3 ปชช.-น.ศ. ขอความเป็นธรรมให้อัยการไม่ฟ้องคดีชุมนุมสามย่านมิตรทาวน์ ชี้ใช้กม.ปิดปาก

วานนี้ (18 พ.ย. 63) ที่สำนักงานอัยการศาลแขวง 6 (ปทุมวัน)  “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, “เฟลอร์” สิรินทร์ มุ่งเจริญ, และอ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ มารายงานตัวตามนัด โดยสองรายหลังเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะพนักงานสอบสวนจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันส่งสำนวนการสอบสวนให้กับพนักงานอัยการ 

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ทั้งสามคนถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 และ 11 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ในระหว่างที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จากการเข้าร่วมการชุมนุมที่หน้าห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ จัดโดยกลุ่ม “Spring Movement” เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 หรือ #ม็อบ17ตุลาทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมให้กับพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันในวันที่ 13 พ.ย. แล้ว

ทนายและนศ.ขณะรับทราบข้อกล่าวหาวันที่ 27 ต.ค. 63

>>  3น.ศ.-นักกิจกรรมรับทราบข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เหตุชุมนุมหน้าสามย่านมิตรทาวน์

ในนัดนี้ นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 3 คนได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมสั่งไม่ฟ้องคดีแก่พนักงานอัยการแขวงปทุมวัน โดยให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนปรับใช้ข้อกฎหมายไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและให้เหตุผลประกอบ ดังนี้

  1. พฤติการณ์การของผู้ต้องหาตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต เป็นการชุมนุมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กระทําโดยสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งยังเป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์ของผู้ต้องหาถือเป็นการกระทําอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือก่อเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ดังนั้น การกระทําของผู้ต้องหาจึงไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
  2. การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 04.00 น. และการออกข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 “ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ประกาศ ข้อกําหนด และคําสั่งที่ออกมา ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 จะเป็นอํานาจของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้ดุลพินิจภายใต้ข้อเท็จจริงและถูกต้อง มิใช่ใช้อํานาจและดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ

    จากสถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมสาธารณะ การเดินทาง การติดต่อสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลอันมาก อันเป็นการชุมนุมที่สุจริตโดยสงบปราศจากอาวุธ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและหลักสากลตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมดังกล่าวมีผู้ร่วมชุมนุมส่วนมากเป็นเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธ ไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์จลาจลหรือเป็นภยันตรายที่กระทบต่อชีวิต หรือทรัพย์สินของประชาชนส่วนรวม ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและออกกำหนดข้อห้ามชุมนุมดังกล่าวเนื่องจากการจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนต้องกระทําตามหลักความได้สัดส่วน (Principle of Proportionality) ซึ่งรัฐจําเป็นที่จะต้องวางมาตรการข้อจำกัดนั้นอย่างระมัดระวัง เพื่อมิให้มาตรการนั้นๆ ลุกล้ำจนกระทบต่อสาระสําคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกำหนดลักษณะการกระทําผิดที่กว้างเกินไปและเป็นการทั่วไปเกินไป ถือว่าขัดต่อหลักความจําเป็นและความได้สัดส่วน

    นอกจากนี้ยังมีการใช้กําลังสลายการชุมนุม การประกาศปิดสถานที่หรืออาคารสถานีของระบบขนส่ง มวลชนหรืออาคารอื่นๆ การจับกุมควบคุมตัวประชาชน สื่อมวลชน บุคลากรทางการแพทย์ เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาแบบสุ่มหรือโดยไม่มีเหตุโดยชอบด้วยกฎหมาย การปิดทางสัญจรของประชาชนและของ รถพยาบาล การห้ามไม่ให้ใช้วิทยุ โทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในการเสนอ ข่าวสาร ภาพ เสียง หรือข้อเท็จจริงต่างๆ การสั่งให้ระงับการออกอากาศหรือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ สํานักข่าว ทําให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง

    ด้วยเหตุดังกล่าวการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และการออกข้อกําหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือข้อกําหนดและประกาศอื่นๆ จึงเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

  3. การดำเนินคดีนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะอาศัยกฎหมายตามข้อกล่าวหาดังกล่าวซึ่งมีโทษอาญาทั้งโทษจําคุกและโทษปรับที่รุนแรงเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจํากัดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงส่งผลให้การแจ้งความดำเนินคดีนี้เป็นไปโดยมีเจตนาหวังจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นเครื่องกําบังตน เพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมซึ่งแสดงออกโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อหวังผลในการปิดปาก หรือเรียกการปิดปากชนิดนี้ว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation (SLAPP)การใช้วิธีการเช่นนี้ทําให้ผู้ต้องหาขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งถือเป็นคุณค่าสําคัญของระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน เพื่อไม่ให้กล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวประเด็นปัญหา สาธารณะต่างๆ อีก อันเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการแจ้งความดําเนินคดีกับผู้ต้องหาโดยไม่สุจริต
  4. การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนหรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ. 2554 เนื่องจากการกล่าวหาและดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นการปิดกั้นการใช้เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั้งขณะเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรือความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่าง โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ได้มีประกาศยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าการใช้เสรีภาพของผู้ต้องหาไม่ได้กระทบต่อความไม่สงบหรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใดด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นการฟ้องคดีผู้ต้องหาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติหรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ. 2544 เนื่องจากเป็นการใช้ สิทธิเสรีภาพ โดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ ตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพันธกรณีระหว่างประเทศ

หลังจากรายงานตัวและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมแล้ว พนักงานอัยการแขวงปทุมวันจึงนัดผู้ต้องหาทั้งสามคน ฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ต่อไป ในวันที่ 21 ธ.ค. 63 เวลา 10.00 น.

X