เปิดหนังสือไทย – กัมพูชา ตอบกลับกลไกยูเอ็น ยังไร้ร่องรอยชะตากรรมวันเฉลิม

85 วัน หลังการหายตัวไปของ “ต้าร์” วันเฉลิม ทางการไทยและกัมพูชาทำหนังสือตอบกลไกสหประชาชาติ ไล่เรียงการดำเนินการและผลการสอบสวน ด้านกัมพูชาปฏิเสธการมีอยู่ของวันเฉลิมและการลักพาตัวที่เกิดขึ้นในกัมพูชา แต่ให้คำมั่นตามหาชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิมต่อ ขอนานาชาติไม่ทำการใดที่อาจส่งผลเสียต่อการสืบสวนสอบสวนของกัมพูชา

 

 

หลังครอบครัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ออกมาเปิดเผยถึงการถูกลักพาตัวไปของเขาหน้าคอนโดที่พักในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 ทั้งคนไทยและสังคมนานาชาติได้แสดงความกังวลอย่างกว้างขวางการสูญหายไปโดยการบังคับที่เกิดขึ้น ครอบครัวของวันเฉลิมได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) องค์การสหประชาชาติ ซึ่งทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งหนังสือด่วนขอให้กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหายทำการสืบสวนสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อชะตากรรมของวันเฉลิม ในขณะที่กลไกคณะผู้เชี่ยวชาญหลายด้านขององค์การสหประชาชาติเมื่อทราบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็ดำเนินการส่งจดหมายร่วมสอบถามรัฐบาลไทยเช่นกัน โดยหนังสือของสหประชาชาติส่งถึงรัฐบาลกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 63 และส่งถึงรัฐบาลไทยวันที่ 12 มิ.ย. 63

 

10 ส.ค. 63 รัฐบาลไทยส่งหนังสือตอบกลับถึงคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย คณะทำงานว่าด้วยการสูญหายโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมอย่างรวบรัดและโดยพลการ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ความโดยสรุปว่ารัฐบาลไทยทราบเรื่องการหายตัวไปของวันเฉลิมจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน และจากการติดตามความคืบหน้าในเหตุการณ์มีข้อเท็จจริงดังนี้

  • วันที่ 5 มิ.ย. 63 หลังจากทราบเรื่อง สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญติดต่อรัฐบาลกัมพูชาทันที เพื่อประสานความร่วมมืออย่างเป็นทางการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวต่าง ๆ และนำส่งข้อมูลที่อาจเปิดเผยบริบทที่ถูกต้อง เกี่ยวกับกรณีนี้
  • วันที่ 9 มิ.ย. 63 ครอบครัวของวันเฉลิมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้กระทรวงฯ ติดตามการสอบสวนการลักพาตัวที่เกิดขึ้น และนำส่งรายละเอียดยานพาหนะที่ครอบครัวเชื่อว่าเป็นพาหนะที่ลักพาตัววันเฉลิมไป สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญจึงส่งต่อข้อมูลนี้ให้กับทางการกัมพูชาเพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้
  • รัฐบาลไทยติดต่อเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อพิจารณาให้ความร่วมมือตลอดการสอบสวนที่จะเกิดขึ้น และยังได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางการกัมพูชาเสาะหาถิ่นที่อยู่ของวันเฉลิม ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้รับแจ้งจากรัฐบาลกัมพูชาว่า การสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิมยังคงเดินหน้าต่อไป
  • วันที่ 17 มิ.ย. 63 คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) และองค์กร Human Rights Watch เข้าให้ข้อมูลกับครอบครัวของวันเฉลิม หนึ่งในข้อสรุปที่ทางการไทยสามารถให้ความช่วยเหลือต่อกรณีนี้ คือ ข้อแนะนำของอัยการสูงสุดซึ่งแนะนำให้ใช้สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญาของภูมิภาคอาเซียน (Mutual Legal Assistance in Criminal Matters Treaty: ASEAN MLAT) เพื่อประสานความร่วมมือทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างไทย-กัมพูชา และการตั้งเรื่องการดำเนินคดีอาญาที่กระทำนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายอาญา
  • วันที่ 23 มิ.ย. 63 ครอบครัววันเฉลิมยื่นหนังสือร้องทุกข์และร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดและ “คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ” โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการ ดังนี้
    • สำนักงานอัยการสูงสุด ฝ่ายงานสอบสวน เริ่มรวบรวมข้อมูลและพิจารณาว่ากรณีวันเฉลิมสามารถตั้งเป็นคดีกระทำความผิดต่อคนไทยนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 20 และมาตรา 8 ของประมวลกฎหมายอาญา ได้หรือไม่
    • คณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ ซึ่งมีผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพเป็นประธาน ภายใต้คณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ประสานงานถึงองค์การตำรวจสากล (Interpol) เกี่ยวกับกรณีนี้เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 63 และประสานให้มีการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) หนึ่งในสมาชิกครอบครัวของวันเฉลิม เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 63 ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อการสอบสวนได้
    • กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ประสานความร่วมมือไปถึงสำนักงานกองทุนยุติธรรมเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือหาตัวแทนทางกฎหมายและทุนสนับสนุนในการต่อสู้คดี
  • เจ้าหน้าที่รัฐไทยได้ติดต่อใกล้ชิดกับครอบครัวของวันเฉลิมเพื่อรายงานความคืบหน้าของการสอบสวน ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 12 มิ.ย. 63 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งครอบครัววันเฉลิมเรื่องข้อมูลที่ได้รับจากทางการกัมพูชา และวันที่ 22 ก.ค. 63 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แจ้งความคืบหน้าการประชุมและมติของคณะอนุกรรมการส่วนคัดกรองเรื่องร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับสาบสูญ

 

 

12 ส.ค. 63 รัฐบาลกัมพูชาทำหนังสือเพิ่มเติมตอบกลับถึงคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) สหประชาชาติ หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้ทำหนังสือตอบกลับแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 63

โดยหนังสือฉบับใหม่ของเดือนสิงหาคมนี้ มีสาระสำคัญคือ รัฐบาลกัมพูชาอ้างว่าได้รับข้อมูลพื้นฐานการลักพาตัววันเฉลิม และป้ายทะเบียนรถ ลักษณะรถ จากแหล่งข้อมูลที่ไม่ทราบที่มา แต่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการทำงานของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา และคณะกรรมการกรมตำรวจและตรวจคนเข้าเมือง แห่งกรุงพนมเปญ ได้เปิดการสอบสวนโดยทันที โดยมีความคืบหน้าการสอบสวน ดังนี้

  • ตามเอกสารเข้าเมือง พบว่า วันเฉลิมเดินทางเข้ากัมพูชาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 58 ผ่านสนามบินนานาชาติพนมเปญ และได้รับการต่ออายุวีซ่าเพื่อพำนักในกัมพูชาชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 หลังจากวีซ่านี้หมดอายุลง กัมพูชาไม่เคยได้รับคำขอต่ออายุวีซ่าจากวันเฉลิมอีก
  • เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย กัมพูชา ดำเนินการสอบสวนพื้นที่ที่อ้างว่าเป็นที่เกิดเหตุและที่อยู่ของวันเฉลิม ผลการตรวจสอบพบว่า วันเฉลิมไม่มีรายชื่อเป็นผู้พักอาศัยในคอนโดที่อ้าง ขณะที่ทางการก็พยายามตามหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่อ้างว่าเป็นที่เกิดเหตุก็ไม่พบข้อสรุปว่ามีเหตุดังกล่าว
  • ส่วนรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮแลนด์เดอร์ สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียนรถ 2X-2307 นั้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่าเป็นพาหนะที่ได้จดทะเบียนไว้กับกระทรวงขนส่งสาธารณะและคมนาคม
  • จากการสอบข้อเท็จจริงพยานบุคคลจำนวน 3 คน ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่อ้างว่าเป็นที่เกิดเหตุ พวกเขายืนยันว่าไม่มีการลักพาตัวในบริเวณดังกล่าว

รัฐบาลกัมพูชายังแจ้งต่อสหประชาชาติด้วยว่า ทางการกัมพูชาจะทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเทศและนอกประเทศโดยการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของทางการไทย เพื่อตามหาความจริงว่า มีการลักพาตัวเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

ในท้ายหนังสือตอบกลับ กระทรวงมหาดไทย กัมพูชา ขอให้เจ้าหน้าที่ในประเทศและนานาชาติ รวมถึงพยานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่จะสามารถช่วยทางการกัมพูชาในการสอบสวน ทั้งนี้ ทุกฝ่ายต้องไม่ทำการใดที่อาจส่งผลเสียต่อการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นทางการของกัมพูชา

 

 

 

สำหรับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 38 ปี เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี เคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนในประเด็นด้านเอชไอวีและความหลากหลายทางเพศมาก่อน หลังรัฐประหาร 2557 เขาต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เพราะปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับ คสช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 44/2557  ภายหลังเขายังถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ซึ่งโพสต์เสียดสีการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ในช่วงระหว่างคณะรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจ (ดูในรายงานข่าว)

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่าวันเฉลิมถูกออกหมายจับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานกรมพระธรรมนูญทหารบก และอดีตฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้ออกมายืนยันกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ว่า คสช.ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายวันเฉลิมในฐานความผิดข้างต้น ดังที่ปรากฏในข่าวทั่วไปช่วงก่อนหน้านี้

 

ขอบคุณภาพประจำเรื่องจาก Ivana

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน

ผู้ถูกกล่าวหาเป็นแอดมิน ‘กูต้องได้ 100 ล้านฯ’ ถูกอุ้มหาย ขณะคดีแชร์เพจถึงที่สุด ศาลยกฟ้อง

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ในวันที่ความรู้สึกยังติดค้าง เราทำได้แค่มุ่งหน้าเดินต่อ

ครอบครัวยื่นหนังสือ กต.-กมธ. เร่งติดตาม-สืบสวน หลัง ‘วันเฉลิม’ ถูกอุ้มหายหน้าที่พัก 5 วันแล้ว

พี่วันเฉลิม-แม่สยาม-ภรรยาสุรชัย จี้ 3 หน่วยงานรัฐตามหา ‘วันเฉลิม’ และผู้ลี้ภัยที่สูญหาย

อีกขั้นของการตามหาความยุติธรรม: พี่สาว ‘ต้าร์’ วันเฉลิม ตั้งเรื่องดำเนินคดี ต่อ DSI

กัมพูชาส่งหนังสือตอบยูเอ็น วันเฉลิมอยู่ในกัมพูชาถึงสิ้นปี 2560 และไม่มีเบาะแสการหายตัวไป

ครอบครัววันเฉลิม ร้องเรียนต่อทางการกัมพูชาสำเร็จแล้ว วันนี้

X