สิรภพให้การ ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เพราะคณะรัฐประหารเป็นกบฎ

23 พ.ค. 2559 ศาลทหารกรุงเทพ นัดสืบพยานจำเลย คดีที่สิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ ฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัวของ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ที่ผ่านมาสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ปาก และในนัดนี้จำเลยอ้างตัวเองเป็นพยาน โดยให้การยืนยันว่า หากยอมไปรายงานตัวเกรงว่าจะมีความผิดฐานร่วมเป็นกบฏต้องรับโทษ และคำสั่งของ คสช. ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายจึงไม่ไปรายงานตัว ทั้งนี้ อัยการโจทก์ยังมีประเด็นต้องถามค้านอีกมาก ศาลจึงเลื่อนไปสืบพยานต่อวันที่ 7 ก.ค. 2559 เวลา 8.30 น.

เวลา 10.20 น. ตุลาการศาลทหารกรุงเทพประกอบด้วย พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ พ.อ.อัมรินทร์ บุณยวิโรจ และ พ.อ.โฆษนันท์  สุทัศน์ ณ อยุธยา เริ่มพิจารณาคดีดำที่ 40ก./2557 จำเลยคือ นายสิรภพ หรือ รุ่งศิลา ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557  บรรยากาศภายในห้องพิจารณามี ญาติ ผู้สื่อข่าว และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณา

คดีนี้จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความต่อศาล โดยคำให้การของจำเลยมีสาระสำคัญดังนี้

1. การติดตามและจับกุมตัวเสมือนผู้ต้องหาคดีร้ายแรง

นายสิรภพให้การว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางและตำรวจภูธรภาค 9 เฝ้าติดตามบริเวณสถานที่ที่เขารับเหมาก่อสร้าง และมีหน่วยงานการข่าวทางทหารติดตามงานเขียนของเขาที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ซึ่งบทความส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหาร อาวุธ และยุทธวิธีทางทหาร ซึ่งเขาทราบเรื่องการติดตามหลังจากถูกจับแล้ว

ในการจับกุมตัวนั้น เนื่องจากวันที่ 24 มิ.ย. 2557 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าตรวจบริเวณที่ก่อสร้าง แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย จากนั้นในวันเดียวกันช่วง 14.00 น. มีกองกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 30-40 นายพร้อมอาวุธครบมือ เข้าบุกค้นบริเวณสถานที่ก่อสร้างและสำนักงานขายรวมถึงที่พักของสิรภพ ขณะนั้นเขาไม่อยู่บ้าน มีแต่ลูก 2 คน พร้อมกับหลานอายุ 10 เดือน  เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่พบตัวสิรภพ จึงนำตัวลูกและหลานของเขาพร้อมทั้งคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ ไปยัง อ.หาดใหญ่ ห่างจากบ้านพักประมาณ 40 กม. ก่อนจะปล่อยตัวในเวลาเที่ยงคืน ส่วนทรัพย์สินนั้นไม่ได้คืน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว สิรภพเห็นว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิตจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต่อมาได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือว่าจะช่วยแก้ไขปัญหา โดยจะต้องเดินทางไปจังหวัดภาคอิสานจังหวัดหนึ่ง วันที่ 25 มิ.ย. 2557 เขาจึงเดินทางจาก จ.ชลบุรี ไปยังจังหวัดดังกล่าว ระหว่างนั้นแวะเปลี่ยนรถที่ปั้มน้ำมันห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ 5 กม. เมื่อออกจากปั๊ม ระหว่างรถจอดติดไฟแดง ได้มีรถฟอร์จูนเนอร์ ขับมากันหน้ารถ และรถตู้จอดกั้นด้านหลังรถไว้ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ 12 นายแต่งกายครึ่งท่อน ถืออาวุธครบมือ ออกมาตะโกนบอกให้คนที่อยู่ในรถออกมาจากรถ

จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวสิรภพไปยังสถานที่ราชการหรือหน่วยทหารแห่งหนึ่งใน จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ค้นตัว แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายจึงพาเขามาขังที่กองบัญชาการ หน้าค่ายสีหราชเดโชชัย (กรมทหารราบที่ 8) จ.ขอนแก่น ระหว่างนี้ได้มีเจ้าหน้าที่มาสอบประวัติเขาถึง 3 ครั้ง ก่อนนำตัวมาแจ้งข้อกล่าวหา ณ สโมสรกองทัพบก วันที่ 27 มิ.ย. 2557

2. พยานถือว่าคณะรัฐประหารเป็นกบฏ หากพยานเข้าไปรายงานตัว เกรงว่าจะเป็นความผิดเเละต้องรับโทษ

สิรภพทราบว่าก่อนจะมีการรัฐประหารกำลังมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมีเหตุผลอย่างใด สิทธิและอำนาจต้องอยู่ที่ประชาชน จึงต้องมีการเลือกตั้งตามนานาอารยประเทศ แต่ขณะนั้นมีกลุ่มคนที่เรียกว่า กปปส. เข้าขัดขวางการเลือกตั้ง และมีความพยายามชักนำไปสู่การทำรัฐประหาร

วันที่ 20 พ.ค. 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก โดยไม่ให้ ครม. เห็นชอบและไม่มีพระบรมราชโองการ ซึ่งสิรภพเห็นว่าเป็นการประกาศที่ไม่ถูกต้องและผิดกฎหมาย ตามความเข้าใจของเขา การประกาศกฎอัยการศึกเพียงเพื่อต้องการมิให้มีการเคลื่อนไหวของผู้นำมวลชนทั้งสองกลุ่มในขณะนั้น แต่หลังจากประกาศก็มีการยึดอำนาจรัฐ โดยมีที่มาจากการประกาศกฎอัยการศึก

การรัฐประหารดังกล่าว สิรภพเห็นว่าเป็นการกบฏ และเชื่อว่าจะกระทำการไม่สำเร็จ นอกจากนี้ เขายังได้ยื่นฟ้องหัวหน้าคณะรัฐประหารคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลอาญาในคดีดำที่ 1805/2558

3. คำสั่งเรียกตัวพยาน พยานเห็นว่าไม่มีฐานะเป็นกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สิรภพเห็นว่าคำสั่งของ คสช. ไม่ถือเป็นกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นคำสั่งของกบฏ และกฎหมายที่จะบังคับได้นั้น ต้องเป็นกฎหมายที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

4. พยานไม่ยอมรับเเละต่อต้านการรัฐประหารอย่างสันติมาโดยตลอด และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาหลังจากรัฐประหารมักนำไปสู่ความรุนเเรง

สิรภพให้การว่า เมื่อทราบว่าถูกเรียกไปรายงานตัวรู้สึกมึนงงและสงสัย ว่าทำไมถึงถูกเรียกรายงานตัว เพราะเขาไม่ใช่คนมีชื่อเสียง หรือเป็นนักการเมืองที่จะทำให้เกิดความกังวลต่อคณะรัฐประหาร แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า เหตุที่มีคำสั่งดังกล่าวมาจากบทความที่เขาเขียน เขาจึงตัดสินใจ ทำอารยะขัดขืน ไม่ไปรายงานตัวกับกลุ่มทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยที่ผ่านมาตัวเขาต่อต้านการรัฐประหาร โดยวิธีสันติมาตลอด จึงไม่ยอมรับอำนาจจากรัฐบาลที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง

สิรภพให้การเพิ่มว่า เขาอายุ 53 ปี ผ่านการรัฐประหารมาก็มากครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีการยกข้ออ้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุในการทุจริตของนักการเมือง ข้าราชการ หรือมีการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ทั้งนี้ เขามองว่าการรัฐประหารเป็นเงื่อนไขในการสร้างความแตกแยกของคนในชาติ เนื่องจากเป็นการล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชน บางครั้งอาจมีการต่อตามนำไปสู่สงครามกลางเมือง โดยประวัติศาสตร์ปรากฎมาแล้ว คือการรัฐประหารปี 2514 ที่เกือบจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 1 ต่อมาการรัฐประหารปี 2519 ทำให้เกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ประชาชนต้องเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล จึงถือเป็นสงครามกลางเมืองอย่างแท้จริง จากนั้นปี 2534 การรัฐประหารนำมาสู่เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมปี 2535 และอีกหลายเหตุการณ์ที่ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นการรัฐประหารจึงนำไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรง และความสูญเสียของประชาชน

ด้วยเหตุผลข้างต้นสิรภพจึงไม่มารายงานตัวตามคำสั่งดังกล่าว เเละเเม้จะมีการรัฐประหารอีก เขาก็จะไม่รายงานตัว 

คดีนี้ทนายจำเลยสืบพยานเสร็จแล้ว แต่เนื่องจากอัยการโจทก์มีประเด็นต้องถามค้านมาก ศาลจึงเลื่อนนัดไปวันที่ 7 ก.ค. 2559 และนัดสืบพยานจำเลยอีกปากวันที่ 25 ส.ค. 2559

X