ตร.ส่งสำนวนคดี #15ตุลาไปราชประสงค์ ให้อัยการ – 18 ผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมให้ไม่ฟ้องคดี

18 พ.ย. 63 ที่สำนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวัน พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี ได้นัดหมายผู้ถูกกล่าวหาในคดีการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 หรือ #15ตุลาไปราชประสงค์ เข้ารายงานตัวและส่งสำนวนให้กับอัยการ โดยแยกเป็น 4 คดี รวมผู้ต้องหา 18 ราย ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

สำหรับคดีแรก เป็นคดีของแกนนำนักกิจกรรม จำนวน 10 ราย ซึ่งเป็นกรณีที่ถูกศาลแขวงปทุมวันอนุมัติออกหมายจับภายหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. แต่ละคนทยอยถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาภายในบก.ตชด.ภาค 1 เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมบัติ ทองย้อย, ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, กรกช แสงเย็นพันธ์, สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ, วสันต์ กล่ำถาวร, ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ณัฐชนน พยัฆพันธ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล

คดีที่สอง เป็นคดีของผู้รับจ้างขับรถเครื่องเสียงและทีมงานรวม 6 ราย ซึ่งนำรถเครื่องเสียงไปในที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ต.ค. แต่ได้ถูกจับกุมไปยังบก.ตชด.ภาค 1 ในระหว่างการเดินทางกลับ ได้แก่ นัดธชัย ขุนแข็ง, พรเทพ คงอินทร์, ธนิษฐา กาวี, ศักดิ์ชัย ศรีเรือง, ธีรชัย จุติมงคลกุล และนฤชา จันทร์สุข

คดีที่สาม เป็นคดีของนายปัญญา (สงวนนามสกุล) ซึ่งเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แต่ระหว่างเข้าที่ชุมนุมได้มีการชูสามนิ้ว และตะโกน “ขี้ข้าเผด็จการ” ต่อหน้าชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เขาถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและนำตัวไปยังบก.ตชด.ภาค 1 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน

คดีที่สี่เป็นคดีของนายกวินทร์ พิชญภิรมย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุมในวันที่ 15 ต.ค. ด้วย ต่อมาเขาถูกพนักงานสอบสวนสน.ลุมพินีออกหมายเรียก และได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63

หลังพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้อัยการ ทนายความของผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการศาลแขวงปทุมวัน โดยขอให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งหมด เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ. 2544 และคดีเหล่านี้ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เป็นการชุมนุมโดยสงบสันติ ปราศจากอาวุธ ตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศ (อ่าน ประเด็นในการขอความเป็นธรรมเพิ่มเติม)

ทั้งในส่วนคดีของนายนัดธชัยและพวก ยังขอความเป็นธรรมด้วยว่าผู้ต้องหาทั้งหกคนไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เป็นพนักงานของบริษัทซึ่งขนส่งเครื่องเสียงกลับบริษัท และไม่ได้ร่วมกระทำการใดๆ กับผู้ชุมนุมหรือแกนนำ

ทางอัยการศาลแขวงปทุมวันได้รับสำนวนคดีไว้ แต่ในส่วนคดีของนายนัดธชัยและพวก รวม 6 คน ได้มีการคืนสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนเพิ่มเติม ส่วนอีกสามคดี อัยการจะได้พิจารณาสำนวนต่อไป โดยนัดหมายผู้ต้องหาเพื่อฟังคำสั่งในคดีในวันที่ 21 ธ.ค. 63 เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้การชุมนุมเมื่อเย็นวันที่ 15 ต.ค. 63 ที่แยกราชประสงค์ เกิดขึ้นภายหลังการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าตรู่ของวันดังกล่าว พร้อมกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่มีการจับกุมตัวแกนนำพร้อมกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการชุมนุมที่ราชประสงค์ นอกจากผู้ถูกดำเนินคดี 18 ราย ใน 4 คดีดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินียังทยอยมีการแจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น กรณีของอรรถพล บัวพัฒน์ และสุวรรณา ตาลเหล็ก ซึ่งคดียังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน และยังมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติมกรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 2 ราย ได้แก่ ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ “มิน” แกนนำจากกลุ่มนักเรียนเลว และภูมิ นักเรียนอายุ 16 ปี ซึ่งเพิ่งได้รับหมายเรียกเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

.

X