คำต่อคำ: คำแถลงอานนท์แถลงในวันไต่สวนถอนประกัน กับข้อเรียกร้องให้ศาลไม่รับรองรัฐประหารที่ศาลไม่ได้จด

เช้าวันที่ 3 กันยายน 2563 9.00 น. อานนท์ นำภา นักกิจกรรมและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เดินทางไปศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ในนัดไต่สวนเพิกถอนประกันของตนเอง วันนั้น เขาใส่เสื้อยืดสีขาว มีลายภาพวาดหลากสี ที่เขาบอกภายหลังว่าเป็นรูปที่ลูกสาววาดให้

บรรยากาศบริเวณศาลอาญาในวันนั้นเป็นไปอย่างเคร่งเครียด ประตูทางเข้าศาลมีการนำรั้วเหล็กมากั้น และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่นับสิบนาย อีกทั้งมีการกั้นรั้วและขอดูบัตรประชาชน และจดชื่อ จดเลขบัตร และถามถึงตำแหน่ง กิจธุระ ของประชาชนที่จะเข้าไปในอาคารศาลอย่างเข้มงวด ยังไม่นับว่าจากที่ปกติด้านในศาลมีการตรวจกระเป๋า และสแกนตรวจบัตรประชาชนอยู่แล้ว

ท่ามกลางการตรวจสอบอย่างเข้มงวด แม้กระทั่งบริเวณชั้น 7 ศาลอาญา หน้าห้องพิจารณาคดีก็มีเจ้าหน้าที่ศาล รปภ.ศาล นำรั้วเหล็กเหลืองมากั้นตรงโถงทางเดินอีกครั้ง และตรวจสอบคนเข้าออก มีการจดรายชื่อผู้จะเข้าห้องพิจารณาทุกคน รวมทั้งทนายความ ผู้ช่วยทนายความที่ต้องได้รับการยืนยันจากทนายความ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ Trial Watch ที่แม้จะส่งหนังสือขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์มาก่อนหน้านี้ แต่ก็ตำรวจศาลก็ยังยืนยันให้นั่งรอได้อยู่เพียงด้านนอกเท่านั้น

หลังจากกว่า 1 ชั่วโมงของการตรวจสอบรายชื่อและจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่อ้างถึงการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เข้าห้องพิจารณาคดีได้ไม่เกิน 10 คน และต้องนำโทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงกระเป๋าสะพายฝากไปกับเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าห้อง

เวลา 10.00 น. อานนท์ นำภา รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจึงได้เข้าไปในห้องพิจารณาคดี 714 และหนึ่งเก้าอี้ยาว นั่งได้เพียง 3 คนเท่านั้น ในขณะที่ในห้องก็มีตำรวจศาล ตำรวจในเครื่องแบบและตำรววจนอกเครื่องแบบอย่างละ 1 นาย เข้ามานั่งในห้องด้วยเช่นกัน 

10.05  องค์คณะผู้พิพากษาได้แก่ นายจุมพล รัตธนภาส นายชัยชะรัตน์ ชูแก้ว และนางสาววีร์ธิชา ตั้งรัตนาวลี และโดยนายจุมพล ผู้อ่านและบันทึก อ่านประเด็นที่อานนท์​ นำภา​ ผู้ต้องหายื่นคำร้องคัดค้านการขอถอนประกัน​ใน​ 6 ประเด็น​

พร้อมทั้งชี้แจงว่า​ พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว​ ฉบับวันที่​ 13​ ส.ค. 63  และได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติม​ในวันนี้​ เป็นเอกสารกรณีกิจกรรมชุมนุมวันที่​ 9​ และ​ 10 ส.ค. 63 และอ้างบันทึกคำให้การในวันสอบสวน คณะพนักงานสอบสวนของสภ.คลองหลวง​ เกี่ยวกับพฤติการณ์ในการจับกุมผู้ต้องหา​ ตามหมายจับที่​ 325/2563 ลงวันที่​ 14​ ส.ค. 63 แนบบันทึกคำให้การ​ สำเนาบันทึกประจำวัน​ และคำปราศรัยของภาณุพงศ์

.

“ไม่ได้กล่าวว่าที่สิ่งอานนท์ปราศรัยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกล่าวก้าวล่วง”

พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ อายุ 52 ปี ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว และยื่นคำร้องเพิ่มเติมในวันนี้  อ้างเหตุที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวเนื่องจากอานนท์ นำภา ได้กระทำซ้ำในเงื่อนไขเดิม 

ตนได้รับรายงานจากตำรวจภูธรภาค 5 และกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ว่าอานนท์ได้ร่วมชุมนุมและปราศรัยในหัวข้อ “การขยายอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์​ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย” ที่ประตูท่าแพ และลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ตามลำดับ 

ส่วนเอกสารประกอบคำร้อง เป็นเอกสารที่ถอดเทปการปราศรัยของอานนท์ นำภา ที่งานชุมนุมทั้งสองแห่ง  โดยเอกสารทั้งสองฉบับนี้ พ.ต.ท.หญิงจิตติมาไม่ได้มีส่วนในการถอดเทป ไม่ได้ฟังการปราศรัย และไม่ทราบ ว่าคำถอดเทปปราศัยที่ยื่นนั้นตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ อีกครั้งยังไม่ได้ส่งไฟล์คลิปเสียงต่อศาล และไม่เคยดูคลิปการปราศรัย พยานยืนยันได้แค่ว่า พยานได้รับรายงานมาจากตำรวจภูธรภาค 5 และสภ.คลองหลวงเท่านั้น “เป็นการทำไปตามหน้าที่ของพนักงานสอบสวน” และไม่สามารถตอบได้ว่าคำกล่าวของอานนท์ผิดไปจากข้อเท็จจริงอย่างไรบ้าง แต่เป็นสิ่งที่ปรกติชนไม่พูดกัน 

เมื่อทนายฝ่ายผู้ต้องหา ถามว่าข้อความดังกล่าวฝ่าฝืนอะไรในรัฐธรรมนูญ พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ตอบว่าไม่ได้ระบุว่าข้อความดังกล่าวฝ่าฝืน แต่เป็นการกล่าวก้าวล่วง เป็นการกล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยอมรับว่า การปราศรัยของอานนท์ครั้งนี้ไม่มีการเรียกร้องให้ใช้กำลังความรุนแรง หรือกระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายใดเลย อีกทั้ง อานนท์ก็เหมือนประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เสรีภาพ แต่เมื่ออานนท์มาอยู่ในอำนาจฝากขังโดยมีเงื่อนไข คณะพนักงานสอบสวนก็ต้องทำตามหน้าที่ 

ระหว่างที่ผู้ร้องขึ้นเบิกความนั้น เวลา 10.20 น. มีโทรศัพท์ดังขึ้น เจ้าหน้าที่ศาลเป็นผู้รับ ก่อนยื่นโทรศัพท์ให้หนึ่งในผู้พิพากษาองค์คณะฯ พูดคุย และเมื่อจบคำเบิกความของพยานผู้ร้อง เวลา 11.05 น. ผู้พิพากษา 2 คนได้ออกไปนอกห้อง และกลับเข้ามาอีกครั้ง เมื่ออานนท์ นำภา ผู้คัดค้านคำร้องฯ ขึ้นเบิกความ เวลา 11.07 น.

.

คำต่อคำ อานนท์แถลงต่อศาล

ก่อนที่อานนท์จะเริ่มเบิกความ ศาลได้ชี้แจงต่ออานนท์ว่า จะให้อานนท์อธิบายเป็นประเด็น และแจ้งว่า ศาลจะพิจารณาตามคำเบิกความเป็นหลัก โดยต่อไปนี้ จะแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่อานน์แถลงต่อศาล และถ้อยคำที่ปรากฏลงในบันทึกคำเบิกความ 

ถ้อยคำเบิกความของอานนท์

ถ้อยคำที่ศาลจดบันทึก

การกล่าวคำปราศรัยในคดีนี้ และการปราศรัยที่ชุมนุมที่เชียงใหม่และธรรมศาสตร์ เป็นการใช้เสรีภาพสุจริตตามรัฐธรรมนูญ และมุ่งหวังให้สังคมอยู่ภายใต้การปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง

(อานนท์ขอศาล​ ให้เพิ่มคำว่า​ “อย่างแท้จริง” ​แต่ศาลไม่เพิ่ม)​
การกล่าวคำปราศรัยในคดีนี้ และคำปราศรัยตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 (เอกสารถอดเทปการปราศรัยที่เชียงใหม่และธรรมศาสตร์ ตามลำดับ) เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ มุ่งหวังให้สังคมอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผมมีอาชีพเป็นทนายความไม่ได้ทำคดีธุรกิจเลย คดีที่รับว่าความส่วนใหญ่เป็นคดีสิทธิมนุษยชน การประกอบอาชีพทำให้เห็นการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ทั้งเสรีภาพในการชุมนุม ความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 รวมทั้งคนที่ออกมาคัดค้านต่อต้านรัฐประหาร คนที่มีความเห็นทางการเมือง เขาไม่ได้มีช่องทางการแสดงออก จึงเป็นหน้าที่ของนักกฎหมาย รวมทั้งนักศึกษาที่ออกมาพูดแทนชาวบ้าน ถ้าไม่มีการออกมาชุมนุม น่าจะนำไปสู่วิกฤตของบ้านเมือง

กล่าวได้ว่า เรื่องนี้ไม่สามารถแยกออกจากสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ เพราะคนที่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นคนที่เล่นทวิตเตอร์ เป็นนักเรียนนักศึกษา รวมถึงการมาถึงจุดที่รัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องสมาชิกวุฒิสภา 250 คน พอมีการเลือกตั้ง ส.ว.ยกมือโหวต เลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ ส.ว. มีปัญหา

รวมทั้งการเรียกร้องรัฐสภา ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ โดยการกระทำของผมเป็นการใช้สิทธิ์เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นการชุมนุมของคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีนักศึกษามาร่วม
ข้าประกอบอาชีพทนายความ คดีที่รับว่าความส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต่อต้านการรัฐประหาร มองเห็นปัญหาการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในฐานะพลเมือง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการใดๆ เพื่อหยุดคุกคามประชาชน รวมทั้งเรียกร้องรัฐสภาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ข้าฯ เห็นว่าการกระทำของข้าฯ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมที่เป็นเหตุให้ถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ รายการชุมนุมตาม เอกสารร.3 และ ร.4 ไม่มีความรุนแรง ทั้งในขณะชุมนุม และยุติการชุมนุมด้วยความสงบ 

ข้อเรียกร้องในการชุมนุม ไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมหรือผู้อื่นใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความรุนแรง
ประเด็นหลักที่ปราศรัยที่ประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ สืบเนื่องจากการปราศรัยวันที่ 3 สิงหาคม คือพูดเรื่องปัญหาในการขยายพระราชอำนาจ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ 

องค์กรที่เป็นปัญหาคือคณะรัฐประหาร 2557 ที่มีการขยายกฎหมาย ให้พระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอเรียนนอกรอบว่ารัชกาลที่ 10 ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่มีกฎหมาย ขยายพระราชอำนาจฯ โดยผมจะกล่าวถึงทีละฉบับ 

พอเลือกตั้งเสร็จ ทำให้ผลการเลือกตั้ง ไม่สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
ข้าฯ เห็นว่า ปัญหาปัจจุบันสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ปี 2557 และคณะรัฐประหารออกกฎหมายไม่เป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับการปกครองดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งไม่สะท้อนประชาธิปไตย จึงรวบรวมสรุปปัญหาดังกล่าวเป็นคำปราศรัย  โดยเสนอรัฐสภาและรัฐบาล ให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่าง คณะรัฐประหาร แก้มาตรา 16 ทำให้พระมหากษัตริย์ ไม่ต้องประทับในประเทศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สะท้อนผ่านการชุมนุม คณะรัฐประหาร เป็นคนแก้ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมได้เสนอแนวทางแก้ รวมทั้ง 

– พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560

– พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบกกองทัพไทย กระทวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

– พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560

มันมีกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์เกินกว่าระบอบประชาธิปไตยที่ทำได้ และการแก้ไขกฎหมายสามารถทำได้ในระบบรัฐสภา ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ
รวมทั้ง พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบกกองทัพไทย กระทวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ในส่วนที่ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข้อความที่ถอดเทปมา และข้อความที่พนักงานสอบสวนขีดเส้นใต้ ผมปราศรัยไปตามจริง เดิมกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระองค์ให้รัฐดูแล แต่ล่าสุด เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย คืออาจจะจำหน่ายจ่ายแจกอย่างไรก็ได้ ยกตัวอย่างกรณีเรื่องจวนผู้ว่า ที่เป็นของรัฐ จะกลายเป็นของที่ผู้ว่าจะนำไปยกให้ใครก็ได้ ซึ่งกฎหมายแบบนี้ ขัดกับระบอบประชาธิปไตยโดยตรง เกี่ยวกับหลังปฏิวัติ 2475 หลัง 2475 รัฐบาลจอมพลป. เคยฟ้องพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระองค์ ผมไปปราศรัยเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษามาแสดงต่อศาล 
ข้อความตามที่ผู้ร้องขีดเส้นใต้ตาม ร.3 และ ร.4 นั้น ข้าฯ เป็นผู้กล่าวปราศรัยตามความเป็นจริง ไม่ได้กล่าวความเท็จ เช่น ข้อเท็จจริงเคยปรากฏตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขแดงที่ 278/2482 ผู้คัดค้านอ้างส่งศาลหมายค.1 
ในระบอบประชาธิปไตย ส.ส.เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ ส.ส.มีหน้าที่ในการประชุม และถวายคำแนะนำ ที่อื่นเขาก็ทำกัน อ้างถึงกรณีอย่างของประเทศอังกฤษหรือญี่ปุ่น 

จริงๆ หลัง 2475 ก็มีการอภิปรายเรื่องนี้หลายครั้ง เป็นหน้าที่ของรัฐสภา และประชาชนที่จะพูดเรื่องนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา 
ซึ่งข้าฯ เห็นว่าสามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งรัฐสภาสามารถแก้ไขกฎหมายได้ 
ที่พระมหากษัตริย์ไปอาศัยต่างประเทศยังสิ้นเปลืองภาษีประชาชน ผมคิดว่าเราพูดกันตรงๆ พูดด้วยความเคารพ มันดีกว่ากล่าวอ้อมๆข้าฯ กล่าวคำปราศรัยด้วยความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 
นอกจากพูดเรื่องนี้ ผมยังพูดเรื่องเอาส.ว. 250 คน ออกไปจากการเมืองไทยในปีนี้ด้วย​ 

อีกประเด็นที่ท่าแพคือ ผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่เหนือการเมืองอย่างแท้จริง ผมขอพูดเพิ่ม มีข้อเรียกร้องที่ 11 ถ้ามีการรัฐประหาร ศาลต้องไม่รับรอง(ศาลแทรกว่า​ อย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้​ ขอให้อยู่ในประเด็น)​ เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง ไม่เซ็นรับรองรัฐประหาร

เวลาไปปราศรัยทางการเมือง กับเวทีวิชาการจะแตกต่างกัน ในการปราศรัยทางการเมือง จะมีการใช้ถ้อยคำปลุกเร้า ผมพูดด้วยความสุภาพ คนเห็นด้วยก็ปรบมือ เป็นการชุมนุมที่สงบมาก วันที่ 9 สิงหาคมวางแผนว่าจะไปเชียงใหม่ เป็นกำหนดการที่ผมประกาศว่าจะไปก่อนที่จะถูกหมายจับ ที่ผมคาดว่าไม่สุจริต การออกหมายจับ ย่อมหมายถึงเป็นการจำกัดไม่ให้ผมไปร่วมการชุมนุม
เหตุที่กล่าวปราศรัยกิจกรรมชุมนุมวันที่ 9 สิงหาคม และ 10 สิงหาคม ที่มหาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ข้าฯ มีนัดหมายไว้ก่อน ถูกออกหมายจับคดีนี้ 

ข้าฯ เชื่อว่าการออกหมายจับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นไม่ให้ข้าฯ ร่วมกล่าวปราศรัยในวันที่ 9 และ 10 สิงหาคม 2563 
การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 10 สิงหาคม เป็นกิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์ กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นเวทีเปิด ให้ใครเข้าร่วมก็ได้ และได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ผมไปในฐานะเป็นผู้ร่วมปราศรัยไม่ใช่ผู้จัด หัวข้อที่ได้รับการพูด คือการขยายพระราชอำนาจในแง่กฎหมาย เราพูดกันหลายประเด็น ถ้อยคำที่ประสานคล้ายคลึงกับวันที่ 3 และ 9 สิงหาคม ก็คือเป็นเนื้อเดียวกัน ก็คือเรียกร้องไห้นิติบัญญัติแก้ไขกฎหมายขยายพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ 

การกล่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมกล่าวเป็นคนสุดท้าย​ น้องๆ เขาแบ่งหัวข้อมาให้ น้องๆ กล้าหาญมากในการปราศรัยเรื่องนี้ จนโดนหมายจับทั้งหมด 6 คน มี 4 คน เป็นเด็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสรุปคือเราเรียกร้องไปยังรัฐภา ให้แก้ไขกฎหมาย เรียกร้องไปยังสังคม  จูนสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชนเข้าหากัน ถ้าให้รัฐสภาขยายพระราชอำนาจฯ ไปเรื่อยๆ สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะออกห่างประชาชนเรื่อยๆ หลังจากวันที่ 10 ผมไปพูดในเวทีวันที่ 16 สิงหาคม เสนอว่าเป็นความฝันร่วมกันของคนทั้งสังคม อยากให้สถาบันอยู่กับเราจริงๆ อยากให้ท่านมาร่วมฝันด้วย 
กิจกรรมกล่าวปราศรัยที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นกิจกรรมภายในพื้นที่และได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 

ข้าฯ ไม่ใช่แกนนำผู้จัดกิจกรรมชุมนุมจากเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 เป็นเพียงผู้ร่วมปราศรัย

คำปราศรัยในคดีนี้และคำปราศรัยตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ข้าฯ ไม่ได้กระทำการใดที่มีพฤติการณ์หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน
นอกจากใช้สิทธิ์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีกติการะหว่างประเทศ (ICCPR) รับรองเสรีภาพอีกด้วย 

ข้อเสนอของผมมีประชาชนหลายส่วนมาก ที่สนับสนุน มีอาจารย์มหาวิทยาลัยลงชื่อสนับสนุน มีประชาชนแสดงความคิดเห็นสนับสนุน รวมทั้งมีแถลงการณ์ของคณะอาจารย์ 

ทุกคดีของผมเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ก่อนคดีนี้เคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีชุมนุมทางการเมือง
การใช้สิทธิเสรีภาพของข้าในการปราศรัยในเวทีชุมนุมเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ผู้คัดค้านอ้างส่งศาลหมาย ค.2 มีประชาชนและนักวิชาการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนข้าฯ รวมทั้งมีแถลงการณ์ของคณะอาจารย์ตามเอกสารที่ผู้คัดค้านอ้างส่ง ศาลหมาย ค.3 

ก่อนคดีนี้ข้าฯ ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน การจับกุมคดีนี้เป็นเรื่องการใช้สิทธิ์ทางการเมือง รวมทั้งข้อขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวข้าฯ นั้น เป็นการที่ข้าฯ ใช้สิทธิ์ทางการเมือง
เดือนสิงหาคม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดเรื่องการห้ามชุมนุมที่อาจเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ขณะถูกจับในคดีนี้ วันที่ 18 กรกฎาคม ยังมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินเรื่องนี้อยู่ แต่วันที่ 1 สิงหาคม ได้มีการยกเลิกข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตามมาตรา 9 ดังนั้นเงื่อนไขการห้ามชุมนุมฯ จึงถูกแก้ไขโดยข้อกำหนดใหม่ข้าฯ ทราบว่าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 มีการยกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ข้าฯ และประชาชนจึงมีสิทธิชุมนุม โดยไม่ฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 
ตอนที่พนักงานสอบสวนเอาผมไปฝากขังศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องคัดค้านว่าผิดเงื่อนไขศาลนี้ ศาลธัญบุรีได้พิเคราะห์แล้วว่าไม่ผิดเงื่อนไข คดีที่ข้าฯ ถูกจับตามหมายจับตามหมายจับที่ จ.325/2563 ของศาลจังหวัดธัญบุรี ตามเอกสาร ร.5 ข้าฯ ถูกฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ตามคำร้องฝากขังคดีหมายเลขดำที่ ฝ413/2563 ของศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานสอบสวนผู้ร้องขอการคัดค้านประกันตัวอ้างว่าข้าฯ เคยถูกจับกุมเนื่องจากกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันนี้ และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไขแต่ยังฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ได้รับการปล่อยตัว รายละเอียดปรากฏตามคำร้องขอฝากขัง ผู้คัดค้านอ้างส่ง ศาลหมาย ค.4

ศาลธัญบุรีไต่สวนคำร้องแล้ว อนุญาตให้ข้าฯ ได้รับประกันตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ 

.

ก่อนจบการเบิกความ อานนท์ยังขอแถลงต่อศาล แม้ว่าศาลจะไม่จดก็ตามว่า “เรามาถึงจุดที่เราเห็นปัญหา ผมก็ยินดีสละทุกอย่าง ทั้งเสรีภาพส่วนตน อย่างวันนี้ก็มีเพื่อนมาด้วยเพราะกันคนมาทำร้าย เรามาถึงจุดที่ต้องพูดเรื่องนี้กันอย่างตรงๆ ด้วยความมุ่งหวังที่ดีต่อบ้านเมือง ไม่ได้มีเจตนาร้าย ทั้งผมและน้องนักศึกษา”

อานนท์เบิกความเสร็จสิ้นเวลา 12.00 น. ใช้เวลาเบิกความเกือบ 1 ชั่วโมง ก่อนศาลจะนัดฟังคำสั่งในบ่ายสามวันเดียวกัน และนำไปสู่คำสั่งถอนประกันฯ ในเวลาต่อมา


.

อ่านคำสั่งศาลถอนประกันอานนท์ใน เปิดคำสั่งศาลถอนประกัน ‘อานนท์’ – เพิ่มเงื่อนไข ‘ไมค์’ แต่ทั้งคู่ปฏิเสธไม่ประกันอีก

และอ่านการไต่สวนถอนประกันในกรณีของภาณุพงศ์ใน สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี ไต่สวนถอนประกัน-ไมค์ ภาณุพงศ์ ก่อนตัดสินใจสละอิสรภาพ

ขอบคุณรูปจาก Banrasdr Photo

.

X