‘ดาวดิน’ ชูป้ายค้าน รปห. ใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

 

พยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ให้ความเห็น ดาวดินชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเป็นการชุมนุมภายใต้รัฐธรรมนูญ ชี้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ขัดรัฐธรรมนูญ และถูกยกเลิกแล้วโดย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

10 ก.ค. 61 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) นัดสืบพยานจำเลยคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการศาล มทบ.23 เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเป็นการสืบพยานจำเลยวันที่ 3 ทนายจำเลยนำ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์

ผศ.จันทจิรา เบิกความว่า พยานจบการศึกษาชั้นปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน โดยบรรยายในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง และวิชาสิทธิเสรีภาพ รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความเห็น นอกจากนี้ ยังเคยเขียนบทความเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะไว้ด้วย

อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนเบิกความถึงเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งโดยรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีและมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ข้อ 21 ของ ICCPR บัญญัติไว้ว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 44 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

พยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเบิกความต่ออีกว่า การที่รัฐจะจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้นั้น ต้องเป็นไปตามข้อ 21 ของ ICCPR และวรรคสองในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น แต่หากประเทศอยู่ในสภาวะสงคราม เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะจะถูกจำกัดเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก

อ.จันทจิรา ได้ยกตัวอย่างการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจะกระทำมิได้ โดยยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 11/2549 ที่วินิจฉัยว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะบนถนนหลวงและไหล่ทางต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ก่อน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเกินความจําเป็น และกระทบกระเทือนสาระสําคัญแห่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ อันเป็นเสรีภาพขั้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ พยานยังยกตัวอย่างกรณีที่ศาลยกฟ้องคนงานไทรอัมพ์ซึ่งชุมนุมหน้ารัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้มีการแก้ไขปัญหา เนื่องจากศาลพิเคราะห์ว่า การชุมนุมของจำเลยแม้จะทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบ แต่จำเลยก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อความวุ่นวาย หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับสาธารณะชน

อาจารย์นิติศาสตร์เบิกความอีกว่า แม้จะมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว แต่ในการบังคับใช้เจ้าหน้าที่ก็ต้องตระหนักถึงความจำเป็น พยานได้ยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.711/2555 ซึ่งผู้ฟ้องเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ถูกตำรวจสลายการชุมนุม ขณะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่หน้าโรงแรม เจ.บี. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า การที่เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการสลายการชุมนุมเพียงเพื่อเปิดทางเข้าออกโรงแรมให้แก่คณะรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน จึงถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เกินแก่ความจำเป็น

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เห็นว่า การทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารของนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และไม่ได้กีดขวางการจราจรของผู้อื่น อีกทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มีเนื้อหาเดียวกัน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น กฎหมายใหม่ต้องยกเลิกกฎหมายเก่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ จึงมีผลให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกไป

อ.จันทจิรา ยังให้ความเห็นต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ด้วยว่า มีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่รับรองการชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งกำหนดให้การชุมนุมต้องขออนุญาต ซึ่งโดยหลักการแล้ว การชุมนุมไม่ต้องขออนุญาต เพียงแค่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเท่านั้น การกำหนดโทษก็หนักเกินไปเมื่อเทียบกับโทษที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นอกจากนี้ ถ้อยคำที่ใช้ยังเป็นถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาของข้อกฎหมาย เช่น มีคำว่า “มั่วสุม”, “ชุมนุมทางการเมือง”, “ณ ที่ใดๆ” อันเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจมากเกินไป ทำให้คนปฏิบัติตัวไม่ถูก และเกิดการปฏิบัติหลายมาตรฐาน

โจทก์ถามค้านพยานจำเลยปากนี้ว่า รัฐสามารถจำกัดสิทธิของประชาชนได้หรือไม่ สิทธิและเสรีภาพของแต่ละประเทศไม่เท่ากันใช่หรือไม่ พยานตอบว่า รัฐสามารถจำกัดสิทธิของประชาชนได้ตามที่กฎหมายอนุญาต และหากประเทศใดลงนามใน ICCPR แล้วก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณี การตรากฎหมายและบังคับใช้ก็ต้องสอดคล้องกับ ICCPR ซึ่งตามหลักการจะต้องรับรองสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากัน อาจแตกต่างกันในรายละเอียดได้บ้าง แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการใหญ่ ๆ ที่ ICCPR ให้การรับรองไว้ กรณีที่รัฐจะออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะต้องทำเรื่องแจ้งให้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ทราบ แล้ว UN จะถามกลับมายังรัฐบาลว่ามีเหตุผลอย่างไร หากรัฐบาลไม่แจ้งความประสงค์หรือเหตุผลในการออกกฎหมายดังกล่าว ก็จะมีผลทางการเมือง เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ หรืออื่นๆ

หลังจบการสืบพยานจำเลยปากนี้ ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ในวันที่ 18 ก.ย. 61 เวลา 08.30 น.

 

อ่านคำให้การพยานโจทก์และพยานจำเลยก่อนหน้านี้:

หัวหน้ากองข่าวชี้ ‘ไผ่’ ไม่ยอมถูกปรับทัศนคติหลังชูป้าย ‘คัดค้านรัฐประหาร’ จึงถูกดำเนินคดี

สห.ยัน ชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย

นักข่าวเผยเจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายภาพขณะนักศึกษาดาวดินถูกจับกุม

‘ไผ่’ แถลงกลางศาล พยานจับกุมโดยอ้างเพียงคำสั่ง ไม่คำนึงถึงหลักการทางกฎหมาย

ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห.

“ไผ่” ชี้การทำรัฐประหารคือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง

‘ไผ่’ ชี้ เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การต่อต้านก็เป็นหน้าที่

 

X