบเทียบเหมือนกับบทเรียนในวิชาจิตวิทยา ที่มีตัวอิดและอีโก้ พูดคุยถกเถียงกันว่ามนุษย์คนหนึ่งทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเพราะอะไร ซึ่งเขาเองก็มีการถกเถียงในหัวเช่นนั้น

“คือคำถามหนึ่งที่เราเจอบ่อยมากในคุก จนต้องมาถามกับตัวเอง คือกูทำทำไมว่ะ ถ้ากูไม่ทำแบบนี้ กูก็ไม่เป็นแบบนี้ อันนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องที่เราถูกกล่าวหา แต่หมายถึงการเคลื่อนไหวของเราที่ผ่านมา คือเขาฟังแล้วไม่เข้าใจว่ามึงทำไปแล้วได้อะไร มึงได้เงินไหม มึงได้อะไรมา คือสิ่งที่เราทำมันเป็นการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ไง เป็นการต่อสู้ด้วยความคิด แล้วความคิดมันก็สู้กัน คือโอเค ตอนเราอยู่ข้างนอก เราอยู่กับเพื่อนที่รู้เรื่องกัน มันก็ฮึกเหิม แต่พอเราอยู่คนเดียว เราเจอนั่นนี่ เราแปลกแยกทางความคิด คือเขาทำนา เขาก็ได้เงิน เขาได้อันนี้ เขามีคำตอบ ของผมคือเหี้ยอะไรว่ะ

“มันก็มีตัวที่ทำให้คิดเรื่องพวกนี้ แต่ก็จะมีอีกตัวที่มันยังแข็งแกร่งอยู่ มันก็ยันกัน อย่างตอนที่ผมอดข้าว มันก็มีตัวที่ถามว่ามึงทำทำไมว่ะ แม่ง ทรมานว่ะ แต่อีกฝั่งหนึ่งก็บอกว่ามันอยากลองดู มันอยากพิสูจน์ว่าไอ้สิ่งที่เราคิดเป็นยังไง คือเวลาเราคิด ทุกคนคิดได้ ทุกคนฝันได้ แต่ตัวที่จะต้องตอบคำถามอยู่ตลอด คือมึงทำไปแค่ไหน แต่ของผมมันยกระดับไปเรื่อยๆ หนักมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ

“อย่างเรื่องอดอาหาร มันก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไง แต่เรารู้ว่าคานธีอดอาหาร เรารู้ว่าจำลองอด รู้ว่าคนค้านถ่านหินอดอาหารประท้วง แต่เราก็ไม่ได้เข้าใจเขาดี พอทำเอง แล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่น่ะ คือมันเป็นอีกฟิลล์หนึ่งไปเลย คือโอเค เรารู้ว่าคุณอดอาหาร เรานับถือใจ เราเห็นด้วย แต่พอเราไปทำ เฮ้ย ยอมรับเลย คุณต่อสู้ได้ว่ะ ถ้าผมไม่ทำ ถ้าผมฟังคนว่าอย่าไปทำเลย มันทรมานน่ะ ผมก็คงไม่รู้ว่ะ ถ้าผมฟังคนที่ว่าอย่าไปค้านเลยรัฐประหาร ค้านไปก็ไม่ชนะ ค้านไปก็โดนจับ ผมก็คงไม่รู้ เขาก็พูดถูก ไม่ได้ผิดเลย แต่มันมีอย่างหนึ่งที่แตกต่าง คือเราได้ไปรับรู้ความรู้สึกจริงๆ ของการทำตรงนั้น”  

หลังชีวิตได้รับอิสรภาพกลับคืน ไผ่บอกว่าหลังจากออกจากเรือนจำ เขาต้องปรับตัวอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์รุ่นหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อนตกรุ่นไปหมดแล้ว และเขาเพิ่งเริ่มมาหัดเล่นทวิตเตอร์ ทั้งยังต้องปรับสภาพการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะถูกทำให้เคยชินกับจังหวะภายในคุก เขาบอกว่าออกมาใหม่ๆ ตอนข้ามถนน รถเยอะๆ ยังมีอาการตกใจอยู่นิดหน่อย

“คือเหมือนกับเราต้องออกมาเริ่มใหม่ แต่ไม่ได้เริ่มแบบไม่มีอะไรเลยน่ะ แต่ต้องเริ่มใหม่แบบปรับตัวไป คือบางคนติดไปเป็น 10 ปี ออกมาจำทางกลับบ้านไม่ได้ มันอยู่นาน มันไม่ได้เห็นโลก แล้วมันก็ชินไง เหมือนกับเอาสัตว์ป่าไปขังในกรงนานๆ แล้วปล่อยออกมา จะเอาไปปล่อยป่า มันก็ไม่ได้ออกไปล่า ไปใช้ชีวิตได้น่ะ มันก็ต้องเรียนรู้วิถีก่อนว่าที่นี่มันเป็นยังไงน่ะ ก็ต้องสังเกต ต้องมองดู ผมออกมาแรกๆ ก็เคอะเขินอยู่ เห็นคนเยอะๆ ก็ตื่นตาตื่นใจ ทำตัวไม่ถูก แต่ของเรา ก็ไม่ได้นานขนาดลืมทางกลับบ้านอะไรแบบนั้น”

ไผ่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าจะทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป แต่ล่าสุดในเดือนนี้ เขาได้รับการชักชวนจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เรียนจบมา ให้ไปช่วยในการทำหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับน้องๆ ในมหาวิทยาลัย จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ที่ผ่านการถูกละเมิดมาอย่างโชกโชน เรื่องราวของเขาคงเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่ๆ ต่อไปบ้าง

แต่คำตอบหนึ่งที่ดูเหมือนยังแน่ชัดกับตัวเอง คือหลังจากการต่อสู้เคลื่อนไหว 4-5 ปีที่ผ่านมา ผ่านคุกมาสามคุกแล้ว ไผ่ยังคงมีความฝันอยู่เช่นเดิม

“ณ วันนี้ ผมก็ยังไหวอยู่น่ะ วันหนึ่งผมอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ผมไม่รู้ แต่ว่า ณ วันนี้ผมไหวอยู่ หมายถึงยังได้อยู่ ยังเชื่ออยู่ ยังฝันอยู่ ยังฝันเห็นสังคมที่ดี ฝันเห็นโลกที่ดี ฝันเห็นชีวิตที่ดีอยู่ คือมันเป็นการยืนยันว่าผมยังทำอยู่น่ะ โอเค ทำยังไง ยังไม่รู้มาก แต่การผ่านอะไรหนักๆ มาก เราก็ยังอยู่อยู่น่ะ ผมก็ยังเป็นผมแบบนี้ แต่อาจจะคิดเยอะมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น อะไรแบบนี้ ไม่ว่าจะไปอยู่ในจุดไหน ผมก็ยังเป็นผมนี่แหละ”

แม้จะใส่แว่นดำ และต้องผ่านวันเวลาอันหนักหน่วงเหล่านั้นมา…เขาก็ยังคงเป็นเขา และรอยยิ้มนั้นยังอยู่บนใบหน้า

.

อ่านทบทวนลำดับเวลาการถูกดำเนินคดีของไผ่ ได้ใน  870 วัน ของการจองจำ ‘ไผ่’

.

X