ข่าวปลอมสะพัดไม่ได้หากมีข่าวจริง: คุยกับ ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ และ ‘ภาวิณี ชุมศรี’ ว่าด้วย fake news

“ข่าวปลอม” ศัพท์ทางการเมืองร่วมสมัยคำนี้อยู่ในถ้อยแถลงของรัฐบาลบ่อยครั้ง และปรากฏถี่ขึ้นเมื่อข้อมูลข่าวสารแพร่สะพัดในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทำความเข้าใจข่าวปลอมอีกครั้งอย่างอัปเดต อีกทั้งชวน สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิจัยอิสระผู้ติดตามการทำงานหลายๆ ด้านของรัฐ รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพทางการเข้าถึงข้อมูล และ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน มาช่วยสะท้อนปรากฏการณ์ที่กฎหมายซึ่งตราขึ้นเพื่อจัดการกับข่าวปลอมอาจละเมิดสิทธิประชาชนเสียเอง รวมทั้งผลกระทบด้านลบจากความพยายามควบคุมการส่งต่อข้อมูล

ข่าวปลอม กับสถานะ “ความเป็นวารสารศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ”

“ข่าวปลอม” (Fake News) เป็นคำที่แพร่หลายในสนามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2559 นำโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมักใช้วาทกรรมข่าวปลอมแปะป้ายให้สื่อมืออาชีพที่นำเสนอข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง ส่วนในสนามการเมืองของประเทศไทย ข่าวปลอมเริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งถูกใช้อย่างตรงไปตรงมาและใช้สร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองฝั่งตรงข้าม กระทั่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อต้นปีนี้เอง ปรากฏการณ์สงครามข้อมูลระหว่างรัฐกับข่าวปลอมในหลายประเทศกระตุ้นให้แม้แต่รัฐไทยยังต้องออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาดเพื่อจัดการกับคนแชร์ข่าวปลอมและข่าวลือเกี่ยวกับโรคโควิด-19

ในงานเสวนาสาธารณะ  “FAKE NEWS IS GOOD NEWS – ได้เวลาเปลี่ยนวารสารศาสตร์” ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการนิยามว่าข้อมูลใดเป็นข่าวปลอมว่า อย่างแรกที่สุดต้องดูว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จหรือไม่ หมายถึงอาจมีทั้งบางส่วนถูก บางส่วนผิด สร้างขึ้นโดยเจตนาเพื่อหวังผลบางอย่างหรือไม่ และประการสำคัญคือต้องเป็นข้อมูลที่ปรากฏในรูปแบบงานวารสารศาสตร์ที่ดูมีความน่าเชื่อถือ โดยองค์การ UNESCO ได้แบ่งประเภทของข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด (misleading information) ไว้เป็น 3 ประเภท โดยมีข่าวปลอมเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การจัดกลุ่ม ดังนี้

ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิด (misleading information)

  1. ข้อมูลที่ผิดพลาด (mis-information) = ข้อมูลเท็จซึ่งคนเผยแพร่ไม่ได้มีเจตนาร้าย
  2. ข้อมูลบิดเบือน (dis-information) = ข้อมูลที่ถูกสร้างและเผยแพร่โดยเจตนา หวังผลทางอุดมการณ์ความเชื่อหรือธุรกิจ
  3. ข่าวลวง / ข่าวปลอม (fake news) = ข้อมูลเท็จ (มีข้อมูลที่ถูกผิดปะปนกัน) + ผลิตและเผยแพร่โดยเจตนา + หวังผลทางอุดมการณ์หรือธุรกิจ + นำเสนอในรูปแบบของวารสารศาสตร์ เช่น ข่าว บทความ บทวิเคราะห์ สารคดี และอื่นๆ

ประเด็น ‘การนำเสนอในรูปแบบของวารสารศาสตร์’ นับว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคเส้นแบ่งทางวารสารศาสตร์พร่าเลือนเลื่อนไหล ทุกคนสามารถเป็นนักข่าวได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก และ ‘การนำเสนอในรูปแบบของวารสารศาสตร์’ ดูขัดกับการนิยามข่าวปลอมในสังคมไทยไม่น้อย เนื่องจากบ่อยครั้งผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมมักไม่ใช่นักสื่อสารมวลชนหรือไม่ได้ผลิตข้อมูลที่ปรากฏในรูปแบบงานวารสารศาสตร์มาตั้งแต่แรก

จากความเห็นของ อรพิณ ยิ่งยงวัฒนา อดีตบรรณาธิการบริหาร the Momentum กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าการสื่อสารของคนทั่วไปมักผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ นั่นเพราะมีทักษะและวิธีคิดที่แตกต่างไปจากนักสื่อสารมวลชนมี เช่นความสามารถในการจับประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนโยบายรัฐหรือประเด็นเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญถึงจะรู้ว่าต้องเลือกนำเสนออย่างไร โจทย์ตั้งต้นในเชิงวิธีคิดของวารสารศาสตร์จึงถือว่าต่างกับการสื่อสารปกติในชีวิตประจำวันที่ส่งต่อแค่ข้อมูลอย่างเดียว แต่ไม่มีการคัดกรองและตรวจสอบความถูกต้อง

เมื่อรัฐกลายเป็นผู้ชี้นำนิยามของข่าวปลอม

เมื่อย้อนดูบริบทการตีความเรื่องข่าวปลอมของรัฐไทย เทียบกับนิยามทางวารสารศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระ ชี้ว่าปัญหาที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือรัฐนิยามคำว่าข่าวปลอมไว้กว้างขวางและพร้อมแปะป้ายทุกข้อมูลทั้งที่ยังรอการพิสูจน์อยู่หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นข่าวปลอม ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของข้อมูลในโลกออนไลน์ รวมถึงมีกลไกการตรวจสอบข่าวปลอม การบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ ชวนให้ตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่หน้าที่การตรวจสอบข้อมูลควรเป็นหน้าที่ของสื่อฯ ซึ่งทำงานอย่างรอบด้านกว่า

“การใช้คำว่าข่าวปลอมของรัฐถูกใช้ในนิยามที่ค่อนข้างหลวม บางครั้งข้อมูลที่ถูกนิยามว่าเป็นข่าวปลอมอาจเป็นแค่ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน หรืออาจเป็นข้อมูลเก่าที่เคยถูกต้อง การใช้อินเตอร์เน็ตเราต้องยอมรับว่าข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ข้อมูลบางอย่างผ่านไปแค่ 30 นาทีอาจล้าสมัยไปแล้ว”

“การจะดูว่ารัฐไทยมีมุมมองต่อการจัดการเรื่องข่าวปลอมอย่างไร ง่ายที่สุด ให้เราดูการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ซึ่งมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society: MDES) เป็นหน่วยงานบัญชาการ ศูนย์ฯ นี้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐ แล้วเอาไปเทียบกับข้อมูลของหน่วยงานต้นสังกัด ไม่ว่าหน่วยงานนั้นมีคำตอบอย่างไร จะถือว่าข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง”

“พูดง่ายๆ คือ อาศัยหน่วยงานของรัฐด้วยกันเป็นข้อพิสูจน์ข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากการทำงานของสื่อสารมวลชนที่ต้องตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐ เพราะสิ่งที่รัฐพูดอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ได้”

สำรวจมาตรการรับมือข่าวปลอมของรัฐไทยผ่านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ความกังวลเรื่องการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของข่าวปลอมไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ในระดับนานาชาติ องค์กรทั่วโลกที่เน้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ” (International Fact-Checking Network – IFCN) ซึ่งองค์กรที่ต้องการเข้าร่วมในเครือข่ายจำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ตามชุดหลักการ (Code of Principles) ว่าทำงานเป็นกลางอย่างแท้จริง มีความโปร่งใส รวมถึงมีระเบียบวิธีในการตรวจสอบข้อมูลอย่างเป็นแบบแผน

กรณีของประเทศไทย สฤณีระบุว่าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงบนโลกอินเตอร์เน็ตอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบที่ไม่รอบด้าน โดยอ้างอิงแต่ข้อมูลจากรัฐ ไม่ชัดเจนเรื่องระเบียบวิธีที่ใช้เพื่อตรวจสอบข้อมูล ไม่เปิดเผยงบประมาณและทีมทำงาน อีกทั้งยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ IFCN ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ เลือกหยิบกฎหมายมาใช้ร่วมกับการทำงานของ สตช. เพื่อจัดการประชาชนที่ไม่มีเจตนาทำผิด

>>> จับตานโยบาย ‘ตำรวจไซเบอร์’ ประจำทุกจังหวัด เล็งเอาผิดคนแชร์ข่าวปลอม หวั่นเปิดช่องละเมิดสิทธิคน ตจว.

“ในรายงานของแอมเนสตี้ฯ พบว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบในช่วงโควิด-19 ระบาด มักเกี่ยวข้องกับการทำงานและภาพลักษณ์ของรัฐ  สะท้อนให้เห็นว่ารัฐสนใจแก้ไขสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรัฐมากกว่าข้อมูลชนิดอื่น ๆ เช่นข้อเท็จจริงเรื่องสุขภาพหรือความเข้าใจผิดทางการแพทย์  หากมีข่าวปลอมที่ถูกส่งต่อกันแต่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลก็แทบไม่มีการจัดการใด ๆ ตัวเราเองเคยพยายามรายงานเนื้อหาที่มีข้อเท็จจริงชัดเจน แต่ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ปรากฏว่าไม่เคยได้รับการตอบกลับเลย หากมองในแง่นี้จะเห็นได้ว่าการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ไม่มีความเป็นกลาง”

“ตอนนี้การใช้คำว่าข่าวปลอมถูกเอาไปแปะป้ายกับข้อมูลที่รัฐบาลรู้สึกไม่ชอบ หรือที่ทำให้ภาพลักษณ์ของตัวเองดูไม่ดี ข่าวปลอมถูกตีความอย่างกว้างขวางและถูกใช้เพื่อจับกุมผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ส่งผลให้เพดานการแสดงความคิดเห็นลดต่ำลง”

ปัญหาใหญ่ใน พ... คอมพิวเตอร์ฯ และความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ

ตั้งแต่มีการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมฯ ขึ้น เครื่องมือหลักที่หน่วยงานดังกล่าวมักหยิบมาใช้คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ต่อมากฎหมายอีกฉบับที่ถูกนำมาใช้ป้องปรามไม่ให้ประชาชนส่งต่อข่าวปลอมในช่วงวิกฤตโควิดคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อพิจารณารายละเอียดและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าโดยหลักการ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ถูกร่างขึ้นเพื่อใช้ควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ แต่เน้นเพื่อจัดการอาชญากรรมต่อระบบคอมพิวเตอร์ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะความสุ่มเสี่ยงแท้จริงซึ่งเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิ คือนิยามในตัวบท (2) ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีความการกระทำผิดได้อย่างกว้างขวาง เช่น การ “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” และ “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”

“โดยปกติแล้วการจะดำเนินคดีอาญาบุคคลเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลได้จำเป็นต้องมี ‘การยืนยันข้อเท็จจริง’ โดยตัวผู้เผยแพร่ด้วย แต่ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (2) นิยาม ‘นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ’ แม้ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง แค่แชร์ข้อมูลต่อ แต่หากข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จ รัฐสามารถดำเนินคดีได้ นับเป็นนิยามที่กว้างมาก และตรงเงื่อนไขการต้องคดี ระบุว่า ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่จะต้องเป็นข้อมูลที่ ‘กระทบต่อความมั่นคง’ และ ‘ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน’  มันสร้างความสับสนว่า อะไรคือความตื่นตระหนกของประชาชน? ไม่มีใครบอกได้ จึงทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายแบบกว้าง”

“ถ้าลองดูการบังคับใช้ ม.14 (2) จากหลายคดีที่ผ่านมา จะพบว่าไม่ได้ใช้จัดการกับข่าวปลอมเท่านั้น แต่รวมถึงการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐด้วย และไม่เคยมีคดีไหนเลยที่ผู้นำเข้าข้อมูลเท็จซึ่งส่งผลด้านบวกต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือชื่นชมรัฐบาลแล้วจะถูกดำเนินคดี ซึ่งสะท้อนเรื่องความไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน”

หนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาการตีความคำว่าข่าวปลอมโดยรัฐ  เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนรัฐบาลยอมรับว่ามีการระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ มีหญิงสาวรายหนึ่งถูกดำเนินคดีจากการเผยแพร่ข่าวปลอมซึ่งมีเนื้อความว่า “พัทยามีคนป่วยโคโรน่า ตาย 1 คน ทำไมต้องปิดข่าวหรอ ประชาชนจะได้ระวังตัวกัน ห่วงเศรษฐกิจมากกว่าประชาชน“

ภาวิณีสะท้อนว่าข้อกังวลจากการบังคับใช้กฎหมายในกรณีดังกล่าว คือรัฐผลักภาระในการตรวจสอบข้อมูลให้ประชาชน อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์ข้อความที่ถูกดำเนินคดี ตัวผู้เผยแพร่เองไม่ได้มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม เพียงแต่ต้องการตั้งคำถามเรื่องการทำงานของรัฐ การดำเนินคดีโดยไม่ดูเจตนา แทนที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม กลับส่งผลให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวขึ้นในหมู่ประชาชน ทำให้ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนทั่วไปจะทราบความเท็จจริงข้อมูลที่อยู่ในมือของรัฐซึ่งเป็นผู้กุมนิยามความถูกต้องของข้อมูล

เมื่อไม่มีความโปร่งใสจึงยากจะออกจากวิกฤตของข้อมูล

“ถึงแม้ว่าข่าวลือจะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องอย่าลืมว่าข้อเท็จจริงเองแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน” 

สฤณี อาชวานันทกุล

ประเด็นท้ายที่สุดของการพูดคุย สฤณีสรุปว่า ความโกลาหลของข้อมูลในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ส่วนหนึ่งรัฐเองมีส่วนผลิตซ้ำ เพราะไม่พยายามสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดอย่างคลาดเคลื่อน อีกทั้งการประกาศใช้นโยบายของแต่ละหน่วยงานบางกรณียังขัดแย้งกันเอง ปัจจัยเหล่านี้เติมเชื้อไฟให้ข่าวลือสะพัดอย่างรวดเร็วและยากจะควบคุม (ซึ่งรัฐตีความข่าวลือแบบเหมารวมว่าเป็นข่าวปลอมทั้งหมด ทั้งๆ ที่ในทางวิชาการ สองอย่างนี้แตกต่างกัน)

“ตามปกติแล้ว การสื่อสารบนโลกอินเตอร์เน็ตมีความหลากหลาย (ของลักษณะข้อมูล) หลายครั้งเป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็น ยิ่งในช่วงมีสถานการณ์วิกฤตซึ่งคนตื่นตัวและต้องการข้อมูลที่รวดเร็วและถูกต้อง ในภาวะเช่นนี้รัฐมีหน้าที่สำคัญที่จะต้องให้ข้อมูลอย่างชัดเจน เป็นปัจจุบัน สร้างความไว้วางใจต่อประชาชนว่าสิ่งที่รัฐพูดเป็นประโยชน์และดูแลคนในชาติได้”

“ต้องยอมรับว่าก่อนตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และมีนายกฯ เป็นคนให้ข้อมูลเอง เราเห็นตรงกันว่ามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร หลายครั้งสิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงแต่ละหน่วยงานพูดขัดแย้งกันเอง พอเกิดความสับสน ประชาชนยิ่งต้องหาความรู้จากแหล่งข่าวอื่น ๆ  ข่าวลือจึงเกิดตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้”

“สิ่งสำคัญคือรัฐบาลไม่ได้มองว่า สาเหตุของการเกิดข่าวปลอม ข่าวลือ เกิดจากการสื่อสารของตัวเองที่ไม่ชัดเจน และทุกอย่างยิ่งแย่เมื่อหยิบเครื่องมือทางกฎหมายมาใช้ปราบปราม ในความเป็นจริงรัฐบาลควรเป็นหน่วยงานกลางที่มีข้อมูลมากที่สุด เมื่อมีการส่งต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รัฐแก้ไขได้ด้วยการส่งออกข้อมูลที่ถูกต้อง ถึงแม้ข่าวลือแพร่กระจายได้รวดเร็ว แต่ต้องอย่าลืมว่าข้อเท็จจริงเองแพร่กระจายได้รวดเร็วเช่นเดียวกัน”

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

คุยกับสาวตรี สุขศรี ว่าด้วย ‘เฟกนิวส์’ และความกว้าง เทา คลุม ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

Political Elites’ Use of Fake News Discourse Across Communications Platforms

 

X