6 นักกิจกรรมยื่นอัยการให้สอบพยานเพิ่ม-ไม่ฟ้องคดี #คณะราษฎรอีสาน เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

24 พ.ย. 2563 นักกิจกรรม 6 ราย ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ชาติชาย แกดำ, อรรถพล บัวพัฒน์, กรกช แสงเย็นพันธ์, กฤษณะ ไก่แก้ว และชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดี #คณะราษฎรอีสาน จากกรณีที่มีการตั้งเต็นท์ ‘นอนรอม็อบ’ เตรียมชุมนุมในวันที่ 13 ต.ค. 2563 ที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ตามที่พนักงานสอบสวนนัด เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) หลังพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้งหกใน 7-9 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ, ประมวลกฎหมายอาญา ม.385 และ 368

หลังจากส่งตัวให้อัยการศาลแขวงดุสิตแล้ว อัยการได้นัดนักกิจกรรมทั้งหกมาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ ในวันที่ 3 ธ.ค. 2563

ภาพเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อ 13 ต.ค. 63

ทั้งนี้ นักกิจกรรมทั้งหกได้ยื่นหนังสือต่ออัยการแขวงดุสิตขอความเป็นธรรมให้พนักงานสอบสวนสอบพยานเพิ่มเติมและให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ มีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1. ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ได้แก่

(1) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน ในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม โดยขอให้ดำเนินการสอบสวน ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการทางด้านกฎหมายมหาชน

(2) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์ ในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง

(3) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางด้านประวัติศาสตร์

หากไม่ได้ดำเนินการสอบสวนพยานเพิ่มเติมดังกล่าวจะทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนด

2. พฤติการณ์ของผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ ทั้งยังไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์อย่างใดของผู้ต้องหาที่ถือเป็นการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา

3. การดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะอาศัยกฎหมายตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งมีโทษอาญาทั้งโทษจำคุกและโทษปรับที่รุนแรงเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย  ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหาสาธารณะต่าง ๆ อีก อันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาโดยไม่สุจริต

4. การกล่าวหาและดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศ  ทั้งขณะเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน  ก็ไม่ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด การฟ้องคดีผู้ต้องหาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ. 2554

นักกิจกรรมทั้ง 6 คน ถูกออกหมายเรียกภายหลังเหตุการณ์ที่กลุ่ม #คณะราษฎรอีสาน ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ร่วมชุมนุมรวม 21 คน ไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 แจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา โดยแกนนำสำคัญที่ถูกจับกุมคือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่ นักร้องวง the Bottom Blues) ทั้งหมดอัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องคดี

 

X