การประกอบสร้างความชอบธรรมแก่ “ความรุนแรง”: ในกรณีการสลายการชุมนุมของรัฐไทย

ภาสกร ญี่นาง

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

.

ข้ออ้างรองรับในเหตุการณ์ความรุนแรงความรุนแรงในสังคมไทยหลายครั้งเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของรัฐ ไม่ว่าจะต่อปัจเจกหรือกลุ่มบุคคล ในที่ลับหรือที่โจ่งแจ้ง โดยความรุนแรงเหล่านั้นใช่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วจบลงไปโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย การพิจารณาถึงความรุนแรง ซึ่งให้จุดสนใจไปที่ข้อเท็จจริงและกระบวนการปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงขึ้น เพื่อหาคำตอบว่าความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร อาจไม่ถูกต้องตามธรรมชาติของมันเท่าใดนัก ตรงกันข้าม ความรุนแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการ เพื่อใช้จัดการกับความขัดแย้งในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น

ความรุนแรงเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ข้ออ้างรองรับ” (Justification) เพื่อทำให้ผู้คนในสังคมเห็นว่าการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นเป็นเรื่องปกติ และสามารถเป็นวิธีการเพื่อใช้ในการจัดการความขัดแย้งระหว่างตนกับผู้อื่นได้[1] ข้ออ้างรองรับจึงไม่ใช่เพียงการให้เหตุผลโดยทั่วไป แต่เป็นคำอธิบายที่คอยแปลงการใช้ความรุนแรงที่เสมือนความเลวร้าย ให้กลายเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ชอบธรรม

กล่าวอีกแง่หนึ่ง คือ การตัดสินใจของมนุษย์ที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นในทุกๆ ครั้ง จะประกอบด้วยกระบวนการ (Process) ถ้อยคำ (Words) และคำอธิบายต่างๆ อันเป็นการให้เหตุผล (Justify) เพื่อให้การกระทำความรุนแรงเหล่านั้นเป็นเรื่องที่สมควรเกิดขึ้น[2]

บทความนี้จะพิจารณาการสร้างความชอบธรรมแก่การกระทำความรุนแรงของรัฐไทยเป็นสำคัญ เพื่อสืบหาว่า รัฐไทยใช้การอธิบายหรือเหตุผลใดบ้าง เป็นฐานสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำความรุนแรงในความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน โดยเฉพาะในประวัติศาสตร์ทางการเมืองสำคัญ 4 เหตุการณ์ ได้แก่ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่การกระทำความรุนแรงก่อขึ้นในนามของ “รัฐไทย” อย่างโจ่งแจ้ง ย่อมนำไปสู่คำตอบว่า อะไรที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐในการเลือกใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับประชาชน

 

 

14 ตุลาคม 2516: ข้ออ้างรองรับซ่อนเร้นใน “ความเข้าใจผิด”

หลังจากชัยชนะของประชาชนเหนือรัฐบาลเผด็จการ-คณาธิปไตย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตัดสินใจให้มีการค้นหาความจริงและสอบสวนการใช้ความรุนแรงของรัฐ ผ่านการออกคำแถลงการณ์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การสอบสวนการสั่งการของจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพล ประภาส จารุเสถียร และการปฏิบัติการของพันเอก ณรงค์ กิตติขจร”[3] เพื่อทราบถึงเหตุแห่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ว่าได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือไม่ ประการใด

ถ้อยคำในแถลงการณ์หลายจุดมีการพยายามลดทอนความร้ายแรงของเหตุการณ์แฝงอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่กล่าวว่า จอมพลประภาสสั่งการให้ “เจ้าหน้าที่ตำรวจบางหน่วยออกไปปฏิบัติหน้าที่สกัดกั้นการเดินขบวนไม่ให้ผ่านสถานที่บางแห่ง เพื่อถวายความอารักขาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”[4] ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น และการสร้างความชอบธรรมแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ไปเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม

ต่อด้วยการรายงานของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ชวนให้สับสนวุ่นวาย ดังรายงานของพันเอกณรงค์และเจ้าหน้าที่ผู้ใกล้ชิด ซึ่งรายงานว่า “มีการซ่องสุมกำลังคนและอาวุธในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อก่อการจลาจลล้มล้างรัฐบาล”[5] ส่งผล “ทำให้เกิดความไม่เข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จำใจต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชากับประชาชนผู้ประสงค์จะใช้ถนนเพื่อเดินทางกลับบ้าน”[6] สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเน้นย้ำว่า ผู้ก่อความรุนแรงไม่ได้มี “เจตนา” ทำลายชีวิตประชาชน และอาจเป็นการ “สำคัญผิด” ในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เพื่อให้ได้รับการยกเว้นโทษ หรือยกเว้นความผิด

ความเข้าใจผิดอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรงได้ เพราะจะเท่ากับอาการขาดสติ ไร้วิจารณญาณ และการไม่คิดให้รอบคอบ แต่ในทางกลับกัน หากความเข้าใจผิดเกี่ยวพันกับการปกป้องสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ “การถวายความอารักขา” และการรักษาความมั่นคงของโครงสร้างทางอำนาจที่ชนชั้นนำมีอยู่เหนือผู้คนอื่นๆ ในสังคม ความเข้าใจผิดจึงเป็นเรื่องที่ให้อภัยกันได้ ความรุนแรงต่อประชาชนสามารถเกิดขึ้นอย่างชอบธรรมหากเป็นไปเพื่อการเหล่านั้น ข้ออ้างรองรับของความรุนแรงจึงแฝงเร้นอยู่ในความเข้าใจผิดนี้แบบแยกไม่ออก

ทั้งนี้ บรรยากาศการต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองช่วงสงครามเย็น ย่อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าวขึ้นได้ จนท้ายที่สุด “ความเข้าใจผิด” ได้กลายเป็นหลักการและเหตุผลในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายยกเว้นความผิดแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงครั้งนั้นทั้งหมด

“…โดยที่การเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีการกระทำที่เป็นความผิดและเป็นอันตรายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคล และความเสียหายแก่ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนและความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้น เมื่อได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว…”[7]

 

 

6 ตุลาคม 2519: “เจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์” ของเหยื่อ

แหล่งการสืบหาข้ออ้างรองรับของความรุนแรง 6 ตุลาฯ คือ สมุดปกขาว “รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519″ จัดพิมพ์โดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ผู้ทำรัฐประหารในเย็นวันเดียวกัน โครงการ “บันทึก 6 ตุลา” ระบุว่าเอกสารชิ้นนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นแบบแผน (Pattern) คำอธิบายของฝ่ายขวาเกี่ยวกับความรุนแรงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมได้เป็นอย่างดี[8]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นับเป็นช่วงที่สังคมไทยมีเสรีภาพทางความคิด[9] เกิดการวิพากษ์ความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างกว้างขวาง หากแต่หลายครั้งที่การวิพากษ์นั้นส่งผลสะเทือนต่อความทรงจำในอดีตและสูตรสำเร็จบางอย่างที่ประชาชนกลุ่มอนุรักษ์นิยมยึดถือมาโดยตลอด[10] เช่น ความเจริญรุ่งเรืองในยุคเผด็จการทหาร มโนทัศน์เรื่องระดับชั้นทางสังคม ความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันฯ การต่อสู้ของเหล่ากรรมกร การต่อรองของชาวนาชาวไร่ต่อเจ้าของที่ดินในการทำสัญญาเช่านาที่เป็นธรรม[11] ซึ่งขัดกับความคิดเรื่อง “บุญคุณ” ที่ฝังลึกลงในปริมณฑลทางวัฒนธรรมของไทยอย่างรุนแรง

ความคิดแบบหัวก้าวหน้าจึงกลายเป็นการ “…ก่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นทั่วไปด้วยวิธีการปลุกระดมให้เกิดการหยุดงาน เพื่อประท้วงนายจ้าง การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องในทางที่ผิดกฎหมาย และทำลายสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศที่เป็นมิตร…”[12]

สถานการณ์ดังกล่าว คณะปฏิรูปฯ เชื่อว่าเป็นสาเหตุให้ “1. ประชาชนเกิดระส่ำระสาย ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลทุกรัฐบาลว่าจะรักษาเสถียรภาพไว้ได้ 2. เศรษฐกิจของประเทศปั่นป่วน ขาดการลงทุนจากภายในและภายนอกประเทศ 3. ประชาชนกับข้าราชการแตกแยกกัน 4. ขวัญของประชาชนเสื่อมลงเป็นอันมาก 5. ทำให้ประเทศไทยอยู่โดดเดี่ยวโดยให้สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากประเทศไทย และให้สัมพันธไมตรีเสื่อมคลายลง รวมทั้งทำลายความร่วมกับประเทศอาเซียน…” โดยทั้งหมดถูกเข้าใจว่ามาจากนักการเมืองฝ่ายซ้ายอาศัยชื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปลุกระดม[13]

รายงานยังระบุอีกว่า “มีการติดต่อชาวต่างประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับประเทศไทย ขนอาวุธเข้ามาในเมืองใหญ่รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เพื่อก่อตั้งกองโจรในเมืองขึ้น ทั้งนี้เพื่อประสานงานกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในชนบทห่างไกล” และภายหลังจากที่ตระเตรียมการแล้วเสร็จ “กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้โอกาสในตอนจอมพลถนอมเดินทางเข้ามาบวชในกรุงเทพมหานคร และมีคดีฆ่าแขบวนคอชาย 2 คนที่จังหวัดนครปฐม จึงอาศัยเหตุการณ์นี้ปลุกระดม”[14]

ส่วนหนึ่งของรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์วันที่ 5-6 ตุลาคม 2519 ยังเต็มไปด้วยข้อความที่มีลักษณะการใส่ร้ายเหยื่อเพื่อให้การใช้ความรุนแรงมีความชอบธรรม “…มีการปลอมแปลงนักศึกษาให้ดูคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร และแสดงละครมีการแขวนคอขึ้น แสดงเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการณ์ของคอมมิวนิสต์…”

“…ประชาชนผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์นับจำนวนเกือบแสนคนได้ร่วมใจกันไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพยายามบุกเข้าไปทำลายการปลุกระดมมวลชนภายในมหาวิทยาลัย” ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นพยายามห้ามปรามประชาชนไม่ให้บุกเข้าไป เพราะ “ทราบดีว่ามีกำลังติดอาวุธอยู่ภายใน”[15] แต่ประชาชนซึ่งกำลัง “โกรธแค้นอย่างแสนสาหัสก็ไม่เชื่อฟัง” หลายคนจึง “ปีนกำแพงมหาวิทยาลัยเข้าไปโดยไม่มีอาวุธ จึงถูกยิงบาดเจ็บ และเสียชีวิต”[16] ซึ่งนี่เป็นการพยายามกล่าวหาว่า เหยื่อเป็นผู้ใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ การใช้คำว่า “ประชาชน” ของรายงานหลายแห่ง มักประกอบด้วยคำวิเศษณ์ขยายว่าเป็น “ประชาชนผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” หรือ “ประชาชนผู้รักชาติ” ยิ่งตอกย้ำถึงการพยายามอย่างหนักในสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรงครั้งนั้น หากความรุนแรงมาจากประชาชนผู้รักชาติ ย่อมเป็นสิ่งที่ “ยอมรับได้” และเลวร้ายน้อยกว่าการที่ชาติไทยต้องพ่ายแพ้ต่อต่างชาติ

ปัจจุบันการย้อนกลับไปพิจารณารายงานดังกล่าว อาจมีลักษณะไม่ต่างจากโฆษณาชวนเชื่อชิ้นหนึ่งของรัฐไทยในช่วงสงครามเย็น แต่หากวิเคราะห์ผ่านกรอบคิดเรื่องข้ออ้างรองรับแล้ว ถ้อยคำในรายงานต่างทำหน้าที่เป็นข้ออ้างรองรับแก่ความรุนแรงได้เป็นอย่างดี จนถึงขนาดกลายเป็นคำปรารภหรือหลักการและเหตุผลของกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีผลให้ผู้ก่อความรุนแรงได้รับการยกเว้นความผิด

“…กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน และกำหนดรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและจิตใจของประชาชนเพื่อให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด…”[17]

 

 

17-20 พฤษภาคม 2535: ปฏิบัติการไพรีพินาศและการปลุกผีคอมมิวนิสต์

ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและขอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเหตุการณ์ “พฤษภาเลือด 35” เริ่มตั้งแต่คืนวันที่ 17 ถึง 20 พฤษภาคม 2535

“รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในเหตุการณ์ระหว่าง 17-20 พ.ค. 35”[18] ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ รายงานว่า แรกเริ่มวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 กองกำลังรักษาพระนครซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ณ ขณะนั้น ได้เรียกกองกำลังหนุนจากนอกพื้นที่ พร้อมยุทโธปกรณ์สำหรับภารกิจปราบปรามการก่อความไม่สงบและขัดขวาง ซึ่งกำลังพลส่วนใหญ่เป็นทหารใหม่ ไม่เคยรับการฝึกฝนในการปราบปรามก่อความไม่สงบและการจลาจลมาก่อน ไม่มีการซักซ้อมและทำความเข้าใจแผนให้ชัดเจน[19]

“…ฉะนั้นเมื่อเข้ารับภารกิจและประจำในแนวด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ในสนามรบ และกระสุนจริง และด้วยความเชื่อมั่นว่าจะต้องเข้ามาปราบปรามการก่อความไม่สงบและขัดขวางกลุ่มบุคคลที่จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติและราชบัลลังก์…”[20] จึงกลายเป็น “ความจำเป็น” ต้องใช้กำลังเข้าระงับยับยั้งและยุติภัยคุกคาม เพื่อสถาปนาความสงบเรียบร้อยให้กลับคืน ประกอบกับตอนดึกของวันที่ 17 พฤษภาฯ เวลาประมาณ 23.00 น. มีการบุกเข้าทำลายทรัพย์สิน และเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง[21]

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นผู้กระทำ และกล่าวกันโดยทั่วไปว่าเป็นการสร้างสถานการณ์จากมือที่ 3[22] แต่ไม่ว่าจะอย่างไร กรณีนี้ก็ได้กลายเป็นเงื่อนไขให้รัฐสามารถใช้ความรุนแรงต่อประชาชนไปเป็นที่เรียบร้อย

วันที่ 18 พฤษภาคม 2535 เวลาเที่ยงคืนครึ่ง รัฐบาลพลเอกสุจินดา จึงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กทม. และปริมณฑล โดยอ้างเหตุว่า “โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลบางกลุ่ม ได้ก่อความไม่สงบขึ้นในเขต กทม. และปริมณฑล เป็นการกระทบกระเทือนสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งทำให้เกิดสถานการณ์อันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร”[23]

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ นำไปสู่สภาวะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติที่คอยเป็นกรอบจำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐ กลายเป็นการให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างล้นเกิน และความรุนแรงย่อมเป็นสิ่งชอบธรรมภายใต้สภาวะดังกล่าว

เมื่อการชุมนุมไม่มีท่าทีว่าจะยุติลง “แผนไพรีพินาศ/33” แผนทางการทหารที่นำมาใช้เพื่อสลายการชุมนุม ก็ได้เข้าสู่ขั้นที่ 3 หรือขั้นปราบปรามรุนแรง “…หากว่าการปฏิบัติการขั้นที่ 2 (ป้องกัน) หรือกองกำลังตำรวจไม่สามารถที่จะระงับสถานการณ์ได้สำเร็จ และสถานการณ์ทวีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้แล้ว จึงใช้กองกำลังทหารเข้าระงับยับยั้งยุติภัยคุกคาม…”[24]

เวลา 14.00 น. ของวันที่ 18 พฤษภาฯ ขณะที่กองกำลังรักษาพระนครวางแผนเตรียมเข้าสลายการชุมนุม พลเอกสุจินดา ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ กล่าวหา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และบุคคลบางคนว่าเป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ยุยงปลุกปั่นให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงจนทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทำลายสถานที่ราชการ จึงต้องใช้กำลังทหารตำรวจเข้าปราบปรามขั้นเด็ดขาดเพื่อยุติความเสียหาย[25] เป็นอีกครั้งที่สถาบันกษัตริย์ ถูกนำมาอ้างเป็นข้ออ้างรองรับสร้างความชอบธรรมแก่รัฐ ในการตัดสินใจใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุม

นอกจากนี้ ข้ออ้างรองรับที่รัฐบาลใช้ยังมีลักษณะเป็นการปลุกผีคอมมิวนิสต์ สร้างมายาคติแห่งอัตลักษณ์เพื่อแบ่งแยกหรือผลักไสเหยื่อออกจากพื้นที่การรู้ผิดชอบชั่วดีของตน โดยเฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ช่วงบ่ายสามโมงเศษ พลเอกสุจินดาออกแถลงทางสถานีโทรทัศน์ว่า การชุมนุมของประชาชนและก่อวินาศกรรมขึ้นนั้น มีการจัดตั้ง ปลุกปั่นจากกลุ่มคนที่มีความชำนาญในการทำลาย โดยมีนายทหารผู้หนึ่งอยู่เบื้องหลัง นายทหารผู้นี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบุคคลผู้เคยเป็นกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และเคยคิดจะทำการปฏิวัติ แต่ตนเองไม่เห็นด้วย การก่อวินาศกรรมช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงเป็นไปเพื่อการปฏิวัติโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ[26] ประเด็นนี้แฝงนัยยะถึงการฟอกขาวความรุนแรงที่เกิดขึ้นให้เป็นไปเพื่อปกป้องความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ มิใช่เพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาลแต่อย่างใด

เมื่อกระบวนการสร้างความชอบธรรมแก่ความรุนแรงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงสงบลง รัฐบาลพลเอกสุจินดาจึงเร่งตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมล้างความผิดของตนและพวก โดยอ้างว่าเป็นการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม แต่ส่วนหนึ่งของเหตุผลในการตรากฎหมายดังกล่าว มีการระบุว่า “…เพื่อให้เหตุการณ์เกิดความสงบและเกิดความสามัคคีแก่คนในชาติขึ้นโดยเร็ว จึงสมควรให้มีนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่ได้กระทำหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว”[27]

รวมทั้งถ้อยคำบทบัญญัติมาตรา 3 ที่สามารถตีความให้การยกเว้นความผิดครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ “บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535… หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง” ส่งผลให้ผู้ก่อความรุนแรงลอยนวลพ้นผิดไปทั้งหมด

แม้ต่อมา วันที่ 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวและให้เป็นอันตกไป แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยว่า กิจการใดที่ได้กระทำไปในระหว่างพระราชกำหนดใช้บังคับ ไม่ได้รับผลกระทบจากการตกไปของพระราชกำหนด ส่งผลให้ผู้ก่อความรุนแรงและผู้สั่งการพ้นความรับผิดไปโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลจำเป็นต้อง “แก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และให้เกิดความสามัคคีในประชาชนชาวไทย ดังนั้นการตราพระราชกำหนดฉบับนี้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ”[28]

 

 

เมษายน-พฤษภาคม 2553: ผู้ก่อการร้าย – ผังล้มเจ้า

การล้อมปราบผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงซึ่งออกมาเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นยุบสภาฯ และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นเหตุให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน[29] ซึ่งเป็นตัวเลขจากทางการสูงที่สุด หากเทียบกับความรุนแรงที่รัฐไทยกระทำต่อผู้ชุมนุมครั้งก่อนหน้านี้ทั้งหมด ทว่าปฏิบัติการสร้างความชอบธรรม เพื่อนำมาเป็นข้ออ้างรองรับกับความรุนแรงของรัฐที่กระทำต่อผู้ชุมนุมก็เป็นไปอย่างเข้มข้นมากที่สุดเช่นกัน

เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคอีสานและภาคเหนือ ด้วยเหตุผลว่า “มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน…เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน…ยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน”[30] ข้อความในความหมายเดียวกับส่วนนี้ถูกบรรยายวนไปมาซ้ำๆ ในประกาศ เพื่อตอกย้ำภาพความอันตรายร้ายแรงแก่การชุมนุมของคนเสื้อแดงให้ไม่ต่างจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย

จากนั้น 10 เมษายน 2553 ภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ รัฐบาลได้นำกำลังทหาร พร้อมอาวุธสงคราม เข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่ปักหลักที่สะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยปฏิบัติการครั้งนี้ รัฐบาลเรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่”[31] จากกลุ่มที่รัฐบาลตราหน้าว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

ช่วงที่ความความรุนแรงมีความชอบธรรมถึงขีดสุด คือ 26 เมษายน 2553 ในการแถลงข่าวของ ศอฉ. เมื่อพันเอก (ปัจจุบันเป็นพลโท) สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงว่า แกนนำคนเสื้อแดงพยายามยกระดับการชุมนุมไปสู่การก่อการร้าย อ้างการซ่องสุมอาวุธกันเป็นจำนวนมาก แล้วพยายามที่จะผูกโยงเรื่องราวโดยใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จมุ่งโจมตีสถาบันเบื้องสูง “อันเป็นที่รักเคารพของคนไทยทุกคน” พร้อมทั้งแจกจ่าย “ผังล้มเจ้า” แก่สื่อมวลชน เพื่อแสดงว่าแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ร่วมกับนักการเมืองพรรคเพื่อไทย บุคคลที่ลี้ภัยทางการเมือง สื่อมวลชนเสื้อแดง สื่อสิ่งพิมพ์ และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความพยายามจะสร้างวาทกรรม มีชุดความคิดอำมาตย์-ไพร่ ผลิตเนื้อหาในเชิงของการบิดเบือน ปลุกปั่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอยู่ตลอดเวลา จนถึงขนาดว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษนำผังนี้ไปดำเนินคดีเอาผิดกับผู้มีชื่อในผัง[32]

แม้หลังจากนั้นหนึ่งปี พันเอกสรรเสริญยอมรับว่า ผังล้มเจ้านั้นไม่เป็นความจริง[33] แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาช่วงเวลาเกิดเหตุ ก็เพียงพอแล้วที่รัฐบาลและ ศอฉ. จะอ้างความชอบธรรมในการเข้าสลายการชุมนุมเป็นครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 ผ่านปฏิบัติการชื่อว่า “กระชับพื้นที่” เพื่อยึดคืนพื้นที่สวนลุมพินีและบริเวณต่อเนื่อง โดย ผอ.ศอฉ. เห็นว่าเป็น “พื้นที่หลบซ่อนของกองกำลังติดอาวุธ นปช.” และถูกใช้เป็น “ฐานปฏิบัติการในการยิงอาวุธสงครามโดยเฉพาะเอ็ม 79 ใส่พื้นที่โดยรอบ”[34] จนการชุมนุมต้องยุติลงในที่สุด

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ การใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับพื้นที่” แทนคำว่า “การสลายการชุมนุม” ตามปกติ ย่อมเป็นเหมือนการเลี่ยงบาลีเพื่อลดทอนการรับรู้ของผู้คนในสังคมถึงนัยยะความรุนแรงที่แฝงอยู่

หลังจาก “ความพ่ายแพ้” ของผู้ชุมนุม และกลุ่มแกนนำทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหาก่อการร้ายตามที่รัฐบาลได้ฉายภาพเอาไว้ การพยายามทำให้ความรุนแรงวันนั้นมีความชอบธรรมยังปรากฏอยู่ในรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)[35] ที่เข้าข่ายเป็นกระบวนการฟอกขาวเจ้าหน้าที่รัฐ พยายามสื่อสารกับสังคมว่า ในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น ไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดตกเป็นเหยื่อความรุนแรง กลับกันผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และแกนนำ ล้วนมีการกระทำที่มีลักษณะเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศเอาไว้

ขณะเดียวกัน การจัดทำรายงานตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุอีกว่า[36] การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 เป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มีการพกพาอาวุธ ไม่เป็นไปโดยสงบ และละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าแทนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะจัดทำรายงานค้นหาความจริงว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนของตนอย่างไร แต่กลับกลายเป็นการค้นหาว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้กระทำผิดและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร[37]

รายงานทั้งสองฉบับ จึงถือเป็นกระบวนการแสวงหาความจริงที่มีลักษณะพิลึกพิลั่นและกลับหัวกลับหางอย่างถึงที่สุด จนกลายเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความชอบธรรมแก่รัฐไทยในการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนไปด้วยในตัว

กระบวนการสร้างความชอบธรรม ดำเนินมาจนถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้ว่าการสลายชุมนุมของรัฐบาล และ ศอฉ. เป็นไปตามหลักสากล พร้อมเน้นย้ำว่าการชุมนุม “มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง” หากจะเอาผิดกับทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก็สามารถยื่นฟ้องเป็นรายคนไปได้[38]

แม้ว่าแกนนำคนเสื้อแดงซึ่งนำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ จะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้หยิบยกสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องการกล่าวหานายอภิสิทธิ์กับพวก ร่วมกันสั่งการในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงขึ้นพิจารณาใหม่อีกครั้ง  ป.ป.ช. ยังคงมีมติยกคำร้องดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่[39]

มติของ ป.ป.ช. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินคดีใดๆ กับผู้สั่งการได้จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากศาลอาญาเคยพิพากษายกฟ้องไปแล้วก่อนหน้า โดยให้เหตุผลว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้สืบสวนกรณีการสลายการชุมนุมซึ่งเป็นฝ่ายยื่นฟ้อง ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. เนื่องจากการกระทำของทั้งสองคนเป็นการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ใช่การกระทำผิดทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ผู้เสียหายจึงจะยื่นคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

แต่เมื่อ ป.ป.ช. ออกมายืนยันแล้วว่ารัฐบาลได้กระทำตามหลักสากล และไม่ได้ชี้มูลความผิดใดๆ จึงเท่ากับว่า ประตูสู่ความยุติธรรมของเหยื่อได้ถูกปิดตายลงเป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าการเสียชีวิตหลายกรณีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจะมีข้อมูลและการไต่สวนของศาลที่ชัดเจนว่าเป็นการเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม[40]

 

ภาพ: วริศ โสภณพิศ

 

ความเป็นจริงในความรุนแรง

เมื่อพิจารณาแง่มุมทางประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้น ฝ่ายรัฐหรือผู้ก่อความรุนแรงมักจะหา “ข้ออ้างรองรับ” เพื่อนำมาเป็นเหตุผลในการกระทำความรุนแรงของตนให้ดูเหมือนเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมอยู่เสมอ โดยอาศัยคำอธิบาย ถ้อยคำต่างๆ วนเวียนอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น ความมั่นคง ความสงบ ราชบัลลังก์ ฯลฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข พฤติการณ์แวดล้อม และบริบทของเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย

หากเป็นกรณีที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ สามารถยึดกุมพื้นที่ในการอธิบาย สร้างวาทกรรมหรือกดทับให้ประชาชนผู้ชุมนุมมีความหมายเท่ากับเป็นภัยคุกคาม เป็นกลุ่มที่ถูกจ้างวานมา เป็นเครื่องมือทางการเมื่องของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐ เป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นสิ่งชั่วร้ายใดๆ ก็ตามเพื่อลดทอนความบริสุทธิ์หรือความชอบธรรมของการชุมนุมเคลื่อนไหว การใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมจึงถูกถือว่าเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ รักษาความมั่นคงของชาติและสถาบันกษัตริย์ฯ ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 และ เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 คือตัวอย่างของเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการสร้างความชอบธรรมดังกล่าว

ในทั้งสองเหตุการณ์ รัฐไทยยังใช้วิธีการแยกมนุษย์กลุ่มหนึ่งออกจากความเป็นมนุษย์โดยทั่วไป (ทั้งๆ ที่โดยแท้จริงแล้ว คือ มนุษย์เหมือนกัน) และสร้างเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหรือทางการเมืองบางอย่าง กำหนดลักษณะความเป็นมนุษย์เหนือมนุษย์คนอื่นๆ[41] เช่น “ประชาชนผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ขณะเดียวกันก็ต้องลดทอนความเป็นมนุษย์คนอื่น (Dehumanization) รวมถึงการสร้างสภาวะให้พวกเขากลายเป็นปีศาจ (Demonized) ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น พวกคอมมิวนิสต์ ควายแดง ควายส้ม หรือแม้กระทั่ง “พวกชังชาติ” ซึ่งทั้งหมด เป็นไปเพื่อปลุกเร้าให้มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

ส่วนกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 และความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่มีตำแหน่งแห่งทางประวัติศาสตร์ที่เสมือนสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยและชัยชนะของประชาชน ข้ออ้างรองรับในการใช้ความรุนแรงของรัฐกลับยังคงมีความคล้ายคลึงกับสองเหตุการณ์ข้างต้น อาทิ “การถวายความอารักขา” “ภัยคุกคามต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” “เพื่อความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร” เพียงแต่ความรับรู้ (Perception) ของผู้คนในสังคมต่อเหตุการณ์อาจต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

แต่ด้วยเหตุที่ข้ออ้างรองรับของรัฐทุกครั้ง ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกป้องความมั่นคงของรัฐและสถาบันกษัตริย์ ย่อมแสดงนัยยะว่า ความมั่นคงของรัฐในที่นี้ คงมีความหมายเฉพาะความมั่นคงของผู้ครอบครองอำนาจรัฐและสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ไม่ได้รวมถึง “ชีวิตประชาชน”  อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยอาจเป็นรัฐที่ขาดความยึดโยงกับประชาชนมาโดยตลอด ศัตรูของรัฐไทยส่วนใหญ่จึงมิใช่อริราชศัตรูจากต่างประเทศ หากแต่เป็นประชาชนที่ออกมาท้าทายอำนาจรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเครือข่ายผลประโยชน์และอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มีตำแหน่งแห่งที่ในประวัติศาสตร์การเมืองอยู่อย่างไร ข้ออ้างรองรับของรัฐในเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นอย่างแยกไม่ออก เหตุผลของปฏิบัติการทางกฎหมายที่นำไปสู่การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้องกับก่อความรุนแรงจะตั้งอยู่บนข้ออ้างรองรับทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในคำปรารภของการตรากฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงความเห็นของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการนำตัวผู้กระทำความผิดและผู้สั่งการมาดำเนินคดีลงโทษ แต่เลือกที่จะเพิกเฉยและปฏิเสธการแสวงหาความยุติธรรมให้เกิดขึ้น

 

ธรรมชาติเส้นทางสู่สันติ-หยุดยั้งความรุนแรง

ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นในภาวะที่ผู้กระทำต้องการฝืนธรรมชาติ หรือความเป็นจริงบางอย่าง เช่น ความเห็นต่าง ความขัดแย้งของมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ฯลฯ การบังคับให้มนุษย์ทุกคนมีความคิดเห็นเหมือนกัน การกดทับข้อเรียกร้องทางอุดมการณ์เพื่อปฏิเสธความขัดแย้ง และการพยายามรักษาสังคมในสภาวะดั้งเดิมภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เชี่ยวกราก ย่อมเป็นการฝ่าฝืนธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง จนกลายเป็นการตั้งเป้าหมายที่ขัดแย้งกับศักยภาพที่เป็นอยู่ของมนุษย์ทั่วไป ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายนั้น จะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากการใช้ความรุนแรง ดังนั้น การปฏิเสธหรือการหยุดยั้งความรุนแรง ย่อมกระทำได้แค่เพียงการยอมรับความจริงและความเป็นไปตามธรรมชาติ

การใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่ทางออกของปัญหา ในทางตรงกันข้าม มันจะทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่กักขังสังคมไทยให้วนเวียนอยู่แต่ในจุดเดิม การทำลายชีวิตคนที่เห็นต่างหรือคนที่ออกมาเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ คงไม่ใช่เพียงการระงับกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สงบลงเพียงชั่วขณะเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนการกระตุ้นให้ลมแห่งความเปลี่ยนแปลงโหมกระหน่ำมากขึ้น

การถอยคนละก้าวจึงเป็นหน้าที่ฝ่ายเดียวของผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลาย ที่ต้องยอมรับให้ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาแทนที่ระเบียบทางสังคมดั้งเดิม อันประกอบด้วยความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบชนชั้นที่ปฏิเสธความเสมอภาค ความเป็นเอกภาพที่ต่อต้านความแตกต่างหลากหลาย และความศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งคำถามไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เหลือที่ทางในสังคมปัจจุบันอีกต่อไป

 

หมายเหตุ ผู้เขียนกำลังจัดทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ““ความรุนแรง” ในระบบกฎหมายไทย: การลอยนวลพ้นผิดของรัฐในกรณีการใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง” บทความนี้และบทความอื่นๆ ของผู้เขียน พัฒนาขึ้นจากการค้นคว้าดังกล่าว

กฎหมายและการกดปราบทางการเมือง สู่ “วิกฤตการณ์แห่งความชอบธรรม” (อีกครั้ง)

ร่องรอยความหวาดกลัวและ”รู้ว่าผิด”ระหว่างการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ

ความล้มเหลวบนชัยชนะ: 14 ตุลาฯ ที่ไม่ได้สถาปนาหลักนิติรัฐ

‘ความรุนแรง’ ที่ซ้อนเร้นอยู่ในการอุ้มหาย: เมื่อ ‘วันเฉลิม’ ไม่ได้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ เพียงลำพัง

.

—————————————

เอกสารอ้างอิง

[1] จรัญ โฆษณานันท์, สิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน : ปรัชญา กฎหมาย และความเป็นจริงทางสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2559). หน้า 52

[2] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, ความรุนแรงกับมายาการแห่งอัตลักษณ์ อาวุธมีชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2549). หน้า 31

[3] สำนักนายกรัฐมนตรี, แถลงการณ์ของรัฐบาล เรื่อง การสอบสวนการสั่งการของจอมพลถนอม และจอมพล ประภาส จารุเสถียร และการปฏิบัติการของพันเอก ณรงค์ กิตติขจร, ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2516 ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ภาคผนวก, บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 2516, (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2546)

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 173-174.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 174.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 175.

[7] หมายเหตุท้าย พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516

[8]  บันทึก 6 ตุลา, สมุดปกขาว “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519” จัดพิมพ์โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, โครงการบันทึก 6 ตุลา, 2 เมษายน 2561. https://doct6.com/archives/10302 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อย่างไร. ใน ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544) หน้า 68

[10] เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม. แปลโดย เกษียร เตชะพีระ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ  (กรุงเทพฯ: มติชน, 2558). หน้า 118

[11] ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน : ชาวนา นักศึกษา กฎหมาย และความรุนแรงในภาคเหนือของไทย, แปลโดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่วและพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2560).

[12] คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร, 2519), หน้า 1

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 1-2.

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2-3.

[15] เรื่องเดียวกัน.

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 4.

[17] หมายเหตุท้าย พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519

[18] คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร, รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในเหตุการณ์ระหว่าง 17-20 พ.ค. 35. ใน ธนาพล อิ๋วสกุล, ประชาธิปไตยฉบับน้ำตา : ประมวลกิจกรรมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (2535-2545), (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, 2545). หน้า 36.

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 37

[20] เรื่องเดียวกัน.

[21] วุฒิชาติ ชุ่มสนิท และฝ่ายวิชาการสารคดี, พฤษภาวิปโยค 35, รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย : รวม 3 เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาวิปโยค 35. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ: สารคดี, 2546) หน้า 224.

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 226.

[23] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109/ตอนที่ 59 หน้า 2 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2535.

[24] วุฒิชาติ ชุ่มสนิท และฝ่ายวิชาการสารคดี, เรื่องเดียวกัน, หน้า 226.

[25] เรื่องเดียวกัน, หน้า 227.

[26] เรื่องเดียวกัน, หน้า 232.

[27] คำปรารภใน พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535

[28] คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 81 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2535, หน้า 26-27.

[29] ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53, ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ข้อมูลฯ, 2555.)

[30] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127/ตอนที่ 59 ง/ฉบับพิเศษ หน้า 1 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553.

[31] ข่าวสด, ย้อน10เมษา53 ขอคืนพื้นที่ กระสุนจริง-คนตาย-ชายชุดดำ ที่สังคม อาจหลงลืม?, ข่าวสดออนไลน์, 10 เมษายน 2562. https://www.khaosod.co.th/politics/news_2400891  (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[32] ประชาไท, โฆษก ศอฉ. ยอมรับแต่ง “ผังล้มเจ้า” เพื่อตอบโต้การใส่ร้ายท่านผู้หญิงจรุงจิตต์, ประชาไท, 26 พฤษภาคม 2554. https://prachatai.com/journal/2011/05/34974 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[33] เรื่องเดียวกัน.

[34] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม “จำไม่ลง”, สำนักข่าวบีบีซีไทย, 11 พฤษภาคม 2563. https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[35] คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, รายงานฉบับสมบูรณ์คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กรกฎาคม 2553 – กรกฎาคม 2555, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ, 2555).

[36] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2556)

[37] พวงทอง ภวัครพันธุ์. ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด : องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553, ฟ้าเดียวกัน, 14(2), หน้า 153

[38] ประชาไท, ป.ป.ช.มีมติให้ข้อกล่าวหากรณี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายชุมนุมแดงปี53 ตกไป, ประชาไท, 29 ธันวาคม 2558. https://prachatai.com/journal/2015/12/63226 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[39] ไทยโพสต์, ป.ป.ช. มีมติไม่รื้อคดีสลายชุมนุมนปช.ปี 53 ระบุไม่มีหลักฐานใหม่, ไทยโพสต์, 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561 https://www.thaipost.net/main/detail/11901 (สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2563)

[40] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, เรื่องเดียวกัน.

[41] Erik H. Erikson, Reflections of Ethos and War, The Yale Review. July 1984; 73(4) p.481 ใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อาวุธมีชีวิต?: แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่าด้วยความรุนแรง. (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน. 2549) หน้า 42

 

 

X