ตัวแทนประยุทธ์แจ้ง “หมิ่นประมาท” ปชช.เหตุโพสต์วิจารณ์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก

วันนี้ (26 ต.ค. 63) เวลา 12.00 น.​ ที่​ สน.นางเลิ้ง กรสพร (สงวนนามสกุล) เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยโฆษณา” เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมาจากกรสพรโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในกลุ่มเฟซบุ๊กสาธารณะชื่อ “คณะอนาคตใหม่ Future Forward (แนวร่วม)” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ต่อมา วันที่ 8 ต.ค. 63 พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ออกหมายเรียกข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” และ “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ให้กรสพรมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 ต.ค. 63  โดยผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ นายอภิวัฒน์ ขันทอง ประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค (คตส.) 

เมื่อเดือนที่ผ่านมา (ก.ย. 63) นายอภิวัฒน์ ยังเป็นผู้รับมอบอำนาจจากธัญญา จันทร์โอชา และนิฏฐา จันทร์โอชา บุตรสาวของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามเกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์​ และการใช้งบประมาณจากเงินภาษีของประชาชน โดยใช้แฮชแท็ก #ตามหาลูกประยุทธ์

>> 7 ผู้โพสต์ #ตามหาลูกประยุทธ์ เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา”

ในวันนี้ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รองผกก.(สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหากรสพรว่า “หมิ่นประมาทโดยโฆษณา” โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า ข้อความที่กรสพรเผยแพร่นั้นถือเป็นการใส่ความนายกรัฐมนตรีว่า เป็นคนไม่ดี คนเลว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความเสียหาย 

กรสพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 9 พ.ย. 63 เวลา 09.00 น.

ภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากประชาไท

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญของประเทศไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคี ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารและดำเนินนโยบายต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน จึงเป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนย่อมวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบได้ภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย 

X