ร่องรอยความหวาดกลัวและ “รู้ว่าผิด” ระหว่างการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ

++แก้ไขเพิ่มเติมบทความวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 11.00 น. ++

โดย ภาสกร ญี่นาง

นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลาคม 2519 ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 44 ปีในปีนี้  แม้ปัจจุบันผู้คนจะกล่าวถึง 6 ตุลาฯ ในพื้นที่สาธารณะและตั้งคำถามต่อเหตุการณ์มากขึ้น อีกทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์และการช่วงชิงนิยามความหมายของเหตุการณ์จะดำเนินไปอย่างเข้มข้น แต่ไม่ได้ทำให้การลอยนวลพ้นผิด (Impunity) ของผู้ก่ออาชญากรรมในเหตุการณ์นี้เปลี่ยนไป

ไม่เพียง 6 ตุลาฯ การลอยนวลพ้นผิดยังคงอยู่ใน 14 ตุลาฯ, พฤษภาฯ 2535, เมษาฯ 2552, และ พฤษภาฯ 2553  คำถามสำคัญคือ การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นต่อเนื่องได้อย่างไร ทั้งที่ความรุนแรงเหล่านั้นล้วนโจ่งแจ้งประจักษ์ต่อสังคม

นอกเหนือจากมิติทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม การลอยนวลพ้นผิดอย่างสมบูรณ์แบบย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากปฏิบัติการทางกฎหมายของรัฐ บทความนี้พยายามสำรวจปฏิบัติการทางกฎหมายสำคัญที่ทำให้การลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นได้ โดยปฏิบัติการทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แบ่งได้สองเป็นส่วน หนึ่ง กระบวนการตรากฎหมายนิรโทษกรรมภายหลังเหตุการณ์เพื่อยกเว้นความผิดแก่ผู้กระทำความรุนแรง และ สอง การตรากฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อปล่อยตัวแกนนำนักศึกษาผู้ตกเป็นจำเลยในคดี 6 ตุลาฯ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการต่อยอดและใช้กรอบเดียวกันกับงานศึกษาของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น[1] ซึ่งศึกษากระบวนการตรากฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสองฉบับ โดยใช้วิธีการสืบหา “คำให้การซ่อนเร้น” (hidden transcript) ที่อยู่ในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นคำบอกเล่าภายใต้การครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จเหนือผู้อยู่ใต้อำนาจ อาศัยการอ่านระหว่างบรรทัดของเอกสาร เพื่อค้นหาตัวบทซ่อนเร้น ในความหมายที่ต่างไปจากตัวบทเดิม เพื่อเปิดเผยถึงการสมรู้ร่วมคิดและการมีส่วนร่วมในความรุนแรง ความวิตกกังวล และการหลบเลี่ยงความ รับผิดชอบของรัฐ

 

ในห้องประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เมื่อระบอบเผด็จทหารได้กลับขึ้นสู่อำนาจอีกครั้งในวันเดียวกัน กฎหมายนิรโทษกรรม ชื่อว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” หรือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ 1 จึงถูกตราออกมาบังคับใช้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีบทบัญญัติมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2519 เป็นบทนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ก่อการรัฐประหารแล้วก็ตาม[2]

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ ที่นี่

กระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ประกอบไปด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือ กระบวนการร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จัดประชุมอย่างรวบรัดเพียงสองชั่วโมง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการถกเถียงเพื่อบัญญัติกฎหมายยกเว้นความผิดแก่ผู้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม 6 ตุลาฯ ให้ครอบคลุมมากที่สุด ทุกคน ทุกการกระทำ ทุกช่วงเวลา แต่ข้อเสนอนี้มีผู้คัดค้าน ดังที่ส่วนหนึ่งของเอกสารบันทึกถึงข้อถกเถียงครั้งนี้ระบุว่า

“เนื่องในการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน”[3] จึงควรได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด แม้ว่าประธานฯ จะแสดงท่าทีกังวลออกมาว่า “ร่างฯ นี้ ครอบจักรวาลคุ้มครองทุกคน”[4] รวมถึงเลขาธิการฯ ได้กล่าวถึงข้อจำกัดของร่างกฎหมายในที่ประชุมว่า “การนิรโทษกรรมนั้นต้องคุ้มครองเฉพาะเรื่องส่วนรวม…มิได้คุ้มครองถึงการกระทำที่ได้กระทำไปเพื่อส่วนตัวเช่น กระทำไปเพราะความโกรธแค้น ฆ่าคนตายในเรื่องส่วนตัวในวันที่มีการยึดอำนาจ”[5]

ทว่าหลังข้อถกเถียงผลของกฎหมายหลังจากตราออกมาแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ภายใต้บรรยากาศความกลัวและวิตกกังวลว่าบทบัญญัติมาตรา 29 จะไม่มีผลเป็นการยกเว้นความผิดครอบคลุมเพียงพอและตนจะถูกลงโทษภายภาคหน้า ผู้มีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมในวันนั้นจึงยกเหตุผลมากมายายเพื่อให้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ผ่านไปได้

 

พลโทไสว ดวงมณี : ผู้เผยว่า 6 ตุลาฯ เกิดจากการเตรียมการ

ข้อความจาก รายงานการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิ น. 114 ที่พลโทไสว ดวงมณี กล่าว

พลโทไสว ดวงมณี สมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ผู้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ต่อสภาปฏิรูปฯ กล่าวต่อที่ประชุมในขั้นตอนการรับหลักการและเหตุผล[6]ว่า “กระผมได้พิจารณาดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ในมาตรา 29 คุ้มครองบุคคลต่างๆ ซึ่งได้ร่วมมือในการยึดอำนาจปกครอง…กระผมอ่านดูแล้ว กระผมรู้สึกว่ายังมีช่องโหว่อยู่หลายประการ เห็นว่าเป็นการสมควรที่สภานี้จะได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยในครั้งนี้ด้วย”[7]

ช่องโหว่ที่พลโทไสวกล่าวถึงประกอบไปด้วย ข้อแรกมีพวกที่ “เสนอหน้า” เข้าไปร่วมยึดอำนาจปกครองโดยพลการ “ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ครอบคลุมไม่ถึง” โดยพลโทไสวยอมรับว่าตนเป็นพวกที่เสนอหน้าเหมือนกัน[8]

ข้อสอง การกระทำความผิดในเหตุการณ์นั้น อาจมีผู้เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง ที่น่าแปลก คือ “พวกแม่ค้าขายของ ขายอาหาร พวกเสมียนพิมพ์ พวกวิทยุ โทรศัพท์ โทรเลยอะไร ประปา ไฟฟ้า กางเต็นท์อะไรเหล่านี้”[9] ไสวนับให้เป็นผู้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนด้วย ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้กฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด

ข้อสาม ไสวกล่าวทำนองว่าการนิรโทษกรรมมาตรา 29 ในรัฐธรรมนูญ เฉพาะหัวหน้า และคนอื่นๆ ในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีเพียงแค่ 24 คนเท่านั้น เท่ากับยอมรับว่าการใช้ความรุนแรงครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหาร[10]

ข้อสี่ เมื่อการนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นความผิดให้เฉพาะผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การยึดอำนาจเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเวลา 18.00 – 20.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้การนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่คุ้มครองการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนและหลังช่วงเวลาที่มีการยึดอำนาจ[11]

ช่องโหว่ข้อสุดท้าย คือ การนิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้คุ้มครองไปถึงการกระทำในขั้นตระเตรียมวางแผนทำการยึดอำนาจการปกครอง จากความพยายามชี้ช่องโหว่นี้แสดงให้เห็นว่าอาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาฯ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น แต่ “มีการประชุมกันตั้งแรมเดือน หลายเดือนมาแล้วที่วางแผนน่ะ พ้นหรือไม่ ไม่ได้พ้นนะครับ”[12] พลโทไสว ชี้แจงต่อที่ประชุม

พลโทไสวกล่าวปิดท้ายการอภิปรายว่า “เพราะฉะนั้นกระผมก็ใคร่จะเรียนท่านสมาชิกผู้มีเกียรติทั้งหลาย เราควรจะให้ความคุ้มครองป้องกันแก่ท่านที่ได้ร่วมช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ …อาจจะขอให้ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับท่านทั้งหลายนั้นก็ได้ครับ…”[13] ซึ่งนับเป็นการร้องขอความเห็นใจจากสมาชิกสภาปฏิรูปฯ ให้ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่ละอายแก่ใจแม้แต่น้อย ราวกับการช่วยผู้ที่เคยทำลายชีวิตและกระทำย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยด้วยกันให้ลอยนวลพ้นผิด กลายเป็น “ของขวัญปีใหม่”

 

จงกล ศรีกาญจนา : ผู้ขอนิรโทษกรรมเพราะกลัวถูกประหารชีวิต

หลังจากพลโทไสวแถลงเสร็จ จงกล ศรีกาญจนา สมาชิกสภาปฏิรูปฯ อีกคนหนึ่ง ได้ออกอาการหวาดกลัวและวิตกอย่างเห็นได้ชัดหากไม่มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ขึ้น “ไม่ใช่เป็นเพราะดิฉันเป็นผู้หญิงขี้ขลาดตาขาว หรือคิดว่าเมื่อตะกี้นี้ท่านพลโทไสว บอกว่าโทษนั้นถึง 20 ปี ดิฉันก็ไม่รู้หรอกค่ะ ตัวบทกฎหมายอะไรๆ แต่มาเสียวไส้ว่าถึงกับประหารชีวิต…ดิฉันเคยสงสัยเหลือประมาณว่าเหตุไฉนเวลาผ่านมาตั้ง 2 เดือนเศษแล้ว ไม่มีผู้ใดที่จะขอนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ซึ่งได้ร่วมทำงานในครั้งนั้น ดิฉันก็เป็นประชาชนแม่บ้านธรรมดาซึ่งไปร่วมเต้นเหยงๆ อยู่กับเขาตอนนั้นด้วย”[14] จงกลกล่าวต่อที่ประชุมถึงการสนับสนุนหลักการและเหตุผลของกฎหมาย

อาการความหวาดกลัวดังกล่าวได้แสดงว่า จงกลย่อมรู้ถึงลักษณะของการกระทำและผลของการกระทำที่จะตามมาเป็นอย่างดี ประกอบกับคำพูดที่ว่าได้ไป “เต้นเหยงๆ กับเขาตอนนั้นด้วย” ก็เข้าข่ายเป็นการยอมรับว่าตนได้ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพลเรือนฝ่ายขวา ทั้งกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านนักศึกษา ซึ่งอาจรู้ถึงขนาดที่ว่าการกระทำความรุนแรงครั้งนั้นเกี่ยวโยงกับกลุ่มพลเรือนฝ่ายขวาอย่างไรบ้าง

.

พลโทกานต์ รัตนวราหะ : ผู้เกรงจะถูกดำเนินคดีหากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เช่นเดียวกับ พลโทกานต์ รัตนวราหะ ที่สนับสนุนพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ด้วยอาการหวาดกลัวไม่น้อยไปกว่าจงกล ซึ่งเขาเกรงว่าวันหนึ่งหากรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปตามการกำหนดอายุไขในมาตรา 28 ผลของบทนิรโทษกรรมอาจจะถูกยกเลิกไปด้วย จึงต้องการให้ตราเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกมา เพราะ “จะมั่นคงถาวรกว่า” เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีใครถูกดำเนินคดี ในวันที่รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก[15] ทั้งนี้ ความหวาดกลัวของพลโทกานต์ ไม่ได้อิงอยู่กับหลักการทางกฎหมาย  ซึ่งกำหนดว่าสิทธิที่ได้รับมาโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่เสียไป แม้กฎหมายจะแก้ไขยกเลิกไปก็ตาม

ก่อนลงมติรับหลักการ นาม พูนวัตถุ ผู้เป็นหนึ่งในกรรมการร่างกฎหมายชั้นกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นถึงช่องโหว่ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 29 อีกประการหนึ่งว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 29 “บัญญัติถึงการกระทำเท่านั้นเองครับ ไม่ได้บัญญัติถึงตัวผู้กระทำความผิดด้วย…ซึ่งความจริงก็เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นกระผมจึงเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะมีกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมขึ้นโดยเฉพาะ”[16]

สิ้นสุดในวาระแรก การลงมติรับหลักการและเหตุผลของสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินมีเสียงเป็นเอกฉันท์ให้รับหลักการดังกล่าวนั้นไว้

 

กนก สามเสน วิล : ผู้เตือนให้รักษาภาพพจน์ด้วยการไม่กล่าวว่า 6 ตุลาฯ มีการเตรียมการ

ในวาระที่สองการพิจารณาชั้นกรรมาธิการโดยคณะกรรมการเต็มสภา การอภิปรายทั้งหมดเป็นการเสนอแก้ไขถ้อยคำบทบัญญัติมาตรา 3 ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมไปให้ได้กว้างมากที่สุด และสภามีมติให้ยืนตามร่างเดิมไว้ เว้นแต่ กนก สามเสน วิล ที่ได้กล่าวนอกประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า สมาชิกสภาฯ ไม่ควรเน้นว่าการรัฐประหารมีการตระเตรียมล่วงหน้า เพราะเกรงว่าจะสูญเสีย “ภาพพจน์ตามที่รัฐบาลต้องการ”[17] ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมาย

พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยถูกพิจารณาทีเดียว 3 วาระรวด และไม่มีผู้ใดอภิปรายแถลงคัดค้าน กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้จึงผ่านออกมาโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ส่งผลให้ผู้ก่อความรุนแรงลอยนวลไปได้อย่างหน้าตาเฉย ซึ่งในกระบวนการร่างได้ซ่อนนัยยะของการกลบเกลื่อนความวิตกกังวลและหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีในอนาคต และอ้างความชอบธรรมของการกระทำความรุนแรงว่าเป็นไป “เพื่อประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอย่างมหาศาล”[18] มารองรับเหตุผลให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรม “จึงนับเป็นการสมควรอย่างยิ่ง” ดังที่จงกลได้กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายไม่มีผู้ใดคัดค้าน เพราะคงจะเล็งเห็นความจำเป็นที่จะให้ราษฎรและทุกๆ ท่านซึ่งได้ร่วมการกระทำครั้งนั้น เพื่อความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และต่อประเทศชาติ”[19]

สมาชิกสภาฯ ไม่ควรเน้นว่าการรัฐประหารมีการตระเตรียมล่วงหน้า เพราะเกรงว่าจะสูญเสียภาพพจน์ตามที่รัฐบาลต้องการ

การแสดงอาการหวาดกลัวและวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะถูกดำเนินคดีในหมู่สมาชิกสภาฯ สะท้อนเห็นให้ว่า พวกเขารู้ดีว่าการกระทำและผลของการกระทำที่จะตามมาคืออะไร กฎหมายนิรโทษกรรมที่มีขอบเขตครอบคลุมมากที่สุดจึงจำเป็นต้องถูกตราออกมา เพื่อไม่ให้ผลลัพธ์ในทางกฎหมายที่พวกเขารู้ดีอยู่แล้วเกิดขึ้นได้ และเพื่อรักษาสถานะของตนเองให้ดำรงอยู่ต่อไป ด้วยการทำให้เหมือนว่าพวกเขาไม่เคยกระทำความผิด

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่ 2 กฎหมายที่เก็บ 6 ตุลาฯ ให้อยู่ในปริมณฑลแห่งความเงียบงัน

เวลาล่วงผ่านไป 2 ปี หลังจากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับแรกใช้บังคับ เริ่มปรากฏพฤติการณ์ต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้มีส่วนร่วมก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รอดพ้นจากความรับผิดไปได้ ไม่เพียงแต่ความรับผิดทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต้องตกเป็น “ผู้ร้าย” ในทางการเมืองและประวัติศาสตร์

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ คือ ภายใต้บรรยากาศบ้านเมืองยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ได้ผ่อนปรนการควบคุมทางการเมืองลง ส่งผลต่อการพิจารณาคดีแกนนำนักศึกษาจำนวน 18 คน ในศาลทหาร หรือที่เรียกว่า “คดี 6 ตุลาฯ” อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเปิดห้องพิจารณาให้ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนรัฐบาลหลายประเทศเข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีของศาลทหารได้[20]

ในคดีดังกล่าวจำเลยแต่ละคนถูกตั้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา เช่น มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ดูหมิ่นองค์รัชทายาท ชุมนุมก่อความวุ่นวายโดยใช้กำลังและอาวุธ ฯลฯ ในช่วงระหว่างการซักถามและการเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์ ได้เกิดสถานการณ์ที่ห้องพิจารณาคดีของศาลทหารแปรเปลี่ยนเป็นห้องไต่สวนความจริงของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงวันนั้น ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ก็กลับตกเป็น “จำเลย” เสียเอง[21]

ยิ่งสืบพยาน ยิ่งเผยความรุนแรงของรัฐ

จากคำให้การร้อยตำรวจโทอารี มนตรีวัตร พยานโจทก์ปากที่ 6 ยอมรับว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้น “โคตรโหดร้ายทารุณ”[22] หลังจากทนายจำเลยนำภาพความรุนแรงให้ตนดู “ลักษณะการเตะตามภาพนั้นเป็นมารยาทเลว คนที่ยืนเยี่ยวรดศพ ข้าฯรู้สึกเป็นคนจำพวกบ้าหรือจิตทราม คนที่ใช้ไม้ตีคนที่ถูกแขวนคอนั้น ข้าฯมีความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมมาก ข้าฯไม่ทราบว่าบุคคลต่าง ๆ ที่ปรากฏตามภาพเอกสาร ล.21 ที่กระทำทารุณ จะได้ถูกเจ้าพนักงานจับตัวไปดำเนินคดีหรือไม่” ร้อยตำรวจโทอารีเบิกความต่อศาล[23]

ภาพ : มติชน 7 กรกฎาคม 2521 น.1

พันตำรวจโทสล้าง บุนนาค (ยศในขณะนั้น) พยานโจทก์อีกรายหนึ่ง ให้การยอมรับในชั้นศาลเช่นกันว่าได้นำกำลังออกปราบปรามจลาจล โดยไม่เป็นไปตามหลักการขั้นตอนซึ่งจะต้องเรียงลำดับจากวิธีการที่ก่อให้เกิดความเสียน้อยที่สุด หากไม่ได้ผล จึงค่อยยกระดับ “การใช้…แก๊สน้ำตา โล่ กระบอง ในพื้นที่กว้างขวางน่าจะไม่เกิดผล…เหตุผลอีกอย่างหนึ่งซึ่ง ข้าฯมิได้สั่งให้หน่วยของข้าฯนำเครื่องมือดังกล่าวไปด้วย…”[24] พันตำรวจโทสล้างตอบทนายจำเลย พร้อมทั้งยังอ้างว่าตนไม่สามารถห้ามมิให้มีการใช้ความรุนแรงได้ “ถ้าเห็นคนยิงปืนเข้าไปก็จะต้องห้ามปรามหรือจับกุม แต่สำหรับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุคดีนี้…จะห้ามปรามหรือจับกุมก็คงลำบาก เพราะข้าฯเข็ดมาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ที่เข็ดเพราะกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย”[25]

ภาพ : มติชน 18 กรกฎาคม 2521 น.1 ต่อ น.12

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แพร่งพรายออกมามากกว่านี้ ฝ่ายรัฐไทยจึงตัดสินใจปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดและทำให้การพิจารณาคดีต้องเป็นอันยุติลง ผ่านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอีกฉบับ ชื่อว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่าง วันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521”

การนิรโทษกรรมที่สร้างวาทกรรม นักศึกษาทำผิดรัฐเมตตา

พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้วางหลักการและเหตุผลว่า “ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป …”

ภาพ : มติชน 21 กันยายน 2521 น.1

กระบวนการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมปี 2521 ดำเนินไปในที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ปี 2520 นำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นการประชุมลับ จึงไม่ปรากฏบันทึกรายงานการประชุม การสืบหาความเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ สามารถพิจารณาเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ที่รวบรวมไว้โดยเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา

บทสัมภาษณ์ส่วนมากเน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์ของรัฐไทย ให้ดูราวกับเป็นผู้มีเมตตากรุณา มีความเห็นอกเห็นใจจำเลยทั้ง 18 คน เหมือนลูกหลาน เหตุผลหลักของการนิรโทษกรรมจึงหนีไม่พ้นเรื่องการสร้างความสามัคคี การสมานรอยร้าวของคนในชาติ ทว่าไม่ยืนยันว่าจำเลยเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ กลับเป็นการใช้กฎหมายนี้เพื่อตราหน้าว่าพวกเขานั้นเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว แต่รัฐยอมออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อยกเว้นความผิดหรือยกโทษให้ ดังที่ปรากฏในคำปรารภของกฎหมายว่า “การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด”

พลโทสมิง ไตลังคะ เจ้ากรมพระธรรมนูญทหาร กล่าวว่า “ถ้าเป็นอย่างที่กิจสังคมและประชาธิปัตย์คิด ตนก็จะสบายใจเพราะอยากจะปล่อยเช่นกัน (ก่อนหน้าเกิดกระแสข่าวทั้งสองพรรคว่าต้องการพลิกฟื้นคดีใหม่ เช่น ให้พิจารณาโดยศาลพลเรือน และให้เหลือคดีความตามมาตรา 112 เพียงคดีเดียว ทั้งจะให้สิทธิประกันตัวออกมาสู้คดีได้ด้วย-ผู้เขียน)”[26] พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีและผู้มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันให้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ก็ถามถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคดีทุกครั้งที่พบปะกัน “เจอทีไรท่านก็เร่งทุกที วันนี้ท่านไม่ได้เร่งเพราะงานยุ่ง…”[27] พลโทสมิงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

อาทิตย์ อุไรรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนอยากจะให้ปล่อยตัวจำเลยทั้ง 18 คน เพราะเวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ควรจะยุติเรื่องนี้ เพื่อประสานรอยร้าวของคนในชาติ ตราบใดที่มีผู้ต้องหาในคดี 6 ตุลาฯ อยู่ในคุกต่อไป ก็ไม่อาจจะประสานรอยร้าวที่บ้านเมืองมีอยู่ได้ พร้อมทิ้งท้ายให้เห็นว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นเพื่อรักษาภาพพจน์ของประเทศในสายต่างชาติ[28]

ภาพ : มติชน 8 กันยายน 2521 น.1 ต่อ น.12

ก่อนการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเพียงไม่กี่วัน พลเอกเกรียงศักดิ์ปรารภว่า ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาตลอด การตรากฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นเหมือนการ “เซอร์ไพรส์”[29] ซึ่งดูราวกับเป็นคนละชุดเหตุผลกับ ศ.ดร.สมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ซึ่งได้ยอมรับตรงๆ ว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จะเป็นการยกเว้นความผิดแก่การกระทำที่เกิดขึ้นในเหตุทั้งหมด (อีกครั้ง) ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ตำรวจที่ออกปฏิบัติการ ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคลื่อนไหวครั้งนั้นด้วย “ความยุติธรรม” ที่อยู่ในความคิดของพลเอกเกรียงศักดิ์ จึงน่าจะมิใช่ความยุติธรรมของเหยื่อความรุนแรงแต่อย่างใด

แม้การพิจารณาตรากฎหมายฉบับนี้จะเป็นไปอย่างปิดลับ แต่เบื้องหลังของการตรากฎหมายนิรโทษกรรมปรากฏอยู่บ้างเช่นกัน เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามพลเอกเกรียงศักดิ์ ว่าการนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้สู่สภาฯ ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือไม่  พลเอกเกรียงศักดิ์ ตอบว่า “อย่าพูดเลย อย่าเอาพระองค์ท่านมาเกี่ยวข้อง ขอให้เป็นเรื่องของรัฐบาล”[30] ก่อนจะเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้ปรารภให้ผมดำเนินการเรื่องนี้ให้เสร็จไปเสียที ท่านทรงปรารภมานานแล้ว…ผมก็ได้ขอพระบรมราชานุญาติจะเปิดเผยกับประชาชนได้หรือไม่ เพราะเกรงว่าจะมีคนมองว่าผมดึงท่านมาเล่นการเมือง ผมไม่อยากให้เขาว่าได้ ก็เลยขอพระบรมราชานุญาติ ท่านก็ดำรัสว่าไม่ขัดข้อง”[31]

ภาพ : มติชน 17 กันยายน 2521 น.1

ภาพ : ไทยรัฐ 17 กันยายน 2521 น.21

ประเด็นนี้ชวนให้พิจารณาถึงสถานะของกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ ที่เป็นเครื่องมือปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นผู้มีอำนาจเมื่อถึงเวลา และไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน หากแต่เปรียบตนเป็นผู้ทรงบุญญาบารมีสูงส่งที่คอยให้ความเมตตาประชาชน ไม่ใช่การรับใช้

.

การตรากฎหมายปิดทางเอาผิดผู้ก่ออาชญากรรม 6 ตุลาฯ

ดังนั้น ขณะที่จำเลยในคดีทั้ง 18 คน ไม่อาจต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลได้แล้ว กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับหลังนี้ยังมีบทบัญญัติปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมใดๆ ได้อีก ซึ่งมาตรา 5 ได้กำหนดว่า “การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น” นับเป็นการปิดตายไม่ให้มีใครนำเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นสู่ศาลอีก

หลังการปล่อยตัวจำเลยทั้ง 18 คน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายขวาจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะ พลตรีสุดสาย หัสดิน นายทหาร กอ.รมน. สมญานาม “เจ้าพ่อกระทิงแดง” หนึ่งในแกนนำกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา ที่ออกมาขู่ว่า “ถ้าออกมาแล้วไปเรียนหนังสือก็ดี เราจะได้คนดีมีความรู้ความสามารถมาช่วยบ้านเมือง ถ้าออกมาแล้วมาก่อกวนก็ต้องเจอกับผม ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งแน่”[32] หรือกรณี สง่า วงศ์บางชวด สมาชิกสภาฯ เพียงคนเดียวที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งได้พิพากษาจำเลยทั้ง 18 คน ด้วยตนเองไปเป็นที่เรียกร้อย โดยเขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายว่า

“…ปัญหาบ้านเมืองเราด้านอื่นๆ มีอีกมากมาย การจะเอาคน 18 คน ออกมาช่วยบ้านเมืองนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าจะยึดหลักเมตตาธรรมคนอื่นๆ ที่อยู่ในคุกอีกนับหมื่นก็น่าจะนิรโทษกรรมออกมาให้หมด … เชื่อว่าเมื่อมีการปล่อยตัวออกมาแล้วปัญหาจะต้องเกิดแน่”[33] รวมถึง วิมล เจียมเจริญ นักเขียนที่รู้จักกันในนามปากกา “ทมยันตี” ได้ยกมืออภิปรายว่าตนรู้สึกถูกหยามโดยกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ เนื่องจากเธอได้เสียสละเพื่อปกป้อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์มาโดยตลอด ในวันที่ 6 ตุลาคม มีประชาชน 100,000 คน ออกมาต่อต้านนักศึกษา คดีในศาลควรจะดำเนินต่อไปจนจบสิ้น แต่พอถึงเวลาลงคะแนนเสียง วิมลได้เดินออกจากที่ประชุมไปก่อน[34]

ภาพ : ไทยรัฐ 16 กันยายน 2521 น.16

กระแสความไม่พอใจแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง จนถึงขั้นพลเอกเกรียงศักดิ์ถูกบุคคลในกลุ่มลูกเสือชาวบ้านแจกใบปลิวโจมตีด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์[35]

.

การกักเก็บ 6 ตุลาฯ ไว้ให้เงียบงัน

นอกเหนือจากความไม่พอใจข้างต้น บรรยากาศความกลัว อาการที่เกรงว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะตามมาหลอกหลอนในกลุ่มผู้มีอำนาจและผู้ก่อความรุนแรงก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้ง เริ่มจากคณะรัฐมนตรีมีมติในที่ประชุมไม่อนุมัติให้จัดงานรับขวัญจำเลยในคดี 6 ตุลาฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้เหตุผลว่า “เพื่อความอยู่รอดและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เวลานี้บรรยากาศก็ไม่อำนวยด้วย ให้ถ่อมตัวก่อน”[36]

ขณะที่พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ปรามกลุ่มนักศึกษาว่า “การเลี้ยงรับขวัญบรรดาผู้ได้รับการนิรโทษกรรมอย่างเอกเกริกนั้น ควรจะหยุดกันเสียบ้าง เพราะขืนทำอะไรเอกเกริก กลุ่มต่อต้านอาจจะหมั่นไส้เอา”[37] การห้ามปรามฝ่ายที่เสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมิให้แสดงออกใดๆ แทนที่จะห้ามหรือป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษา ย่อมเป็นลักษณะอาการของความกลัวว่าความจริงจะถูกบอกเล่าในพิธีรับขวัญ รวมถึงการยืนยันความบริสุทธิ์อาจส่งผลให้สถานการณ์ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์แอบแฝงของพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ต้องการผลักให้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตกอยู่ในปริมณฑลแห่งความเงียบงัน

      ภาพ : มติชน 21 กันยายน 2521 น.1

เมื่อการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือให้สังคมลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ส่อแววจะไร้ผล และมีโอกาสสูงที่คนกลุ่มหนึ่งจะกลายเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งผิดไปจากช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่พวกเขาอวดอ้างอย่างภูมิใจตนเองว่าเป็นผู้ปกป้องชาติและราชบัลลังก์ พลเอกเกรียงศักดิ์จึงไม่รอช้าที่จะออกมาเตือนให้สื่อมวลชนหยุดขุดคุ้ย หยุดฟื้นฝอยหาตะเข็บ “เรื่องนี้จบเกมไปแล้ว จะผิดถูกอย่างไร ขอให้เสร็จสิ้นไป” และได้ย้ำเรื่องพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงเป็นสำคัญ[38] โดยก่อนหน้านี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รมช.มหาดไทย ช่วงเวลานั้น ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า “ไม่อยากจะให้พูดรื้อฟื้นถึงความหลังกันว่าใครผิดใครถูก เพราะไม่มีประโยชน์ประการใด แต่อยากให้ทุกคนหันหน้ามาพูดจาหารือ และร่วมมือกันทำประโยชน์ให้ชาติบ้านเมืองจะดีกว่า”[39]

ด้วยผลของการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมทั้งสองฉบับ ย่อมส่งผลให้สภาวะการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์วันนั้นดำรงอยู่อย่างถาวรในปัจจุบัน แม้ว่าสังคมไทยจะเข้าสู่ยุคสมัยที่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะได้รับเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกันในพื้นสาธารณะอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การสร้างคำอธิบายต่อเหตุการณ์แตกต่างไปจากอดีตโดยสิ้นเชิงแล้วก็ตาม

รัฐแห่งการลอยนวลพ้นผิด

เมื่อระบบกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายของรัฐไทยตกเป็นเพียงเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้เพื่อปกป้องตัวเองจากความรับผิดทางกฎหมาย รวมทั้งใช้เพื่อกลบเกลื่อนการกระทำความผิด บิดเบือน ซ่อนเร้นข้อเท็จจริงต่างๆ ของเหตุการณ์ ย่อมบ่งบอกถึงปัญหารากเหง้าที่ฝังอยู่ในระบบกฎหมายและความเป็นรัฐไทยมาเป็นเวลายาวนาน

ระบบกฎหมายไทยสามารถทำงานร่วมกับการก่อความรุนแรงอย่างแยบยล ในฐานะที่เป็น “ความรุนแรงทางกฎหมาย” (Legal Violence) ซึ่งหมายถึง ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เหยื่อความรุนแรงต้องตกเป็นกลุ่มคนที่มีสถานะหรือมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้อยกว่าคนอื่นๆ ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปิดกั้นเหยื่อความรุนแรงในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนตีตรา (Stigmatize) ให้พวกเขากลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงและสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ของชาติ อีกทั้งยังมีส่วนค้ำจุนระเบียบทางสังคมดั้งเดิม (Status quo) ให้ชนชั้นนำและกลุ่มผู้มีอำนาจมีสถานะเหนือกว่า และกดขี่ขูดรีดหรือเอาเปรียบคนจำนวนมากได้ต่อไป

สถาบันและระบบกฎหมายไทยจึงพร้อมที่จะทำงานกลับหัวกลับหาง หากต้องเข้ามาจัดการกับความรุนแรงที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมโดยรัฐ กล่าวคือ แทนที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแต่ทำลายความยุติธรรมเสียเอง ด้วยการบิดเบือน ซ่อนเร้น รวมถึงให้ความชอบธรรมกับการก่อความรุนแรงเพื่อปกป้องมิให้ผู้เกี่ยวข้องต้องรับโทษทางกฎหมาย สนองรับใช้รัฐเพื่อระเบียบทางสังคมแบบดั้งเดิมของชนชั้นนำ พร้อมกลบเกลื่อนสิ่งอัปลักษณ์เหล่านี้ ในนามของ “ความสามัคคีแก่คนในชาติ”

การลอยนวลพ้นผิดที่เกิดจากการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ได้ตอกย้ำถึงรูปแบบการปกครองโดยกฎหมายของรัฐไทย ตามที่ ธงชัย วินิจจะกูล เคยนำเสนอไว้[40] ซึ่งสำหรับรัฐไทยแล้ว กฎหมายไม่เคยเป็นใหญ่ ไม่เคยมีความยึดโยงใดๆ กับประชาชน กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของผู้ยิ่งใหญ่และผู้มีอำนาจที่ใช้เพื่อมอบอภิสิทธิ์ปลอดความผิดแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชอบธรรม มิได้เป็นกรอบจำกัดอำนาจรัฐเพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนแต่อย่างใด ซึ่งธงชัยเห็นว่านี่คือความคิดพื้นฐานของนิติศาสตร์ไทย เป็นหลักนิติรัฐและนิติธรรมแบบไทย ๆ

เช่นเดียวกับ นิธิ เอียวศรีวงศ์[41] และไทเรล ฮาเบอร์คอร์น[42] ที่เสนอว่า การลอยนวลพ้นผิดถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการประกอบสร้างรัฐไทยในยุคสมัยใหม่ ดำรงอยู่คล้ายกับสถาบันหนึ่งที่คอยเชื่อมโยงเครือข่ายผลประโยชน์ของชนชั้นนำเอาไว้ด้วยกัน หากว่าความสัมพันธ์และโครงสร้างทางสังคมไทยเป็นสังคมแบบมีลำดับชั้นตามบุญญาบารมี ซึ่งไร้หลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย การลอยนวลพ้นผิดย่อมเสมือนเป็นเสาหลักที่คอยพยุงรักษาความเป็นรัฐไทยในแบบของชนชั้นนำให้ตั้งมั่นอยู่อย่างมั่นคง  ในทางกลับกัน หากรัฐไทยดำเนินกระบวนการทางกฎหมายต่อผู้ก่อความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมา ย่อมทำให้ระเบียบสถานะดั้งเดิมของสังคมพังครืนลงมาได้

หนึ่งบทเรียนที่สำคัญจากปฏิบัติการทางกฎหมายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือกระบวนการยุติธรรมที่ยึดโยงกับประชาชนและการรับผิดเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างสรรค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย การพยายามซุกซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม ย่อมไม่ใช่วิธีการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติให้เกิดขึ้นจริงได้  หากสังคมไทยไม่อาจเอาผิดในเหตุการณ์อาชญากรรมโดยรัฐได้สักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้บงการ หรือผู้กระทำก็ตาม บาดแผลและรอยร้าวจากวันนั้นย่อมไม่มีทางเลือนหายไปจากสังคมในวันนี้

ภาพ : สมยศ เชื้อไทย (บรรณาธิการ). คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร. (กรุงเทพฯ: พี.เค. พริ้นติ้งเฮาส์, 2531) น.110

เชิงอรรถ

[1] ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น, “คำให้การเร้น” ในกฎหมายนิรโทษกรรม: รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519. อ่าน-ย้อนยุค. 2557. หน้า 166-183.

[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 มาตรา 29  “บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้  ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”

[3] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 1/เล่ม 996, หน้า 72.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 71.

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 65.

[6] เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การยึดอำนาจการปกครองประเทศและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน และกำหนดรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและจิตใจของประชาชนเพื่อให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศในครั้งนี้  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

[7] รายงานการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ณ ตึกรัฐสภา
หน้า 109

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 110.

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 111.

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 112.

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 113.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 114.

[13] รายงานการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ณ ตึกรัฐสภา หน้า 114

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 115.

[15] เรื่องเดียวกัน, หน้า 116.

[16] รายงานการประชุมสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ณ ตึกรัฐสภา หน้า 119.

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 127.

[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า 118.

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 115.

[20] ธงชัย วินิจจะกูล, 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน. 2558), หน้า 22-23.

[21] ดูการพิจารณาและคำให้การของพยานในคดี 6 ตุลาฯ ได้ ใน สมยศ เชื้อไทย (บรรณาธิการ). คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร. (กรุงเทพฯ: พี.เค. พริ้นติ้งเฮาส์, 2531).

[22] มติชน, 7 กรกฎาคม 2521, หน้า 1.

[23] สมยศ เชื้อไท, เรื่องเดียวกัน, หน้า 208-209.

[24] เรื่องเดียวกัน, หน้า 234.

[25] สมยศ เชื้อไทย (บรรณาธิการ). คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ใครคือฆาตกร. (กรุงเทพฯ: พี.เค. พริ้นติ้งเฮาส์, 2531), หน้า 237.

[26] มติชน, 25 สิงหาคม 2521, หน้า 1.

[27] มติชน, 7 กันยายน 2521, หน้า 1.

[28] เรื่องเดียวกัน, หน้า 12.

[29] มติชน, 13 กันยายน 2521, หน้า 12

[30] มติชน, 15 กันยายน 2521, หน้า 12

[31] ไทยรัฐ, 17 กันยายน 2521, หน้า 16

[32] มติชน, 14 กันยายน 2521, หน้า 1.

[33] ไทยรัฐ, 16 กันยายน 2521, หน้า 16.

[34] อาทิตย์, 16 กันยายน 2521, หน้า 12.

[35] มติชน, 27 กันยายน 2521, หน้า 12.

[36] ไทยรัฐ, 20 กันยายน 2521, หน้า 16.

[37] ไทยรัฐ, 20 กันยายน 2521, หน้า 16.

[38] มติชน, 22 กันยายน 2521, หน้า 1.

[39] ไทยรัฐ, 19 กันยายน 2521, หน้า 16.

[40] ธงชัย วินิจจะกูล. นิติรัฐอภิสิทธิ์ และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย. (กรุงเทพฯ: เวย์แม็กกาซีน, 2563) หน้า 194-196

[41] นิธิ เอียวศรีวงศ์, รัฐลอยนวล, มติชนออนไลน์, 3 กันยายน 2561. https://www.matichon.co.th/article
/news_1112676.  (สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2563).  

[42] Haberkorn, T., In plain sight: Impunity and Human Rights in Thailand. (Madison: The University of Wisconsin press, 2018) p. 219-220.

X