3 ผู้รายงานพิเศษ UN แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดี #เยาวชนปลดแอก ชี้ละเมิดสิทธิตามกติกาสากล

3 ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการสมาคม (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association), ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) และผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the situation of human rights defenders) ได้ส่งหนังสือทวงถามรัฐบาลไทย (หนังสือลำดับที่ ALTHA 7/2020 ลงวันที่ 17 กันยายน 2563) ถึงกรณีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชน ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นายบารมี ชัยรัตน์, นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายเดชาธร บํารุงเมือง, นายทศพร สินสมบูรณ์, นายธานี สะสม, นายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, นายธนายุทธ ณ อยุธยา, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, นายภานุมาศ สิงห์พรม และ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ รวมไปถึงกรณีที่มีการปิดกั้นการเข้าถึงกลุ่มในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก

 

ข้อกังวลต่อการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม/ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ

ผู้รายงานพิเศษทั้ง 3 ได้เท้าความถึงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ก่อนที่ต่อมาจะเกิดการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตามมาในหลายจุดทั่วประเทศ โดยในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ทางเยาวชนปลดแอกได้จัดการชุมนุมอีกครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 20,000 คน

ในภาพรวม ทางผู้ชุมนุมได้เรียกร้องในประเด็นหลัก ได้แก่ เรียกร้องการเลือกตั้งใหม่, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, ขอให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้ระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ภายหลังจากการออกมาชุมนุมอย่างสงบ พบว่ามีผู้เข้าร่วมและผู้ปราศรัยหลายรายถูกดำเนินคดี

จากข้อมูลที่ทางผู้รายงานฯ ได้รับ ได้ให้รายละเอียดเรื่องการจับกุมนักเคลื่อนไหวและประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ไว้ดังนี้

  • อานนท์และภานุพงศ์ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ก่อนที่พริษฐ์จะถูกจับกุมเป็นรายต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ทั้ง 3 ถูกจับกุมจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามกระทำการเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก
  • ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 อานนท์ถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2 (จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์​ขับไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร) พร้อมกันกับบารมี, สุวรรณา, และกรกช ซึ่งถูกจับเนื่องจากเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ผู้ร่วมชุมนุมวันที่ 18 อีก 5 ราย ได้แก่ เดชาธร, ทศพร, ธานี, ณัฐวุฒิ, และธนายุทธ ได้ถูกจับกุมต่อเนื่องกัน ทั้ง 9 รายได้รับการประกันตัวในช่วงเย็นของวันที่ 20 สิงหาคม 2563
  • ภาณุพงศ์ถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ที่ระยอง (เหตุจากการร่วมชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน) ก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันนั้น
  • วันที่ 26 สิงหาคม 2563 ทัตเทพและภานุมาศถูกจับกุม (เนื่องจากเป็นผู้จัดม็อบ 18 กรกฎาคม) ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน 2563 จุฑาทิพย์ได้ถูกจับกุมเป็นรายสุดท้ายจากมูลเหตุเดียวกัน ทั้ง 3 ได้รับการประกันตัวในวันเดียวกับที่ถูกจับกุม

ผู้ร่วมชุมนุมโดยสงบทั้ง 14 ถูกตั้งข้อหาทางอาญา 7 ข้อหา ซึ่งเป็นข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการ “รวมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” การมีส่วนร่วมในการชุมนุม และการยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นข้อหาร้ายแรง มีโทษสูงสุดคือจำคุกถึง 7 ปี

การขึ้นพูดบนเวทีปราศรัยของนักกิจกรรมคือ อานนท์ (ขึ้นพูดในการชุมนุมวันที่ 20 กรกฎาคม, 3 สิงหาคม, และ 10 สิงหาคม) ภานุพงศ์ (ขึ้นพูดในการชุมนุมวันที่ 20 กรกฎาคม, 3 สิงหาคม, และ 10 สิงหาคม) และสุวรรณา (ขึ้นพูดในการชุมนุมวันที่ 20 กรกฎาคม, และ 3 สิงหาคม) ยังเป็นผลให้ทั้ง 3 ถูกออกหมายจับ และที่เพิ่มเติมจากการตั้งข้อหาเรื่องชุมนุมโดยไม่ชอบ อานนท์และภานุพงศ์ยังถูกตั้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการใช้บัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมใน 2 การชุมนุม คือวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 2563

ทาง 3 ผู้รายงานพิเศษได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก และกล่าวย้ำเตือนกับทางรัฐบาลไทยว่าภายใต้กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนสากล ไม่มีใครควรที่จะถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบหรือการแสดงออกทางการเมือง การตั้งข้อหากับนักกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดมาตรา 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR – International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นภาคีและบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540

 

 

ข้อกังวลต่อการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลและการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์

นอกจากประเด็นเรื่องการดำเนินคดีผู้เข้าร่วมในการชุมนุม ในหนังสือฉบับนี้ได้กล่าวถึงบริบทการเกิดกลุ่มบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่คนออกมาพูดเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ทางเจ้าหน้าที่รัฐยังได้สั่งให้เฟซบุ๊กบล็อคการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก “Royalist Marketplace” สำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งดังกล่าว ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ขู่ที่จะใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กประเทศไทยด้วย

ผู้รายงานพิเศษทั้ง 3 แสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลในกลุ่มเฟซบุ๊กจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและทางสาธารณะของประชาชน นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ประชาชนที่ร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี เนื่องจากข้อคิดเห็นบางส่วนอาจถือเป็นเรื่องร้ายแรงในสายตาของรัฐ ภายใต้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางผู้รายงานพิเศษทั้ง 3 ได้แสดงความห่วงกังวลไปแล้วก่อนหน้านี้ ในหนังสือ 3 ฉบับที่เคยส่งให้รัฐบาลไทย (AL THA 1/2020, UA THA 1/2017 และ UA THA 7/2017)

ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับนี้ ทางผู้รายงานพิเศษยังขอให้ทางรัฐบาลไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น

  1. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ระบุมาในหนังสือฉบับนี้
  2. ให้รายละเอียดข้อเท็จจริงทั้งหมด รวมทั้งรายละเอียดทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมและประชาชนทั้ง 14 รายที่กล่าวถึง
  3. อธิบายว่าในสถานการณ์ใดที่การพูดหรือเข้าร่วมในการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยสงบ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยปราศจากความรุนแรง เข้าข่ายในการดำเนินคดีตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา
  4. อธิบายว่ามีมาตรการใดแล้วบ้างถูกนำมาใช้ โดยอาศัยคำแนะนำจาคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นแนวทาง เพื่อไม่ให้มีการนำตัวกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, มาตรา 116, และข้อกฎหมายอื่นๆ มาใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน
  5. มาตรการใดบ้างที่ถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันการใช้สิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบและสิทธิในการแสดงออก โดยปราศจากการคุกคามหรือการดำเนินคดี

 

 

ไทยมีพันธกิจที่จะต้องปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

ทาง 3 ผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้ย้ำเตือนรัฐบาลไทยเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งนอกจาก ICCPR แล้ว ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 (General Comment No. 37) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ยังเน้นย้ำว่า “แม้ว่าการชุมนุมโดยสงบของผู้ชุมนุมอาจตรงข้ามกับความเชื่อหรือก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบกลับด้วยความรุนแรงจากคนกลุ่มอื่นในสังคม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่รัฐจะสามารถเข้ามาสั่งห้ามไม่ให้เกิดการชุมนุม … รัฐจะต้องมีมาตรการที่ไม่สร้างภาระเกินควรให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อที่จะปกป้องผู้ชุมนุมทุกกลุ่มและทำให้การชุมนุมเกิดขึ้นโดยไม่ถูกขัดขวาง”

ในส่วนของสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ระบุว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง สิทธิในการรับและส่งต่อข้อมูลไม่ว่าจะมีเนื้อหาอย่างไรหรือในรูปแบบใดก็ได้ ถึงแม้ว่าเนื้อหาที่ถูกส่งต่ออาจเข้าข่ายก่อให้เกิดความตกใจหรือกระทบจิตใจ ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก  (CCPR/C/GC/34)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระบุว่ารัฐที่ลงนามยอมรับในหลักการ ICCPR ต้องรับรองสิทธิดังกล่าวของประชาชน หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นของบุคคลเอง และข้อคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะ ยกเว้นก็แต่การแสดงออกนั้นขัดต่อข้อห้ามในทางกฏหมาย และจะต้องไม่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ความรุนแรง หรือการเลือกปฏิบัติ

ทางผู้รายงานฯ ได้อ้างถึงรายงานในประเด็นเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวโดยสงบของทางผู้รายงานพิเศษเอง ซึ่งการห้ามไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มคนนำเสนอข้อมูลในโลกออนไลน์เพียงเพราะข้อมูลดังกล่าวอาจถูกมองว่ากระทบต่อรัฐบาลหรือระบบสังคมและการเมืองถือเป็นการขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ รวมตัว และการแสดงออก (A/HRC/41/41 ย่อหน้าที่ 42)

นอกจากนั้น ในหนังสือฉบับนี้ยังย้ำเตือนถึงคำแนะนำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ให้ไว้ในรายงานข้อสังเกตเชิงสรุปต่อรายงานประเทศฉบับที่ 2 ของประเทศไทยเมื่อปี 2560 ว่าทางรัฐบาลควรจะหยุดใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, มาตรา 116 และข้อกฎหมายอื่นๆ เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมโดยสงบ รวมไปถึงต้องรับรองและเคารพในสิทธิเหล่านี้ของประชาชน  (CCPR/C/THA/CO/2, ย่อหน้าที่ 35, 36, 39, 40)

ที่เพิ่มจากกรณีการจับกุมข้างต้น ทางผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้อ้างถึงสิทธิในการที่จะไม่ถูกทำให้ปราศจากซึ่งเสรีภาพและสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม สิทธิเหล่านี้ได้ถูกระบุไว้ในมาตรา 9 และ 14 ของ ICCPR การพรากเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่เพียงแค่ออกมาใช้สิทธิหรือเสรีภาพของตนถือเป็นการใช้อำนาจโดยปราศจากกฎเกณฑ์

ทางผู้รายงานพิเศษฯ ได้ขอให้รัฐบาลไทยตอบกลับหนังสือฉบับนี้ภายใน 60 วัน หากช้าไปกว่านี้ การตอบกลับหรือท่าทีใดๆ ของทางรัฐบาลไทยจะถูกเปิดเผยบนเว็บไซต์รายงาน และจะถูกบันทึกในรายงานเพื่อนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC)

ต่อมาทางรัฐบาลไทยโดยผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ที่เจนีวา ได้ทำหนังสือตอบกลับแจ้งผู้รายงานพิเศษฯ ว่ารับทราบถึงหนังสือสอบถามเรื่องนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2563 และจะส่งหนังสือนี้ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมถึงจะแจ้งความคืบหน้าให้ทางผู้รายงานพิเศษฯ ทราบทันทีที่ได้รับรายละเอียดจากทางการไทย อย่างไรก็ตาม ณ วันที่หนังสือสอบถามของผู้รายงานพิเศษฯ ฉบับนี้เผยแพร่ รัฐบาลไทยยังไม่มีคำตอบให้สหประชาชาติ

 

 

รู้จักการใช้กลไกพิเศษ UN 

ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ใช้ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลไกที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ หรือในรายประเด็น โดยบุคคลหรือคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

กลไกพิเศษเหล่านี้ ทั้งในรูปของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) หรือคณะทำงาน (Working Group) จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงาน และคำชี้แจงของรัฐต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติด้วย (ดูเพิ่มเติม ในรายงาน https://tlhr2014.com/?p=3587)

 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

บทบัญญัติที่ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย: ย้อนดู ม.112 ในสายตากลไกสิทธิมนุษยชน UN

ผู้รายงานพิเศษ UN รับเรื่องร้องเรียน ‘ดนัย’ ศิลปินโพสต์ติงการคัดกรองโควิด สุวรรณภูมิ

ผู้รายงานพิเศษ UN ออกแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้กำลังจนท.รัฐในภาวะฉุกเฉิน ช่วงโควิด-19

 

X