สิทธิในการเดินทางกลับประเทศ: ความเป็นมา ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ

เมื่อเกิดสถานการณ์ Covid-19 อันเป็นโรคระบาดร้ายแรงขึ้น รัฐไทยได้จำกัดสิทธิในการเดินทางกลับประเทศและสร้างภาระให้บุคคลผู้ทรงสิทธิด้วยการสร้างเงื่อนไขในการเดินทางกลับประเทศ ในปัจจุบันตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย[1]ได้กำหนดให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยผู้ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดตามมาตรการแนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ 7/2563[2] โดยมาตรการดังกล่าวได้เรียกร้องให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศต้องมีหน้าที่หลายประการ[3] ได้แก่ การงดไปในพื้นที่ชุมชนเป็นเวลา 14 วัน การคัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และเรียกร้องเอกสารรับรองต่างๆ เพื่อเข้ามาในราชอาณาจักร เช่น ใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพที่เหมาะสมกับการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate/Fit to Travel Health Certificate)

ในสภาวการณ์ปัจจุบันซึ่งสิทธิในการเดินทางกลับประเทศอันเป็นสิทธิมนุษยชนได้ถูกจำกัดจากมาตรการดังกล่าวเนื่องจากโรคระบาด บทความนี้มีความมุ่งหมายในการนำเสนอความเป็นมาของสิทธิในการเดินทางกลับประเทศ ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมาตรการที่จำกัดสิทธิ รวมไปถึงอุปสรรคของคนไทยในต่างแดนในการใช้สิทธิในการเดินทางกลับประเทศที่เกิดขึ้นจากมาตรการดังกล่าว

1) ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของแนวความคิดเรื่องสิทธิในการเดินทางกลับบ้านโดยสังเขป

ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณกาล การเดินทางกลับบ้านนั้นยังไม่ใช่สิทธิ กรณีที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยุคโบราณมักจะเป็นกรณีที่ประชาชนบางกลุ่มได้ถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนและเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองหรืออำนาจทางการทหาร ประชาชนกลุ่มที่ถูกเนรเทศเหล่านี้ก็จะได้รับทางเลือกว่าจะเดินทางกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนของตนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ในสงครามเพโลพอนนีเชี่ยน (Peloponnesian War) นครรัฐเอเธนส์ได้ขับไล่ผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง Melos เมือง Aegina และเมืองอื่นๆ บางคนถูกจับลงเป็นทาส แต่หลังจากนั้นเมื่อสปาร์ตาชนะสงคราม นายพลจากสปาร์ตาไลแซนเดอร์ได้พยายามรวบรวมเหล่าผู้คนที่กระจัดกระจายและอนุญาตให้ผู้คนเหล่านั้นกลับมาบ้านเกิดของตน  เมื่อถึงยุคกลางเราอาจกล่าวได้ว่า แนวความคิดของสิทธิในการเดินทางกลับประเทศได้ก่อตัวขึ้น แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก กฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับแรกที่รับรองสิทธิในการเดินทางกลับบ้านนั้นคือ มหากฎบัตร (Magna Carta) ในมหากฎบัตรนี้เองได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับราชอาณาจักรโดยปราศจากโทษและความหวาดกลัว[4] ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวได้พัฒนามาจนถึงยุคสมัยใหม่ ซึ่งในปัจจุบันนั้นรัฐได้ให้ความสำคัญกับสิทธิดังกล่าวและมีหน้าที่ที่จะต้องยินยอมให้พลเมืองหรือคนชาติตนเดินทางกลับเข้าประเทศ ในหลายๆรัฐได้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิดังกล่าวในระบบกฎหมายภายใน เช่น รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐอิตาลีมาตรา 16[5] บัญญัติว่า “พลเมืองทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการที่จะเดินทางออกนอกสาธารณรัฐและกลับมา…” รัฐธรรมนูญแห่งฮังการี มาตรา 14[6] บัญญัติว่า “พลเมืองชาวฮังการีจะไม่ถูกขับไล่ออกจากพรมแดนฮังการีและอาจกลับมาจากต่างแดนได้ทุกเมื่อ..”

สิทธิในการเดินทางกลับประเทศไม่เพียงแต่เป็นสิทธิที่ถูกรับรองโดยกฎหมายภายในเท่านั้น แต่การเดินทางกลับประเทศเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งสังคมระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งและสิทธิดังกล่าวได้ถูกรับรองและคุ้มครองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 13 (2) ได้บัญญัติว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใดๆ รวมทั้งประเทศของตนเอง และมีสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อ 12 (4) ได้บัญญัติว่า บุคคลจะถูกลิดรอนสิทธิในการเดินทางเข้าประเทศของตนโดยอำเภอใจมิได้ เราอาจกล่าวได้ว่าในทางระหว่างประเทศการเดินทางกลับประเทศของพลเมืองหรือคนชาติตนเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐมีพันธกรณีที่จะต้องยอมรับและปฏิบัติตาม

2) ข้อสรุปในทางกฎหมาย: มาตรการใดๆก็ตามที่มีผลจำกัดสิทธิในการเดินทางกลับประเทศดังกล่าวเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสิทธิดังกล่าวเป็นถูกรับรองไว้อย่างเด็ดขาด

ในระบบกฎหมายไทยการเดินทางกลับประเทศเป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 39 ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการเดินทางกลับประเทศไว้ว่า“การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือการห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” ซึ่งบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวได้มีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 มาตรา 41 และได้บัญญัติในลักษณะเดียวกันเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ มาตรา 39 เป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลสัญชาติไทยมิให้ถูกเนรเทศไปนอกราชอาณาจักรหรือห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักร บทบัญญัติลักษณะดังกล่าวหากพิจารณาตามหลักการเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยเด็ดขาด กล่าวคือเป็นสิทธิที่ไม่อาจถูกจำกัดได้โดยสิ้นเชิงจากอำนาจรัฐ รัฐไม่สามารถตรากฎหมายหรือออกมาตรการต่างๆที่มีผลให้คนไทยไม่สามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรหรือแม้กระทั่งที่จะมีผลเป็นการชะลอการเดินทางของผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย[7] ผลของสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยเด็ดขาดดังกล่าวย่อมมีความหมายอีกด้วยว่าองค์กรนิติบัญญัติหรือองค์กรที่ใช้อำนาจบริหารไม่อาจอ้างการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานในการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางเข้าประเทศไทยได้ บุคคลสัญชาติไทยย่อมมีสิทธิในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้เสมอและทุกเวลาที่บุคคลดังกล่าวแสดงความประสงค์ว่าต้องการเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย[8]

หากพิจารณามาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามคำสั่งศบค.ที่ 7/2563 เราอาจกล่าวได้ว่ามาตรการได้ถูกแยกเป็นสามประเภทคือ 1.มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 2.มาตรการเมื่อเดินทางมาถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร และ 3.มาตรการก่อนเดินทางออกจากราชอาณาจักร ซึ่งในทางกฎหมายหากบุคคลผู้ใช้สิทธิในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมีสัญชาติไทย รัฐย่อมไม่สามารถกำหนดมาตรการในลักษณะที่เป็น “มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร” ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลสัญชาติไทยในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งในทางปฏิบัติศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 7/2563 ว่า “การห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักรจะกระทำมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย อาจกล่าวได้ว่าการเดินทางกลับประเทศโดยบุคคลสัญชาติไทยย่อมเป็นสิทธิที่ไม่สามารถจำกัดได้โดยสิ้นเชิงเป็นข้อสรุปที่เป็นที่ยุติ อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้มีสัญชาติไทยเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว รัฐบาลอาจมีมาตรการเมื่อเดินทางมาถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักรในการป้องกันโรคได้เพราะเสรีภาพในการเดินทางภายในประเทศนั้นรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิได้แต่ต้องพิจารณาแยกต่างหากจากเสรีภาพในการเดินทางเข้าประเทศ[9]

3) ทางปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง: ผลกระทบและอุปสรรคในการใช้สิทธิในการเดินทางกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด

แม้ในทางกฎหมายข้อสรุปเรื่องสิทธิในการเดินทางกลับประเทศนั้นเป็นที่ยุติว่าคนสัญชาติไทยย่อมมีสิทธิในการเดินทางกลับประเทศได้และสิทธิดังกล่าวย่อมไม่อาจถูกจำกัดได้โดยสิ้นเชิง แต่ในปัจจุบันยังมีคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิในการเดินทางกลับบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมาตรการของรัฐที่เป็นมาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด- 19 นั้นโดยหลักๆ มีสามประการดังที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามมาตรการที่สร้างภาระอย่างยิ่งยวดที่สุดให้กับผู้ประสงค์จะใช้สิทธิในการเดินทางกลับบ้านนั่นคือมาตรการที่เรียกร้องให้บุคคลสัญชาติไทยจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ Fit to fly

ในทางปฏิบัติ การเรียกร้องให้ผู้มีสัญชาติไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศมีใบรับรองแพทย์ Fit to fly นั้น เป็นการผลักภาระให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิเดินทางกลับประเทศทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและขั้นตอนที่ยุ่งยากโดยปราศจากความจำเป็น การตรวจร่างกายเพื่อขอใบรับรองแพทย์ Fit to fly ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าผู้นั้นติดเชื้อหรือไม่ แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์คนไทยในสหรัฐอเมริกาได้เคยแสดงความเห็นว่าการขอใบรับรองแพทย์ Fit to Fly ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าผู้นั้นไม่ได้ติดเชื้อ Covid-19 และค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งยากต่อการปฏิบัติตามสำหรับคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ในสหรัฐอเมริกาการขอใบรับรองแพทย์นั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากแพทย์จะออกตรวจคนไข้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น [10] นอกจากนี้มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ขัดกับการบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการป้องกันมิให้โควิด – 19 แพร่ระบาดอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นการบังคับคนให้ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากเพื่อขอใบรับรองแพทย์ เพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด–19 ในกลุ่มผู้ขอใบรับรองซึ่งแต่เดิมอาจไม่ได้ติดเชื้อก็ได้

อุปสรรคในการใช้สิทธิเดินทางกลับประเทศนั้นเกิดขึ้นกับคนไทยในประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น การที่ต้องขอเอกสารต่าง ๆ ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนส่งผลให้เที่ยวบินจากบรัสเซลส์ ที่เดินทางมายังประเทศไทยมีผู้โดยสารเพียงคนเดียวทั้งลำเพราะคนไทยจำนวนหนึ่งต้องตกค้างอยู่นอกประเทศเพราะไม่สามารถหาเอกสารได้ทันเวลา[11] เที่ยวบินโดยสารเที่ยวหนึ่งจากกรุงมอสโคว์มาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารที่ผ่านเกณฑ์ประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนเพียงแค่ 3 คน ในขณะที่ผู้โดยสารคนอื่น ๆ แม้จะผ่านการเช็คอินมาแล้วแต่ไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้เนื่องจากไม่มีใบรับรองแพทย์[12]

ในสหราชอาณาจักร สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด–19  มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 290,133 คน[13] คนไทยไม่สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้โดยง่ายและถึงแม้ว่าทางสถานทูตจะสามารถหาแพทย์อาสามาช่วยทำการตรวจในกรุงลอนดอนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[14] แต่คนไทยที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนย่อมไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจฟรีดังกล่าวได้โดยง่าย ด้วยความจำเป็นบางคนก็ต้องใบรับรองแพทย์จากแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปของเอกชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 150 ปอนด์ หรือราว 6,000 บาท[15] ในบางประเทศคนไทยในต่างแดนอาจไม่อยู่ในวิสัยที่จะขอใบรับรองแพทย์ fit to fly ได้เนื่องจากปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์และการเดินทาง เช่น บรรดาคนไทยที่ไปทำงานอาสาสมัครในเขตทุรกันดารของประเทศในทวีปแอฟริกานั้น เมืองชนบทบางเมืองไม่มีหน่วยทางการแพทย์เลยโดยสิ้นเชิง การเข้าไปพบแพทย์ที่เมืองหลวงเพื่อขอใบรับรอง Fit to fly นั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างยิ่งเนื่องจากการเดินทางที่ห่างไกลจากตัวเมืองและต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกในการเดินทาง เช่น ลมฟ้าอากาศ

อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า จากข่าวสำนักข่าว TPBS นพ.เอกภูมิ ชำนาญระเบียบกิจ แพทย์ทางด้านครอบครัว ได้โพสต์คลิปขอให้ช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ติดค้างในประเทศอังกฤษนาน 5 เดือน ผู้ป่วยบางคนขาดยารักษาโรคซึมเศร้า 3 เดือนแล้ว อาจทำให้เกิดเหตุทำร้ายตัวเองได้และนอกจากนี้นายแพทย์ยังกล่าวด้วยว่ามีอีก 49 เคสที่ต้องรักษาเร่งด่วน[16] จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันบรรดาผู้ป่วยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับไทยเพื่อมารับยาที่ใช้ในการรักษาตัว   ค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองแพทย์ที่เอกชนต้องเสียหาย รวมไปถึงการเดินทางไปขอใบรับรองแพทย์จากถิ่นทุรกันดาร ข้อเท็จจริงเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มาตรการในการจำกัดสิทธิในการเดินทางกลับประเทศในสถานการณ์โควิด – 19 นอกจากจะเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นมาตรการที่สร้างภาระและส่งผลกระทบต่อปัจเจกชนอย่างยิ่งยวด

บทสรุป: แม้มาตรการในการจำกัดสิทธิในการเดินทางกลับประเทศจะขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติยังขาดองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

แม้สิทธิในการเดินทางกลับประเทศจะเป็นสิทธิที่สำคัญที่ได้รับการรับรองในระบบกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของประเทศต่างๆ โดยในระบบกฎหมายไทยรัฐธรรมนูญได้รับรองในฐานะสิทธิเด็ดขาดโดยไม่สามารถใช้อำนาจใดๆของรัฐจำกัดได้โดยสิ้นเชิง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลได้จำกัดสิทธิในการเดินทางกลับบ้านโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการจำกัดสิทธินี้ แม้ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกับคำสั่งศบค. ที่ 7/2563ที่กำหนดมาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจะขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ในปัจจุบันการจำกัดสิทธิดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเนื่องจากอำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

แม้ศาลปกครองจะเป็นองค์กรผู้ทรงอำนาจในการตรวจสอบการกระทำทางปกครองไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 16 ของพระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นได้ยกเว้นอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครองออกไป มาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ข้อกําหนด ประกาศ คําสั่ง หรือการกระทําตามพระราชกําหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง”ดังนั้นโดยทั่วไปบรรดาผลผลิตต่างๆที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดนี้ย่อมไม่อาจถูกตรวจสอบได้โดยศาลปกครองและเมื่อไปฟ้องศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมก็ไม่รับพิจารณาคดีโดยวินิจฉัยตามหลักกฎหมายละเมิดว่าจำเลยมีอำนาจตามกฎหมายที่กระทำได้[17] การที่มาตรการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิงกลายเป็นมาตรการที่มีผลบังคับใช้อยู่ย่อมเป็นสถานการณ์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตระหนักและเป็นห่วงในสถานการณ์ที่สิทธิมนุษยชนและสิทธิตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกละเมิดและหวังว่ารัฐบาลจะยกเลิกมาตรการที่จำกัดสิทธิในการเดินทางกลับประเทศของคนสัญชาติไทยเพื่อประชาชนสามารถใช้สิทธิในการเดินทางกลับประเทศได้ และทำหน้าที่ของรัฐในการป้องกันสถานการณ์โรคระบาดด้วยการกำหนดมาตรการเมื่อเดินทางมาถึงราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติและให้มีการรับการกักกันตามแนวทางการควบคุมโรคอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศจะสามารถเดินทางกลับประเทศตามสิทธิที่มีแต่กำเนิดได้ในเร็ววัน

 

[1] ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเรื่องเงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทยฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2563

[2] คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ 7/2563 สั่ง ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

[3] 1) ให้หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ชุมชนไม่น้อยกว่า14 วัน

2) ให้มีเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในนราชอาณาจักร ดังนี้

– หนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry – COE)

– ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางมีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly Health Certificate/Fit to Travel Health Certificate)

– อาจมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางดังกล่าวไม่มีเชื้อโรคโควิด – 19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID -19 is not detected)โ ด ย วิ ธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ตามความสมัครใจ

3) ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ผู้เดินทาง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศของประเทศ

ต้นทาง ก่อนออกเดินทาง (Exit screening)

[4]  Bradley, Megan: “Liberal Democracies’ Divergent Interpretations of the Right of Return: Implications for Free Movement”, Democratic Citizenship and the Free Movement of People, 2013

[5] Art 16, Constitution of Italy, Every citizen is free to leave the territory of the republic and return to it, notwithstanding any legal obligations.

[6] Art 14, Constitution of Hungary, Hungarian citizens shall not be expelled from the territory of Hungary and may return from abroad at any time. Foreigners staying in the territory of Hungary may only be expelled under a lawful decision. Collective expulsion shall be prohibited

[7] รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์,การเดินทางกลับบ้านเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ, สืบค้นจากhttp://www.law.tu.ac.th/tulawcovid19-right-of-return/

[8] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ, คำวินิจฉัยส่วนตนที่ 7/2563,ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

[9] รองศาสตราจารย์ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 7

[10] https://www.voathai.com/a/covid19-thai-diaspra-fit-to-fly-plocy-react-voa-thai-video/5376111.html

[11] https://themomentum.co/fit-to-fly-journal-from-thai-student/

[12] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872267

[13] https://www.worldometers.info/coronavirus/country/uk/

[14] ยกตัวอย่างเช่นการตรวจฟรีเป็นรอบๆ http://www.thaiembassy.org/london/contents/filemanager/document/REV—PR%20-%20%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%20%E0%B8%9B%E0%B8%97%E0%B8%97.%20-17MAY2020.pdf

[15] บทความ The Standard,https://www.facebook.com/thestandardth/posผปts/2384077878551757/

[16] https://news.thaipbs.or.th/content/294363

[17]  คดีหมายเลขดำ พ.1864/2563 ศาลแพ่ง “เป็นการออกข้อกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายที่จะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์”

 

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ข้อความคิดทางกม. ในระบอบปชต. : “ประชาชนเป็นรากฐานของกม. มหาชนไทย” มิใช่สถาบันกษัตริย์

ส่องการผลักดันโครงการรัฐที่กระทบประชาชน ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม

ข่าวปลอมสะพัดไม่ได้หากมีข่าวจริง: คุยกับ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ และ ‘ภาวิณี ชุมศรี’ ว่าด้วย fake news

ก่อนการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รอบ 2 ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยงประชาชน: ข้อสังเกตทางกฎหมายฯ

X