คุมตัว #คณะราษฎรภาคอีสาน 21 ราย พาตัวไป ตชด.ภาค 1 ก่อนส่งศาลฝากขัง ไม่ให้ประกัน

13 ต.ค. 63 หลังในช่วงเช้า กลุ่มดาวดินและคณะราษฎรภาคอีสาน ที่เดินทางมาจากหลายจังหวัด ได้เริ่มเริ่มตั้งเต็นท์เพื่อปักหลักรอการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 14 ต.ค. อยู่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยได้มีการนำรถเครื่องเสียงมาเตรียมปราศรัยดำเนินกิจกรรมการชุมนุม
.
ตั้งแต่ในช่วงเช้าจนถึงบ่ายได้มีรายงานเจ้าหน้าที่พยายามเขากดดันให้ยุติการชุมนุมและการตั้งเต็นท์อยู่บริเวณนี้ โดยระบุเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ กีดขวางการจราจร และการมีขบวนเสด็จในช่วงเย็นนี้ แต่ผู้ชุมนุมยืนยันปักหลักบริเวณดังกล่าวต่อไป ก่อนที่จะมีเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้ามาบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
.
.
จนในเวลาประมาณ 15.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังเข้าล้อมพื้นที่ชุมนุม และพยายามจะเข้า “ขอคืนพื้นที่” ก่อนเริ่มทยอยมีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมและแกนนำไปทีละคน โดยมีทั้งการอุ้มและลากตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังของทางตำรวจ แกนนำสำคัญที่ถูกควบคุมตัว ได้แก่ นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ (แอมมี่ นักร้องวง the Bottom Blues) และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ปีนขึ้นไปอุ้มตัวลงมาจากรถปราศรัย
.
ขณะเดียวกันมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ควบคุมตัวนายศรัญย์ แสนนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรังสิต โดยไม่ได้มีการใช้กำลังในการควบคุมตัว แต่กล่าวหาว่าเขาเป็นผู้ติดตั้งเต็นท์กีดขวางการจราจร และได้พาตัวไปยังสน.ชนะสงคราม โดยมีทนายความเดินทางติดตามไป
.
ศรัญย์ระบุว่าตนมาเข้าร่วมปักหลักชุมนุม และได้ช่วยดำเนินการติดตั้งเต็นท์ให้ผู้ชุมนุม แต่ไม่ได้เป็นผู้ประสานงานหรือจัดหาเต็นท์มา
.
พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาศรัญย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 “ใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ให้ผู้อื่นกระทำความผิด” โดยกล่าวหาว่าเขาได้ใช้ให้ผู้ขับรถกระบะคันหนึ่งมาจอดกีดขวางการจราจร และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สน.ชนะสงคราม ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ขับรถดังกล่าวเป็นเงิน 200 บาท
.
ตำรวจได้แจ้งพฤติการณ์กระทำความผิดกับศรัญย์ในที่เกิดเหตุ และนำตัวมายัง สน.ชนะสงคราม ก่อนที่นายศรัญย์จะได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 200 บาท ทำให้คดีเสร็จสิ้นลง
.
เวลา 17.20 น. ในส่วนของผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ที่เป็นแกนนำและผู้ชุมนุม ต่อมาจึงทราบว่ามีถูกควบคุมตัวอีกทั้งหมด 21 ราย โดยมี 19 ราย ถูกนำตัวไปโดยรถควบคุมผู้ต้องขัง เดินทางไปยังกองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 บริเวณคลองห้า จังหวัดปทุมธานี ขณะที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อีก 2 ราย ถูกคุมตัวแยกไป ก่อนพบว่าถูกนำตัวไปที่ บก.ตชด.ภาค 1 เช่นเดียวกัน
.
.
เวลา 17.45 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางติดตามไปถึง บก.ตชด.ภาค 1 เนื่องจากได้รับการติดต่อจากผู้ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่บริเวณประตูได้ขอจดชื่อทนายไปสอบถามผู้บังคับบัญชา ก่อนกลับมาแจ้งว่ายังไม่อนุญาตให้เข้า
.
แม้ทนายความจะยืนยันถึงสิทธิของผู้ที่ถูกจับกุมในการพบทนายความ แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่า ตชด. เพียงดูแลพื้นที่ ยังไม่ทราบว่ามีใครถูกควบคุมตัวมาบ้าง ต้องรอพนักงานสอบสวนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาก่อน จนถึงเวลา 18.45 น. ทนายก็ยังไม่สามารถเข้าไปพบผู้ถูกจับกุมตัวได้
.
.
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ระบุว่าในการจับกุมนั้น เจ้าพนักงานต้องนำตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ ฉะนั้นการที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ชุมนุมจำนวน 21 รายมาที่กองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย
.
อีกทั้งในวรรคสองของมาตรา 83 ยังยืนยันถึงสิทธิของผู้ถูกจับกุมที่จะพบและปรึกษาทนายความอีกด้วย
.
ขณะเดียวกัน เวลาประมาณ 17.40 น. กลุ่มนักกิจกรรมที่ยังเหลืออยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เดินทางไปสมทบกับการชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวด้วย

.

.

แจ้ง 10 ข้อหาผู้ชุมนุม  ด้าน “ไผ่” ถูกกล่าวหาเป็นแกนนำ แจ้ง 12 ข้อหา

เวลา 17.45 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางติดตามไปยัง บก.ตชด.ภาค 1 หลังได้รับการติดต่อจากผู้ถูกควบคุมตัว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบผู้ถูกควบคุมตัวทั้ง 21 คน แม้จะมีการยืนยันสิทธิของทนายความในการเข้าพบผู้ถูกจับกุมหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่ ตชด. ยังคงปฏิเสธ และให้รอคอยคำสั่งการ
.
นอกจากนั้นยังมีญาติของผู้ถูกจับกุมบางส่วน รวมทั้ง ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ทยอยเดินทางมาที่หน้าบก. แต่ก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้เช่นกัน ระหว่างนั้นยังมีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายพื้นที่ทยอยเข้าไปในบก.หลายคัน
.
ต่อมาท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ในตอนแรก เจ้าหน้าที่ยังคงให้ทนาย ญาติ และส.ส. รออยู่ภายนอกบริเวณป้อมยามของบก. จนกระทั่งราว 21.00 น. จึงให้เข้ามาภายในอาคารด้านหน้า เพื่อรอคอยการเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวต่อไป จนราว 21.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนเข้าไปพบผู้ถูกจับกุมทั้ง 21 คน ในเบื้องต้น
.
เวลา 23.00 น. เจ้าหน้าที่จึงได้อนุญาตให้ญาติของผู้ถูกจับกุมและทนายความเข้าไปพบทั้ง 21 คน หลังรอคอยนานกว่า 5 ชั่วโมง
.
ในส่วนนักศึกษาและประชาชนผู้ถูกควบคุมตัว พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20 ปี แต่มีเยาวชนที่อายุ 17 ปีอยู่ด้วย 1 คน และมีนักศึกษาหญิงอายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ขณะเดียวกันยังมีชายสูงวัยอายุ 65 ปี และหญิงอายุ 57 ปี ซึ่งเป็นมวลชนที่ถูกควบคุมตัวมาด้วย โดยหลายคนไม่ได้เป็นแกนนำการชุมนุมแต่อย่างใด
.
ก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีกระบวนการสอบสวนใดๆ กับผู้ถูกจับกุมตัวทั้งหมด เพียงแต่ให้นั่งรอและมีการนำเตียงพับของตชด. มาตั้งไว้ให้ โดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ ให้ได้รับทราบ ทั้งยังคงใช้สายรัดที่ข้อมือผู้ถูกจับกุมเอาไว้ก่อนอยู่กว่าชั่วโมงด้วย จนผู้ถูกจับกุมต้องกดดันต่อรองให้ถอดออก
.
หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ได้เริ่มให้แพทย์และพยาบาลเข้าตรวจร่างกาย โดยผู้ถูกจับกุมหลายรายยังมีบาดแผลจากการถูกทำร้ายระหว่างถูกจับกุม
.
ก่อนจะทำการจัดทำบันทึกจับกุมและเริ่มแจ้งข้อกล่าวหา เวลาประมาณ 01.15 น. จนกระทั่งเวลา 3.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการอ่านบันทึกจับกุมให้ผู้ต้องหาทั้ง 21 คนฟังในห้องควบคุมตัว ที่กองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 โดยผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ประสงค์ลงชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากมีข้อโต้แย้งในข้อเท็จจริงขณะจับกุมตัว
.
สำหรับข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้ต้องหาทั้ง 20 คน มี 10 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่
.
1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
3. พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
.
4. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
.
5. พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
.
6. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
.
7. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
.
8. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
9. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
.
10. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
ในส่วนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เพียงคนเดียว ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในฐานะแกนนำ
.
ข้อหาที่แตกต่างกันคือ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคท้าย ซึ่งระบุว่าเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
อีกยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมแล้วทำให้จตุภัทร์ถูกแจ้งทั้งหมด 12 ข้อหา
.
ทั้งนี้การแจ้งข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นในคืนที่ผ่านมา ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อเยาวชนอายุ 17 ปี ที่ต้องส่งตัวไปสอบสวนการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัว ว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก่อน หากการจับกุมตัวชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนได้ โดยต้องมีการจัดหานักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เยาวชนร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ จึงทำให้พนักงานสอบสวนไม่สามารถดำเนินการในคืนที่ผ่านมาได้
.
หลังพนักงานสอบสวนทำการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วเสร็จในเวลาประมาณ 05.15 น. ของเช้าวันที่ 14 ต.ค. 63 ผู้ต้องหาทั้ง 20 คน ได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยมีสมาชิกผู้แทนราษฏร (ส.ส.) จากพรรคก้าวไกลจำนวน 3 คน เข้าใช้ตำแหน่งเป็นประกัน ด้านพนักงานสอบสวนระบุว่าสำหรับผลการประกันตัวต้องรอผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป
.
.

ตำรวจแจ้งข้อหา “ไผ่” เพิ่มอีก จากคดีชุมนุม 19 ก.ย. ขณะนำตัว #คณะราษฎรอีสาน ไปขออำนาจฝากขังที่ศาล

เวลา 10.30 น. ทางพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามได้เดินทางไปแจ้งข้อกล่าวหากับนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เพิ่มเติมอีก จากกรณีการชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. ที่ผ่านมา ทนายความจึงติดตามไปร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา
.
ต่อมามีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อจตุภัทร์ คือข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอื่นๆ แต่ยังไม่มีข้อหาเรื่องการบุกรุกโบราณสถาน
.
ขณะที่ผู้ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาจากกรณี #คณะราษฎรอีสาน นั้น เวลา 11.40 น. ผู้กำกับสน.สำราญราษฎร์ระบุว่าจะให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนเฉพาะผู้ชุมนุม 19 คนเท่านั้น แต่จตุภัทร์ซึ่งถูกแจ้งข้อหาซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ จะไม่ให้ประกันตัวในชั้นนี้ ทำให้นักศึกษาและประชาชนทั้งหมดยืนยันไม่ขอประกันตัว ถ้าหากจตุภัทร์ไม่ได้ประกันด้วย ในที่สุด ทางตำรวจจึงจะนำตัวทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขัง
.
12.40 น. ตำรวจได้จัดเตรียมรถเพื่อนำตัวผู้ชุมนุม 19 คน ไปขอฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต ส่วนจตุภัทร์ยังอยู่ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาในคดี 19 ก.ย. หากเสร็จสิ้นจะถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญา
.
ขณะเดียวกันที่ด้านหน้าศาลแขวงดุสิต มีรายงานว่าได้มีกำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 4 จากจังหวัดขอนแก่นประจำการรออยู่แล้ว ทั้งยังมีรถตู้ตำรวจหลายสิบคัน และรถควบคุมผู้ต้องขังจอดอยู่ด้านหน้า เช่นเดียวกับที่หน้าศาลอาญา มีรายงานการจัดกำลังตำรวจรอบริเวณศาลแล้ว
.
ทั้งนี้ ยังมีผู้ถูกจับกุมอีก 1 ราย ที่เป็นเยาวชนชายอายุ 17 ปี ได้ถูกส่งตัวไปสอบสวนการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ ทั้งต้องมีการจัดหานักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่เยาวชนร้องขอ มาร่วมในการแจ้งข้อหา
.
.

ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว “ไผ่ ดาวดิน” อ้างเหตุอาจมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายอีก

เวลา 13.25 น. หลังการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวจตุภัทร์ออกจากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ไปยังศาลอาญาเพื่อขออำนาจในการฝากขัง ขณะที่รถเลี้ยวออกจากตชด. และมีผู้สื่อข่าวรอถ่ายรูป จตุภัทร์เปิดกระจกจากรถผู้ต้องขังพร้อมตะโกน #ศักดินาจงพินาศประชาราษฎร์จงเจริญ
.
ที่ศาลอาญา พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังจตุภัทร์ ในคดีชุมนุม 19 ก.ย. โดยอ้างว่าคดีนี้ยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 6 ปาก, รอผลการตรวจลายนิ้วมือและประวัติอาชญากรรม และคดีนี้ยังมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงขออำนาจศาลฝากขังไว้เป็นเวลา 12 วัน และยังขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากผู้ต้องหามีพฤติการณ์ไปชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองในลักษณะเดิมอีก และผู้ต้องหายังอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีอยู่หลายคดีและหลายท้องที่
.
เช่นเดียวกับคดีชุมนุมคณะราษฎรอีสาน ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นขอฝากขังเนื่องจากอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้่น จึงยังมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ แต่ในคำร้องได้มีการขีดฆ่าจากตัวพิมพ์ที่เดิมระบุว่าไม่คัดค้านการประกันตัว แล้วเขียนด้วยปากกาแทนเป็นขอค้ดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
.
ขณะที่ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขังในทั้งสองคดี เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่มีเหตุหรือความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ได้มีเจตนาจะหลบคดี ในส่วนคดี 19 ก.ย. ก็ไม่เคยมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน
.
เวลา 18.00 น. หลังการไต่สวนฝากขัง ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังจตุภัทร์ ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนทั้งสองสถานีตำรวจ ในคดีชุมนุม 19 ก.ย. และคดี “คณะราษฎรอีสาน”
.
จากนั้นทางส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ใช้ตำแหน่งในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ ต่อมาเวลา 18.20 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจตุภัทร์ ทั้งในคดีชุมนุม 19 ก.ย. และคดีคณะราษฎรอีสาน โดยศาลสั่งในลักษณะคล้ายคลึงกันในทั้งสองคดี โดยเห็นว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หากปล่อยตัว อาจมีพฤติการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันอีก ประกอบกับพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกัน
.
เวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวจตุภัทร์ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
.

.

ศาลแขวงดุสิตไม่ให้ประกัน 19 ผู้ชุมนุม อ้างเชื่อว่าจะไปร่วมชุมนุมก่อความวุ่นวายอีก 

ทางด้านผู้ชุมนุม 19 ราย ได้ถูกนำตัวจาก บก.ตชด.ภาค 1 เพื่อไปขออำนาจฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต
.
เวลา 14.00 น. รถควบคุมตัวผู้ต้องหา 19 ราย เดินทางมาถึงศาล ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย รองสารวัตร (สอบสวน) สน.สำราญราษฎร์ ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด โดยระบุว่าต้องรอการตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา และสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก จึงจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-19 ต.ค.
.
15.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังและขอไต่สวนการฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่มีเหตุหรือความจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และพนักงานสอบสวนก็ได้สอบผู้ต้องหาไปแล้ว ผู้ต้องหาทั้งหมดยังเป็นเพียงนักศึกษาและประชาชนธรรมดา ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และไม่ได้มีเจตนาจะหลบคดี
.
เวลา 16.15 น. ศาลได้ให้มีการไต่สวนฝากขัง โดยพนักงานสอบสวนอ้างเหตุการขอฝากขังและคัดค้านการประกันตัวเพิ่มเติมว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และจะไปร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลและแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
ขณะที่ทนายความแถลงคัดค้านคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ในประเด็นว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีนี้ไม่มีเหตุที่จะฝากขัง เนื่องจากโทษตามข้อหาที่สูงที่สุดคือจำคุกไม่เกินสามปี
.
การไต่สวนเสร็จสิ้นในเวลา 16.40 น. แต่ผ่านไปกว่า 3 ชั่วโมง ศาลยังคงไม่มีคำสั่ง จนผู้ถูกควบคุมตัวต้องพยายามสอบถามว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าไร เพราะไม่ได้อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เลอะสีตั้งแต่เมื่อวานนี้
.
จนเวลา 19.35 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 19 คน เป็นระยะเวลา 6 วัน โดยเห็นว่าคำร้องของพนักงานสอบสวน ยังมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงมีเหตุที่ศาลจะออกหมายขัง กรณีมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนต่อไป คำขอคัดค้านของผู้ต้องหาทั้ง 19 ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง จึงอนุญาตให้ผัดฟ้องและฝากขังผู้ต้องหาตามขอ
.
จากนั้น ส.ส.จากพรรคก้าวไกล 4 คน ได้ใช้ตำแหน่งในการขอประกันตัวทั้ง 19 คน
.
จนเวลา 21.20 น. ศาลแขวงดุสิต ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดี ผู้ต้องหาทั้ง 19 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และมีพฤติการณ์ต่อสู้เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ในลักษณะเป็นกลุ่มชนหมู่มาก ทั้งมีแนวโน้มที่จะก่อความวุ่นวายในที่ชุมนุม และยากต่อการควบคุมสถานการณ์ อันอาจเกิดอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นและประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในช่วงเวลานี้ เชื่อว่าจะไปร่วมออกความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก
.
ผลของคำสั่งดังกล่าว ทำให้ทั้งหมดจะถูกส่งตัวไปคุมขังในเรือนจำ ในจำนวน 19 คน แยกเป็นชาย 16 คน และหญิง 3 คน ในจำนวนนี้ยังเป็นชายสูงวัยอายุ 65 ปี และหญิงอายุ 57 ปีอีกด้วย
.
ในส่วนกรณีของเยาวชนชายวัย 17 ปี ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวเยาวชนรายนี้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหากระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวอีก
.
เมื่อรวมกับ “ไผ่ จตุภัทร์” ทำให้มีผู้ชุมนุม #คณะราษฎรอีสาน จะถูกคุมขังในเรือนจำ 20 คน
.
X