4 สิ่งควรรู้ในคดี “วันเฉลิม” ก่อนสิตานันเข้าพบผู้พิพากษาไต่สวนที่กรุงพนมเปญ

เกือบ 6 เดือนที่ ‘ต้าร์’ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ได้หายตัวไปใกล้ที่พักชื่อ Mekong Garden Apartment ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในย่าน Chroy Changva ที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของต้าร์ เดินทางถึงกรุงพนมเปญแล้ว หลังรอคอยเกือบครึ่งปี ท่ามกลางการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ของทางการกัมพูชา เธอเตรียมเข้าให้ข้อมูลกับผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) เพื่อยืนยันถึงเหตุการณ์การถูกอุ้มหายที่เกิดขึ้นจริงในกัมพูชา หลักฐานที่กลุ่มคนร้ายมีอาวุธดำเนินการ และความพยายามอย่างถึงที่สุดของครอบครัวในการตามหาตัววันเฉลิมต่อกลไกภายในประเทศและระหว่างประเทศ 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทำความเข้าใจใน 4 ประเด็นสำคัญ ก่อนสิตานันจะร่วมกระบวนการแสวงหาความยุติธรรมในกัมพูชา

 

1. ผู้พิพากษาออกหมายเรียกครั้งที่สอง เพื่อไปให้ข้อมูลคดีในวันที่ 8 ธ.ค. 63

สิตานันได้รับหมายเรียกครั้งที่ 2 จากผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) ประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ ลงวันที่ 27 ต.ค. 2563 ให้เดินทางเข้าพบในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 เวลา 9.00 น. ที่ชั้น 3 ของศาลแขวงประจำกรุงพนมเปญ เพื่อที่ผู้พิพากษาไต่สวนจะได้ดำเนินการสอบสวนในทางคดีอาญา 

หมายเรียกดังกล่าวเขียนเป็นภาษากัมพูชา ระบุว่า “ให้เดินทางไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมตัว หรือการกักขังโดยผิดกฎหมาย การครอบครองอาวุธที่เกิดขึ้นในบริเวณ Mekong Garden Apartment ที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำแม่โขง อำเภอ Chroy Changva กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา”   

หมายเรียกฉบับนี้เป็นหนังสืออย่างเป็นทางการฉบับที่ 2 ที่ส่งถึงสิตานัน หลังจากผู้พิพากษาไต่สวนเคยออกหมายเรียกมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 ให้สิตานันเข้าพบในวันที่ 19 ต.ค. 2563 แต่เนื่องจากการได้รับหมายในครั้งแรกมีระยะเวลากระชั้นชิดกับวันที่ต้องเข้าพบผู้พิพากษา และเมื่อนับรวมระยะเวลาเพื่อเฝ้าระวังโควิด-19 แล้ว จะทำให้เลยระยะเวลาที่ผู้พิพากษากำหนดไว้ให้เข้าพบ 

อีกทั้ง การประสานงานเรื่องเอกสารการเดินทางไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาที่จำกัด จึงทำให้สิตานันไม่สามารถเดินทางไปกรุงพนมเปญในระยะเวลาที่กำหนดตามหมายเรียกครั้งแรกได้

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2563 สิตานันได้รับการติดต่อผ่านทางทนายความกัมพูชาว่า พนักงานอัยการประจำศาลแขวงพนมเปญ (Royal Prosecutor) ต้องการให้สิตานันเข้าให้การในชั้นการสอบสวนของอัยการเช่นกัน หลังจากสิตานันได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีกับกลุ่มคนติดอาวุธที่ลักพาตัวน้องชายไป แต่เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เป็นไปอย่างเข้มข้นในเดือนกรกฎาคม การเดินทางในช่วงดังกล่าวจึงเกิดขึ้นได้ยากลำบากมาก 

ส่วนข้อเสนอที่ให้ทางอัยการของทั้งสองประเทศร่วมมือทำการประชุมทางไกล (Video conference) ให้สิตานันได้ให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานอัยการ ผ่านความร่วมมือตามสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญาของภูมิภาคอาเซียน (Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Treaty: MLAT) ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากอัยการของกัมพูชา   

>> พี่สาววันเฉลิมพบ กต. หารือเดินทางไปกัมพูชาหลังได้รับหมายเรียกจากศาลแขวงพนมเปญ 

 

2. กัมพูชาใช้ระบบไต่สวนในคดีอาญา การให้ข้อมูลกับผู้พิพากษาไต่สวนยังไม่ใช่ขั้นตอนการฟ้องคดี

ระบบการตั้งคดีอาญาของประเทศกัมพูชาใช้ “ระบบไต่สวน” ซึ่งแตกต่างจากของประเทศไทยที่ใช้ “ระบบกล่าวหา” การดำเนินคดีอาญาในประเทศกัมพูชาแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ก่อนที่จะส่งถึงศาลเพื่อให้พิจารณาคดี กล่าวคือ 

 1) เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น และได้รับหนังสือร้องทุกข์จากผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ (Police Officer) ในพื้นที่เกิดเหตุนั้นๆ จะทำการสืบสวน โดยคำแนะนำของพนักงานอัยการ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนเสร็จแล้วจะส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการประจำศาลในพื้นที่ 

 2) พนักงานอัยการประจำศาลในพื้นที่ (Royal Prosecutor) จะทำการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นอย่างเพียงพอและสรุปสำนวนเบื้องต้น จากนั้น พนักงานอัยการจะส่งสรุปสำนวนเบื้องต้นนี้ต่อไปยังผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) เมื่อผู้พิพากษาไต่สวนได้รับเรื่องจากอัยการแล้ว ก็จะทำหน้าที่สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอีกครั้ง รวมถึงสอบสวนความเป็นไปได้ว่าใครคือผู้กระทำความผิด 

3) เมื่อผู้พิพากษาไต่สวนสอบสวนเสร็จสิ้น ผู้พิพากษาไต่สวนจะส่งสำนวนการสอบสวนของตนกลับไปยังพนักงานอัยการประจำศาลในพื้นที่ที่รับผิดชอบสำนวนนั้น หากพนักงานอัยการที่รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนยังไม่เพียงพอ จะส่งสำนวนกลับมาให้ผู้พิพากษาไต่สวนสอบสวนเพิ่มก็ได้ หรือหากพนักงานอัยการเห็นว่าการสอบสวนเพียงพอแล้ว อัยการจะส่งสรุปสำนวนสุดท้าย พร้อมความเห็นว่าใครคือผู้กระทำความผิดให้ผู้พิพากษาพิจารณาคดี (Trial Judge) ต่อไป ในขั้นตอนนี้จึงจะถือเป็นการส่งฟ้องคดีอาญา   

การเดินทางมาพนมเปญของสิตานันในเดือนพฤศจิกายนนี้ อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) ประจำศาลแขวงพนมเปญ ซึ่งยังเป็นขั้นตอนก่อนการฟ้องคดี แต่ก็นับเป็นความก้าวหน้าตามกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชาหลังจากที่สิตานันผู้รับมอบอำนาจจากมารดาของวันเฉลิมส่งหนังสือร้องทุกข์ถึงพนักงานอัยการประจำศาลแขวงพนมเปญตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม

 

3. กลไกสิทธิมนุษยชน UN ติดตามสถานการณ์คดีวันเฉลิมใกล้ชิด  ก่อนการช่วยเหลือบางส่วนของรัฐจะมาถึง 

ท้ายหนังสือตอบกลับของรัฐบาลกัมพูชาถึงคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2563 ให้คำแนะนำว่า กระทรวงมหาดไทยกัมพูชาขอให้เจ้าหน้าที่ในประเทศและนานาชาติ รวมถึงพยานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่จะสามารถช่วยทางการกัมพูชาในการสอบสวน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องไม่ทำการใดที่อาจส่งผลเสียต่อการสืบสวนสวบสวนอย่างเป็นทางการของกัมพูชา 

จนต่อมาเมื่อปลายเดือนตุลาคมจึงมีความเคลื่อนไหวให้สิตานันเข้าให้ปากคำกับผู้พิพากษาไต่สวนประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ 

>> เปิดหนังสือไทย – กัมพูชา ตอบกลับกลไกยูเอ็น ยังไร้ร่องรอยชะตากรรมวันเฉลิม 

>> กัมพูชาส่งหนังสือตอบยูเอ็น วันเฉลิมอยู่ในกัมพูชาถึงสิ้นปี 2560 และไม่มีเบาะแสการหายตัวไป

ส่วนในหนังสือที่รัฐบาลไทยตอบกลับถึงคณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ 4 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ว่าได้ติดต่อใกล้ชิดกับครอบครัวของวันเฉลิมเพื่อรายงานความคืบหน้าการสอบสวนจากทางการกัมพูชา 

ล่าสุดระหว่างปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ทางกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้ประสานให้กระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาและสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยออก “วีซ่าอัธยาศัยไมตรี” (วีซ่าประเภท C) ให้สิตานันและทีมทนายความได้เดินทางเข้ากัมพูชา แม้จะมีระยะเวลากระชั้นชิดในการออกวีซ่าให้ทันกับเที่ยวบินเช่าเหมาลำของเอกชนจากไทยไปยังพนมเปญที่มีเพียงเดือนละครั้ง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19   

การดำเนินการของทั้งสองรัฐบาล ในเรื่องการสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และความร่วมมือเพื่อประสานการอำนวยความสะดวกการเดินทางมาขึ้นศาลที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นการทำให้การสอบสวนกรณีการบังคับให้สูญหายวันเฉลิมคืบหน้าไปอีกขั้นตอนหนึ่ง  

ท่ามกลางความพยายามของครอบครัววันเฉลิม ที่ลงมือติดตามผู้สูญหายมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยสิตานันและครอบครัวได้ร้องเรียนต่อกลไกรัฐสภา กระบวนการยุติธรรม และกลไกสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและระหว่างประเทศ จนสุดท้ายก็สามารถตั้งเรื่องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในกัมพูชาได้ในขั้นต้น 

การพูดคุยกับวันเฉลิมเป็นคนสุดท้ายในวินาทีที่เขาถูกทำให้หายไป เป็นแรงผลักดันให้สิตานันในการตามหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของวันเฉลิมให้ปรากฏ 

 >> ครอบครัววันเฉลิม ร้องเรียนต่อทางการกัมพูชาสำเร็จแล้ววันนี้ 

>> พี่วันเฉลิม-แม่สยาม-ภรรยาสุรชัย จี้ 3 หน่วยงานรัฐตามหา “วันเฉลิม” และผู้ลี้ภัยที่สูญหาย 

>> อีกขั้นของการตามหาความยุติธรรม: พี่สาว ‘ต้าร์’ วันเฉลิมตั้งเรื่องดำเนินคดี ต่อ DSI 

>> ครอบครัวยื่นหนังสือ กต. – กมธ. เร่งติดตาม – สืบสวน หลัง ‘วันเฉลิม’ ถูกอุ้มหายหน้าที่พัก 5 วันแล้ว 

 

4. ทางการไทยมีการสืบสวนทางลับที่กัมพูชา แต่ระบุว่าไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์   

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการแถลงความคืบหน้าสถานการณ์ชุมนุมและการดำเนินคดีผู้ชุมนุมช่วงที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตอบคำถามระบุว่าได้รับทราบว่าทางการไทยมีผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำที่กัมพูชา ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยตลอด เพื่อให้การข่าวที่ทางการไทยจะต้องรู้และมีประโยชน์กับผู้เสียหาย  ส่วนภายในประเทศไทยมีการสอบสวนและหาข่าวมาตลอด จึงพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

พ.ต.อ.กฤษณะ ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงรายละเอียดที่ได้รับคืออะไร ว่าเป็นเพียงการโยนคำถามถึงความร่วมมือไปเท่านั้น แต่ไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากนัก และย้ำว่าทางตำรวจได้ดำเนินการในมิติที่ต้องดำเนินการไปแล้ว ล่าสุดมีรายงานว่าทางญาติจะไปยื่นเรื่องต่อศาลให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กัมพูชา และปิดท้ายการตอบคำถามเกี่ยวกับวันเฉลิมว่า เรื่องนี้มีการแลกเปลี่ยนทางด้านการข่าวอยู่แล้ว  

>> ทบทวน “ความผิด” ไม่รายงานตัว คสช: แรงผลักดันสู่การลี้ภัย 6 ปี ของวันเฉลิม

>> อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน

สำหรับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 38 ปี เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี เคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในประเด็นด้านเอชไอวีและความหลากหลายทางเพศมาก่อน หลังรัฐประหาร 2557 เขาต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับ คสช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557  ภายหลังเขายังถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ซึ่งโพสต์เสียดสีการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ในช่วงระหว่างคณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจ

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าวันเฉลิมถูกออกหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานกรมพระธรรมนูญทหารบก และอดีตฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้ออกมายืนยันกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ว่า คสช.ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายวันเฉลิมในฐานความผิดข้อหานี้ ดังที่ปรากฏในข่าว

 

X