‘ความรุนแรง’ ที่ซ้อนเร้นอยู่ในการอุ้มหาย: เมื่อ ‘วันเฉลิม’ ไม่ได้ตกเป็น ‘เหยื่อ’ เพียงลำพัง

คอลัมน์นิติ/สังคม เปิดพื้นที่ให้นักศึกษากฎหมายรุ่นใหม่ๆ ที่สนใจสังคมการเมืองในมิติทางกฎหมายที่หลากหลาย เข้ามาร่วมกันขีดเขียนและนำเสนอความคิดเห็น อันน่าจะช่วยเปิดโลกของวิชากฎหมายในสังคมไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

ภาสกร ญี่นาง
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งตามหน้าสื่อต่างๆ หาใช่ภาพอันสมบูรณ์ของความรุนแรงไม่ แต่มันอาจซ่อนเร้น กลบเกลื่อน รวมถึงสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในทุกองคาพยพของสังคม กรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ก็เช่นเดียวกัน

บทความนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกความคิดของนักคิดผู้ทรงอิทธิพลในแวดวงวิชาการด้านสันติวิธีอย่าง “โยฮัน กัลตุง” (Johan Galtung) ซึ่งอธิบายว่าความรุนแรงที่ปรากฏขึ้นให้เราพบเห็นได้นั้น ประกอบไปด้วยความรุนแรงถึงสามระดับที่ทำงานสอดรับกันอย่างแยบยล ได้แก่ ความรุนแรงทางตรง (direct violence) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) และความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) เพื่อนำมาเป็นกรอบคิดวิเคราะห์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณเดือนกว่าที่ผ่านมาอย่างกรณีการถูกบังคับให้สูญหายไปของวันเฉลิม ขณะลี้ภัยทางการเมืองอยู่ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

ภาพแนวคิด “สามเหลี่ยมของความรุนแรง” ของโยฮัน กัลตุง (ที่มาของภาพ)

 

ลักษณะทั่วไปและสาเหตุของการใช้ความรุนแรง

สำหรับลักษณะทั่วไปของความรุนแรง กัลตุงชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงจะปรากฏขึ้นต่อเมื่อมนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่การบรรลุถึง “เป้าหมาย” ทั้งในทางร่างกายและจิตใจได้นั้น ขัดแย้งกับขีดจำกัดความสามารถหรือศักยภาพที่มนุษย์มีในความเป็นจริง ความรุนแรงจึงกลายเป็นวิธีการ (method) อย่างหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์กลุ่มหนึ่ง บรรลุเป้าหมายบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ตามศักยภาพความเป็นจริงของตนเองโดยไม่ใช้ความรุนแรง

คำอธิบายดังกล่าวจึงอาจตอบคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า หรือการบังคับให้สูญหาย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะคนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถควบคุมธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ให้ “คิดเหมือนกัน” อย่างที่พวกเขาต้องการได้ และเมื่อความเป็นจริงกลุ่มผู้มีอำนาจไม่มีศักยภาพทำเช่นนั้นได้ ความรุนแรงจึงถูกหยิบมาเป็นเครื่องมือ หรือกลายเป็นวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

เราอาจเข้าใจปรากฏการณ์ความรุนแรงได้ง่ายขึ้น หากลองเทียบเคียงกับชะตากรรมของวินส์ตัน สมิธ (Winston Smith) ตัวละครเอกในนวนิยายการเมืองชื่อดังเรื่อง “1984” ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ซึ่งได้ก่อกบฏ หรืออาชญากรรมทางความคิด (thought crime) ด้วยการก่อร่างความคิดอิสระอย่างเป็นปัจเจกภาพ แตกต่างไปจากคำสั่งสอนของพี่เบิ้ม หรือ “Big brother” ที่คอยบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องคิด และมีพฤติกรรมเหมือนกันเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หลังจากที่เขาถูกจับกุมโดยตำรวจความคิด (thought police) เขาได้ถูกนำตัวมาทรมานด้วยสิ่งที่เขากลัวมากที่สุดชีวิตอย่างหนู ให้สารภาพ “การกระทำความผิด” ที่มีความคิดอิสระ จนสุดท้ายเขาต้องยอมหักหลังคนรักของตนเอง เพื่อที่จะได้รับการปล่อยตัวไปใช้ชีวิตในสังคมที่ผู้คนมีความคิดเหมือนกัน และจงรักภักดีต่อพี่เบิ้มเหมือนกัน

ทั้งนี้ อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า กรณีการอุ้มหาย การทรมาน และการลอบสังหารผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้มีอำนาจ (ขัดแย้งกับรัฐ) ไม่ได้เป็นภาพอันสมบูรณ์ของความรุนแรง หากแต่เป็นเพียงความรุนแรงเพียงประเภทเดียว ได้แก่ ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) ซึ่งเป็นรูปแบบความรุนแรงทางกายภาพที่สามารถพบเห็นอย่างประจักษ์ชัดโดยทั่วไปตามทัศนะของโยฮัน กัลตุง เท่านั้น คำถามสำคัญคือเบื้องหลังภาพความรุนแรงทางตรงดังกล่าว มีความรุนแรงรูปแบบอื่นซ่อนเร้นอยู่อีกหรือไม่?

 

 

 

เราทุกคนคือ “วันเฉลิม”

ปรากฏการณ์ความรุนแรงทางตรงที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาหนึ่งซ้ำๆ เมื่อผ่านเวลาไป มันสามารถ “ตกตะกอน” จนทำให้สถานการณ์ความรุนแรงและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ก่อกำเนิดความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง โดยกัลตุงเรียกมันว่า “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” อันหมายถึงสภาวะที่ผู้ก่อความรุนแรงเป็นผู้กดขี่อีกฝ่ายหนึ่ง (Topdogs) ให้ตกเป็นเบี้ยล่าง (Underdogs) ในโครงสร้างทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของรัฐหนึ่งๆ ยกตัวอย่างเช่น ระบบกฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม กลไกของรัฐที่ปิดกั้นขัดขวางสิทธิเสรีภาพอย่างเป็นระบบ การทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นพลเมืองชั้นล่างโดยกลไกทางกฎหมายของรัฐ เป็นต้น

กลไกสำคัญของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือการพยุงให้ผู้มีอำนาจที่มีสถานะเหนือกว่าในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมหนึ่งๆ สามารถขูดรีดหรือเอาเปรียบคนอื่นต่อไปได้ นอกจากนี้ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังดำรงอยู่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเคลื่อนไหว และกดทับการก่อตัวด้านจิตสำนึกของผู้ถูกขูดรีดไม่ให้ลุกขึ้นต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคม พร้อมกับต้องมีสภาพชีวิตที่ทนทุกข์ทรมานอย่างไร้ทางออก

กัลตุงอธิบายขยายต่อไปอีกว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้ จะทำงานโดยให้เหล่าผู้มีอำนาจเหนือ (Topdogs) แทรกซึม (Penetration) เข้าไปในเหล่าบรรดาผู้ถูกเอาเปรียบ (Underdogs) และให้พวกเขามองเห็นปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านมุมมองที่คับแคบ (Segmentation) เช่น การจำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อกดทับ หรือซ่อนเร้นการกดขี่ขูดรีดและการเอารัดเอาเปรียบไว้อย่างหมดจด จากนั้น ก็จะผลักให้กลุ่มคนที่เสียเปรียบกลายเป็นคนชายขอบ หรือไม่ได้อยู่ในสังคมกระแสหลัก (Marginalization) ประกอบกับการแบ่งแยกและกีดกันการรวมตัวกันของผู้ถูกเอาเปรียบทั้งหลาย (Fragmentation) ทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อรักษาสถานภาพหรือสภาวะที่ผู้มีอำนาจสูงกว่าสามารถครองอำนาจดังกล่าวไว้ได้นานที่สุด

หากลองพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อปรากฏว่ากรณีของวันเฉลิม ไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองรายแรกที่ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง แต่นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคนก็ต้องประสบเคราะห์กรรมไม่ต่างกัน โดยพบว่ามีผู้ลี้ภัยไทยก่อนหน้านี้ไม่ต่ำกว่า 8 รายแล้ว ที่ถูกบังคับหายสูญหายและพบกลายเป็นศพถูกฆาตกรรม เช่น

  • ช่วงต้นเดือนธันวาคม ปี 2561 กลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ “สหายภูชนะ” และไกรเดช ลือเลิศ หรือ “สหายกาสะลอง” ก็ต้องพบกับสถานการณ์อันเลวร้ายในชีวิตไม่ต่างกัน ทั้งสองรายหลังยังมีการพบศพถูกฆ่าอย่างทารุณ ลอยมาตามลำน้ำโขงอีกด้วย
  • ช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2562 สยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง” นักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ติน พร้อมกับผู้ลี้ภัยอีกสองคน คือชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” และกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด” ได้หายตัวไปหลังจากลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศลาวและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของบุคคลทั้งสาม

 

 

ขณะที่กระบวนการยุติธรรมและการแสวงหาความจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสูญหายของผู้ลี้ภัยทางการเมืองทั้งหมด ยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีกทั้ง ความสงสัยเกี่ยวกับตัวผู้กระทำ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงไม่เคยถูกทำให้กระจ่างต่อทั้งญาติของเหยื่อเองและสังคมโดยรวม สิ่งเหล่านี้อาจพอสะท้อนให้เห็นลักษณะของความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้ ดังต่อไปนี้

หนึ่ง การปิดกั้นความจริง ปิดปากเงียบของสื่อ ที่ควรจะมีบทบาทต่อเรื่องเหล่านี้มากที่สุด รวมทั้งการเบี่ยงเบนประเด็นให้การหายตัวไปของวันเฉลิม กลายเป็นเพียงแค่ประเด็นปัญหาส่วนตัวกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น แทนที่จะเป็นเรื่องการเป็นปฏิปักษ์กับผู้มีอำนาจในไทย ย่อมมีลักษณะเดียวกับการแทรกซึมและการพยายามซ่อนเร้นความอยุติธรรม การกดขี่ และการเอารัดเอาเปรียบของผู้มีอำนาจ ที่มีประชาชนเป็นเพียงวัตถุแห่งสิทธิซึ่งสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ ไว้ภายใต้หน้าตาอันบริสุทธิ์สดใส

สอง กระบวนการยุติธรรมและท่าทีของรัฐไทยที่นิ่งเฉยต่อการหายตัวไปของนักกิจกรรมและผู้ลี้ภัย ราวกับผลักไสให้บุคคลเหล่านั้นอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของรัฐ ทั้งๆ ที่ พวกเขาก็ล้วนเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย การที่รัฐเพิกเฉยต่อการแสวงหาความจริง และไม่ติดตามผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างความเปราะบางให้ชีวิตและร่างกายของผู้ลี้ภัยทางการเมือง และประชาชนทั่วไปที่มีความเห็นต่าง ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา

สาม แทนที่ระบบกฎหมายจะเป็นสิ่งที่ช่วยประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดปราบทางการเมืองของผู้มีอำนาจอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่วันเฉลิม ถูกทำให้กลายเป็นเสมือน “ภัยต่อความมั่นคงของรัฐ” และดูจะก่อกวน “ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” อย่างรุนแรงในสายตาของรัฐ การรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของประชาชนจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค ดังกรณีแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะทำกิจกรรมผูกโบว์ขาวตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้วันเฉลิม เป็นต้น

ในยุครัฐบาลเผด็จการเช่นนี้ ดูเหมือนว่ากฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่ใช้เพื่อพยุงสถานะของโครงสร้างทางสังคมซึ่งตนเป็นฝ่ายผู้กดขี่ประชาชน ให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงต่อไป

ผลท้ายที่สุด อาจสรุปได้ว่าทั้งหมดนี้ได้ทำให้เกิด “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” ที่สร้างความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชน ซึ่งหล่อเลี้ยงโครงสร้างที่คนไม่กี่คนสามารถกดขี่ขูดรีดหรือเอาเปรียบ (exploitation) ผู้คนจำนวนมากได้อย่างแยบยล  กล่าวให้เข้าใจโดยง่าย คือเมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นกับคนๆ หนึ่ง เพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างไปจากความประสงค์ของผู้มีอำนาจ และถูกทำให้/ ปล่อยให้ เกิดขึ้นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่รัฐและระบบกฎหมายเพิกเฉยต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งเร้าให้เกิด “ความรุนแรงทางตรง” ขึ้นได้อีกเสมอในอนาคต ทั้งยังอาจสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนธรรมดาๆ ถ้าวันหนึ่งดันไปแสดงความเห็นในลักษณะที่ผู้มีอำนาจไม่ปรารถนาเข้า

 

 

ดังนั้น เราจะเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียง “วันเฉลิม” เท่านั้นที่ต้องตกเป็นเหยื่อ แต่เป็นเราทุกคนที่ยังใช้ชีวิตและทำมาหากินอยู่ในสังคมนี้อีกด้วย เนื่องจากต้องตกอยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมการเมืองอันเต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวและการกดขี่ข่มเหง ราวกับคำว่า “สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ที่ถูกบัญญัติไว้รัฐธรรมมนูญเป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึก หลายคนอาจเข้าใจไปว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกอยู่แล้ว หากไม่ “ล้ำเส้น” ไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบางเรื่อง แต่อคติบางครั้งก็บดบังจนมองไม่เห็นปืนกระบอกหนึ่งที่กำลังจ่อศีรษะอยู่ และพร้อมจะถูกลั่นไกได้เสมอ หากการใช้เสรีภาพดังกล่าวดันไปกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ

ซ้ำร้ายกว่านั้น สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการที่ประชาชนค่อยๆ ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ (Dehumanization) ลงอย่างช้าๆ กล่าวคือถ้าการแสดงความเห็น หรือการเห็นต่างทางการเมือง กลายเป็นอาชญากรรม และประชาชนทุกคนต้องมีความคิดอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการ ย่อมขัดกับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ต่างมีความคิดอย่างเป็นปัจเจกภาพและมีความหลากหลาย คำถามคือถ้ามนุษย์ในรัฐหนึ่งๆ ต้องมีความคิดเหมือนกันหมดทุกคนตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ พวกเราจะต่างอะไรกับเครื่องจักรกลที่ต้องทำทุกอย่างตามคำสั่งหรือรหัส (Code) ที่ถูกป้อนเข้าระบบประมวลผล และสภาพเช่นนี้ยังจะถือว่าพวกเรายังมีชีวิตดั่งมนุษย์ทั่วไปได้อยู่จริงๆ หรือ?

 

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยิ่งฝังรากลึก

หากลองมาคิดในแง่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (worst-case scenario) จากกรณีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เมื่อสภาวะการกดขี่และการใช้ความรุนแรงดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยปราศจากการแก้ไขปัญหา การช่วยเหลือเยียวยา การคืนความยุติธรรม และกระบวนการแสวงหาความจริงใด ๆ กาลเวลาที่ผ่านล่วงเลยไปอาจส่งผลให้ความเลวร้ายเหล่านั้น ตกผลึกและหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ความเชื่อ คุณค่า ค่านิยมของสังคมไทย จนกลายเป็น “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” (Cultural Violence) ที่ทำหน้าที่ปกปิด บิดเบือน รวมถึงรองรับความชอบธรรมแก่ความรุนแรงสองรูปแบบแรก

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมสำหรับกัลตุง หมายถึง ความรุนแรงส่วนหนึ่งที่แฝงตัว แทรกอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมหรือเป็นปริมณฑลเชิงสัญลักษณ์ของชีวิตผู้คน เช่น ศาสนาและอุดมการณ์ (religion and ideology) ภาษาและศิลปะ (language and art) ความรู้วิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ (empirical science) และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบรูปแบบ (formal science) อย่างตรรกศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดมีขึ้นเพื่อสร้างคำอธิบายรองรับความชอบธรรม (Justification) ให้แก่ความรุนแรงทางตรง และการทำให้ความอยุติธรรมทางสังคมที่อยู่ในรูปแบบของความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นเสมือนสภาวะปกติธรรมชาติของสังคม

 

 

และที่สำคัญ ปัญหาที่ทำให้ความรุนแรงทางวัฒนธรรมดูเลวร้ายมากที่สุด คือการที่มันดำรงอยู่โดยมีสถานะมั่นคง และแปรเปลี่ยนได้ยากที่สุดเมื่อเทียบกับความรุนแรงสองรูปแบบแรก

ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงอันอัปลักษณ์สามารถเกิดขึ้นได้ต่อบุคคลที่เพียงแค่เขามีความเห็นทางการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยังเกิดขึ้นต่อประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่บางกรณีก็มีการพยายามบิดเบือน ปกปิด กลบเกลื่อนการกระทำความผิดอย่างไร้ความน่าละอาย พร้อมทั้งระบบกฎหมายและกลไกของรัฐก็กลับเพิกเฉย และไม่มีท่าทีที่จริงจังในการติดตาม หรือนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ย่อมเป็นเหตุให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝากรากลึกลงในสังคมไทย กล่าวคือ คนกลุ่มหนึ่งสามารถใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างไม่ต้องแยแสต่อกฎหมาย เพราะผู้กระทำย่อมรู้ดีและมั่นใจได้ว่า การกระทำของเขาจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อตนเองได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น หากเกิดวัฒนธรรมทางสังคมและการเมืองที่ผู้เห็นต่างต้องถูกทำให้สูญหายหรือตายไปเสีย โดยที่ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดใดๆ ทางกฎหมาย วัฒนธรรมเช่นนี้ย่อมบั่นทอนการพัฒนาการเมือง หลักเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของหลักนิติรัฐ และวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยที่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของผู้คน ให้เลวร้ายหนักหน่วงขึ้นไปอีก

 

สร้างสรรค์วัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน และผลักดันกฎหมายป้องกันการอุ้มหายซ้อมทรมาน

แม้ว่ารัฐไทยกับความรุนแรงดูจะทำงานสอดคล้องเข้ากันได้ดีในโครงสร้างทางอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน จนส่งผลให้ความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง เกิดขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จนเข้ามาแฝงอยู่ในระบบความเชื่อและคุณค่าของสังคมไทยอันเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงทางวัฒนธรรมในท้ายที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อคัดง้างกับความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย และการลอบสังหารผู้เห็นต่าง สังคมก็ต้องร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนให้แก่ตนเองและสังคมโดยรวม โดยจะต้องไม่ละทิ้งกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมและคุณธรรมที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน ซึ่งอาจเรียกอีกอย่างว่า “มนุษยธรรม” (Humanitarian) ประชาชนทุกฝ่ายต้องเริ่มให้เกียรติ เคารพสิทธิของปัจเจกชนคนๆ หนึ่งในฐานะที่เขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุและผลให้มากขึ้น จงปฏิบัติตนต่อผู้อื่นเหมือนที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา ไม่ควรใช้บุคคลใดมาเป็นเพียงเครื่องมือ หรือทำลายใคร เพื่อมาตอบสนองผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก

 

 

อีกทั้ง ณ ช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมต้องร่วมกันแสดงออกซึ่งการปฏิเสธ ต่อต้านซึ่งความอยุติธรรมทางสังคม และความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อวันเฉลิม ไม่ใช่เพื่อนักกิจกรรมหรือผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่เพื่อใครอื่นใด แต่ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อปกป้องเราและคนรุ่นหลังในฐานะประชาชนที่ต้องอยู่ในสังคมแห่งนี้ต่อไปได้ อย่างเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพปราศจากซึ่งความหวาดกลัว

หากกล่าวให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ในหลายประเทศ การบังคับบุคคลให้สูญหายมักถูกฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือการปราบปรามบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง และมีพฤติกรรมที่รัฐมองว่าเป็นปัญหาหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ทั้งนี้ ส่วนมากแล้วเหยื่อการอุ้มหายมักจบลงด้วยความตาย เพียงแต่อาจแตกต่างไปจากกรณีวิสามัญฆาตกรรม คือการตายจะมาพร้อมกับการทำลายพยานหลักฐานและซ่อนเร้นศพของเหยื่อ ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏศพของเหยื่อย่อมไม่สามารถระบุได้ว่าความจริงแล้วเกิดอะไรขึ้น ส่งผลให้ผู้เสียหายและญาติไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ยิ่งกว่านั้นในรัฐที่ไม่มีกฎหมายป้องกันการอุ้มหายซ้อมทรมาน เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายก็ย่อมมีโอกาสที่จะลอยนวลพ้นผิดไปได้โดยง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้ง ทางฝั่งประชาชนเองก็ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้สูญหายได้ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายที่สามารถบังคับใช้กับกรณีการอุ้มหายซ้อมทรมานได้เป็นการเฉพาะ ซึ่งก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมตัวกัน จัดทำร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ขึ้นมา[1] เพื่อปรับปรุงกฎหมายของไทยให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งแม้ว่ารัฐไทยจะยังไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีก็ตาม ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED)

 

 

การผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและซ้อมทรมานดังกล่าว จะเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ช่วยสร้างหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และแก้ไขปัญหาช่องโหว่ในกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายได้

ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบควบคุมให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ว่าจะอย่างไร เราต้องตระหนักเสมอว่า ไม่ควรมีมนุษย์คนใดที่สมควรถูกบังคับให้สูญหายหรือซ้อมทรมาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นอาชญากรที่กระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง หรือเป็นผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองก็ตาม ทั้งนี้ มิใช่เพียงในแง่ของการต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมาย แต่มันหมายความรวมถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกันด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ, ‘เพนกวิน’ แกนนำสนท. ถูกตร.จับขณะผูกโบว์ เรียกร้องความเป็นธรรมให้ ‘วันเฉลิม’,  (9 มิถุนายน 2563), สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563, กรุงเทพธุรกิจ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884327

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ภาคประชาชนเสนอกฎหมาย “เพิ่มโทษ-สร้างกลไก” ป้องกันการอุ้มหายซ้อมทรมาน, (12 กุมภาพันธุ์ 2563), 17 กรกฎาคม 2563, https://ilaw.or.th/node/5549

จอร์จ ออร์เวลล์, หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ = 1984, แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์. (กรุงเทพฯ : แอร์โรว์, 2562)

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อาวุธมีชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2549).

ประชาไท, ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยทิ้งคำพูดสุดท้าย ‘หายใจไม่ออก’ ก่อนถูกคนร้ายอุ้มหายในพนมเปญ, (4 มิถุนายน 2563), สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563, ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2020/06/87968

ไทยโพสต์, หน้าหงายกันเป็นแถบ!ดอนเผย‘วันเฉลิม’ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยซ้ำร้ายไม่มีความสำคัญทั้งในแง่ต่างประเทศและความมั่นคง, (10 มิถุนายน 2563), สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563, ไทยโพสต์: https://www.thaipost.net/main/
detail/68306

ธงชัย วินิจจะกูล. นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม: ประวิศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย. (กรุงเทพฯ: เวย์แม็กกาซีน, 2563).

อันนา หล่อวัฒนตระกูล และ เทวฤทธิ์ มณีฉาย, น้ำดื่มขวดนี้ไม่มีขาย ผู้สูญหาย(ที่ขัดแย้งกับรัฐ)ก็ยังหาไม่เจอ, (17 สิงหาคม 2562) ,สืบค้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563, ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2019/08/83908

Johan Galtung, “Violence, Peace, and Peace Research,” Journal of Peace Research, Vol. 6, No. 3 (1969), pp. 167-191

Johan Galtung. Cultural Violence. Peace by Peaceful Means: Peace and Conflict, Development and Civilization. (Oslo: International Peace Research Institute ,1996).

 

———————————————————–

[1] ประเด็นสำคัญในร่างกฎหมายดังกล่าว ประกอบไปด้วยอย่างน้อย 8 ประเด็น ได้แก่

(1) การกำหนดให้การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่รัฐต้องมีการบันทึก แจ้งสิทธิ เปิดเผยข้อมูลและให้หรือทนายเข้าพบ

(2) ให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบและสั่งให้ปล่อยตัวได้ หากเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งห้ามศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการซ้อมทรมาน

(3) ให้ถือว่าสามี ภริยา คู่ชีวิต บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือผู้อยู่ในอุปการะทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย เป็นผู้เสียหาย และมีสิทธิเสมือนผู้ถูกอ้มหายหรือซ้อมทรมาน การเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวต้องเร่งชันสูตรและให้ญาติมีส่วนร่วม

(4) ให้คดีความเกี่ยวกับการอุ้มหายและการซ้อมทรมานตามกฎหมายนี้มีอายุความ 50 ปี และเริ่มนับอายุความเมื่อเจอผู้สูญหาย

(5) ให้คดีความตามกฎหมายนี้เป็น “คดีพิเศษ” และให้อัยการเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนสอบสวน

(6) ให้มีบทกำหนดโทษแก่ผู้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายซ้อมทรมาน พร้อมกำหนดให้การกระทำความผิดตามกฎหมายนี้เป็น “ความผิดสากล” ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ได้กระทำนอกราชอาณาจักร ต้องถูกดำเนินคดีและรับโทษในราชอาณาจักร  และกำหนดให้การกระทำความผิดดังกล่าวไม่เป็นความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้สามารถส่งตัวผู้กระทำความผิดที่อยู่ต่างแดนมารับโทษได้

(7) คดีเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายหรือการซ้อมทรมานอยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม หากไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดเช่นนี้ บางคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ทหารต้องขึ้นศาลทหารซึ่งผู้ฟ้องคดีคืออัยการทหาร และผู้พิจารณาคดีก็คือตุลาการศาลทหาร และมีกระบวนการพิจารณาคดีที่ล้าช้า ไม่สะดวกที่ประชาชนจะเข้าร่วมติดตามคดี รวมถึงให้ใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี ซึ่งศาลจะเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิสูจน์และแสวงหาความจริงด้วยตนเอง

(8) เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญาไม่มีบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดฐานการซ้อมทรมานหรือการอุ้มหายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยกรณีการอุ้มหายสามารถดำเนินคดีในฐานความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 – 310 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และเป็นความผิดที่ยอมความได้ ดังนั้น จึงได้มีการกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 15 ปีและปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท แต่ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึง 25 ปีและปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท และถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต

 

X